ศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้จำคุก 1 เดือนรอลงอาญา คดีละเมิดอำนาจศาล ปรับ 500 เหลือลุ้นอีก 1 คดี

วันที่ 4 มิถุนายน 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีละเมิดอำนาจศาล คดี ของ “ณัฐชนน ไพโรจน์” นักกิจกรรมและบัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคดีนี้ ในศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษกักขังเป็นเวลา 1 เดือน 

เหตุของคดีนี้สืบเนื่องมากจากณัฐชนนร่วมชุมนุมและปราศรัยที่ด้านหน้าของศาลอาญาเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ในวันดังกล่าวมีเพื่อนของณัฐชนนถูกคุมขังในเรือนจำและอดอาหารจนสุขภาพเข้าขั้นวิกฤติ มีการจัดกิจกรรมยื่นหนังสือ “ราชอยุติธรรม” ต่ออธิบดีผู้พิพากษาอาญา แต่ว่าไม่มีผู้พิพากษาคนใดลงมารับจดหมาย จึงมีการโปรยเอกสารและรายชื่อประชาชนกว่า 12,000 คนที่ร่วมลงชื่อต่อท้ายหนังสือดังกล่าว ที่บันไดหน้าศาลอาญา

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ศาลอาญาได้ออกหมายเรียกนัดไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลต่อนักกิจกรรม 6 คน โดยแต่ละคนถูกดำเนินคดีแยกกัน นอกจากนี้ทั้ง 6 คน ยังถูกตำรวจ สน.พหลโยธิน แจ้งข้อกล่าวหาหาฐาน “ดูหมิ่นศาล” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 พร้อมกับข้อหาอื่น ๆ รวม 6 ข้อหา แยกไปอีกคดีหนึ่งด้วย

ในคดีของณัฐชนนนั้น เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ศาลชั้นต้นพิพากษาเห็นว่าการแสดงออกของณัฐชนนมีลักษณะเข้าร่วมกับมวลชนกดดันศาลให้ใช้ดุลพินิจไปตามความต้องการของตนกับพวก ไม่มีความเคารพความเห็นต่างของผู้อื่นดังเช่นผู้มีอารยะทางความคิดในแนวเสรีประชาธิปไตยพึงกระทำ และการกระทำดังกล่าวยังกระทบต่อความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 4 เดือน

ต่อมาวันที่ 18 ม.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์พิพากษาเห็นตามศาลชั้นต้น แต่เห็นว่าการลงโทษจำคุก 4 เดือนนั้น เป็นโทษที่หนักเกินไป ไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์ จึงให้ลดโทษเหลือจำคุก 1 เดือน และให้เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นกักขัง 1 เดือนแทน โดยณัฐชนนยังได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา

ศาลอุทธรณ์ชี้อธิบดีศาลถือเป็นตุลาการ แม้ตะโกนที่บันไดหน้าศาลก็เป็น “ละเมิดอำนาจศาล” ได้

ในประเด็นอุทธรณ์ที่น่าสนใจของคดีนี้ คือข้อโต้แย้งว่าข้อกำหนดของศาลอาญา ที่ออกโดยอาศัยอำนาจประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 นั้น ครอบคลุมเฉพาะเหตุต่อหน้าขณะออกนั่งพิจารณาคดี และให้อำนาจเฉพาะผู้พิพากษาในคดีนั้น ๆ ที่สามารถกำหนดโทษ “ละเมิดอำนาจศาล” ไม่ใช่อธิบดีของศาล ดังข้อกำหนดที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว

ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์ได้อ้างถึงข้อบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 และศาลอุทธรณ์เห็นว่าตำแหน่งอธิบดีของศาลนั้นถือเป็นตุลาการและยังมีอำนาจในการพิจารณาคดีอีกด้วย พื้นที่ของศาลนั้นถือเป็นอำนาจของอธิบดีศาลในการบังคับใช้ข้อกำหนดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ให้คู่ความเกิดความเดือดร้อน รำคาญ หรือฟุ่มเฟือยเวลาในการพิจารณาคดี ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่าไม่ใช่การที่อธิบดีของศาลใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายที่กำหนดไว้

ศาลฎีกาพิพากษาแก้จากกักขังเป็นลงโทษจำคุก 1 เดือน แต่รอลงอาญา

ในห้องพิจารณาคดีที่ 608 ศาลออกนั่งบัลลังค์และอ่านคำพิพากษา เวลา 10.00 น. โดยสรุปคำพิพากษามีสาระสำคัญว่าการกระทำของจำเลยได้กระทำการโดยส่งเสียงโห่ร้องและตะโกนว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” มีลักษณะเป็นการกดดันการพิจารณาคดีไม่ใช่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ การพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุก 1 เดือนนั้นเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาชั้นอุทธรณ์จากโทษกักขัง 1 เดือน เป็นโทษจำคุก 1 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ทั้งนี้เพื่อให้จำเลยหลาบจำให้คุมความประพฤติ 1 ปี พร้อมให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้งตามที่กำหนดและให้ทำกิจกรรมบริการสาธารณะ 24 ชั่วโมง ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร และปรับ 500 บาท

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage