จำคุก 4 ปีคดี ม.112 ของทนายอานนท์ กรณีโพสต์เรื่อง ร.10 บริหารแผ่นดินขัดหลักประชาธิปไตย

วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 713 ศาลอาญานัดอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์เกี่ยวกับการใช้พระราชอำนาจของรัชกาลที่สิบบนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 และ 3 กุมภาพันธ์ 2564 คดีนี้ถือเป็นคดีมาตรา 112คดีที่สี่จากทั้งหมด 14 คดีของอานนท์ที่ศาลมีคำพิพากษา เวลาประมาณ 14:09 น. ศาลอาญามีคำพิพากษาว่าอานนท์มีความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุกข้อความละสามปีรวมหกปีในทางนำสืบจำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือโทษจำคุกสี่ปี รวมกับโทษคดีมาตรา 112 ทั้งสี่คดีเป็น 14 ปีกับ 20 วัน

สำหรับบรรยากาศก่อนการพิพากษาตั้งแต่เวลา 13:00 น. มีประชาชนมารอให้กำลังใจที่ห้องพิจารณาคดีไม่น้อยกว่า 50 คน ซึ่งที่นั่งไม่เพียงพอเป็นผลให้ระหว่างการอ่านคำพิพากษาหลายคนต้องยืน เวลา 13:20 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวอานนท์มาถึงห้องพิจารณาคดี  เขาอยู่ในชุดนักโทษสีน้ำตาลและสวมกุญแจข้อเท้า จากนั้นมีเพื่อนและครอบครัวผลัดเปลี่ยนเข้าไปพูดคุยกับอานนท์ ขณะเดียวกันภรรยาและขาลลูกชายคนเล็กของเขาก็มาร่วมฟังคำพิพากษาด้วยโดยขาลสวมเสื้อรณรงค์สีดำ เป็นภาพของอานนท์พร้อมข้อความว่าเชื่อมั่นและศรัทธา 

เวลา 13:32 น. คณะผู้พิพากษาห้าคนขึ้นนั่งบัลลังก์ ผู้พิพากษาท่านหนึ่งเรียกอานนท์ถามว่า ขอให้ศาลอ่านก่อนวันที่ 28 [กรกฎาคม 2567] ใช่หรือไม่ อานนท์รับว่าใช่ ศาลถามต่อว่า วันนี้ทนายความมาไหม ได้รับคำตอบว่า มีผู้รับมอบอำนาจมาแทน ก่อนการอ่านคำพิพากษาผู้พิพากษากล่าวว่า “ทุกคนก็ฟังด้วยครับว่าการให้เหตุผลเป็นยังไง” จากนั้นจึงเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยเป็นการอ่านคำพิพากษาอย่างละเอียดทั้งในส่วนคำฟ้อง ส่วนการนำสืบและส่วนพิเคราะห์ ซึ่งในการอ่านพระนามของกษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์ จะเป็นการอ่านพระนามเต็มทั้งหมด 

โดยสรุปตั้งแต่ส่วนพิเคราะห์ว่า ฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยพิมพ์โพสต์ข้อความตามที่เป็นเหตุในคดีนี้ ตั้งค่าโพสต์เป็นสาธารณะ บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้ คดีนี้มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัย โจทก์มีพ.ต.ต.ณัฐภัทร เรืองศิลป์ประเสริฐ เป็นพยานเบิกความว่า ทำงานภายในศูนย์ข้อมูลฯของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจพบโพสต์ที่เป็นเหตุในคดีนี้และสืบทราบว่า บัญชีนี้เป็นบัญชีส่วนตัวของจำเลย ขณะที่พ.ต.ท.ทศพร ศรีสัจจา พนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบภาพวิดีโอพบว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลย ต่อมาจำเลยเข้าพบพนักงานสอบสวนและให้การอ้างถึงรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 3 และ 34

เนื้อหาคำพิพากษาระบุว่า กษัตริย์เป็นผู้ทรงสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 34 ย่อมได้รับการคุ้มครอง แต่ดำรงฐานะพิเศษ คือเป็นประมุขของรัฐ ตามประวัติศาสตร์มีความแตกต่างจากตะวันตก ทรงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เสาหลักในการแก้ไขวิกฤติของประเทศหลายครั้ง มีหลักทศพิธราชธรรมยึดถือ กษัตริย์จึงต้องได้รับความคุ้มครองพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป การแสดงความเห็นผ่านการพูด การพิมพ์เกินขอบเขตเป็นการละเมิดพระเกียรติและเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  ซึ่งอยู่ในหมวดความมั่นคงของประมวลกฎหมายอาญาแยกต่างหากจากการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ไม่มีบทบัญญัติในการยกเว้นโทษ แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายนิติบัญญัติเห็นมีความสำคัญควรได้รับความคุ้มครองพิเศษยิ่งกว่าบุคคลทั่วไป

พิจารณาตามข้อความที่จำเลยพิมพ์ข้อความที่หนึ่งคือ การใช้พระราชอำนาจโดยตรงขัดต่อหลักการประชาธิปไตยและข้อความที่สองคือ การโอนย้าย “องค์ภา” จากอัยการไปอยู่ภายใต้ส่วนราชการในพระองค์ จำเลยให้การนำสืบเรื่อง ข้อสังเกตพระราชทานที่เป็นผลให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติมาแล้ว เช่น การแก้ไขมาตรา 7  และมาตรา 16 ศาลยกตัวบทตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่สี่  มาตรา 39/1  เห็นได้ว่า กษัตริย์ในขณะนั้นเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตยจัดให้มีรัฐธรรมนูญได้ จึงไม่ขัดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ในประเด็นเรื่องการถอดฐานันดรศักดิ์และเรียกคืนยศเจ้าคุณพระสินีนาฏฯ การย้าย “องค์ภา” ไปเป็นข้าราชการทหารและการแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์เป็นองคมนตรีโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจและขัดต่อหลัก “The King Can Do No Wrong” เห็นว่า หลักการดังกล่าวเป็นธรรมเนียมของสหราชอาณาจักร คุ้มครองให้กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดทางการเมือง หากเป็นเรื่องที่ทรงมีพระราชอำนาจโดยตรงหรือรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เฉพาะจะทำได้ เช่น รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 9และมาตรา 15 นอกจากนี้จะมีสิทธิบางประการ ซึ่งเป็นการแสดงออกทางพระราชบารมี เช่น ให้คำแนะนำคณะรัฐมนตรีและรับรู้เรื่องราวของบ้านเมือง  การถอดถอนฐานันดรถือเป็นพระราชอำนาจของกษัตริย์โดยเฉพาะตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ 2560 สำหรับกรณีการย้าย “องค์ภา” เป็นพระราชอำนาจโดยเฉพาะตามมาตรา 15  ของรัฐธรรมนูญ 2560 ส่วนการแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์เป็นเหตุที่เกิดหลังจากจำเลยโพสต์จึงเป็นไปไม่ได้ที่จำเลยจะล่วงรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว

ส่วนการขยายพระราชอำนาจตามกฎหมายสามฉบับ เช่น  พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ เห็นว่า กฎหมายทั้งสามฉบับมีการพิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งอำนาจกษัตริย์ไม่ได้เกี่ยวข้อง ในประเด็นเรื่องพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์พระมหากษัตริย์ฯ ที่จำเลยระบุว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะ “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” เป็นเพียงความคิดเห็นของจำเลย ส่วนประเด็นเนื้อหาเหมาะสมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัย การกระทำดังกล่าวเป็นการใส่ความมิใช่การกระทำสุจริตที่จะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 34  จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุด จำคุกกระทงละสามปี รวมหกปี ในทางนำสืบมีประโยชน์ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกสี่ปี 

ทั้งนี้ระหว่างการอ่านคำพิพากษา เมื่อผู้พิพากษาอ่านส่วนคำฟ้องเสร็จ ผู้พิพากษาขอให้เจ้าหน้าที่ศาลไปยกเก้าอี้ที่อยู่ด้านหน้าห้องพิจารณาคดีเข้ามาเติมเพื่อให้ประชาชนที่ต้องยืนฟังคำพิพากษาได้มีที่นั่ง เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจึงเริ่มอ่านส่วนนำสืบ เมื่ออ่านคำพิพากษาเสร็จแล้วผู้พิพากษาบอกให้อานนท์นั่งลง และกล่าวว่า กระทงละสามปีถือเป็นขั้นต่ำแล้ว ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ต่อมาอานนท์ขอกับผู้พิพากษาว่า ขอคุยกับภรรยาอีกสักห้านาที ผู้พิพากษาไม่ค้าน เวลาไล่เลี่ยกันซี-จันทนา วรากรสกุลกิจกล่าวเต็มเสียงกับอานนท์ต่อหน้าทุกคนในห้องพิจารณาคดีทำนองว่า อานนท์ทำอะไรผิดถึงติดคุกสิบปี เพราะพูดความจริงใช่ไหม หลังจากที่ซีกล่าวประโยคแรกคณะผู้พิพากษาออกจากห้องพิจารณาทันที

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage