กกต.ต้องสร้างความโปร่งใส เปิดให้ iLaw-ประชาชนร่วมสังเกตการณ์เลือกสว.

วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 เวลา 11.00 น. ตัวแทนโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอสังเกตการณ์การเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ในระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศเพื่อสร้างความโปร่งใสและลดข้อครหาต่อกระบวนการเลือกที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิออกเสียง และขอให้เปิดกว้างสำหรับการสังเกตการณ์โดยประชาชนทั่วไปในการสังเกตการณ์ด้วย โดยไอลอว์ออกแบบเอกสารแบบฟอร์มคำร้องขออนุญาตสังเกตการณ์การเลือกสมาชิกวุฒิสภาในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ เพื่อเป็นตัวอย่างให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์ม กรอกข้อมูล และยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อขออนุญาตสังเกตการณ์ได้ด้วยตัวเองตามความสะดวก

ในขั้นตอนนี้ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาและออกแนวนโยบายที่ชัดเจนและสั่งการอย่างเป็นทางการให้ผู้อำนวยการเลือกในแต่ละระดับพิจารณาอนุญาตประชาชนที่ดำเนินการยื่นคำร้องดังกล่าวเข้าสังเกตการณ์ได้ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ข้อ 94 วรรค 2 เพื่อเป็นการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและสร้างความโปร่งใสในกระบวนการที่กำลังจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ไอลอว์ขอให้กกต.ตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 4 มิถุนายน 2567 รอติดตามผลพิจารณาต่อไป

รายละเอียดดังนี้

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่มีพันธกิจด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ทำงานรณรงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ ที่ผ่านมาไอลอว์มีบทบาทในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกติกาการเลือกตั้งในปี 2562 และ 2566 และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้ง เชิญชวนอาสาสมัครประชาชนนับแสนคนเข้าร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนนที่หน้าคูหาเลือกตั้งและบรรเทาความผิดพลาดของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.)  

ในปี 2567 ไอลอว์ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมภายใต้ชื่อ “เครือข่าย Senate 67” ทำงานเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา จัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับระบบการเลือกและวิธีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา จัดการจำลองการเลือกตามขั้นตอนในระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งพบว่า ระบบที่ออกแบบไว้มีรายละเอียดจำนวนมากนำไปสู่ความไม่เข้าใจของผู้เข้าร่วม และอาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาด หรือความเห็นที่ไม่ตรงกันในวันเลือกจริง 

กระบวนการการเลือกกันเองเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่นี้จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรก จากสถิติของคณะกรรมการการเลือกตั้งพบว่า มีประชาชนสมัครเข้าสู่กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในปี 2567 ไม่น้อยกว่า 48,117 คน  ซึ่งเป็นจำนวนผู้สมัครมากกว่ากระบวนการตามบทเฉพาะกาลในปี 2561 ประมาณเจ็ดเท่าตัว ดังนั้นแล้วการเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์กระบวนการเลือกจึงมีความจำเป็น เพื่อสร้างความโปร่งใสและลดข้อครหาต่อกระบวนการเลือกที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีสิทธิออกเสียง

ทั้งนี้ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ไม่ได้กำหนดวิธีการและขั้นตอนในการขออนุญาตสังเกตการณ์การเลือกสมาชิกวุฒิสภาไว้อย่างชัดเจน ไอลอว์จึงขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาอนุญาตการสังเกตการณ์ในสถานที่เลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นสองประเด็น ดังนี้

1.     เจ้าหน้าที่ไอลอว์ขออนุญาตเข้าสังเกตการณ์

เจ้าหน้าที่ของไอลอว์ขออนุญาตเข้าสังเกตการณ์การเลือกสมาชิกวุฒิสภาในระดับอำเภอ ทั้งหมดสิบแห่ง และระดับจังหวัด ทั้งหมดสิบแห่ง โดยจะขอส่งเจ้าหน้าที่เข้าสังเกตการณ์ในสถานที่เลือกแห่งละสองคน และในระดับประเทศจะขอส่งเจ้าหน้าที่เข้าสังเกตการณ์ในสถานที่เลือกห้าคน โดยให้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะกำหนดสถานที่ที่สะดวกให้เข้าสังเกตการณ์ได้ ในการนี้ ไอลอว์จะอบรมเจ้าหน้าที่ที่ไปปฏิบัติงาน ณ สถานที่เลือกให้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด

2.     ขอให้เปิดกว้างสำหรับการสังเกตการณ์โดยประชาชนทั่วไป

ไอลอว์ออกแบบเอกสารแบบฟอร์มคำร้องขออนุญาตสังเกตการณ์การเลือกสมาชิกวุฒิสภาในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ เพื่อเป็นตัวอย่างให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์ม กรอกข้อมูล และยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อขออนุญาตสังเกตการณ์ได้ด้วยตัวเองตามความสะดวก ในขั้นตอนนี้ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาและออกแนวนโยบายที่ชัดเจนและสั่งการอย่างเป็นทางการให้ผู้อำนวยการเลือกในแต่ละระดับพิจารณาอนุญาตประชาชนที่ดำเนินการยื่นคำร้องดังกล่าวเข้าสังเกตการณ์ได้ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ข้อ 94 วรรค 2 เพื่อเป็นการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและสร้างความโปร่งใสในกระบวนการที่กำลังจะเกิดขึ้น

ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทำหนังสือตอบกลับ โดยไม่ได้ระบุสถานที่ที่ให้ไอลอว์ไปสังเกตการณ์การเลือก แต่สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดจัดสถานที่เพื่อให้สามารถสังเกตการณ์การเลือกได้อย่างใกล้ชิด และขอให้ส่งรายชื่อผู้สังเกตการณ์การเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามแบบคำขอที่มีการปรับปรุงจากแบบคำขอที่ไอลอว์ออกแบบไว้ก่อนหน้าและส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดเพื่อประสานงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

หนังสือตอบกลับจากสำนักงานกกต.

แบบคำขอสังเกตการณ์การเลือกสมาชิกวุฒิสภา

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage