สว.67 ระดับประเทศ : กลุ่มกฎหมาย ผู้พิพากษา-อัยการหลักหน่วย ตำรวจเกือบครึ่ง ผู้หญิง 10 จาก 154 คน

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ที่จะสานต่อภารกิจของ “สภาสูง” ต่อจาก สว. ชุดพิเศษ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 มีที่มาจากระบบ “เลือกกันเอง” ที่ออกแบบโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ โดยจัดแบ่ง สว. 200 คน ออกเป็น 20 กลุ่มตามความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน โดยแต่ละกลุ่มมี สว. 10 คน และมีบัญชีรายชื่อสำรองอีกห้าคนต่อกลุ่ม

ในจำนวน สว. 20 กลุ่ม มีชัยและพวกก็จัดสรรให้มี สว. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมายต่างๆ มาไม่น้อยกว่า 10 ปี เข้ามารับหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ พิจารณากฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

แม้ว่าผู้ที่จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์ จะสามารถประกอบอาชีพทางกฎหมายได้อย่างหลากหลายทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ อาทิ เป็นนิติกรในหน่วยงานภาครัฐ เป็นนักกฎหมายองค์กรเอกชน (in house lawyer) หรือทำงานในบริษัทกฎหมาย (law firm) เป็นผู้พิพากษา อัยการ ตุลาการศาลปกครอง เจ้าพนักงานคดีปกครอง อนุญาโตตุลาการ ตำรวจ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ แต่เมื่อสำรวจดูผู้ที่ผ่านการเลือกระดับจังหวัด และเข้าสู่สนามการเลือก สว. ระดับประเทศแล้ว ผู้สมัครในกลุ่มสอง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จำนวน 154 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทนายความและที่ปรึกษากฎหมายในองค์กรเอกชน รองลงมาคือตำรวจ ขณะที่อาชีพกระแสหลักในฝั่งสายงานราชการอย่างผู้พิพากษาและอัยการ กลับมีผู้สมัคร สว. ในระดับประเทศเพียงหลักหน่วยเท่านั้น

ผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นคนวัยเกษียณ เพศหญิงน้อยสุดในบรรดา 20 กลุ่ม แค่ 6.49%

เมื่อสำรวจผู้สมัคร สว. ที่เข้าสู่รอบระดับประเทศ ในจำนวนผู้สมัคร 3,000 คน จาก 20 กลุ่ม ประกอบไปด้วยผู้สมัครเพศชายจำนวน 2,164 คนหรือคิดเป็น 72.13% และเพศหญิง 836 คนหรือคิดเป็น 27.87% โดยกลุ่มสอง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีสัดส่วนผู้สมัครหญิง “น้อยที่สุด” เมื่อเทียบกับอีก 19 กลุ่ม ในจำนวนผู้สมัคร 154 คนที่ผ่านการเลือกระดับจังหวัดมาแล้ว มีผู้สมัครชาย 144 คนหรือคิดเป็น 93.51% และผู้สมัครหญิงเพียง 10 คนหรือคิดเป็น 6.49% เท่านั้น จากการสำรวจเอกสารข้อมูลผู้สมัคร สว. 3 ทั้งส่วนที่ระบุอาชีพและส่วนที่เปิดพื้นที่ให้ผู้สมัครเล่าประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ทำงานได้ไม่เกินห้าบรรทัด พบว่าผู้สมัครหญิงทั้ง 10 คน ล้วนทำงานในฟากภาคเอกชน เป็นทนายความและที่ปรึกษากฎหมายทั้งสิ้น

ผู้สมัคร สว. ในกลุ่มสองส่วนใหญ่ เป็นคน “วัยเกษียณ” มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวม 110 คน (71.43%) ผู้สมัครที่มีอายุมากที่สุดคือ 83 ปีและรองลงมาคือ 82 ปี ขณะที่ผู้สมัครที่มีอายุน้อยที่สุดในกลุ่มนี้ อยู่ที่ 41 ปี มีจำนวนห้าคน (3.25%) ทั้งนี้ ในกลุ่มสอง ไม่มีผู้สมัครที่อายุ 40 ปี ซึ่งเป็นอายุขั้นต่ำสุดที่สามารถสมัคร สว. ได้เลย

อายุของผู้สมัคร สว. ระดับประเทศ
กลุ่มสอง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
จำนวนผู้สมัคร (คน)
415
421
432
443
452
471
482
493
502
521
543
565
574
583
597
6013
619
6216
639
648
657
6611
6711
687
694
702
712
721
733
741
753
771
821
831
รวม154
ช่วงอายุของผู้สมัคร สว. ระดับประเทศ
กลุ่มสอง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
จำนวนผู้สมัคร (คน)
40-4919
50-5925
60-6995
70-7913
80-892

สายภาครัฐ-เอกชน เท่าๆ กัน ผู้สมัครส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทนาย-ที่ปรึกษาเอกชน

จากการสำรวจเอกสารข้อมูลผู้สมัคร สว. 3 ทั้งส่วนที่ระบุอาชีพและส่วนที่เปิดพื้นที่ให้ผู้สมัครเล่าประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ทำงานได้ไม่เกินห้าบรรทัด พบว่าผู้สมัคร สว. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ประกอบอาชีพในสายงานภาครัฐและภาคเอกชนในจำนวนเท่ากัน โดยมีผู้สมัคร สว. ที่ประกอบอาชีพในฟากองค์กรภาคเอกชน 77 คน และในภาครัฐ กล่าวคือ เคยเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ 77 คน โดยในจำนวนดังกล่าว ก็มีผู้สมัครที่เปลี่ยนสายงาน เคยทำงานทางด้านกฎหมายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนหกคน

ในภาพรวม ผู้สมัคร สว. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเขียนเล่าประสบการณ์ (ไม่เกินห้าบรรทัด) โดยมุ่งเน้นไปเรื่องการประกอบอาชีพทางด้านกฎหมาย หรือตำแหน่งต่างๆ ที่เคยเป็น โดยไม่พบผู้สมัครที่เขียนเล่าอุดมการณ์หรือแนวคิดทางการเมืองในพื้นที่ห้าบรรทัดดังกล่าว

โดยผู้สมัคร สว. ครึ่งหนึ่งของกลุ่ม อย่างน้อย 77 คน ประกอบอาชีพทนายความและที่ปรึกษากฎหมายในองค์กรเอกชน รองลงมาคือตำรวจ อย่างน้อย 65 คน หรือคิดเป็นประมาณ 42.21% ขณะที่อาชีพกระแสหลักในวงการกฎหมายอย่างผู้พิพากษา มีผู้สมัคร สว. ระดับประเทศเพียงสามคนเท่านั้น คิดเป็นประมาณ 1.95% และมีผู้ประกอบอาชีพอัยการหนึ่งคน คิดเป็นประมาณ 0.65%

อาชีพอย่างน้อยจำนวน (คน)เปอร์เซ็นต์ (โดยประมาณ)
ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายองค์กรเอกชน7750%
ตำรวจ6542.21%
ข้าราชการอื่นๆ42.60%
ผู้พิพากษา31.95%
เจ้าหน้าที่สาธารณสุข (เคยเป็นผู้พิพากษาสมทบ)10.65%
อัยการ10.65%
นักการทูต10.65%
ผู้คุมเรือนจำ10.65%
ผู้ใหญ่บ้าน10.65%

นอกจากผู้ที่ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมายโดยตรง ยังมีผู้สมัคร สว. ในกลุ่มสองที่เคยประกอบอาชีพอื่นๆ มาลงสมัครด้วย เช่น ทรงยศ มงคลบุตร ระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตรวจใช้กฎหมายด้านสาธารณสุข 29 ปี และมีประสบการณ์เป็นผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพังงาห้าปี และเป็นผู้ประนีประนอมในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพังงาและศาลจังหวัดพังงาอีกหกปี อีกรายคือ สืบศักดิ์ แววแก้ว เขียนประสบการณ์ทำงานว่า เป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 และมาเป็นกำนันตั้งแต่ พ.ศ. 2554-พ.ศ. 2565

พบอดีต กกต. – อดีต สว. 51 ลงสว. 67

แม้ภาพรวมผู้สมัคร สว. ในกลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่จะไม่ได้มีบทบาทในสนามการเมืองระดับประเทศนัก แต่ก็มีผู้สมัคร สว. บางส่วนที่เคยข้องเกี่ยวหรือดำรงตำแหน่งในแวดวงการเมืองระดับประเทศอยู่บ้าง เช่น

  • บุญส่ง-น้อยโสภณ : อดีตผู้พิพากษา เคยดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระหว่าง 13 ธันวาคม 2556 ถึง 11 สิงหาคม 2561 นอกจากนี้ เดือนมิถุนายน 2562 บุญส่งยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารองประธานวุฒิสภา คนที่สอง (ศุภชัย สมเจริญ) อีกด้วย
  • อนุรักษ์ นิยมเวช : อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อนุรักษ์ยังเคยเป็น สว. ปี 2551-2557 จากสัดส่วนสรรหาภาควิชาชีพด้วย
  • วิเชียร รุจิธำรงกุล : ทนายความเจ้าของสำนักงานกฎหมายวิเชียรและเพื่อน วิเชียรเคยเป็นเลขานุการรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง (สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย) พ.ศ. 2555 ถึง พ.ศ. 2557 และในการ “เลือกกันเอง” ของ สว. กลุ่มอาชีพ ปี 2561  เพื่อหา สว. จำนวน 50 คนที่มาเป็น สว. ชุดพิเศษ 250 คน วิเชียรยังเป็นหนึ่งในบุคคลบัญชีสำรองด้วย ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 1/2562
Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage