สว.67 ระดับประเทศ : “กลุ่มสิ่งแวดล้อม-อสังหา-พลังงาน” ราชการบำนาญอื้อ มีอดีตสภาปฏิรูปฯ สมัครด้วย

การสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา 2567 ถูกมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แบ่งผู้สมัครออกเป็น 20 กลุ่ม ส่งผลให้ผู้สมัครในกลุ่มที่แปด “กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน” รวมผู้คนจากหลายที่มาตั้งแต่นักสิ่งแวดล้อม นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และนักธุรกิจด้านพลังงาน มาแย่งโควต้าเก้าอี้สว. สิบที่นั่งผ่านระบบ “เลือกกันเอง” 

จากการประกาศรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบจากการเลือกในระดับอำเภอ-จังหวัด ผู้สมัครกลุ่มแปดสามารถเข้าสู่รอบเลือกกันเองระดับประเทศทั้งหมด 149 คน จากการสำรวจใบสว.3 ของผู้สมัครทุกคน พบว่าผู้สมัครส่วนมากระบุว่าเป็นข้าราชการบำนาญเป็นหลัก จำนวน 28 คน ตามมาด้วยเจ้าของกิจการ จำนวน 20 คน และวิศวกร จำนวน 16 คน อย่างไรก็ตามยังมีผู้สมัครจากอาชีพอื่นๆ เช่น ค้าขาย และประมง สมัครเข้ามาในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน

การค้นข้อมูลยังค้นพบอีกว่า มีผู้สมัครกลุ่มใหญ่เป็นเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) บางส่วนเคยเป็นผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือมีความเกี่ยวข้องกับอนุกรรมาธิการสว. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน) ไปจนถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อีกด้วย

ผู้สมัครกลุ่มใหญ่เป็นข้าราชการบำนาญ อีกกลุ่มเป็น ทสม.

เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว) กำหนดให้ผู้สมัครต้องมีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป และมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในกลุ่มที่ลงสมัครขั้นต่ำสิบปี ทำให้ข้าราชการที่เกษียณอายุแล้วกลายเป็นผู้สมัครส่วนมากของหลายกลุ่ม กลุ่มแปดเองก็เช่นกันเนื่องจากมีผู้สมัครที่เป็นข้าราชการบำนาญมากถึง 28 คน

ข้าราชการบำนาญจำนวนหนึ่งเป็นผู้ที่เคยทำงานในกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งเคยทำงานด้านการบริหารผังเมือง ซึ่งในจำนวนข้าราชการบำนาญเหล่านี้มีอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดถึงสองคน คือ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ขณะเดียวกันตำแหน่งรองลงมาอย่างรองผู้ว่าราชการจังหวัดก็ลงสมัครในกลุ่มที่แปดด้วยเช่นกัน คือ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช

นอกจากข้าราชการบำนาญแล้ว ผู้สมัครสว. กลุ่มแปดจำนวนแปดคนยังระบุไว้ในใบสว.3 ว่าเป็น ทสม. อีกด้วย ซึ่ง ทสม. ทั่วประเทศมีจำนวนทั้งหมด 275,905 คน โดยปี 2567 มีผู้มาสมัครเป็น ทสม. จำนวน 3,868 คน อยู่ภายใต้ระเบียบว่าด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน พ.ศ. 2550 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พบอดีตผู้สมัคร สส. จากหลายพรรคลงในกลุ่ม 8

ข้อมูลใบสว.3 ทั้งหมดของกลุ่มแปดระบุว่า มีผู้สมัครจำนวนเก้าคนเคยเป็นผู้ลงสมัครสส. ในปีต่างๆ แตกต่างกันออกไป ดังนี้

  1. ชลัม ภุมกาญจน์ อดีตผู้สมัครสส. พรรคประชามติ เขต 1 จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2550
  2. คำศรี เคนคุณ อดีตผู้สมัครสส. พรรคประชากรไทย เขต 5 จังหวัดศรีษะเกษ พ.ศ. 2543
  3. ถาวรวัฒน์ คงแก้ว อดีตผู้สมัครสส. พรรคเพื่อไทย เขต 6 จังหวัดนครศรีธรรมราช พ.ศ. 2567
  4. นพดล อินนา อดีตผู้สมัครสส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรครักษ์สันติ พ.ศ. 2554 ก่อนหน้านี้เคยเป็นสส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย
  5. ปฐมพงษ์ ยิ้มแย้ม อดีตผู้สมัครสส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย พ.ศ. 2566
  6. ประสงค์ นามเสถียร อดีตผู้สมัครสส. พรรคพลังประชารัฐ เขต 1 จังหวัดตาก
  7. มงคล เหลี่ยมวัฒนกุล อดีตผู้สมัครสส. พรรคไทยสร้างไทย เขต 1 จังหวัดพิษณุโลก
  8. ยุทธเดช ศรีพรหมทัต อดีตผู้สมัครสส. พรรคอนาคตใหม่ เขต 6 จังหวัดสกลนคร

ผู้สมัครบางส่วนเกี่ยวข้องกับสภาปฏิรูปแห่งชาติสมัยคสช. 

หลังการรัฐประหารของคระรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 27 ระบุให้ประเทศไทยมี “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” หรือ สปช. ทำหน้าที่ศึกษาและสร้างข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ หลังการรัฐประหาร จำนวน 250 คน ซึ่งมาจากคณะกรรมการสรรหาซึ่งมีที่มาจากคสช. เช่นกัน โดยต่อมาจะถูกยุบและแทนที่ด้วยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในปี 2558

จากใบสมัครสว.3 ของผู้สมัครในกลุ่มแปดมีผู้สมัครจำนวนสองคนที่ระบุในช่อง “ประวัติการทำงานหรือประสบการณ์ทำงานในกลุ่มที่สมัคร” ที่มีเนื้อที่ห้าทั้งหมดบรรทัด ดังนี้

  1. สรณัฎฐ์ สาระสมบัติ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการพลังงานทดแทน สภาปฏิรูปแห่งชาติ รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งในคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ติดตามและเสนอแนะด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน วุฒิสภา อีกด้วย
  2. สุชาติ นวกวงษ์ สมาชิกสปช. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม มีผู้สมัครอีกหนึ่งคนที่มีความเกี่ยวข้องกับสปช. คือ ปฏิมา จีระแพทย์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปอุตสาหกรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ ช่วงปี 2558 แต่ไม่ได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนในใบสว.3 เหมือนสองคนก่อนหน้า ต่อมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา อีกด้วย

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage