ศาลรัฐธรรมนูญมีกำหนดจะพิจารณาลงมติในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ว่ามาตรา 107 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ขัดกับสี่มาตราในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป. สว.ฯ) หรือไม่ ผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งผลอย่างมหาศาลต่อการเลือก สว. ที่ดำเนินมาถึงในระดับประเทศในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 นี้
หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า พ.ร.ป. สว.ฯ ขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะทำให้การเลือก สว. ต้อง “แท้ง” และให้ สว. ชุดแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังคงอยู่ในอำนาจต่อไปท่ามกลางสุญญากาศที่เกิดขึ้นจากการไม่มีกฎหมายเลือก สว.
ร้องว่ากฎหมายเลือก สว. ขัดรัฐธรรมนูญ 2560 คนไม่ลงคะแนนให้ตัวเองส่อเจตนาทุจริต
โดยสรุป ผู้ร้องอ้างว่ากระบวนการเลือก สว. ที่บัญญัติใน พ.ร.ป. สว.ฯ นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งรวมถึงการแนะนำตัว (มาตรา 36) โดยเฉพาะในการให้ผู้ที่ “สมัครเพื่อโหวต” เข้ากระบวนการ และการให้ผู้สมัครมีผู้ช่วยเหลือในการแนะนำตัว และกรณีที่ผู้สมัคร สว. ไม่ลงคะแนนให้ตนเองทั้งที่มีสองคะแนน (มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42) ซึ่งผู้ร้องสันนิษฐานว่าต้องมาจากการรู้เห็นเป็นใจ ทำให้การเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม อันเป็นการขัดกับมาตรา 107 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งกำหนดการเลือกกันเองของ สว. เอาไว้
เดิมที นี่เป็นคำร้องต่อศาลปกครอง ที่รวมถึงการร้องการออกระเบียบ กกต. ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการเลือก สว. และการแนะนำตัวของผู้สมัครด้วย โดยผู้ร้องใช้กลไกตามมาตรา 212 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ขอให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติแปดต่อหนึ่งรับไว้พิจารณา
ปรากฏทนายพุทธอิสระและผู้ยื่นฟ้องคดี “ล้มล้างการปกครอง” เป็นทนายความ
สำหรับผู้ร้องในคดีนี้แบ่งเป็นผู้สมัคร สว. สองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ วิเตือน งามปลั่ง ซึ่งยื่นฟ้องก่อน ส่วนกลุ่มที่สองประกอบไปด้วย ฤทธิชัย ศรีเมือง (อดีตรองนายกเทศมนตรีเมืองปากพูน ณ อําเภอเมือง จังหวัด. นครศรีธรรมราช)เฉลิมชัย ผู้พัฒน์ (อนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชนสำหรับท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป ในคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่นของ สว.) สิทธิชัย ผู้พัฒน์ จำนอง บุญเลิศฟ้า (อดีตผู้สมัคร สส. พรรคไทยภักดีในการเลือกตั้งทั่วไป 2566) และสากล พืชนุกูล
โดยทนายความของผู้สมัครทั้งสองกลุ่มนั้น บีบีซีไทยรายงานว่าคือธีรยุทธ สุวรรณเกษร ซึ่งมีชื่อเสียงจากการเป็นทนายความของพุทธอิสระ และเป็นผู้ยื่นฟ้องคดี “ล้มล้างการปกครอง” โดยธีรยุทธกล่าวว่าไม่ได้ต้องการให้เลื่อนหรือล้มการเลือก สว. แต่ “เราจับตาดูเฉพาะบางคนที่เขาอุตส่าห์ออกข่าวว่าไปลงเยอะ ๆ นะ จะได้มีคนของเรา”
คนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.ป. สว.ฯ เป็นคนเดียวกัน
กฎหมายทั้งสองฉบับคือรัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.ป. สว.ฯ ที่ถูกผู้ร้องกล่าวหาว่าขัดกันนั้นมีผู้ร่างเป็นกลุ่มคนเดียวกัน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ชุดมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. นอกจากจะเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว บทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 267 ยังกำหนดให้ กมธ. ชุดเดียวกันนี้อยู่ต่อไปเพื่อจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้ครบทั้ง 10 ฉบับ
หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาว่ากฎหมายสองฉบับที่มีผู้ร่างเป็นคนเดียวกันนั้นขัดกันเองหรือไม่
อุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาว่ากฎหมายที่ตัวเองเขียนเองขัดกันหรือไม่
เรื่องราวยิ่งน่าสนใจเมื่อปรากฏว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันนั้นมีอุดม รัฐอมฤตด้วย โดยอุดมมีประวัติเป็นหนึ่งใน กมธ. ชุดมีชัย เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 และ พ.ร.ป. สว.ฯ หลังจากร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกแล้ว ในปลายปี 2565 อุดมก็ได้รับความเห็นชอบจาก สว. ชุดแต่งตั้งโดย คสช. และมาตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่อุดมเขียนให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
จึงเป็นเรื่องต้องติดตามว่าศาลรัฐธรรมนูญที่มีอุดมเป็นหนึ่งในตุลาการนั้นจะพิจารณาอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อกฎหมายทั้งสองฉบับที่ถูกกล่าวหาว่าขัดกันนั้นมีอุดมเป็นผู้เขียนขึ้นมาเอง