เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 – 31 มกราคม 2567 เป็นเวลา 10 ปี ทำให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จำนวน 143 คน ไร้สังกัดพรรค มี สส. หกคนที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง แบ่งเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อหกคน และ สส. แบบแบ่งเขตอีกหนึ่งคน
นี่คือสี่เหตุการณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นหลังการยุบพรรคก้าวไกล
สส. 143 คน ต้องหาพรรคการเมืองสังกัด ภายใน 60 วัน
หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 พรรคก้าวไกลมีจำนวน สส. สูงสุดในสภาผู้แทนราษฎร อยู่ที่ 151 คน แต่ภายหลังจำนวน สส. ในสังกัดพรรคลดลงไปสามคน คือ 1) ไชยามพวาน มั่นเพียรจิต ที่ถูกขับพ้นพรรค ต่อมาย้ายไปสังกัดพรรคไทยก้าวหน้า 2) วุฒิพงศ์ ทองเหลา ที่ถูกขับพ้นพรรค ต่อมาย้ายไปสังกัดพรรคชาติพัฒนากล้า 3) ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ที่ถูกขับพ้นพรรคและย้ายไปสังกัดพรรคเป็นธรรม ส่งผลให้ก่อนการยุบพรรค พรรคก้าวไกลมี สส. อยู่ที่ 148 คน
ในบรรดากรรมการบริหารพรรคก้าวไกล 11 คนที่ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง มีห้าคนที่เป็น สส. ในสังกัดพรรคก้าวไกล ได้แก่ 1) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 2) ชัยธวัช ตุลาธน 3) อภิชาต ศิริสุนทร 4) เบญจา แสงจันทร์ และ 5) สุเทพ อู่อ้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งห้าคนจึงสิ้นสมาชิกภาพ สส. ทันที ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (5)
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ทำให้ สส. พรรคก้าวไกลจำนวนที่เหลืออีก 143 คนไร้สังกัดพรรคการเมืองทันที ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (10) กำหนดไว้ว่า สมาชิกภาพของ สส. สิ้นสุดลงเมื่อขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง
แต่ในกรณีที่ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเพราะมีคำสั่งยุบพรรค และ สส. ผู้นั้นไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรค สส. ผู้นั้นจะสิ้นสุดสมาชิกภาพ เท่ากับว่า หาก 143 สส. สามารถย้ายสังกัดพรรคใหม่ได้ทันภายในกำหนดเวลา ก็จะเป็น สส. ต่อไปภายใต้สังกัดพรรคใหม่ แต่หากไม่สามารถย้ายพรรคได้ทันกรอบเวลา 60 วัน ก็จะสิ้นสุดสมาชิกภาพ สส.
จัดการเลือกตั้ง สส. เขตพิษณุโลก ภายใน 45 วัน
ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.จังหวัดพิษณุโลก เป็นสส. แบบแบ่งเขตเพียงหนึ่งเดียวที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองในฐานะอดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ทำให้สิ้นสมาชิกภาพตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (5) เมื่อตำแหน่ง สส. แบบแบ่งเขตว่างลง จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ รัฐธรรรมนูญ 2560 มาตรา 105 (1) กำหนดว่า เมื่อตำแหน่ง สส. แบบแบ่งเขตว่างลง ให้ดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สส. แทนตำแหน่งที่ว่าง ภายใน 45 วัน
สส. เลือกรองประธานสภาคนใหม่
นอกจากตำแหน่ง สส. แล้ว ปดิพัทธ์ สันติภาดา ยังดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 กำหนดให้ประธานสภาและรองประธานสภาคือ สส. ที่ได้รับการเสนอชื่อและได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร (ข้อ 6 และข้อ 7) ดังนั้นการสิ้นสมาชิกภาพ สส. ของปดิพัทธ์ ทำให้ปดิพัทธ์พ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 118 (1) ส่งผลให้ตำแหน่งว่างลง ต้องมีการเลือกตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งใหม่ โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องไม่เป็นกรรมการบริหารหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 116 ววรคสอง)
สส. แต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อ สส. ได้หนึ่งชื่อ การเสนอนั้นต้องมี สส. รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ถ้ามีการเสนอชื่อเพียงคนเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั่นเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้ามีการเสนอชื่อหลายชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงจาก สส. มากที่สุดจะเป็นรองประธานสภา
อย่างไรก็ตาม การเลือกรองประธานสภาใหม่ ไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายว่าต้องแต่งตั้งให้เสร็จภายในกี่วัน
ตั้งผู้นำฝ่ายค้านฯ ใหม่ จากหัวหน้าพรรคที่มี สส.มากที่สุด ไม่มี รมต. – ประธานสภา
การยุบพรรคก้าวไกลและการสิ้นสภาพการเป็น สส. ของชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ส่งผลให้สถานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรของชัยธวัชสิ้นสุดลงไปด้วย ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 106 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 118 (1) ทำให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านฯ คนใหม่ด้วย
คุณสมบัติของผู้นำฝ่ายค้านฯ ต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีจำนวน สส. มากที่สุด โดยที่ไม่มี สส. ในพรรคเป็นรัฐมนตรี ประธานหรือรองสภาผู้แทนราษฎร (รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 วรรคหนึ่ง)
บทบาทปกติของผู้นำฝ่ายค้านฯ คือเป็นผู้นำของพรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรคในการตรวจสอบรัฐบาล และยังมีบทบาทสำคัญอื่นอีกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้แก่
· ขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภา (ประชุมลับ) เพื่อหารือร่วมกับ ครม. ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยหรือเศรษฐกิจของประเทศ (มาตรา 155)
· เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ (มาตรา 203, มาตรา 217)
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านฯ ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพรรคการเมืองที่มีคุณสมบัติตรงตามรัฐธรรรมนูญ