ช่วงเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระรวม 12 ตำแหน่ง ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากหมดวาระและมีการลาออก โดยทั้ง 12 คนที่กำลังจะหมดวาระลงและได้ลาออกจากตำแหน่งนี้ล้วนเป็นตำแหน่งที่เคยได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติในสมัยเผด็จการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
หนึ่งในขอบเขตอำนาจของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา คือการความเห็นชอบแก่ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ แต่ในระยะเวลาภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนในปี 2557 สนช. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ได้ทำหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบแก่ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระแทน โดยในระหว่างที่ สนช. ทำหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบแก่ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ มีองค์กรอิสระ 11 ตำแหน่งที่เป็นผลผลิตในยุค คสช. ที่กำลังจะหมดวาระลงในปี 2567 และอีกหกตำแหน่งจะหมดวาระลงในปี 2568 โดยหาก 17 ตำแหน่งนี้หมดวาระลงแล้วจะสิ้นสุดยุคมรดก สนช. ที่หลงเหลือไว้ในองค์กรอิสระ (หนึ่งตำแหน่งที่ได้ลาออกมาจากการเห็นชอบของ สว.ชุดพิเศษ)
นอกจากองค์กรอิสระ 11 ตำแหน่งที่จะหมดวาระลงในปี 2567 ยังมีผู้ตรวจการแผ่นดินอีกหนึ่งตำแหน่งที่ลาออกจึงส่งผลให้ตำแหน่งทั้งหมดรวมเป็น 12 ตำแหน่ง
องค์กรอิสระ 11 ตำแหน่งที่ สนช. เคยให้ความเห็นชอบและหมดวาระการดำรงตำแหน่งในปี 2567 มีดังนี้
กันยายน 2567 คตง. 6 จาก 7 คน พ้นตำแหน่งพร้อมกัน
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง. ทั้งหกคน ได้รับการโปรดกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งมาพร้อมกันในวันที่ 22 กันยายน 2560 โดยตำแหน่ง คตง. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 239 มีวาระดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง จึงส่งผลให้ คตง. ทั้งหกคนที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาพร้อมกันนี้จะหมดวาระพร้อมกันใน เดือนกันยายน 2567 นี้ คตง. ทั้งหกคน ได้แก่
- พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ (ประธาน คตง.)
- ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์
- พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์
- จินดา มหัทธนวัฒน์
- สรรเสริญ พลเจียก
- อรพิน ผลสุวรณ์ สบายรูป
ขณะที่ คตง. อีกหนึ่งคน คือ ศิลักษณ์ ปั้นน่วม ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเมื่อ 13 สิงหาคม 2566 ก็จะดำรงตำแหน่งครบวาระในเดือนสิงหาคม 2573
โดยภายหลังจากที่ทั้งหกคนพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากหมดวาระ สว. ชุดใหม่ 200 คนที่มาจากระบบ “แบ่งอาชีพ-เลือกกันเอง” จะต้องดำเนินการให้ความเห็นชอบบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งนี้ สว. จะไม่มีอำนาจในการชี้เลือกหรือริเริ่มเสนอชื่อได้เองว่าใครควรได้เป็น คตง. อำนาจในการสรรหาและเสนอชื่อเป็นหน้าที่ของกรรมการสรรหา แต่หาก สว. ไม่เห็นว่าบุคคลที่กรรมการสรรหาเสนอให้พิจารณาจะสมควรดำรงตำแหน่งก็สามารถปัดตกได้ตามที่เห็นสมควรอยู่ดี
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2561 มาตรา 15 กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้ที่จะถูกเสนอชื่อเป็น คตง. ซึ่งประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการสรรหา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคลซึ่งมีความเป็นอิสระที่ถูกแต่งตั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ไม่ใช่ คตง. องค์กรละหนึ่งคนเป็นกรรมการ โดยมีเลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา
มาตรา 16 วรรคสาม กำหนดว่าผู้ที่จะได้รับการสรรหาจะต้องได้คะแนนเสียงสองในสามของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา เมื่อได้รับการสรรหาแล้วจึงเสนอชื่อต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นการต่อไป โดยมาตรา 17 กำหนดไว้ว่าผู้ได้รับการสรรหาเพื่อตั้งแต่เป็น คตง. จะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ 101 คนขึ้นไปของ สว. ชุดใหม่
พฤศจิกายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน พ้นตำแหน่ง
แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จะกำหนดให้ตุลาการมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปี แต่ในบรรดาตุลาการทั้งเก้าคน มีสองคน คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และปัญญา อุดชาชน ซึ่งมีที่มาจากระบบการคัดเลือกตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งแตกต่างจากตุลาการคนอื่นๆ เนื่องจาก บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 273 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในตำแหน่งซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ (ก่อน 6 เมษายน 2560) ให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตามวาระการดำรงตำแหน่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 คือเก้าปี และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปได้เพียงใดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 บทเฉพาะกาล มาตรา 79 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ (ก่อน 3 มีนาคม 2561) ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งกำหนดไว้ที่เก้าปี (มาตรา 208)
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 และปัญญา อุดชาชน ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ตุลาการทั้งสองคน จึงพ้นจากตำแหน่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567
สำหรับตำแหน่งที่ว่างลงทั้งสองตำแหน่งนี้จะถูกสรรหาขึ้นมาใหม่ โดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกาเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งซึ่งไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ องค์กรละหนึ่งคนเป็นกรรมการ โดยมีเลขานุการของวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา
ผู้ซึ่งจะได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการจะต้องได้รับคะแนนเสียงสองในสามของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการ และคณะกรรมการสรรหาดำเนินการเสนอชื่อต่อวุฒิสภาเป็นการต่อไป โดยผู้ที่จะได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 204)
อย่างไรก็ดีนอกจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องสรรหากันใหม่แล้ว นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ยังคงเป็นประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย เมื่อมีการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแทนคนที่พ้นจากตำแหน่งแล้ว คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยังอยู่ในตำแหน่งร่วมกับตุลาการใหม่จะต้องดำเนินการเลือกกันเองเพื่อเลือกหนึ่งคนจากเก้าคนให้ดำรงตำแหน่งประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ส่งท้ายปีเก่า ธันวาคม 2567 ป.ป.ช. 3 คน พ้นตำแหน่ง
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 232 กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวนเก้าคน มีวาระการดํารงตําแหน่งเจ็ดปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดํารงตําแหน่งได้เพียงวาระเดียว ตามมาตรา 233
แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะกำหนดชัดว่า ป.ป.ช. มีวาระดำรงตำแหน่งเพียงเจ็ดปีเท่านั้น แต่มีกรรมการถึงสามคนที่มีวาระการดำรงตำแหน่งยาวนานกว่าคนอื่น อยู่ที่เก้าปี คือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ (ประธาน ป.ป.ช.) สุวณา สุวรรณจูฑะ และวิทยา อาคมพิทักษ์ โดยทั้งสามคนได้รับความเห็นชอบจาก สนช. และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งพร้อมกันในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 และจะหมดวาระพร้อมกันในช่วงเดือนธันวาคม 2567
ทั้งนี้ บทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 273 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่ดำรงอยู่ก่อนหน้าที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และยังคงมีวาระการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 247 ซึ่งกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของ ป.ป.ช. ไว้ที่เก้าปี ส่งผลให้ทั้งสามคน จะดำรงตำแหน่งครบวาระในช่วงเดือนธันวาคม 2567 เว้นแต่ พล.ต.อ. วัชรพล ที่จะสิ้นสุดวาระก่อนเนื่องจากอายุครบ 70 ปี ในเดือนกันยายน 2567 โดยรัฐธรรรมนูญ 2560 มาตรา 216 (1) กำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมเรื่องอายุขององค์กรอิสระไว้ว่า ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 45 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปี จึงทำให้ พล.ต.อ.วัชรพลจะหมดวาระก่อนสองคนดังที่กล่าวไป
สำหรับการสรรหาบุคคลใหม่มาดำรงตำแหน่งแทนสามคนนี้ที่จะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากหมดวาระลง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 12 กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลปกครองสูงสุด บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอื่นที่มิใช่ ป.ป.ช. แต่งตั้ง โดยมีเลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา
ผู้ซึ่งจะได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการจะต้องได้รับคะแนนเสียงสองในสามของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการ และคณะกรรมการสรรหาดำเนินการเสนอชื่อต่อวุฒิสภาเป็นการต่อไป โดยผู้ที่จะได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 204)
ผู้ตรวจการแผ่นดินลาออก 1 คนแม้จะครบวาระในปี 2571
นอกจากสามองค์กรอิสระที่ได้กล่าวไปยังมีอีกหนึ่งตำแหน่งที่ สว.ชุดปี2567 จะต้องให้ความเห็นชอบใหม่ คือตำแหน่งของ รศ.อิสสรีย์ หรรษจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน แม้ว่า อิสสรีย์ จะได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 และจะหมดวาระในช่วงเดือนพฤษภาคม 2571 แต่เนื่องจากอิสสรีย์ได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 จึงส่งผลให้ตำแหน่งว่างลง ต้องมีการสรรหาและให้ความเห็นชอบกันใหม่
ต้อนรับปีใหม่ 2568 ปีสุดท้ายของมรดก สนช. แต่ยังเหลือมรดก สว.ชุดพิเศษ
หลังจาก กรรมการ ป.ป.ช. พ้นจากตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2567 แล้ว มรดก สนช. ที่ผลิตผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ในยุคคณะรัฐประหารก็ยังไม่ได้หมดลงไป แต่ยังเหลือองค์กรอิสระที่กำลังจะหมดวาระในปี 2568 คือมรดกชิ้นสุดที่ สนช. ทิ้งไว้ให้
สำหรับตำแหน่งองค์กรอิสระทั้งหมดที่พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่ กรกฎาคม 2567 – กรกฎาคม 2572 จะต้องดำเนินการให้ความเห็นชอบโดย สว. ชุดใหม่ ซึ่ง สว. ชุดใหม่ 200 คนที่มาจากระบบแบ่งอาชีพเลือกกันเองจะรับไม้ต่อในการให้ความเห็นชอบบุคคลให้มาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระแทนที่ตำแหน่งที่ว่างลง ดังนั้นองค์กรอิสระคนใหม่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าเสียงข้างมากที่เกินกว่ากึ่งหนึ่งของ สว.ชุดใหม่ 200 คน
โดยในปี 2568 นี้ มีองค์กรอิสระที่กำลังจะพ้นตำแหน่งเนื่องจากหมดวาระด้วยกันสององค์กร หกคน ได้แก่
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ้นตำแหน่งห้าคนจากทั้งหมดเจ็ดคน และประธานผู้ตรวจการแผ่นดินหนึ่งคน
โดย กกต. ทั้งห้าคนที่จะหมดวาระในปี 2568 ถือได้ว่าเป็น กกต.ชุดแรกนับแต่ที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยทั้งห้าคนนี้ถือเป็นคนสำคัญที่รับผิดชอบจัดการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 และ 2566 กกต. ห้าคนที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากหมดวาระในปี 2568 ได้แก่
- อิทธิพร บุญประคอง (หมดวาระในเดือนสิงหาคม 2568)
- ศาสตราจารย์สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ (หมดวาระในเดือนสิงหาคม 2568)
- ปกรณ์ มหรรณพ (หมดวาระในเดือนสิงหาคม 2568)
- เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ (หมดวาระในเดือนธันวาคา 2568)
- ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ (หมดวาระในเดือนธันวาคม 2568)
นอกจาก กกต. ห้าคนนี้ยังมี สมศักดิ์ สุวรรณจิต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่กำลังจะหมดวาระลงในเดือนพฤศจิกายน 2568 และทรงศัก สายเชื้อจะหมดวาระในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2571
อย่างไรก็ดีเมื่อสิ้นมรดก สนช. จากยุคคณะรัฐประหารลงในปี 2568 องค์กรอิสระทั้งหลายหลังจากปี 2568 ก็ยังเหลือมรดกของ สว. ชุดพิเศษ 250 ที่มาจากการแต่งตั้งโดยตรงจากคณะรัฐประหาร เรียกได้ว่าเป็นมรดกภาคต่อจากยุคนิติบัญญัติของคณะรัฐประหารมาสู่ยุคนิติบัญญัติแบบ “สืบทอดอำนาจ” ของคณะรัฐประหาร โดยผลผลิตสุดท้ายที่ สว. 250 ทิ้งไว้ให้ก่อนหมดวาระคือการให้ความเห็นชอบ ภัทรศักดิ์ วรรณแสง กรรมการ ป.ป.ช. ที่มีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปี ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 และจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือน มิถุนายน 2574 ซึ่งพ้นวาระของ สว. ชุดใหม่ 200 คน ที่จะดำรงตำแหน่งถึงแค่เดือนกรกฎาคม 2572