สว.67 ระดับประเทศ : “กลุ่มข้าราชการ” มีทหารเยอะสุด อดีตผู้ว่าฯ มากันเพียบ

ในบรรดา 20 กลุ่มอาชีพของการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กลุ่ม 1 หรือกลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง นั้นเต็มไปด้วยผู้สมัครที่ผ่านงานตำแหน่งใหญ่ๆ ในหน่วยงานราชการและองค์กรภาครัฐต่างๆ มามากมาย เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีแต่ “ผู้หลักผู้ใหญ่” ของบ้านเมืองมาแย่งตำแหน่งกัน 

เมื่อพิจารณาข้อมูลประวัติการทำงานในเอกสาร สว.3 ของผู้เข้ารับการคัดเลือกระดับประเทศ 154 คนสุดท้ายในกลุ่มนี้ พบว่า ส่วนมากใช้พื้นท่ีเขียนประวัติกัน “เต็มโควต้า” พื้นที่การแนะนำตัวเขียนเต็ม 5 บรรทัดเกือบทุกใบ และภาพถ่ายผู้สมัครแต่ละคนต่างก็ใส่ชุด “ปกติขาว” บ่าสองข้างเต็มไปด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แตกต่างจากผู้สมัครหลายๆ กลุ่มที่จะมีคนเขียนประวัติสั้นๆ หรือไม่เขียนเลย

Web

ผู้สมัครสว. ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแวดวงสังคม จนเรียกได้ว่าเป็น “ตัวเต็ง” หลายคนที่ปรากฏบนหน้าสื่อต่างก็เลือกสมัครในกลุ่ม 1 กันเยอะมาก เช่น สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 26, พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี หรือ “ผู้ว่าปู” อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีชื่อเสียงในฐานะที่ทำงานต่อสู้กับโควิด-19 ใน จ.สมุทรสาคร ช่วงที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงเมื่อปี 2563 จนทำให้ผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ได้รับเชื้อ 


และอีกหลายคน เช่น มงคล สุระสัจจะ อดีตอธิบดีกรมการปกครองและผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์, กฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ และโฆษกกระทรวงพาณิชย์, พล.ต.ต.อรรถวิทย์ สายสืบ อดีตตำรวจคุมม็อบ, นิพนธ์  นราพิทักษ์กุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนซ.), พล.อ.นุชิต ศรีบุญส่ง อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม, ภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทั้งหมดนี้จะได้รับคัดเลือกให้เป็นสว. ไม่เกิน 10 คน และตัวสำรองอีก 5 คนเท่านั้น 

จากการตรวจสอบประวัติที่ผู้สมัครเขียนแนะนำตัวเองในเอกสารสว.3 พบว่า ผู้สมัครในกลุ่ม 1 ที่เข้ารอบระดับประเทศ จากทั้งหมด 154 คน ประกอบไปด้วยคนที่มีประวัติการทำงานในตำแหน่งดังต่อไปนี้

  • ทหาร อย่างน้อย 30 คน 
  • ตำรวจ อย่างน้อย 22 คน 
  • ครูหรือตำแหน่งอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน อย่างน้อย 17 คน
  • ผู้ช่วย/ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อย่างน้อย 15 คน
  • ผู้ว่าราชการจังหวัด อย่างน้อย 13 คน
  • ปลัดอำเภอ/จังหวัด อย่างน้อย 8 คน
  • ข้าราชการระดับสูงที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลและรัฐสภา อย่างน้อย 7 คน
  • ข้าราชการระดับสูงที่มีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงต่างๆ อย่างน้อย 5 คน
  • นายกรัฐมนตรี 1 คน

และอาชีพอื่น ๆ อาทิเช่น นายอำเภอ  ผู้ประกอบอาชีพในรัฐวิสาหกิจ อย่างน้อย 36 คน

อย่างไรก็ดี จากผู้สมัคร 154 คน มีผู้สมัคร 1 คน จากจังหวัดสงขลา คือ หราด เซสอัฟซัน เขียนประวัติใน สว. 3 ว่า ประกอบอาชีพรับจ้างและไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการบริหารราชการแผ่นดิน 

ไม่ว่าผู้สมัครจะเคยดำรงตำแหน่งที่ใหญ่โตเพียงใด เมื่อมาถึงสนามนี้ก็จะมีสิทธิในการออกเสียง และสิทธิได้รับคะแนนเสียงเท่ากัน ในนระดับประเทศ ผู้สมัครทุกคนจะลงคะแนน “เลือกกันเอง” ในกลุ่มเดียวกันได้คนละ 10 เสียง ซึ่งจะเลือกตัวเองก็ได้ และจะออกเสียงไม่ครบ 10 เสียงก็ได้ ระบบการลงคะแนนเลือกกันเองนี้เป็นระบบที่ให้ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิตัดสิน หมายความว่า หากทุกคนเลือกลงคะแนนให้คนที่เคยมีตำแหน่งสูงกว่าตัวเอง ก็เท่ากับเพิ่มโอกาสให้คู่แข่งและตัดโอกาสของตัวเอง ดังนั้น ตำแหน่งที่เคยเป็นมาในอดีตก็อาจไม่รับประกันว่า สุดท้ายแล้วคนที่เคยมีตำแหน่งสูงกว่าจะได้คะแนนมากกว่า

การแข่งขันในรอบสุดท้ายระหว่าง “อดีตผู้ว่าฯ ทหาร ตำรวจ” ในสนามสว.ครั้งนี้จะจบลงอย่างไร วันที่ 26 มิถุนายน 2567 นี้ ซึ่งจะเป็นวันเลือกระดับประเทศจะเผยคำตอบให้ทุกคนได้รับทราบกันต่อไป

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage