รวมกันเราอยู่ แยกหมู่กันเราเป็น สว. : แกะรอยคะแนน 8 จังหวัดนำในรอบเลือกกันเอง

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศจบลงด้วยปรากฏการณ์ที่บางจังหวัดสามารถส่งผู้สมัครเป็น สว. ได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะจังหวัดอย่างบุรีรัมย์หรืออยุธยา ที่สามารถพาผู้สมัครจากระดับจังหวัดเข้ารอบไปได้แทบทุกคน และลงท้ายก็มี สว. มาจากจังหวัดเหล่านี้ในอัตราส่วนที่สูงกว่าจังหวัดอื่นมาก

รูปแบบการลงคะแนนของผู้สมัครที่มาจากบางจังหวัดที่มีผู้เข้ารอบไขว้และเป็น สว. มากกว่าจังหวัดอื่นสามารถบอกอะไรเราได้หลายอย่าง ผลการลงคะแนนในรอบเลือกกันเองแสดงให้เห็นว่าจังหวัดใดเป็นจังหวัดที่มี “หวังผล” ในขณะที่การเลือกรอบไขว้ทำให้เห็นว่าผู้สมัครคนใดเข้าร่วมกระบวนการนี้ในฐานะ “ตัวจริง” และใครที่มาเพื่อเพียงแค่เสียสละตัวเอง

กลุ่มแปดจังหวัดที่เข้ารอบสูงไขว้ลิ่ว รวม สว. 52 คน

หลังจากการนับคะแนนรอบเลือกกันเองสิ้นสุดลง พบรูปแบบของจังหวัดที่มีผู้เข้ารอบไขว้สูงสุดแปดจังหวัด เนื่องจากมีผู้สมัครผ่านเข้ารอบจำนวนมากอย่างเห็นได้ชัด และในท้ายที่สุด ผู้สมัครจากกลุ่มจังหวัดนี้จะมีอัตราส่วนที่ได้เป็น สว. สูงกว่าผู้สมัครที่มาจากจังหวัดอื่นมาก

อันดับที่จังหวัดจำนวนที่ผ่านเข้ารอบไขว้จำนวน สว.
1อยุธยา387
2บุรีรัมย์3814
3สตูล386
4อ่างทอง376
5เลย375
6อำนาจเจริญ365
7ยโสธร342
8สุรินทร์287
9นครนายก193
10ตรัง191
11กรุงเทพมหานคร149
12นครราชสีมา142
ตาราง 1: จังหวัดที่มีผู้สมัคร สว. ผ่านเข้ารอบไขว้ในระดับประเทศสูงสุด

กลุ่มแปดจังหวัดที่มีผู้เข้ารอบสูงสุดมีจำนวนผู้เข้ารอบไขว้ไม่ห่างกันมาก คือตั้งแต่ 28-38 คน จากผู้สมัครที่เข้ารอบมาจังหวัดละ 40 คนจากบุรีรัมย์ อยุธยา และสตูล มีผู้เข้ารอบถึงจังหวัดละ 38 คนหรือหมายความว่ามีผู้ตกรอบเพียงสองคนต่อจังหวัดเท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่อันดับเก้า นครนายกมีผู้เข้ารอบเหลือเพียง 19 คนเท่านั้น มากไปกว่านั้น เมื่อการเลือกไขว้สิ้นสุดลง กลุ่มแปดจังหวัดนี้จะได้ สว. รวมกันถึง 52 คนจากผู้สมัครที่เข้ารอบทั้งหมด 258 คน จำนวนนี้เท่ากับประมาณหนึ่งในสี่ของ สว. ชุดใหม่ทั้ง 200 คน เพียงบุรีรัมย์จังหวัดเดียวก็มี สว. มากถึง 14 คน ในขณะที่จังหวัดอื่นในกลุ่มแปดจังหวัดนี้ก็มีจำนวน สว. มาก เช่น อยุธยาและสุรินทร์มีจังหวัดละเจ็ดคน

รวมกันเราอยู่ ผู้สมัครแปดจังหวัดคะแนนเกาะกลุ่มเข้ารอบไปด้วยกัน

เมื่อมองลึกเข้าไป จะเห็นลักษณะการกระจายตัวของคะแนนที่น่าสนใจระหว่างผู้สมัครที่เข้ารอบไขว้จากกลุ่มแปดจังหวัดนำและอีก 69 จังหวัดที่เหลือ

กราฟ 1: การกระจายตัวของคะแนนของผู้สมัคร Top 8 จังหวัดเปรียบเทียบกับจังหวัดที่เหลือในรอบเลือกกันเอง

ในรอบเลือกกันเอง ผู้สมัครจำนวน 286 คนที่ผ่านเข้าไปรอบไขว้จากกลุ่มแปดจังหวัดมีคะแนนค่อนข้างเกาะกลุ่มกัน โดยผู้สมัครครึ่งหนึ่งมีคะแนนใกล้เคียงกันที่ 22-28 คะแนนเท่านั้น และไม่มีผู้สมัครคนใดที่ได้คะแนนโดดออกจากกลุ่มเลย ค่าเฉลี่ยคะแนนของผู้สมัครที่ผ่านเข้าไปรอบไขว้จากกลุ่มแปดจังหวัดอยู่ที่ประมาณ 24 คะแนน ซึ่งถือว่าเป็นระยะที่ “ปลอดภัย” ที่จะการันตีการผ่านเข้ารอบเนื่องจากคะแนนเฉลี่ยทั้งหมดของผู้สมัคร 800 คนที่เข้ารอบไขว้อยู่ที่ประมาณ 21 คะแนน

ในทางตรงกันข้าม การกระจายตัวของคะแนนของผู้สมัครที่มาจากอีก 69 จังหวัดที่เหลือที่เข้ารอบมีความหลากหลายมากกว่า ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมใหญ่ที่มีสามเหลี่ยมเล็กอยู่ตรงปลาย หมายความว่ามีผู้สมัครที่ได้คะแนนน้อยเป็นจำนวนมาก ผู้สมัครครึ่งหนึ่งได้ 18 คะแนนหรือน้อยกว่า ในขณะผู้สมัครอีกกลุ่มหนึ่งได้คะแนนสูงโดดออกจากผู้สมัครที่เหลือ ซึ่งเป็น “ตัวเต็ง” ที่จะได้รับเลือกเป็น สว. เมื่อกระบวนการจบลง 

เห็นชัดใครเป็นตัวจริง ใครเป็นผู้เสียสละ

กราฟ 2: การกระจายตัวของคะแนนของผู้สมัคร Top 8 จังหวัดเปรียบเทียบกับจังหวัดที่เหลือในรอบไขว้

เมื่อมาถึงรอบไขว้ รูปแบบการกระจายตัวคะแนนกลับต่างออกไป คะแนนของผู้สมัครจากกลุ่มแปดจังหวัดนำไม่ได้เกาะกลุ่มกันแล้ว แต่คะแนนแยกตัวออกเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน คือมีกลุ่ม “ตัวจริง” ที่ได้คะแนนมากจนได้เป็น สว. กับกลุ่ม “ผู้เสียสละ” ที่แทบไม่ได้คะแนนเลย จาก 286 คนที่ผ่านเข้ารอบไขว้จากแปดจังหวัด มีถึง 229 คนหรือร้อยละ 89 ที่ได้ 10 คะแนนหรือน้อยกว่า ในบรรดาผู้สมัครทั้งหมดที่ไม่มีคะแนนเลย 49 คน เป็นผู้สมัครที่มาจากกลุ่มแปดจังหวัดถึง 44 คน ในอีกทางหนึ่งคือกลุ่มผู้สมัครตัวจริงซึ่งได้คะแนนสูงมาก ตั้งแต่ 46-77 คะแนน ได้รับเลือกเป็น สว. ทั้งหมด โดยมีอีกสามคนที่ได้คะแนนน้อย 22-26 คะแนนที่ได้รับเลือกด้วย และมีตัวสำรองแค่สองคน รวมทั้งหมด สว. จากกลุ่มแปดจังหวัดมี 52 คน

เช่นเดียวกับการเลือกในรอบเลือกกันเอง คะแนนของผู้สมัครจากจังหวัดอีก 69 จังหวัดมีการกระจายตัวมากกว่า พบว่าสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มคะแนนต่ำ โดยมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม กล่าวคือ มีฐานหรือผู้ที่ได้คะแนนน้อยมาก เมื่อคะแนนมากขึ้น จำนวนก็ยิ่งน้อยลงเรื่อย ๆ ผู้สมัครที่อยู่ด้านบนของกลุ่มนี้จะได้เป็น สว. โดยมีคะแนนอยู่ราว 20-35 คะแนน ผู้ที่คะแนนลดหลั่นกันมาก็จะได้เป็นตัวสำรอง ในอีกด้าน ผู้สมัครอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ที่ได้คะแนนสูงมากในระดับเดียวกับกลุ่มผู้ที่รับเลือกจากกลุ่มแปดจังหวัด ระหว่าง 45-79 คะแนน

กราฟ 3: การกระจายตัวของคะแนนในรอบเลือกไขว้ของผู้สมัครในระดับประเทศ

เรียกได้ว่าประเทศไทยจะมี สว. ใหม่ที่แบ่งออกเป็นสองกลุ่มชัดเจน กลุ่มแรกคือ สว. ประเภทคะแนนสูง คือได้คะแนนอยู่ในระยะ 45-79 คะแนนหรือคะแนนเฉลี่ยถึง 60 คะแนน กลุ่มนี้รวมกันเป็นก้อนจำนวน 120 คน และเป็นผู้ที่ได้คะแนนอันดับ 1-6 ของทุกกลุ่มอาชีพ (ยกเว้นกลุ่ม 14) แม้ว่าจะมีกระบวนการสุ่มจับสายของกลุ่มอาชีพ แต่ผู้สมัครในกลุ่มคะแนนสูงนี้ก็ยังได้คะแนนถล่มทลายจนคว้าตำแหน่ง สว. ไปได้ ในขณะที่ สว. อีก 80 คนที่เหลือได้คะแนนน้อยโดยอยู่ในกลุ่มก้อนเดียวกันผู้สมัครคนอื่นที่ตกรอบและเป็นตัวสำรอง

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage