เช็คเลย! วิธีร้องต่อศาลกรณีผู้สมัครถูกลบชื่อ

ภายหลังการปิดรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องประกาศรายชื่อผู้สมัครอย่างเป็นทางการภายในห้าวันหรือวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 โดย กกต. สามารถตัดสิทธิการรับสมัครของผู้สมัครได้หากตรวจสอบแล้วพบว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม

หากผู้สมัคร สว. ถูก กกต. ตัดสิทธิโดยไม่พบชื่อของตนเองก็จะต้องดำเนินการร้องต่อศาลฎีกาเพื่อปกป้องสิทธิสมัครรับเลือกของตนเองภายในสามวันหลังประกาศรายชื่อผู้สมัครที่ตรวจสอบแล้ว โดยมีขั้นตอนต่อไปนี้

1. ตรวจสอบรายชื่อตนเองและขอหลักฐาน

ภายในห้าวันหลังปิดรับสมัคร (ถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2567) กกต. จะเผยแพร่บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามแล้วผ่านใบ สว.อ.13 ซึ่งระบุรายชื่อผู้สมัครทุกกลุ่มทุกอำเภอให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และประกาศไว้ ณ สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัด ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สถานที่เลือก และจัดทำข้อมูลเผยแพร่ทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (เบื้องต้นสามารถตรวจสอบรายชื่ออย่างไม่เป็นทางการได้ที่เว็บไซต์ของ กกต. https://senator.ect.go.th/ และแอปพลิเคชันสมาร์ตโหวต Smart Vote)

ตัวอย่างเอกสารที่ 1 สว.อ.13 ประกาศรายชื่อผู้สมัครเป็นทางการ

หาก กกต. ตรวจสอบแล้วพบว่าผู้สมัครคนใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด ก็สามารถตัดสิทธิการรับสมัครของผู้สมัครผู้นั้นได้ เช่น ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ขาดสิทธิการรับสมัครเลือกตั้งเนื่องจากไม่ได้ไปเลือกตั้งในช่วงสองปีที่ผ่านมา หรือลงสมัครมากกว่าหนึ่งกลุ่มหนึ่งอำเภอ เป็นต้น หากมีการลบรายชื่อผู้สมัคร เจ้าหน้าที่ต้องจะออกใบแจ้งไม่รับสมัครหรือลบชื่อให้ผู้สมัครโดยเร็ว (ระดับอำเภอ – สว.อ.15 ระดับจังหวัด – สว.จ.10 ระดับประเทศ – สว.ป.7) ซึ่งในระเบียบกกต. ไม่ได้ระบุวิธีการและระยะเวลาในการแจ้งเอกสารให้แก่ผู้สมัคร

ตัวอย่างเอกสารที่ 2 สว.อ.15 แจ้งไม่รับสมัคร สว.

ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ข้อ 59 กำหนดว่าระยะเวลาสามหลังวันการประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการให้ผู้สมัครยื่นคำร้องต่อศาลฎีกากรณีผู้สมัครถูกลบรายชื่อ ดังนั้น ผู้สมัครที่ไม่พบรายชื่อของตนเองและประสงค์จะพิทักษ์สิทธิรับเลือก สว. ของตนเองจึงต้องรีบติดต่อผู้อำนวยการเลือกในระดับอำเภอเพื่อรับทราบเหตุผลของการไม่รับสมัครและใบแจ้งไม่รับสมัคร (สว.อ.15) เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการร้องต่อศาล ทั้งนี้การร้องศาลฎีกาเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนเองไม่มีค่าธรรมเนียมศาลในกระบวนการพิจารณาแต่อย่างใด

2. เตรียมเอกสารร้องต่อศาล

ตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยการพิจารณาและการวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือก การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก และการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครเลือกตั้งในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ในการร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิทักษ์สิทธิลงรับสมัคร สว. ผู้สมัครจะต้องเตรียมเอกสารพร้อมสำเนาหนึ่งชุด ดังนี้

  1. คำร้อง ซึ่งต้องมีรายละเอียด ชื่อ-นามสกุลของผู้ร้อง สถานที่ที่สามารถติดต่อได้โดยสะดวก หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขโทรสาร และที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (ถ้ามี) ระบุเรื่องอันเป็นเหตุให้ต้องใช้สิทธิ ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุน โดยชัดแจ้ง และมาตราของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุในคําร้อง คําขอที่ระบุความประสงค์จะให้ศาลดำเนินการอย่างใด ลายมือชื่อผู้ร้อง ในกรณีที่เป็นการทำและยื่นหรือส่งคําร้องแทนผู้อื่นต้องแนบ ใบมอบฉันทะให้กระทำการดังกล่าวมาด้วย
  2. เอกสารประกอบคำร้อง ได้แก่เอกสาร เช่น เอกสารแจ้งไม่รับสมัครหรือลบชื่อ (ใบ สว.อ.15 ในกรณีระดับอำเภอ) ใบรับใบรับสมัคร (ใบ สว.อ.10) และสำเนาเอกสารประกอบการสมัคร
  3. บัญชีระบุพยาน

ตัวอย่างเอกสารที่ 3 สว.อ.10 ใบรับใบรับสมัคร สว.

3. ยื่นคำร้องต่อศาล

ในกรณีการเลือกระดับอำเภอ ผู้สมัครสามารถยื่นคำร้องและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อศาลฎีกาภายในสามวันหลังประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการได้ที่

  1. ศาลชั้นต้นประจำจังหวัดที่เขตเลือกอยู่ในเขตอำนาจ
  2. ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลแพ่งอื่นในกรุงเทพมหานครฯ

หากเป็นการเลือกระดับจังหวัด ให้ยื่นคำร้องที่ศาลจังหวัดที่ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง และหากเป็นการเลือกระดับประเทศให้ผู้สมัครมายื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโดยตรง แผนกคดีการเลือกตั้ง

หลังจากยื่นเอกสารแล้ว กระบวนการพิจารณาเป็นดังต่อไปนี้

  1. รับคำร้อง
    เมื่อศาลจังหวัดรับคำร้องแล้ว จะนัดพร้อมภายในสองวันนับจากวันที่รับคำร้อง และส่งหมายนัดพร้อมสำเนาคำร้องให้ผู้อำนวยการเลือก ซึ่งผู้อำนวยการเลือกสามารถทำหนังสือคำคัดค้านคำร้องหรือไม่ก็ได้ หากผู้อำนวยการเลือกไม่คัดค้าน ให้ถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน
  2. นัดพร้อม
    วันนัดพร้อมนำพยานหลักฐานทั้งหมดมาให้ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสตรวจสอบหลักฐาน จะมีการบันทึกข้อรับและข้อโต้แย้งไว้ เสร็จแล้วศาลจะนัดมาไต่สวนหรือฟังคำสั่งคำพิพากษาภายในสองวัน (ถ้าไม่มาวันนัดพร้อมแสดงว่าไม่เอาพยานเข้าไต่สวน)
  3. นัดไต่สวน
    ถ้าศาลฎีกาพิจารณาไม่ไต่สวนพยานหลักฐาน จะวินิจฉัยเลยก็ได้ แต่ถ้าไต่สวน จะให้ศาลจังหวัดไต่สวนหรือไต่สวนเองผ่านทางออนไลน์ก็ได้ แต่ถ้ามีเหตุยกเว้นสามารถเลื่อนคดีได้ไม่เกินสองวัน ซึ่งจะไต่สวนหลักฐานของผู้คัดค้านก่อน (ถ้าผู้ร้องไม่มาให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี ถ้าผู้คัดค้านไม่มาศาลเอาพยานหลักฐานมาประกอบวินิจฉัยได้) ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านสามารถยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีให้ศาลในวันเสร็จการไต่สวนได้เลย
  4. นัดฟังคำสั่ง
    ศาลฎีกาจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ก่อนวันเลือกอย่างน้อยหนึ่งวัน (กรณีการเลือกระดับอำเภอ ภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2567)

หากศาลมีคำพิพากษาให้รับสมัครผู้สมัครที่ยื่นคำร้อง ผู้อำนวยการเลือกจะต้องประกาศรายชื่อเพิ่มเติมตามแบบ สว.อ.14 และแจ้งให้ผู้สมัครทราบ

ตัวอย่างเอกสารที่ 4 สว.อ.14 ประกาศรายชื่อผู้สมัครเพิ่มเติม

ในระหว่างการเลือก สว. จนถึงระดับประเทศในวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ศาลฎีกาเปิดทำการทุกวัน รวมถึงวันหยุดราชการ เสาร์-อาทิตย์ เวลา 8.30-16.30 น. ดังนั้น ผู้ที่ต้องการร้องต่อศาลจึงสามารถเดินทางไปศาลได้ทุกวัน ตรวจสอบวันเปิดทำการได้ที่นี่

กรณีที่ผู้สมัครมีข้อสงสัยหรือติดปัญหาในการพิทักษ์สิทธิ สามารถโทรติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ WeWatch 02-114-3189 หรือตรวจสอบคู่มือได้ที่ไฟล์ด้านล่าง

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage