การเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 มีวิธีการที่ซับซ้อนอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นอกจากจะเป็นระบบที่เข้าใจได้ยากแล้ว ยังมีรูรั่วทาง “เทคนิค” ขนาดใหญ่ที่ทำให้ผู้สมัคร สว. ต้องตกรอบตั้งแต่ยังไม่เริ่มกระบวนการเลือก
ปัญหานี้อยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป. สว.ฯ) ซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ว่าจะมีจำนวนผู้สมัครกี่คนในอำเภอ ผู้สมัครจะต้องมีอย่างน้อยหนึ่งคะแนนในรอบการเลือกไขว้เพื่อผ่านเข้ารอบ ทำให้ในอำเภอที่มีผู้สมัครในกลุ่มเดียวจะตกเข้ารอบทันทีเนื่องจากไม่มีคะแนนรอบไขว้
ความซับซ้อนนี้ทำให้มีผู้สมัครที่ประสบปัญหาตกรอบทันทีอย่างน้อย 11 คนใน 8 อำเภอทั่วประเทศไทย โดยเป็นเพราะผู้ออกแบบระบบอย่างคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดมีชัย ฤชุพันธ์ คิดไว้ซับซ้อนเกินไปและไม่ถ้วนถี่ จนเกิดช่องโหว่ที่ทำให้ประชาชนต้องเสียเงินค่าสมัครและเวลารวมถึงสิทธิในการมีส่วนร่วม
อำเภอใดมีผู้สมัครเพียงกลุ่มเดียว อำเภอนั้นผู้สมัครตกรอบ
ขั้นตอนการเลือกสว. ระดับอำเภอนั้น พ.ร.ป. สว. มาตรา 40 อธิบายไว้ว่า ผู้สมัครจะต้องเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพทั้ง 20 กลุ่มเพื่อหาผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดห้าคนแรก จากนั้นให้ผู้ชนะในรอบแรกส่งตัวแทนไปจับฉลากแบ่งสาย เพื่อเลือกไขว้กับกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดสามอันดับแรกจะถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกในระดับอำเภอและเข้าสู่การเลือกในระดับจังหวัดต่อไป
ทั้งนี้ กฎในรอบเลือกกันเองมีความแตกต่างจากรอบเลือกไขว้ ในรอบเลือกกันเอง หากมีผู้สมัครห้าคนหรือน้อยกว่า ผู้สมัครที่มารายงานตัวจะผ่านเข้ารอบในทันทีโดยไม่ต้องเลือกกันเอง แต่เมื่อไปถึงรอบไขว้ พ.ร.ป. สว.ฯ มาตรา 40(12) กำหนดไว้ต่างกันว่า “ในกรณีที่มีผู้ได้คะแนนไม่ถึงสามคนให้เฉพาะผู้ซึ่งได้คะแนน เป็นผู้ได้รับเลือก”
หมายความว่า หากอำเภอใดที่มีผู้สมัครเพียงหนึ่งกลุ่ม ไม่ว่ากลุ่มนั้นจะมีจำนวนคนสมัครมากหรือน้อยเพียงใด ก็ไม่สามารถทำการเลือกไขว้ได้เพราะไม่มีกลุ่มอื่นให้ไขว้ และเมื่อไม่ได้ทำการไขว้ก็จะไม่มีคะแนนในรอบเลือกไขว้จนทำให้ตกรอบไปในทันที
จากการประกาศรายชื่อผู้สมัคร 46,205 คนของ กกต. โดยผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามแล้ว อำเภอที่มีผู้สมัครเพียงหนึ่งกลุ่มมีแปดอำเภอ รวมเป็นผู้สมัครทั้งหมด 11 คนที่ตกรอบทันที
- อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ (1 คน)
- อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา (1 คน)
- อ.เชียงกลาง จ.น่าน (1 คน)
- อ.นาน้อย จ.น่าน (1 คน)
- อ.แม่จริม จ.น่าน (1 คน)
- อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี (1 คน)
- อ.อุ้มผาง จ.ตาก (2 คน)
- อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร (3 คน)
อำเภอใดมีผู้สมัครบางกลุ่มน้อย-บางกลุ่มมาก อำเภอนั้นผู้สมัครกลุ่มใหญ่เสียเปรียบ
การถูกตัดสิทธิด้วยระบบการเลือกสว. ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ระบบดังกล่าวยังทำให้เกิดสภาวะ “คะแนนไม่พอจะเลือกไขว้” อีกด้วย จนทำให้เกิดการได้เปรียบเสียบเปรียบเพียงเพราะความแตกต่างของจำนวนผู้สมัครของแต่ละกลุ่มเท่านั้น
สภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อการเลือกระดับอำเภอมีกลุ่มที่มีผู้สมัครลงรับเลือกในบางกลุ่มเป็นจำนวนมาก ขณะที่บางกลุ่มมีผู้สมัครลงน้อย เช่น มีผู้สมัครเพียงหนึ่งคน จนทำให้รอบเลือกไขว้ผู้สมัครในกลุ่มที่มีผู้สมัครน้อยมีโอกาสถูกเลือกผ่านไปรอบการเลือกระดับจังหวัด ขณะที่ผู้สมัครในกลุ่มที่มีผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันมากจะได้มีโอกาสถูกเลือกผ่านไปรอบระดับจังหวัดได้น้อยกว่า ในบางกรณีอาจจะมีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้ผ่านไปรอบต่อไป
อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นตัวอย่างที่ดีของปัญหาข้างต้น เพราะมีผู้สมัครในกลุ่มการศึกษาหกคน กลุ่มผู้สูงอายุหนึ่งคน และกลุ่มทำสวนหนึ่งคน ในรอบเลือกกันเอง ผู้สมัครในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มทำสวนจะผ่านเข้ารอบทันที ส่วนกลุ่มการศึกษาจะเลือกกันเองให้เหลือห้าคน
เมื่อมาถึงในรอบการเลือกไขว้ ทั้งสามกลุ่มจะถูกจับอยู่ในสายเดียวกัน หากมีกลุ่มการศึกษาคนใดคนหนึ่งลงคะแนนให้กับผู้สมัครในกลุ่มผู้สูงอายุและทำสวน ผู้ที่ได้คะแนนก็จะผ่านเข้ารอบทันที ในทางกลับกัน กลุ่มการศึกษาจะเจอกับปัญหา เนื่องจากผู้สมัครจากกลุ่มผู้สูงอายุและทำสวนมีเพียงหนึ่งคะแนนต่อคน ผู้สมัครกลุ่มการศึกษาที่จะมีคะแนนจึงมีได้มากที่สุดเพียงสองคน การให้ผู้สมัครกลุ่มการศึกษาในอำเภอนาคูผ่านเข้ารอบไประดับจังหวัดจึงเป็นไปไม่ได้เลย
โดยสรุป สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้กับกลุ่มการศึกษาในอำเภอนาคูมีดังนี้
1. ผู้สมัครกลุ่มผู้สูงอายุและทำสวนลงคะแนนให้กลุ่มการศึกษาไม่ซ้ำคนกันสองคน ผู้ที่ได้คะแนนกลุ่มการศึกษาสองคนเข้ารอบ
2. ผู้สมัครกลุ่มผู้สูงอายุและทำสวนลงคะแนนให้กลุ่มการศึกษาคนเดียวสองคะแนน ผู้ที่ได้คะแนนกลุ่มการศึกษาหนึ่งคนเข้ารอบ
3. ผู้สมัครกลุ่มผู้สูงอายุและทำสวนไม่ลงคะแนนให้กลุ่มการศึกษาหรือทำบัตรเสีย ไม่มีกลุ่มการศึกษาคนใดเข้ารอบเลย
ปัญหาทั้งหมดนี้มีจุดตั้งต้นมาจากการออกแบบระบบที่ผิดเพี้ยนของ กรธ. ในรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายลูกอย่าง พ.ร.ป. สว.ฯ ที่ซับซ้อนเกินไปจนเกิดช่องโหว่ แม้ว่า กกต. จะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ในฐานะองค์กรที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ต้องหาทางออกให้กับผู้สมัครจำนวนมากที่กำลังตกรอบทั้งที่ดำเนินการรับสมัครถูกต้อง
*บทความนี้มีการอัปเดตข้อมูลตามการประกาศรายชื่อผู้สมัคร สว. ที่ตรวจคุณสมบัติแล้วของ กกต.*