การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 200 คนในระบบ “เลือกกันเอง” ซึ่งเป็นกติกาที่มีความซับซ้อนไม่เคยใช้มาก่อนในไทยและไม่มีประเทศใดในโลกที่ใช้ระบบนี้ ด้วยระบบที่ซับซ้อน เข้าใจยาก รวมถึงคุณสมบัติที่สร้างเงื่อนไขหลายประการ เช่น ผู้สมัครต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม 26 ข้อที่กฎหมายกำหนด และต้องไม่ถูกจำกัดสิทธิสมัครเพราะไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องจ่ายค่าสมัคร 2,500 บาท รวมถึงระยะเวลาเปิดรับสมัครเพียงห้าวัน และไม่เปิดในวันเสาร์-อาทิตย์ ทำให้มีผู้สมัคร สว. เพียง 48,117 คน ต่างจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคยคาดการณ์ไว้เป็นเท่าตัว
หลังจากตรวจคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เหลือผู้สมัคร สว. จำนวน 46,205 คน หากสำรวจข้อมูลผู้สมัครจากจำนวนดังกล่าว พบว่าผู้สมัคร สว. ส่วนใหญ่เป็นมีอายุอยู่ในช่วง 60-69 ปี กลุ่มที่มีผู้สมัคร สว. มากที่สุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุฯ รองลงมาคือ กลุ่มสตรี อำเภอที่มีผู้สมัคร สว. เยอะติดห้าอันดับแรก คือ ห้า “อำเภอเมือง” เชียงใหม่-เพชรบุรี-ศรีสะเกษ-มุกดาหาร-ลพบุรี มีผู้สมัครเยอะสุด และจังหวัดที่มีผู้สมัคร สว. เยอะมากที่สุด คือ จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้สมัคร สว. 67 ส่วนใหญ่ เป็นคน “วัยเกษียณ” อายุเกิน 60 ปี
สำหรับอายุขั้นต่ำที่จะสมัคร สว. ได้ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 108 ก. (2) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) มาตรา 13 (2) กำหนดไว้ว่าต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีในวันที่สมัคร ซึ่งผู้สมัคร สว. ที่อายุ 40 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่อายุน้อยที่สุดที่จะสมัคร สว. ได้ มีจำนวน 676 คน อายุ 41 ปี มีจำนวน 728 คน อายุ 42 ปี มี 846 คน ส่วนผู้สมัคร สว. ที่อายุเยอะที่สุด คือ 92 ปี มีจำนวนสองคน รองลงมา อายุ 91 ปี หนึ่งคน และ 90 ปีสามคน
เมื่อดูที่ช่วงอายุ ผู้สมัคร สว. ส่วนใหญ่ จะมีอายุอยู่ที่ช่วง 60 ปีขึ้นไป ซึ่งสอดรับกับการแบ่งกลุ่ม สว. โดยมีกลุ่ม 15 กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ไว้ด้วย ซึ่งคำว่าผู้สูงอายุ ตามกฎหมาย หมายความว่า ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ หากดูในลักษณะต้องห้ามที่จะสมัคร สว. ไม่ได้ พ.ร.ป.สว. ฯ ห้ามข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ สมัคร สว. ดังนั้น หากผู้ที่เป็นข้าราชการ พนักงานในหน่วยงานรัฐต่างๆ จะสมัคร สว. ถ้าไม่ลาออกมาเพื่อสมัครโดยเฉพาะ ก็ต้องเป็นผู้ที่เกษียณอายุราชการ คือมีอายุ 60 ปีแล้ว
ช่วงอายุ | จำนวนผู้สมัคร (คน) |
40-49 | 8,855 |
50-59 | 12,631 |
60-69 | 19,538 |
70-79 | 4,829 |
80-89 | 346 |
90-92 | 6 |
กลุ่มผู้สูงอายุฯ – กลุ่มสตรี คนสมัครเยอะสุด
พ.ร.ป.สว. ฯ แบ่งจำนวนกลุ่ม สว. ไว้ 20 กลุ่ม ตามความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน ในจำนวน 20 กลุ่มนี้ จะมีสองกลุ่มที่เป็น “กลุ่มอัตลักษณ์” ไม่ใช่กลุ่มอาชีพ ได้แก่ กลุ่ม 14 กลุ่มสตรี และกลุ่ม 15 กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ขณะที่อีก 17 กลุ่มที่เหลือ จะเป็น “กลุ่มอาชีพ” และอีกหนึ่งกลุ่ม คือ “กลุ่มอื่นๆ” ซึ่งเปิดกว้างให้ผู้ที่มีคุณสมบัติ มีประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไม่ว่าจะสมัครอีก 19 กลุ่มได้หรือไม่ ก็สามารถมาเลือกสมัคร “กลุ่มอื่นๆ” ได้
การสมัคร สว. กลุ่มอัตลักษณ์ทั้งสองกลุ่ม มีข้อแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ คือ ไม่ต้องใช้ผู้รับรองความรู้ความเชี่ยวชาญ ใช้เอกสารในการสมัครและหลักฐานอื่นๆ ประกอบน้อยกว่าอีก 18 กลุ่ม หากดูจำนวนผู้สมัคร สว. พบว่าจากจำนวนผู้สมัคร สว. ทั้งประเทศ มีผู้สมัคร สว. สองกลุ่มนี้มีจำนวนสูงที่สุดเป็นสองอันดับแรก โดยกลุ่ม 15 ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น มีผู้สมัครจำนวน 4,973 คน ตามมาด้วยกลุ่ม 14 กลุ่มสตรี 4,384 ส่วนอันดับที่สามคือ กลุ่มสาม กลุ่มการศึกษา 4,329 คน
ด้านกลุ่มที่มีผู้สมัคร สว. จากทั่วประเทศน้อยที่สุด คือ กลุ่ม 12 ผู้ประกอบอุตสาหกรรม 573 คน รองลงมาคือกลุ่ม 18 สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม มีผู้สมัครจำนวน 829 คน และกลุ่ม 13 ผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม มีผู้สมัคร สว. 1,018 คน
กลุ่ม (เรียงลำดับจากจำนวนผู้สมัครมากสุดไปหาน้อยสุด) | จำนวนผู้สมัครทั้งประเทศ (คน) |
กลุ่ม 15 ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น | 4,973 |
กลุ่ม 14 กลุ่มสตรี | 4,384 |
กลุ่ม 3 การศึกษา | 4,329 |
กลุ่ม 19 ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ | 3,659 |
กลุ่ม 6 อาชีพทำสวน | 3,431 |
กลุ่ม 5 อาชีพทำนา | 3,268 |
กลุ่ม 20 กลุ่มอื่น ๆ | 2,534 |
กลุ่ม 1 การบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง | 2,410 |
กลุ่ม 7 พนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ | 2,357 |
กลุ่ม 17 ประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ | 2,079 |
กลุ่ม 2 กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม | 1,826 |
กลุ่ม 9 ผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม | 1,781 |
กลุ่ม 16 กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา | 1,736 |
กลุ่ม 4 การสาธารณสุข | 1,597 |
กลุ่ม 10 ผู้ประกอบกิจการอื่น | 1,146 |
กลุ่ม 8 ผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค | 1,141 |
กลุ่ม 11 ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว | 1,134 |
กลุ่ม 13 ผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม | 1,018 |
กลุ่ม 18 สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม | 829 |
กลุ่ม 12 ผู้ประกอบอุตสาหกรรม | 573 |
รวม | 46,205 |
“อำเภอเมือง” เชียงใหม่-เพชรบุรี-ศรีสะเกษ-มุกดาหาร-ลพบุรี มีผู้สมัครเยอะสุด
การสมัคร สว. ผู้สมัครสามารถเลือกสมัครในอำเภอที่เกี่ยวข้องกับตนเองได้ อำเภอใดอำเภอหนึ่ง ดังนี้
- อำเภอที่เกิด
- อำเภอที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี (นับถึงวันสมัคร)
- อำเภอที่ทำงานติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี (นับถึงวันสมัคร)
- อำเภอที่เคยทำงาน หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่าสองปี
- อำเภอของสถานศึกษาที่เคยศึกษาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษาตั้งอยู่
ผู้สมัคร สว. จะต้องไปเลือก สว. ในอำเภอที่ตนสมัคร ในการเลือกระดับอำเภอ หากผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้คะแนนสูงสุดสามอันดับแรกในรอบเลือกไขว้ ก็จะได้เข้าสู่ระดับจังหวัดต่อไป การเลือกอำเภอ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำหรับการสมัคร สว. โดยผู้สมัครอาจเลือกสมัครในอำเภอที่มีการแข่งขันน้อย หรือในอำเภอที่มีคนรู้จักเยอะ
เมื่อดูในรายอำเภอ อำเภอที่มีผู้สมัคร สว. เยอะสุดห้าอันดับแรก ล้วนเป็น “อำเภอเมือง” จากห้าจังหวัด ได้แก่ 1) อำเภอเมืองเชียงใหม่ มีผู้สมัครจำนวน 344 คน 2) อำเภอเมืองเพชรบุรี มีผู้สมัครจำนวน 317 คน 3) อำเภอเมืองศรีสะเกษ มีผู้สมัครจำนวน 295 คน 4) อำเภอเมืองมุกดาหาร มีผู้สมัครจำนวน 269 คน และ 5) อำเภอเมืองลพบุรี มีผู้สมัคร สว. จำนวน 268 คน
ขณะที่อำเภอที่มีผู้สมัครน้อยที่สุด อยู่ที่หนึ่งคน มีหกอำเภอ ได้แก่ 1) อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ 2) อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา 3) อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน 4) อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน 5) อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน และ 6) อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี อำเภอเหล่านี้ เมื่อมีผู้สมัครเพียงหนึ่งกลุ่ม ทำให้ไม่สามารถ “เลือกไขว้” ได้ เมื่อผู้สมัครไม่สามารถได้รับคะแนนจากรอบเลือกไขว้ได้ จึงตกรอบไปในระดับอำเภอ ด้วยกติกาที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ป.สว. ฯ
ศรีสะเกษ คนแห่สมัคร สว. เยอะสุด ตาก-น่าน คนสมัครไม่ถึงร้อย
เมื่อขยับมาดูในมิติของจังหวัด จังหวัดที่มีผู้สมัคร สว. จากทุกอำเภอและทุกกลุ่ม คือ จังหวัดศรีสะเกษ มีผู้สมัคร สว. จำนวน 2,674 คน จาก 22 อำเภอ ตามมาด้วย กรุงเทพมหานคร 2,439 คนจาก 50 เขต จังหวัดเชียงใหม่ 1,902 คนจาก 25 อำเภอ จังหวัดบุรีรัมย์ 1,785 คนจาก 23 อำเภอ และจังหวัดนครศรีธรรมราช 1,699 คนจาก 23 อำเภอ
อันดับที่ | จังหวัด | จำนวนผู้สมัครจากทุกอำเภอและทุกกลุ่ม (คน) |
1 | ศรีสะเกษ | 2,674 |
2 | กรุงเทพมหานคร | 2,439 |
3 | เชียงใหม่ | 1,902 |
4 | บุรีรัมย์ | 1,785 |
5 | นครศรีธรรมราช | 1,699 |
6 | พระนครศรีอยุธยา | 1,614 |
7 | สงขลา | 1,595 |
8 | มุกดาหาร | 1,242 |
9 | ลพบุรี | 1,137 |
10 | สุรินทร์ | 1,115 |
ส่วนจังหวัดที่มีผู้สมัคร สว. น้อยที่สุด คือ จังหวัดตาก มีผู้สมัคร สว. 90 คน จากเก้าอำเภอ รองมาคือ จังหวัดน่าน มีผู้สมัคร 97 คนจาก 14 อำเภอ จังหวัด สมุทรสงคราม มีผู้สมัคร 128 คน จากสามอำเภอ จังหวัดพังงา มีผู้สมัคร 129 คน จากแปดอำเภอ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีผู้สมัคร 143 คน จากเก้าอำเภอ และจังหวัดนครพนม มีผู้สมัคร 143 คน จาก 12 อำเภอ
อันดับที่ | จังหวัด | จำนวนผู้สมัครจากทุกอำเภอและทุกกลุ่ม (คน) |
67 | ตราด | 161 |
68 | ยะลา | 160 |
69 | กำแพงเพชร | 159 |
70 | สิงห์บุรี | 157 |
71 | สระแก้ว | 150 |
72 | นครพนม | 143 |
73 | อุตรดิตถ์ | 143 |
74 | พังงา | 129 |
75 | สมุทรสงคราม | 128 |
76 | น่าน | 97 |
77 | ตาก | 90 |