เปิดข้อค้นพบเลือก #สว67 ระดับประเทศ แปดจังหวัดวิเคราะห์ได้ใครตัวจริงใครตัวโหวต หลายรายอาจขาดคุณสมบัติ สมัครไม่ตรงกลุ่ม

28 มิถุนายน 2567 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ iLaw และ We Watch เวทีสรุปบทเรียนและข้อสังเกตจากวันเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ในระดับประเทศ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี โดยกระบวนการเลือก สว. แบ่งออกเป็นสองขั้นตอน คือ รอบเลือกกันเอง ให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มได้ไม่เกิน 10 คน เลือกกันจนได้ผู้ได้คะแนนสูงสุด 40 คนแรก เพื่อเข้ารอบต่อไป และรอบเลือกไขว้ ที่จะต้องแบ่งผู้สมัครออกเป็นสี่สาย ได้แก่ สาย ก. สาย ข. สาย ค. และสาย ง. ในแต่ละสายจะมีผู้สมัครห้ากลุ่ม และต้องลงคะแนนเลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกันจนได้ สว. ตัวจริง คือผู้ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก และห้าตัวสำรอง ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 11-15 ซึ่งกระบวนการดังกล่าวแล้วเสร็จในเวลา 04.52 น. ของวันที่ 27 มิถุนายน 2567 กินเวลาประมาณ 21 ชั่วโมง

จากการสังเกตการณ์กระบวนการเลือก สว. ในระดับประเทศ โดยองค์กรเครือข่าย senate67 และจากการสืบค้นข้อมูลผู้สมัคร สว. ที่เข้าสู่รอบระดับประเทศ จำนวน 800 คนจาก 20 กลุ่ม ผ่านเอกสารข้อมูลผู้สมัคร (สว. 3) ประกอบกับการสืบค้นข้อมูลอื่นประกอบเพิ่ม มีข้อสังเกตและข้อค้นพบเกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว. ระดับประเทศ ดังนี้

แกะรอยแปดจังหวัดคะแนนนำรอบเลือกกันเอง รอบเลือกไขว้คนได้เป็น สว. คะแนนสูงโดด คนตกรอบได้คะแนนหลักหน่วย

อันดับที่จังหวัดจำนวน สส. ภูมิใจไทยจำนวนที่ผ่านเข้ารอบไขว้จำนวน สว.
1อยุธยา3/5387
=บุรีรัมย์10/103814
=สตูล2/2386
2อ่างทอง2/2376
=เลย1/4375
3อำนาจเจริญ2/2365
4ยโสธร1/3342
5สุรินทร์5/8287
9นครนายก193
10ตรัง191
11กรุงเทพมหานคร149
12นครราชสีมา142

เมื่อดูจากผลคะแนนการเลือก สว. ระดับประเทศ มีแปดจังหวัดที่ส่งผู้สมัคร สว. ผ่านเข้าสู่รอบเลือกไขว้ได้ถึง 258 คน ลำดับที่หนึ่ง ได้แก่ อยุธยา บุรีรัมย์ และสตูล ซึ่งมีผู้สมัครผ่านเข้าสู่รอบเลือกไขว้ถึง 38 คน อันดับสอง คือ อ่างทองและเลย มีผู้สมัคร สว. ผ่านเข้ารอบเลือกไขว้ 37 คน อันดับสาม อำนาจเจริญ มีผู้ผ่านเข้าสู่รอบเลือกไขว้ 36 คน ตามมาด้วยยโสธร ที่มีผู้ผ่านเข้ารอบเลือกไขว้ 34 คน และสุรินท์ มีผู้ผ่านเข้ารอบ 28 คน หากดูเชิงพื้นที่ของจังหวัดดังกล่าว พบว่าหลายจังหวัด เช่น อยุธยา บุรีรัมย์ สตูล อ่างทอง อำนาจเจริญ ยโสธร สุรินทร์ เป็น “จังหวัดภูมิใจไทย” กล่าวคือ เป็นจังหวัดที่พรรคภูมิใจไทยครองพื้นที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เกินครึ่งหรือทั้งจังหวัด

ซึ่งหากดูจำนวนของผู้ได้เป็น สว. จากทั้งแปดจังหวัด รวมแล้วมี 52 คน หรือคิดเป็นหนึ่งในสี่ของวุฒิสภาชุดใหม่ซึ่งมีจำนวน 200 คน

เมื่อดูผลคะแนนของผู้สมัครที่ผ่านรอบเลือกกันเองเพื่อไปต่อรอบเลือกไขว้ยัง “เกาะกลุ่ม” ไล่เลี่ยกันอยู่บ้าง ไม่ได้ปรากฏชัดว่ามีผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงทิ้งโดดจากผู้สมัครคนอื่นๆ ที่มาจากจังหวัดเดียวกัน แต่ในรอบเลือกไขว้ กลับแตกต่างออกไป โดยปรากฏให้เห็นว่ามีผู้สมัครที่ได้เป็น สว. ได้คะแนนสูงโดด ขณะที่ผู้สมัครคนอื่นๆ จากจังหวัดเดียวกันได้คะแนนน้อย เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ ในทุกกลุ่ม ผู้ที่ได้เป็น สว. ได้คะแนนสูงโดด โดยภาพรวมได้คะแนนที่ประมาณ 50 คะแนนขึ้นไป ผู้ที่ได้เป็น สว. ที่ได้คะแนนน้อยที่สุด อยู่ที่ 26 คะแนนด้านผู้ได้คะแนนสูงสุด อยู่ที่ 72 คะแนน ขณะที่ผู้ที่ตกรอบได้คะแนนน้อยเพียงหลักหน่วยเท่านั้น ทำนองเดียวกัน ผู้สมัคร สว. จากจังหวัดเลยที่ได้รับเลือกเป็น สว. ผลคะแนนในรอบเลือกไขว้สูงโดด ขณะที่ผู้ตกรอบไปได้คะแนนเพียงหลักหน่วยเท่านั้น

กล่าวโดยสรุปคือ จากการวิเคราะห์ผลการลงคะแนน พอจะมองเห็นได้ว่าใครที่เข้ารอบมาเป็นผู้เลือก (voter) ซึ่งจะได้คะแนนน้อยมากๆ และใครที่เข้ามาเป็นผู้สมัคร สว. ตัวจริง จะได้คะแนนสูงโดด

พบผู้สมัครบางรายอาจขาดคุณสมบัติ สมัครไม่ตรงกลุ่ม-มีลักษณะต้องห้าม

การสมัคร สว. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร สว. ไว้หลายประการ และยังกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่รู้ว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกและยังสมัครรับเลือก มีโทษจำคุกหนึ่งปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี (มาตรา 74)

จากการสืบค้นข้อมูลผู้สมัคร สว. ที่เข้าสู่รอบระดับประเทศ จำนวน 800 คนจาก 20 กลุ่ม ผ่านเอกสารข้อมูลผู้สมัคร (สว. 3) ประกอบกับการสืบค้นข้อมูลอื่นประกอบเพิ่ม พบว่ามีผู้สมัคร สว. ระดับประเทศบางรายที่อาจขาดคุณสมบัติ ดังนี้

กรณีแรก ขาดคุณสมบัติ เพราะสมัครไม่ตรงกลุ่ม พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 13 (3) กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร สว. ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี หากดูข้อมูลผู้สมัครที่เขียนในเอกสาร สว. 3 พบว่าผู้สมัครบางกลุ่ม อาจสมัครไม่ตรงกลุ่ม ซึ่ง กกต. ควรจะต้องตรวจสอบว่าผู้สมัครเหล่านั้นมีประสบการณ์ในด้านที่สมัครถึง 10 ปีจริงหรือไม่

ตัวอย่างเช่น

ผู้สมัครในกลุ่ม 5 ทำอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก จิรวุธ บุญรินทร์ ผู้สมัคร สว. จากจังหวัดสตูล ระบุประวัติการทำงานที่ต้องเขียนไม่เกินห้าบรรทัด ในเอกสาร สว. 3 มาว่า ทำสวนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 จนถึงปัจจุบัน ทั้งๆ ที่อาชีพทำสวน ถูกจัดไว้อีกกลุ่ม คือกลุ่ม 6 กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง อีกรายคือ สมพร ชำนาญดง เขียนในเอกสาร สว. 3 ว่า มีอาชีพปลูกผักกินเองและจำหน่ายเป็นอาชีพหลัก ซึ่งควรจะลงกลุ่ม 6 สองคนนี้ไม่ได้เป็น สว. แต่ได้ลงคะแนนเลือกคนอื่น ถ้าหากเขียน สว. 3 มาเพียงเท่านี้ กกต. ก็ควรจะตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติหรือไม่

ผู้สมัครในกลุ่ม 6 ทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง วิชิต สุขกำเนิด ระบุในเอกสาร สว. 3 ว่าเคยเป็นผู้ใหญ่บ้าน ต้องมีคำอธิบายว่าทำไมถึงสมัครกลุ่มทำสวนได้ คำผอง พิลาทอง เขียน สว. 3 ว่าปลูกอ้อย ซึ่งควรจะไปลงสมัครกลุ่ม 5 มากกว่า

ผู้สมัครในกลุ่ม 17 ประชาสังคมและองค์กรสาธารณประโยชน์ ชาญชัย ไชยพิศ ระบุในเอกสาร สว. 3 ว่าเคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นนายกสมาคมผู้บริหารและรับราชการครู แต่ไม่ได้เขียนมาว่าเคยประกอบอาชีพหรือมีประสบการด้านประชาสังคมอย่างไร

จากกรณีตัวอย่างของผู้สมัครที่อาจขาดคุณสมบัติในการสมัคร สว. บุคคลเหล่านี้ลงคะแนนเลือกผู้สมัครอื่นจนได้ว่าที่ สว. แล้ว กกต. จึงควรเร่งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครรวมถึงผู้ได้รับเลือกเป็น สว.

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage