ในบรรดา 20 กลุ่มอาชีพของการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กลุ่ม 20 หรือกลุ่มอาชีพอื่น ๆ เป็นกลุ่มที่มีรายละเอียดไม่ชัดเจนมากที่สุด กล่าวคือ มีการกำหนดไว้เพื่อรองรับทุกคนที่ “ไม่เข้าพวก” กับกลุ่มอาชีพอีก 19 กลุ่มที่เหลือ เพื่อรับมืออย่างมักง่ายกับข้อวิจารณ์ว่าการจัดกลุ่มอาชีพของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดมีชัย ฤชุพันธุ์ นั้นไม่ได้เปิดกว้างหรือครอบคลุมกับคนทุกกลุ่ม ในประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ออกมาเพื่อขยายความกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ก็ไม่ได้กล่าวถึงกลุ่มอื่น ๆ เอาไว้
ในทางปฏิบัติ ผู้สมัครไม่ว่าจะเป็นใครหรือมีประสบการณ์อย่างใดก็สามารถสมัครกลุ่มอื่น ๆ ได้ทั้งสิ้น เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มสำหรับคนที่อาจจะสมัครกลุ่มอาชีพอีก 19 กลุ่มได้ แต่มีเหตุผลบางประการ เช่น กลุ่มนั้นมีผู้สมัครมากแล้ว ทำให้เลือกที่จะสมัครกลุ่ม 20 แทน กลุ่มอื่น ๆ จึงกลายเป็นสถานที่ที่มีผู้สมัครหลายประเภท แต่ขาดความสมเหตุสมผลของการเป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพตามที่ควรจะเป็น
จากการตรวจสอบพบว่าผู้สมัครส่วนมากในกลุ่ม 20 ที่เข้ารอบระดับประเทศ สามารถไปสมัครกลุ่มอาชีพอื่นได้ ซึ่งจะตรงกับประสบการณ์ที่เขียนใน สว.3 มากกว่า นอกจากนี้ ผู้สมัครจำนวนหนึ่งยังเลือกเขียนประวัติแค่บางส่วน เช่น ระบุว่าเคยเป็นสมาชิกอนุกรรมาธิการของ สว. ซึ่งไม่ได้มีระยะเวลาการทำงานมากถึง 10 ปี ส่วนรายละเอียดอาชีพหลักนั้นก็ไม่ได้เขียนไว้ในส่วนห้าบรรทัดทำให้ยากต่อการเข้าใจว่ามีประสบการณ์ที่ผ่านมาในด้านใดบ้าง
ผู้สมัครกลุ่ม 20 สามารถจำแนกอย่างคร่าว ๆ ได้เป็น
· ข้าราชการ อย่างน้อย 21 คน (สมัครกลุ่ม 1 ได้)
· ทหารและ กอ.รมน. อย่างน้อย 5 คน (สมัครกลุ่ม 1 ได้)
· ตำรวจ อย่างน้อย 8 คน (สมัครกลุ่ม 1 หรือ 2 ได้)
· ทนาย อย่างน้อย 5 คน (สมัครกลุ่ม 2 ได้)
· ครู อย่างน้อย 9 คน (สมัครกลุ่ม 3 ได้)
· อสม. และอาสาสมัครสาธารณสุข อย่างน้อย 2 คน (สมัครกลุ่ม 4 ได้)
· เกษตรกร 17 คน (สมัครกลุ่ม 5 หรือ 6 ได้)
· ผู้ทำอาชีพค้าขาย ลูกจ้าง รับจ้าง อย่างน้อย 58 คน (สมัครกลุ่ม 7 9 หรือ 19 ได้)
· คนพิการ อย่างน้อย 1 คน (สมัครกลุ่ม 15 ได้)
· นักการเมือง ผู้ใหญ่บ้าน และผู้เคยทำงานการเมือง 6 คน
· ผู้เคยมีตำแหน่งใน สว. ชุด คสช. อย่างน้อย 4 คน
ผู้ที่อาจจะสมัครตรงกลุ่มอื่น ๆ จริง กล่าวคือ ตามประวัติในใบ สว.3 แล้วไม่ได้มีประสบการณ์ด้านใดเลยที่เข้าข่ายอีก 19 กลุ่มที่เหลือได้ อาจพอมีอยู่บ้าง แต่ก็คงจะเป็นผู้ที่เขียนว่าตนเองไม่มีประสบการณ์ประกอบอาชีพที่มีรายได้ สุพรรณพร เกลี้ยงกลม ระบุว่าตนเป็นแม่บ้าน “ได้อยู่บ้านทำหน้าที่ดูแลครอบครัว คอยทำอาหาร ทำความสะอาดบ้าน ดูแลเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมของลูกในบ้าน ดูแลลูกเป็นอย่างดี” หรือ อภิชาติ ขุ่ยร้านหญ้า ซึ่งระบุว่าตนเป็นผู้ขึ้นทะเบียนบริจาคสเต็มเซลล์และบริจาคโลหิต
ความผสมปนเปของผู้สมัครกลุ่ม 20 อาจจะทำให้ลงท้ายแล้ว สว. สังกัดกลุ่มอื่น ๆ จะไม่ชัดเจนว่าเป็นตัวแทนด้านผลประโยชน์หรือความรู้ของประชาชนกลุ่มใด เป็นเพียงกลุ่มที่ผู้สมัครเลือกที่จะ “หนี” มาจากกลุ่มอื่นที่ตนควรจะสมัครมากกว่าเท่านั้น