23 กรกฎาคม 2567 วุฒิสภา 2567 ตามระบบ “เลือกกันเอง” มีวาระประชุมนัดแรก เพื่อกล่าวปฏิญาณตนในที่ประชุมวุฒิสภาก่อนเข้าทำหน้าที่ และลงมติเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา
ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 กำหนดหลักเกณฑ์การเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาไว้ว่า สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อ สว. ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานวุฒิสภาได้หนึ่งชื่อ และต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 10 คน กรณีที่เสนอชื่อเพียงผู้เดียว ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือก ถ้าหากมีการเสนอชื่อสองชื่อขึ้นไป ต้องลงคะแนนโดยลับ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือก กรณีที่เสนอชื่อมากกว่าสองชื่อ ผู้ที่ได้รับเลือกนอกจากจะต้องได้คะแนนสูงสุดแล้ว ยังต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน สว. ที่มาประชุมด้วย
ในการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาครั้งแรก สว. ที่มีอายุมากที่สุดจะทำหน้าที่เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม โดยได้พ.ต.ท. ยุทธนา ไทยภักดี กลุ่มที่ 20 กลุ่มอื่นๆ อายุ 78 ปี ทำหน้าที่ประธานชั่วคราว ก่อนการลงมติเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา สว. อภิปรายว่าจะกำหนดเวลาให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อได้แสดงวิสัยทัศน์อย่างไร โดยมีผู้เสนอสามแนวทาง คือ หนึ่ง ไม่ต้องกำหนดเวลา สอง กำหนดเวลาไว้ไม่เกินเจ็ดนาที สาม กำหนดเวลาไม่เกินห้านาที ท้ายที่สุดวุฒิสภากำหนดเวลาให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อสามารถแสดงวิสัยทัศน์ได้คนละไม่เกินห้านาที
สำหรับตำแหน่งประธานวุฒิสภา มีผู้ได้รับการเสนอชื่อรับเลือกสามราย คือ
- มงคล สุระสัจจะ สว. กลุ่มที่ 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และอดีตอธิบดีกรมการปกครอง
- เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. กลุ่มที่ 4 กลุ่มการสาธารณสุข อดีต สส.ขอนแก่น พรรคไทยรักไทย
- นันทนา นันทวโรภาส สว. กลุ่มที่ 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมืองมหาวิทยาลัยเกริก
โดยที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเลือก มงคล สุระสัจจะ เป็นประธานวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียง 159 เสียง ขณะที่ผู้ได้รับเสนอชื่ออีกสองราย นันทนา นันทวโรภาส ได้คะแนนเสียง 19 เสียง ด้านเปรมศักดิ์ เพียยุระ ได้คะแนนเสียง 13 เสียง
ด้านการเลือกรองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง มีการเสนอชื่อสี่ราย ได้แก่
- พล.อ. เกรียงไกร ศรีรักษ์ สว. กลุ่มที่ 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
- นพดล อินนา สว. กลุ่มที่ 8 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ผู้ร่วมก่อตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทย
- ปฏิมา จีระแพทย์ สว. กลุ่มที่ 8 อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์
- แล ดิลกวิทยรัตน์ สว. กลุ่มที่ 7 กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเลือก พล.อ. เกรียงไกร ศรีรักษ์ เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง โดยมีผลการออกเสียงลงคะแนน มีดังนี้
- พล.อ. เกรียงไกร ศรีรักษ์ ได้ 150 คะแนน
- นพดล อินนา ได้ 27 คะแนน
- ปฏิมา จีระแพทย์ ได้ 5 คะแนน
- แล ดิลกวิทยรัตน์ ได้ 15 คะแนน
สำหรับตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่สอง มีผู้ได้รับการเสนอชื่อสี่ราย ได้แก่
- บุญส่ง น้อยโสภณ สว. กลุ่มที่ 2 กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อดีต กกต. และอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7
- ปฏิมา จีระแพทย์ สว. กลุ่มที่ 8 อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์
- พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต สว. กลุ่มที่ 12 กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยางพาราไทยและประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรม
- อังคณา นีละไพจิตร สว. กลุ่มที่ 17 กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
โดยที่ประชุมวุฒิสภามีมติเลือกนายบุญส่ง น้อยโสภณ เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ด้วยผลการออกเสียงลงคะแนน ดังนี้
- บุญส่ง น้อยโสภณ ได้ 167 คะแนน
- ปฏิมา จีระแพทย์ ได้ 4 คะแนน
- พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต ได้ 8 คะแนน
- อังคณา นีละไพจิตร ได้ 18 คะแนน
โดยข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ระบุอำนาจหน้าที่ของประธานวุฒิสภาไว้ ดังนี้
1) ควบคุมและดำเนินกิจการของวุฒิสภาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
2) เป็นประธานของที่ประชุมวุฒิสภา
3) กำหนดสถานที่ประชุมวุฒิสภา
4) รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมรวมถึงบริเวณที่ประชุม
5) เป็นผู้แทนวุฒิสภาในกิจการภายนอก
6) แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใดๆ อันเป็นประโยชน์ต่อกิจการของวุฒิสภา
7) อำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 80 กำหนดให้ประธานวุฒิสภา เป็นรองประธานรัฐสภา เมื่อมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาประชุมด้วยกัน เช่น การพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ ประธานวุฒิสภาจะต้องทำหน้าที่ในฐานะรองประธานรัฐสภาด้วย ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานรัฐสภา เมื่อประธานรัฐสภา (ประธานสภาผู้แทนราษฎร) ไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ (ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 6 วรรคสอง)