7 สิงหาคม 2567 เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ คดียุบพรรคก้าวไกลใน และนัดฟังคำวินิจฉัยในเวลา 15.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญแถลงยุติการไต่สวนเนื่องจากมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยแล้ว ในขณะที่พรรคก้าวไกลแถลงข่าวบรรยายข้อต่อสู้ที่ใช้ในชั้นศาล ยืนยันว่าการยื่นคำร้องของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมายและศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสินคดีนี้
นับแต่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ มีพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองไปแล้วสองพรรค ได้แก่ การยุบพรรคไทยรักษาชาติในช่วงก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 ด้วยเหตุที่พรรคไทยรักษาชาติยื่น “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (พ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ) มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) ในขณะที่อีกพรรคคือพรรคอนาคตใหม่ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 จากกรณีที่ฝ่าฝืน พ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ มาตรา 72 ประกอบมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบ จากการกู้เงิน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เป็นเงินจำนวน 191.2 ล้านบาท
พรรคก้าวไกลถือบ้านหลังใหม่ที่อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคอนาคตใหม่ย้ายมาสังกัดและสานต่อนโยบาย รวมถึงอุดมการณ์ของพรรคต่อไป ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2566 พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่มีจำนวน สส. มากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร และในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดียุบพรรค มี สส. ในสังกัด 148 คน ซึ่งกำลังจะเผชิญกับความท้าทายว่าจะมีชะตากรรมเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ ผลจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2567
ย้อนไทม์ไลน์ จากข้อเสนอแก้ ม. 112 สู่ล้มล้างการปกครอง – ยุบพรรค
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2564 สส. พรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างกฎหมายห้าฉบับเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพประชาชน หนึ่งในนั้นคือร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขบทบัญญัติความผิด “หมิ่นประมาท” หลายส่วน โดยหนึ่งในนั้นคือการแก้ไขมาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยแยกฐานความผิดระหว่างพระมหากษัตริย์ ออกจาก พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และแก้ไขลดอัตราโทษลง อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรระบุว่า สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งได้รับมอบหมายจากเขาให้เป็นผู้รับร่างกฎหมายที่มีการเสนอต่อสภา ซึ่งสุชาติได้ปรึกษากับที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรแล้วได้ความเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6
ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกลได้ สส. สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของสภา อยู่ที่ 151 ที่นั่ง ปลายเดือนเดียวกันนั้นเอง 30 พฤษภาคม 2566 ธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของสุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพุทธะอิสระ แกนนำกปปส.) ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง และขอให้ศาลสั่งหยุดการกระทำนั้น โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ว่าพฤติการณ์ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ตั้งแต่การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงการใช้นโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในการรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย
ภายศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยได้เพียงหนึ่งวัน 1 กุมภาพันธ์ 2567 ธีรยุทธ สุวรรณเกษตร ได้ยื่นคำร้องอีกครั้งต่อ กกต. เพื่อให้ กกต. พิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคก้าวไกลและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค ตาม พ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) ซึ่งระบุว่า เมื่อ กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองนั้น
(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดยใน พ.ร.ป. พรรคการเมือง ฯ มาตรา 93 ยังกำหนดวิธีการในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อ กกต. เพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กกต. กำหนด
ก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 กกต. ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 (ระเบียบ กกต. รวบรวมข้อเท็จจริงฯ) เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีการในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตาม พ.ร.ป. พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 และ 93 ซึ่งมีสาระสำคัญในการเร่งรัดกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง โดยระเบียบ กกต. รวบรวบข้อเท็จจริงฯ กำหนดขั้นตอนในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไว้ดังนี้
1. เมื่อปรากฎต่อนายทะเบียนพรรค (เลขาธิการ กกต.) ว่าพรรคการเมืองใดกระทำความผิดเข้าข่ายให้ยุบพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป. พรรคการเมือง ฯ มาตรา 92 ให้นายทะเบียน มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่ามีข้อเท็จจริง พฤติการณ์ พยานหลักฐาน หรือข้อมูลเพียงพอจะรับไว้ดำเนินการต่อหรือไม่ภายในเจ็ดวัน นับแต่ที่ได้รับมอบหมาย
2. หากเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีหลักฐานหรือข้อมูลเพียงพอให้ดำเนินการต่อ ให้แจ้งต่อ เลขาธิการ กกต. พิจารณา หากเห็นพ้องด้วยให้ดำเนินการต่อ
3. เมื่อเลขาธิการ กกต. เห็นว่ามีหลักฐานอันเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำความผิดเข้าข่ายให้ยุบพรรค ให้เสนอ กกต. ให้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากเห็นชอบกับความเห็นของเลขาธิการ กกต. ก็ให้ดำเนินการต่อไปในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุบพรรคได้
กกต. มีมติโดยเอกฉันท์ในวันที่ 12 มีนาคม 2567 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรค โดยถือว่าคำร้องดังกล่าวที่ยื่นนี้เป็นการดำเนินการที่สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยที่ 3/2567 และภายหลังจากนั้นห้าวัน วันที่ 18 มีนาคม 2567 กกต. ก็ได้ส่งคำร้องยุบพรรคก้าวไกลให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
ต่อมาในวันที่ 3 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องของ กกต. และให้พรรคก้าวไกลส่งคำชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง ก่อนจะขยายเวลาเพิ่มเติมสามครั้ง ครั้งละ 15 วัน รวมขยายเวลาทั้งหมด 45 วัน และวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญยุติการไต่สวนและนัดลงแถลงด้วยวาจาและฟังคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ในเวลา 15.00 น. เป็นการต่อไป
หากถูกยุบพรรค สส. ต้องย้ายสังกัดพรรคใหม่ภายใน 60 วัน
หากวันที่ 7 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองฯ หรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ นอกจากศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองได้ ยังมีอำนาจในการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้อีกด้วย
สำหรับ สส. อื่นในพรรคที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค จะต้องรีบย้ายเข้าสังกัดพรรคใหม่ภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรค ไม่เช่นนั้นจะสิ้นสุดสมาชิกภาพ สส. โดยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (10) กำหนดไว้ว่า สมาชิกภาพของ สส. สิ้นสุดลงเมื่อขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง แต่ในกรณีที่ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเพราะมีคำสั่งยุบพรรคที่ สส. ผู้นั้นเป็นสมาชิก และ สส. ผู้นั้นไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรคการเมือง สส. ผู้นั้นจะสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนด 60 วันนั้น
ทั้งนี้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 91 วรรคท้าย กำหนดว่า การสิ้นสภาพพรรคการเมืองหรือการที่พรรคการเมืองเลิกตามข้อบังคับพรรค ให้ถือเป็นการยุบพรรคการเมืองด้วย เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมาชิกพรรคที่เป็น สส.
เมื่อพรรคถูกยุบ สส. ที่เป็นสมาชิกพรรค ยังไม่สิ้นสมาชิกภาพ สส. ในทันที มีเวลาย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ยุบพรรคการเมือง หากย้ายพรรคทันภายในกำหนดเวลา ก็จะเป็น สส. ต่อไปภายใต้สังกัดพรรคใหม่ แต่หากไม่สามารถย้ายพรรคได้ทันกรอบเวลา 60 วัน ก็จะสิ้นสุดสมาชิกภาพ สส.
เปิดข้อต่อสู้พรรคก้าวไกล ยันศาลไม่มีอำนาจยุบ-กกต. ยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
2 สิงหาคม 2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล และชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้แถลงข่าวบรรยายและสรุปเก้าข้อต่อสู้ในเอกสารคำแถลงปิดคดีที่พรรคก้าวไกลได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาทั้งหมดสามส่วน ได้แก่ เขตอำนาจและกระบวนการ ข้อเท็จจริง และสัดส่วนโทษ เพื่ออธิบายว่าในการยื่นคำร้องของ กกต. ต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยสองข้อต่อสู้หลักของพรรคก้าวไกล ได้แก่ (1) อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดีนี้ (2) กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พรรคก้าวไกลยืนยันว่าอำนาจในการยุบพรรคไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยตีความบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อบรรทัดฐานทางกฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 210 กำหนดหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่า (1) พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย (2) พิจารณาวินิจฉัยปัญหาที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ (3) หน้าที่และอำนาจอื่นที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
ย่อมแสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจพิจารณาคดีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำร้องของ กกต. ในคดีนี้ ไม่เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่นในอดีตเช่น รัฐธรรมนูญ 2540 หรือรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีการกำหนดอำนาจในการสั่งยุบพรรคการเมืองได้
ในประเด็นกระบวนการยื่นคำร้องยุบพรรคนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย พรรคก้าวไกลชี้แจงว่าไม่เคยรับทราบข้อกล่าวหาและไม่มีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่ากระบวนการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของ กกต. ไม่เป็นไปตาม พ.ร.ป. พรรคการเมือง มาตรา 93 ประกอบกับระเบียบ กกต. รวบรวมข้อเท็จจริงฯ ข้อ 7
กกต. ไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ แต่เร่งรีบเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตาม พ.ร.ป. พรรคการเมือง ฯ มาตรา 92 และ 93 และระเบียบ กกต. รวบรวมข้อเท็จจริงฯ ทั้งๆที่เป็น กกต. เป็นผู้ออกระเบียบนี้เอง
อ่านคำชี้แจงของพรรคก้าวไกลในคดียุบพรรค ฉบับเต็มได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1_fZy0bWDyAZ8i19wAhtqA659wPySUqjs/edit?fbclid=IwY2xjawEdYRVleHRuA2FlbQIxMAABHSETzUny84GD-nI9yF-K5y4lNRhGrZtdIZxFa-npfoXd2qP2ONDggohm7Q_aem_vB_lCeUbCYQWIIHrqYPl_Q