การเลือกสมาชิกวุฒิสภาปี 2567 ระดับประเทศสิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการเลือกเป็นสว. ทั้ง 200 คนไปแล้วเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 อย่างไรก็ตามมีผู้สมัครและผู้สังเกตการณ์การเลือกจำนวนมากพบว่า การเลือกสว. ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ มีปัญหาด้านการรักษาความลับการลงคะแนนของผู้สมัคร เมื่อผู้สมัครแต่ละคนที่เฝ้าดูการนับคะแนนที่แสดงบัตรลงคะแนนทีละใบ สามารถคาดหมายได้ว่า ผู้สมัครแต่ละคนตัดสินใจออกเสียงลงคะแนนอย่างไรกันบ้าง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 33 ระบุว่า “การเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้ใช้วิธีลงคะแนนลับตามวิธีที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งการลงคะแนนโดยลับเป็นหลักการสากลของการเลือกสว. และการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้ขั้นตอนการลงคะแนนต้อง “เข้าคูหา” ไปเขียนบัตรภายในคูหาที่มีลักษณะมิดชิดและไม่มีผู้ใดเข้าไปเห็นการลงคะแนนของแต่ละคนได้
อย่างไรก็ตาม หากผู้สมัครสว.ในกลุ่มใดมีผู้สมัครเพียงหนึ่งคน เมื่อไปเลือกไขว้ออกเสียงให้กับกลุ่มอื่น ในการนับคะแนนผู้สมัครคนอื่นสามารถรู้ได้โดยง่ายว่าผู้สมัครในกลุ่มนั้นเลือกผู้สมัครคนไหน ผ่านการดู “สาย” และหมายเลข “กลุ่ม” ที่ปรากฏบนบัตรลงคะแนนใบนั้นที่เจ้าหน้าที่ชูขึ้นมาให้ดูประกอบการขานนับคะแนน
บัตรลงคะแนนชี้ตัวเจ้าของบัตร
ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 ระบุตัวอย่างของบัตรลงคะแนนรอบเลือกไขว้ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศเอาไว้ โดยบัตรทุกใบจะต้องระบุ “สาย” และ “กลุ่ม” ของเจ้าของบัตรเอาไว้ แยกกับช่องที่เว้นไว้ให้เขียนระบุเลขกลุ่มและหมายเลขของผู้สมัครที่ต้องการจะเลือก
เมื่อผู้สมัครรับบัตรลงคะแนนเป็นที่เรียบร้อยแล้วจะนำบัตรลงคะแนนไปทำการลงคะแนนในคูหาที่ปิดมิดชิด ก่อนจะนำไปหย่อนในหีบคะแนนของแต่ละสาย โดยแต่ละสายจะมีหีบลงคะแนนหลายหีบแล้วแต่ว่าสายนั้นมีผู้สมัครกี่กลุ่ม หากสายใดมีกลุ่มที่มีผู้สมัครเพียงหนึ่งคนจะทำการรวมหีบลงคะแนนของทุกกลุ่มเป็นหีบเดียวกันเพื่อป้องกันไม่ให้สังเกตว่าผู้สมัครคนไหนลงคะแนนให้ใครได้โดยง่ายระหว่างขั้นตอนการนับคะแนน เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการนับคะแนนจะเปิดหีบลงคะแนนแล้วนับคะแนนของหีบแต่ละใบ ทำการวินิจฉัยบัตรลงคะแนนว่าเป็นบัตรดีหรือบัตรเสีย ขานคะแนนและชูบัตรลงคะแนนให้ผู้สมัครทุกคนเห็น ก่อนจะขีดคะแนนลงไปบนกระดานนับคะแนนเพื่อหาผู้ชนะในการเลือก
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในการเลือกระดับอำเภอและระดับจังหวัดมีบางกลุ่มอาชีพที่มีผู้สมัครเพียงหนึ่งคนทำให้สามารถผ่านเข้าสู่รอบเลือกไขว้ได้โดยไม่ต้องมีการเลือกกันเองในกลุ่ม เมื่อทำการจับสายและลงคะแนนรอบเลือกไขว้แล้ว บัตรลงคะแนนที่เขียนระบุสายและกลุ่มของพวกเขาไว้จะสามารถชี้ตัวเจ้าของบัตรได้หากผู้สมัครคนอื่นตั้งใจมองบัตรลงคะแนนที่เจ้าหน้าที่ชูขึ้นมาหลังการวินิจฉัยบัตร ปรากฎการณ์เช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้หากมีผู้สมัครที่ “ฮั้ว” หรือซือเสียงขายเสียงกันคอยเฝ้าดูว่าการลงคะแนนเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ก่อนหรือไม่
เนื่องจากกฎหมายและระบบของการเลือกสว. ทั้งหมดถูกเขียนมาให้ลักษณะของบัตรลงคะแนนและวิธีการนับคะแนนเป็นเช่นนี้ ประกอบกับการที่กกต. ไม่สามารถหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมได้ ข้อความที่ว่า “ให้ใช้วิธีลงคะแนนลับ” ของ พ.ร.ป.สวฯ จึงถูกละเลย และทำให้ผู้สมัครในกลุ่มดังกล่าวทั่วประเทศสูญเสียสิทธิที่จะรักษาความลับของการลงคะแนน
ตัวอย่างเหตการณ์จริง สนามระดับอำเภอ-จังหวัดผู้สมัครถูกเปิดเผยการลงคะแนน
วันที่ 9 มิถุนายน 2567 ถูกประกาศให้เป็นวันเลือกสว. ระดับอำเภอ ซึ่งมีหลายอำเภอด้วยกันที่ประสบปัญหามีผู้สมัครในบางกลุ่มเพียงหนึ่งคน จนทำให้การลงคะแนนในรอบเลือกไขว้ไม่สามารถทำให้การเลือกเป็นไปโดยลับได้
ตัวอย่าง คือ การเลือกสว. ระดับอำเภอ ในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีกลุ่มที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวทั้งหมดหกกลุ่มจากทั้งหมดสามสาย คือ
- สาย ก: กลุ่ม 14 และกลุ่ม 17
- สาย ข: กลุ่มสี่ และกลุ่ม 16
- สาย ค: กลุ่มแปด และกลุ่ม 18
เนื่องจากมีกลุ่มที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวถึงหกกลุ่ม กกต. พยายามแก้ไขปัญหาให้การลงคะแนนยังเป็นความลับโดยให้ทั้งสามสายที่มีกลุ่มที่มีผู้สมัครหนึ่งคนมีหีบลงคะแนนเพียงสายละหนึ่งใบ ทำให้ทุกกลุ่มในสายเดียวกันต้องหย่อนบัตรลงคะแนนในหีบเดียวกัน อย่างไรก็ตามการยกบัตรขึ้นมาชูหลังวินิจฉัยบัตรก็ยังทำให้ผู้สมัครคนอื่นทราบอยู่ดีว่า ผู้สมัครในกลุ่มที่มีผู้สมัครคนเดียวลงคะแนนให้ใครบ้าง
หมายความว่า ในบรรดาผู้สมัครของอำเภออัมพวาทั้งหมด 31 คน มีผู้สมัครถึงหกคนที่ถูกเปิดเผยการลงคะแนนต่อผู้สมัครคนอื่น ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการรักษาสิทธิ ความลับ ความปลอดภัย หรือการป้องกันการฮั้วคะแนนอย่างผิดกฎหมาย ต่อให้มีการตกลงวิธีการลงคะแนนระหว่างผู้สมัครด้วยกันมาก่อนหน้านี้แล้วก็ยากที่จะเปลี่ยนใจในภายหลังโดยไม่ให้ถูกผู้สมัครคนอื่นทราบ
ปัญหานี้ไม่ได้เกิดเพียงแค่ในการเลือกระดับอำเภอ เนื่องจากการเลือกสว.ระดับจังหวัด พบว่ามีอย่างน้อยเก้ากลุ่มอาชีพที่ประสบปัญหาการมีผู้สมัครเพียงคนเดียวในการเลือกระดับจังหวัด ดังนี้
- ผู้สมัครกลุ่มเจ็ด พนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการ ในจังหวัดน่าน และจังหวัดบึงกาฬ
- ผู้สมัครกลุ่มแปด ผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน ในจังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสุพรรณบุรี
- ผู้สมัครกลุ่มเก้า ผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ในจังหวัดเพชรบูรณ์
- ผู้สมัครกลุ่มสิบ ผู้ประกอบกิจการอื่น ในจังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดน่าน จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดระยอง และจังหวัดอุดรธานี
- ผู้สมัครกลุ่ม 11 ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ในจังหวัดนครปฐม จังหวัดนครพนม จังหวัดน่าน จังหวัดบึงกาฬ และจังหวัดสุพรรณบุรี
- ผู้สมัครกลุ่ม 12 ผู้ประกอบอุตสาหกรรม ในจังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชุมพร จังหวัดตาก จังหวัดนครพนม จังหวัดน่าน จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดแพร่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดสงขลา จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดสุพรรณบุรี
- ผู้สมัครกลุ่ม 13 ผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม ในจังหวัดปัตตานี และจังหวัดสมุทรสงคราม
- ผู้สมัครกลุ่ม 18 สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม ในจังหวัดอุดรธานี
- ผู้สมัครกลุ่ม 20 อื่นๆ ในจังหวัดตาก
ดังนั้นจึงหมายความว่า ในรอบการเลือกสว.ระดับจังหวัด มีผู้สมัครถึง 34 คนที่ถูกละเมิดสิทธิที่จะรักษาความลับของการลงคะแนน และเป็นการยากที่จะเปลี่ยนใจในคูหาหากมีการตกลงวิธีการลงคะแนนมาก่อนหน้านี้แล้วกับผู้สมัครคนอื่น ระบบการเลือกสว. ด้วย พ.ร.ป.สวฯ ฉบับนี้และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องจึงสมควรได้รับการแก้ไขโดยรัฐสภาโดยเร็วก่อนการเลือกสว. ชุดใหม่ในอนาคตต่อไป