เปิดสารพัดเหตุผล เพราะอะไรคนที่เตรียมตัวสมัคร สว.67 ต้องพลาดใช้สิทธิ

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในปี 2567 เป็นไปตามระบบพิเศษที่ผู้สมัครจะต้อง “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” เฉพาะคนที่สมัครเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเท่านั้น จึงจะมีสิทธิออกเสียงโหวตเลือกสว. เพื่อไปทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทยในรัฐสภา ภายใต้กติกานี้ผู้ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการเลือกสว. จะต้อง “สมัครเพื่อโหวต” เพื่อเข้าไปสู่กระบวนการเท่านั้นจึงจะมีสิทธิออกเสียง โดยคนที่เข้ารอบประเทศได้ลึกๆ แม้จะไม่ได้รับเลือกเป็นสว. แต่ก็มีสิทธิออกเสียงได้มากที่สุดถึง 42 เสียง 

ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 ตั้งแต่ยังไม่รู้กำหนดแน่นอนว่า จะเลือกสว. กันในวันที่เท่าไร และจะมีกำหนดเปิดรับสมัครในวันที่เท่าไร iLaw และเครือข่ายภาคประชาชนได้เปิดเว็บไซต์ senate67.com เพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้ที่กำลังเตรียมตัวสมัครสว. มาประกาศตัวให้ประชาชนและให้ผู้สมัครคนอื่นได้รู้จัก โดยคนที่ตัดสินใจแล้วว่าจะสมัครสว. ก็จะมากรอกข้อมูลและภาพถ่ายของตัวเองขึ้นบนเว็บไซต์เพื่อให้ผู้สมัครคนอื่นมาศึกษาและทำความรู้จักกันได้ และให้ประชาชนที่กำลังคิดว่าจะสมัครเพื่อโหวตหรือไม่ มีโอกาสทำการบ้านก่อนว่าอยากจะสมัครเพื่อไปโหวตใคร โดยในช่วงเดือนแรกจนถึงปลายเดือนเมษายน 2567 มีผู้มาประกาศตัวบนเว็บไซต์มากกว่า 1,000 คน

วันที่ 26 เมษายน 2567 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบเกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้สมัครสว. และให้มีผลบังคับใช้ในทันที โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งกำหนดว่า ให้ผู้สมัครแนะนำตัวต่อผู้สมัครเท่านั้น ไม่ให้แนะนำตัวต่อคนที่ไม่ได้สมัคร ทำให้เว็บ Senate67.com ต้องเอาข้อมูลของผู้สมัครทั้งหมดออกจากหน้าเว็บไซต์ในคืนนั้น ก่อนจะกลับมาเปิดเผยเฉพาะการประกาศแนวคิดและวิสัยทัศน์ แต่ไม่เปิดเผยชื่อนามสกุลจริงที่ระบุตัวผู้สมัครได้ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 วันสุดท้ายของการปิดรับสมัคร ศาลปกครองก็เพิกถอนระเบียบฉบับดังกล่าว ทำให้เว็บไซต์ Senate67.com กลับมาเผยแพร่ได้เต็มรูปแบบ และมีผู้สมัครสว. ทยอยมาประกาศตัวเพิ่มเรื่อยๆ

ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 หลังตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครทั้งหมดแล้ว กกต. จึงประกาศรายชื่อผู้สมัครสว. ทั้งหมดผ่านทางเว็บไซต์ https://senator.ect.go.th/ ซึ่งมี 46,205 คน และเมื่อนำรายชื่อผู้สมัครทั้งหมดจากข้อมูลอย่างเป็นทางการของกกต. มาเปรียบเทียบกับข้อมูลที่มีผู้เตรียมตัวสมัครสว. มาประกาศไว้ที่เว็บไซต์ Senate67.com พบว่ามีข้อมูลไม่ตรงกัน คือ พบรายชื่อของคนที่ประกาศตัวไว้บนเว็บไซต์ Senate67.com แต่ไม่มีชื่อเป็นผู้สมัครอย่างเป็นทางการในฐานข้อมูลของกกต. เบื้องต้นถึง 750 คน

กระบวนการตรวจสอบรายชื่อ ทำไมถึงสมัครไม่ได้

ทีมงานไอลอว์ใช้เวลาทั้งหมด 7 วันในการตรวจสอบสาเหตุที่รายชื่อไม่ตรงกัน 750 คน และพบว่ามีรายชื่อจำนวนหลายสิบที่มีลักษณะการสะกดไม่ตรงกับ เช่น มีคนใส่ชื่อกลาง หรือใช้ชื่อเล่นที่เว็บ Senate67.com แต่ใช้ชื่อจริงและไม่ใช้ชื่อกลางในการสมัครจริง มีคนเปลี่ยนชื่อในระหว่างช่วงเวลาสองเดือนนี้และสมัครจริงในชื่อใหม่ มีคนพิมพ์เคาะเว้นวรรคเกินทำให้ระบบหาชื่อที่ตรงกันไม่เจอ กระทั่งมีคนที่สะกดชื่อตัวเองผิดด้วยความผิดพลาดในการพิมพ์ ซึ่งรายชื่อเหล่านี้เมื่อแก้ไขแล้วก็มีข้อมูลตรงกับข้อมูลผู้สมัครอย่างเป็นทางการบนเว็บไซต์ของกกต.

นอกจากนี้รายชื่อจำนวนมากยังไม่ปรากฏบนเว็บไซต์ของกกต. ทั้งที่ผู้สมัครยื่นสมัครเรียบร้อยแล้วแต่กกต. เห็นว่ามีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน ทำให้ผู้สมัครยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกา และต้องรอเวลาเจ็ดวันจนถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ถึงจะทราบผลการวินิจฉัย และทราบว่าใครสมัครสำเร็จในรอบนี้หรือไม่

แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้เตรียมตัวลงสมัครเกือบ 700 คน ไม่ได้ไปยื่นใบสมัครสว. จริงๆ ทีมงานไอลอว์จึงโทรศัพท์ไปติดตามสอบถามข้อมูล เมื่อทราบว่าไม่ได้ยื่นใบสมัครจริงๆ ก็ทยอยนำชื่อออกจากระบบทันทีที่ได้รับการยืนยันข้อมูล นอกจากนี้ทีมงานยังถือโอกาสสอบถามถึงสาเหตุที่คนที่เตรียมตัวลงสมัครสุดท้ายไม่สามารถสมัครได้ เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจว่า สิ่งใดบ้างที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการใช้สิทธิของประชาชน เป็นเพราะระเบียบหรือกติกาข้อใดที่ทำให้ผู้ที่ต้องการสมัครไม่ได้สมัครและไม่ได้ใช้สิทธิเข้าร่วมกระบวนการครั้งนี้

อย่างไรก็ดีสำหรับมีคนอีกหลายสิบคนที่ไม่ได้ให้ความยินยอมที่จะให้หมายเลขโทรศัพท์ในการติดต่อไว้ และไม่สามารถยืนยันการสมัครที่สำเร็จได้ เราก็ต้องเอาข้อมูลออกจากระบบของเว็บไซต์ Senate67.com. ทันที

พบจำนวนมาก “ไม่ว่างวันรับสมัคร” หรือเปลี่ยนใจเพราะเหตุผลส่วนตัว

จากข้อมูลของผู้ที่เตรียมตัวลงสมัครสว. ที่ยืนยันว่าสุดท้ายไม่ได้สมัครทั้งหมด 503 คน พบว่า เหตุผลที่ไม่ได้สมัครเยอะที่สุด คือ “ไม่ว่างวันรับสมัคร” ทั้งหมด 117 คน หรือคิดเป็นประมาณ 23% ของจำนวนผู้ที่ตอบเหตุผลทั้งหมด โดยเหตุผลที่ได้รับคำอธิบาย เช่น “ไปต่างประเทศ กลับมาสมัครไม่ทัน” “มีธุระด่วน กลับมาไม่ทัน” “วันสมัครต้องเข้าโรงพยาบาลพอดี” “ไม่สะดวกเดินทางไปสมัครอีกจังหวัด” “ลางานไปสมัครไม่ได้” เป็นต้น

ซึ่งกกต. ประกาศวันรับสมัครวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 เป็นเวลา 5 วัน ในเวลาราชการเท่านั้น และเป็นวันจันทร์ถึงศุกร์ ไม่รวมวันเสาร์อาทิตย์ โดยประกาศล่วงหน้าเพียง 7 วัน ทำให้ผู้ที่เตรียมตัลงสมัครจำนวนไม่น้อยพลาดการใช้สิทธิเข้าร่วมกระบวนการครั้งนี้ แม้ไอลอว์จะเคยเรียกร้องให้กกต. ขยายวันรับสมัครรวมวันเสาร์อาทิตย์ด้วย แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ 

นอกจากเรื่องวันว่างในวันสมัครแล้ว วันที่เป็นกำหนดวันเลือกยังเป็นอีกประเด็น เพราะกกต. ก็ไม่ได้ประกาศกำหนดวันเลือกล่วงหน้าให้ชัดเจน ทำให้มีคนที่ไม่สะดวกในวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ที่เป็นวันเลือกระดับอำเภอต้องเปลี่ยนใจไม่ลงสมัครเพราะไม่สามารถไปเข้าร่วมกระบวนการได้อย่างน้อย 10 คน โดยคนกลุ่มนี้ให้เหตุผล เช่น “มีเดินทางวันเลือกพอดี” “มีกำหนดเดินทางต่างประเทศไว้ก่อนแล้ว”

จากข้อมูลของผู้ที่เตรียมตัวลงสมัครสว. อย่างน้อย 85 คน หรือคิดเป็นประมาณ 17% ของจำนวนผู้ที่ตอบเหตุผลทั้งหมด ตัดสินใจไม่ลงสมัครเองโดยไม่ได้ติดธุระหรือติดปัญหาด้านคุณสมบัติแต่ “เปลี่ยนใจ” เพราะเหตุผลส่วนตัวทำให้ไม่อาจเข้าร่วมกระบวนการครั้งนี้ได้ เช่น “ผู้ใหญ่แนะนำให้ชะลอก่อน” “ทางบ้านไม่ให้สมัคร” “ที่ทำงานไม่ให้ลาออก” หรือบางคนก็มีเหตุผลด้านปัญหาสุขภาพของตัวเองทำให้เปลี่ยนใจไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมกระบวนการในรอบนี้

ไม่ได้ไปเลือกตั้งท้องถิ่น เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง โดยตัดสิทธิมากมาย

การไม่ได้ไปเลือกตั้งในหนึ่งครั้งในรอบสองปีเป็นเหตุให้ถูกตัดสิทธิไม่สามารถสมัครสว.ได้ สำหรับคนที่สนใจติดตามการเมืองจะไม่พลาดการเลือกตั้งสส. หรือการเลือกตั้งระดับชาติ แต่คนจำนวนไม่น้อยก็พลาดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นที่ตัวเองมีสิทธิ ซึ่งในรอบสองปีก่อนสมัครสว. การเลือกตั้งท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นการ “เลือกตั้งซ่อม” และเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นแทนตำแหน่งที่ว่างลงทีละคน ซึ่งไม่ได้มีพื้นที่ที่นำเสนอในข่าวกระแสหลักทำให้มีผู้ทราบข่าวสารว่าเกี่ยวกับเลือกตั้งซ่อนน้อยมาก มีผู้ไปใช้สิทธิจริงน้อยมาก แต่การไม่ได้ไปเลือกตั้งแม้เพียงหนึ่งครั้งก็เป็นเหตุให้ถูกตัดสิทธิสมัครสว.

จากข้อมูลของผู้ที่เตรียมตัวลงสมัครสว. อย่างน้อย 63 คน หรือคิดเป็นประมาณ 12.5% ของจำนวนผู้ที่ตอบเหตุผลทั้งหมด เสียสิทธิการสมัครสว. เพราะพลาดการเลือกตั้งในรอบสองปีที่ผ่านมา บางคนทราบก่อนและได้ตรวจสอบสิทธิของตัวเองแล้วจึงไม่ได้ไปยื่นใบสมัคร บางคนไปยื่นใบสมัครแล้วค่อยถูกตรวจสอบคุณสมบัติและถูกตัดสิทธิการสมัครโดยกกต.

ผู้เตรียมตัวลงสมัครสว. จำนวนไม่น้อยที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและไม่สามารถสมัครสว. ได้ เช่น เป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือเคยดำรงตำแหน่งต่างๆ เช่น หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่หลายกรณีไม่ใช่ความผิดของผู้สมัครที่ไม่ตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเองให้ครบถ้วน เพราะประเด็นเรื่องสมาชิกพรรคการเมืองนั้น หลายคนไม่ได้ต่ออายุและไม่ได้จ่ายเงินค่าสมัครสมาชิกพรรคนานแล้วจึงเข้าใจว่าตัวเองไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค โดยไม่ทราบมาก่อนว่า มีกฎหมายกำหนดให้คนที่ขาดการต่ออายุยังมีสมาชิกภรพต่อได้อีก 2 ปี ส่วนการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองหลายกรณีก็ลาออกมานานแล้ว แต่กกต. เองไม่เคยให้ความชัดเจนว่าตำแหน่งใดบ้างในพรรคการเมืองที่ต้องเว้นวรรคครบห้าปี จนกระทั่งผู้สมัครยื่นใบสมัครไปก่อนและถูกตัดสิทธิภายหลัง

มีผู้เตรียมตัวสมัครแต่สมัครไม่ได้เพราะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอย่างน้อย 18 คน คิดเป็น 3.5% ของจำนวนผู้ที่ตอบเหตุผลทั้งหมด และมีผู้ที่สมัครไม่ได้เพราะเคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองอย่างน้อย 19 คน คิดเป็น 3.7% ของจำนวนผู้ที่ตอบเหตุผลทั้งหมด

โดยสรุป จากข้อมูลของผู้ที่เตรียมตัวลงสมัครสว. และไม่ได้สมัคร หรือสมัครไม่สำเร็จทั้งหมด 503 คน พบเหตุผลทั้งหมด ดังนี้

อันดับหนึ่ง ไม่ว่างหรือไม่สะดวกวันที่เปิดรับสมัคร 117 คน คิดเป็นประมาณ 23%

อันดับสอง ติดขัดเหตุผลส่วนตัวหรือปัญหาสุขภาพ 85 คน คิดเป็นประมาณ 17%

อันดับสาม ถูกตัดสิทธิเพราะไม่ได้ไปเลือกตั้ง 63 คน คิดเป็นประมาณ 12.5%

อันดับสี่ ติดปัญหาด้านเอกสารที่หาไม่ได้ หรือเตรียมไม่ทัน 28 คน คิดเป็นประมาณ 5.5%

อันดับห้า คิดว่าสมัครแล้วไม่มีโอกาสได้รับเลือกจึงไม่สมัคร 22 คน คิดเป็นประมาณ 4%

อันดับหก เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง 19 คน คิดเป็นประมาณ 3.7%

อันดับเจ็ด ยังมีสถานะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง 18 คน คิดเป็นประมาณ 3.5%

อันดับแปด ไม่เข้าใจระบบการเลือกหรือการสมัคร 17 คน คิดเป็นประมาณ 3.3%

อันดับเก้า เป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ 15 คน คิดเป็นประมาณ 3%

อันดับสิบ มีหลายประเด็น ได้แก่ ถือหุ้นในกิจการสื่อ, ไม่มีเงินค่าสมัคร, ไม่มีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบและวิธีการสมัครทำให้ไม่ได้ไปสมัคร ประเด็นละ 13 คน คิดเป็นประมาณ 2.5%

อันดับสิบสาม ไม่ชอบระบบการเลือก กฎกติกาต่างๆ ของกกต. จึงไม่สมัคร 12 คน คิดเป็น 2.3%

อันดับสิบสี่ ตามข่าวสารไม่ทัน จึงไม่รู้วันรับสมัคร 11 คน คิดเป็นประมาณ 2%

อันดับสิบห้า ไม่เข้าใจและกลัวทำผิดพลาดทำให้เกิดปัญหาตามมา 10 คน คิดเป็นประมาณ 2%

อันดับสิบหก เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนจึงสมัครไม่ได้ 3 คน

และอื่นๆ อีก 34 คน คิดเป็นประมาณ 7% เช่น มีคนในครอบครัวลงสมัครก่อนแล้ว, อายุไม่ถึง 40 ปีเต็มในวันรับสมัคร, ทำงานในกลุ่มที่จะสมัครไม่ถึง 10 ปี หรือบางคนไม่ขอเปิดเผยเหตุผลที่ไม่ได้สมัคร

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage