ปูน ธนพัฒน์ : จาก 24 มิถุนา 64 สู่ครอบครัวทะลุฟ้า วิถีชีวิต ความฝัน ความเชื่อและจำเลยคดี 112

ธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ “ปูน ทะลุฟ้า” วัย 21 ปี นักกิจกรรม/นักเคลื่อนไหวทางการเมือง จากเยาวชนจังหวัดกาญจนบุรีสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิในช่วงโควิด-19 ตกเป็นจำเลยในคดี 112 จากกรณีเผารูปรัชกาล 10 หน้าเรือนจำคลองเปรม  

วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ศาลอาญา รัชดาฯ นัดแอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์และปูน-ธนพัฒน์ กาเพ็ง นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้าฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1199/2564 ทั้งสองถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากเหตุเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบหน้าเรือนจำคลองเปรม 

Untitled Artwork

จากการเคลื่อนไหวปี 64 สู่ #DEK67 

ในปี 2564 ปูนเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 อยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ในบทสัมภาษณ์ “คืนไม่เห็นจันทร์ กลางวันไม่เห็นพระอาทิตย์ ชีวิตในเรือนจำของ “ปูนทะลุฟ้า”” เขาเริ่มสนใจการเมืองมาตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และเคยพูดคุยกับคนแถวบ้านที่เป็นคนเสื้อแดง ทำให้รู้จักขบวนการคนเสื้อแดง ตอนนั้นเขาก็รู้สึกว่าอยากมาชุมนุมกับคนเสื้อแดงแต่ยังมาไม่ได้เพราะขณะนั้นยังเด็กอยู่ เลยได้แต่ติดตามข่าวอยู่ห่างๆ ปูนออกมาเริ่มเคลื่อนไหวจากประเด็นอำนาจนิยมในโรงเรียนก่อน เช่น ครูใส่รองเท้าขึ้นตึกเรียนได้แต่นักเรียนใส่ไม่ได้ ครูกินอาหารในห้องเรียนได้ นักเรียนกินในห้องเรียนไม่ได้

ช่วงเวลาดำเนินมาจนกระทั่ง 11 มีนาคม 2564 ที่ สน.ประชาชื่น เวลา 10.30 น. ปูนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุ 18 ปี ถูกเรียกให้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกของ สน.ประชาชื่น กระบวนการสืบสวน สั่งฟ้อง ตรวจพยานหลักฐานและสืบพยาน กระทำไปภายใต้หลักเดียวกันกับที่ใช้ดำเนินคดีผู้ใหญ่ จนกระทั่งนับถอยหลังสู่วันฟังคำพิพากษาคดี

ชีวิตช่วงนี้ก็เรื่อยๆ ทั้งเรื่องเรียนและชีวิตส่วนตัว แต่ว่าก็ยังอยู่กับการเคลื่อนไหว เราพยายามหาความรู้แล้วก็หาวิธีการหรือสิ่งอื่นๆ ที่จะพัฒนาตัวเราให้เราสามารถที่มั่นคงอยู่บนเส้นทางนี้ได้ทั้งรับผิดชอบตัวเองในอนาคตแล้วก็ดูแลตัวเองในตอนนี้ ดูแลคนที่เขาอยู่กับเราด้วย ในส่วนของสิ่งที่อยากเรียนในอนาคตเราอยากเรียนต่อในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพราะเรารู้สึกถึงความเป็นเลิศทางวิชาการของจุฬาฯ แต่จริงๆ ก็คิดว่าถ้าการศึกษาเป็นเหมือนจุฬาฯ หมด ก็คงจะดีเหมือนกัน ถ้ารอดจากวันที่ไปฟังคำพิพากษาก็จะได้กลับมาเครียดเรื่องมหาวิทยาลัยต่อ

ทะลุฟ้าเป็นอีกครอบครัวหนึ่งของปูน

การเข้ามาเป็นทะลุฟ้ามันเริ่มมาจากตอนที่มีงาน 24 มิถุนายน 2564 เป็นช่วงปิดเทอมหลังจากโควิดหนักๆ แล้วพี่ๆ ทะลุฟ้าก็เป็นจ้าภาพในการจัดงาน ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ชื่อทะลุฟ้าด้วยซ้ำ เราก็มาร่วมกิจกรรมแล้วก็เข้ามาในบ้านทะลุฟ้า ได้รู้จักพี่ๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกันแล้วก็อยู่ด้วยกัน จนได้มาสนิทกันมาขึ้น

“ถ้าถามว่านิยามของคำว่า ‘บ้านทะลุฟ้าคืออะไร’ คงจะบอกได้ว่าพวกเรารักกัน หนึ่งสิ่งที่เรายังยืนยันได้ว่าที่เรามาอยู่ตรงนี้ไม่ใช่ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงสังคมข้างหน้าให้ดีขนาดไหน แต่เราเห็นว่าสิ่งที่เราทำอยู่ ณ ปัจจุบันนี้เป็นสิ่งที่หนัก ต้องใช้ความรักและความโอบอุ้มกัน การเอาความรู้สึกเขามาใส่ใจเรา แบบไหนที่เราจะชอบแบบไหนที่เขาจะไม่ชอบ เพราะแต่ละคนก็เพิ่งมารู้จักกันได้ไม่นาน มารู้จักกันได้ก็เพราะว่าอุดมการณ์ จุดเชื่อมของเราคืออุดมการณ์ที่ทำให้เรามาเป็นเพื่อนกัน เรานิยามเสมอว่าทะลุฟ้าเป็นอีกครอบครัวหนึ่ง”

แม้วันนี้สิ่งที่เราสู้อยู่ สิ่งที่เราพยายามจะสร้าง หลายคนเขาอาจจะหมดกำลังใจแต่เรากลับยังศรัทธาอยู่ เพราะเมื่อก่อนเราอาจจะเห็นว่าม็อบมีคนเยอะหรือที่บ้านมีสมาชิกเยอะต่างกับทุกวันนี้ แต่เราก็ยังสู้อยู่เพราะเราเห็นมาแล้วว่าม็อบมีคนเป็นแสน เป็นหมื่นคน จนกระทั่งหลักสิบคน มันทำให้เห็นหัวใจว่า ‘คุณมั่นคงกับการต่อสู้ขนาดไหน’ เราก็เลยรู้สึกว่าคนที่ยังอยู่ เรารู้สึกรัก รู้สึกดีและเคารพเขาเสมอ

ฝากบอกปูนในวัย 18 ปี 8 วันไว้ว่าต่อให้เจออะไรก็ขอให้มั่นคงอยู่เสมอ

ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ปูนมีอายุ 18 ปีกับอีกเก้าวัน ทำให้ธนพัฒน์ไม่ได้ถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชนกลางและครอบครัว (ศาลเยาวชนฯ) 

“จริงๆ มีคนถามตลอดว่าเสียใจไหมกับสิ่งที่ทำไป เราก็คิดว่าเราไม่เสียใจกับสิ่งที่เราทำ แต่ถ้ากลับไปแล้วเลือกที่จะทำไหม เราก็จะทำนะ เพราะเรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เราทำ นอกจากตัวเราเองที่เราจะได้รับการดำเนินคดี”

“ในแง่หนึ่งมันคือสิทธิเสรีภาพ การแสดงออกในเรื่องของการเมือง เราก็เลยต้องย้อนถามว่าตอนนี้เราอยู่ในประเทศแบบไหนกัน ที่เราไม่มีทางเรียกร้องเลย พูดก็ไม่ได้ เขียนลงโซเชียลก็ไม่ได้ เผารูปก็โดนจับ ทางไหนบ้างที่ผู้มีอำนาจเขาจะรับฟังในบริบทตอนนั้น แต่ว่าพอเป็นตอนนี้บริบทต่างไป ก็ต้องดูว่าสุดท้ายเราจะก้าวข้ามความขัดแย้งแบบไหน ระหว่างความคิดที่ถูกปักไว้ในสังคมแล้วว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันฯ หรือข้อเสนออื่นๆ คนที่เขาไม่สามารถยอมรับได้เขาจะอยู่ไปแบบไหน อยู่ไปแบบรบราฆ่าฟันกันไปเรื่อยๆ หรือจะอยู่กันแบบหาตรงกลางแล้วมาหาทางออกร่วมกันว่าคุณไม่พอใจอะไร เราไม่พอใจอะไรแล้วมาพูดคุยกันดีกว่า”

“รัฐสภาควรเป็นตรงกลาง ให้พูดคุยได้ทุกๆ เรื่อง เช่น มาตรา 112 ถ้าคุณไม่พอใจที่เขาจัดม็อบบนถนนก็ให้เขาไปพูดในสภา หาทางออกแก้ไขในสภาแต่กลายเป็นว่าสภาพูดไม่ได้ ถูกห้าม การพูดกลายเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย ถ้าเกิดว่ายังไม่หาสถานที่หรือจุดตรงกลางมาพูดคุยกัน จะหาทางออกไม่ได้เลยในสังคมนี้”

ความฝันอันมั่งคงของปูน “การทำอะไรก็ได้ที่เกิดประโยชน์กับขบวนการประชาธิปไตย”

“ถ้าให้คิดว่าอีก 10 ปี จะทำอะไร ตอนนั้นน่าจะอายุประมาณ 30 ปี คงจะทำอะไรก็ได้ที่เกิดประโยชน์กับขบวนการเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย เราคิดว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่สร้างภาระให้กับสังคม ถ้าตอนนั้นมีการกระจายอำนาจเราก็คงจะได้ใช้วิชาชีพที่เราเรียนมาในการทำงานให้ดีที่สุด เพราะตอนนั้นเราก็คงจะกลับไปอยู่บ้าน แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ เราอยากเป็นอาจารย์เพราะคิดว่าถ้าจะใช้อะไรสักอย่างได้ก็คงใช้ความรู้ของตัวเองเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง ส่งต่อสิ่งที่เราคิด ส่งต่อสิ่งที่เราทำ”

ถ้าถามว่าพอเรียนรัฐศาสตร์แล้วอยากเป็นปลัดไหม ณ ตอนนี้คิดว่าการสู้ในระบบยังไม่ใช่ทางเลือกของเราสักเท่าไหร่ เพราะคงจะทำให้เราถูกต่อต้านหรือถูกกลืนกินไปได้อย่างง่ายๆ แล้วอีกอย่างก็รู้สึกว่าไม่เห็นด้วยกับระบบวิธีการได้มา ถ้าวันใดวันหนึ่งมีการกระจายอำนาจแล้ว คนดูแลท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งก็คงต้องคิดอีกที แต่ตอนนี้เรายังมีแรงที่จะสู้อยู่ แล้วเราก็อยากมีชีวิต 24 ชั่วโมงอยู่อย่างไม่ถูกจำกัดจากอะไรเลย เราอยากออกแบบเวลาเอง ในส่วนของเรื่องความมั่นคงทางการเงิน ปกติเราก็ไม่ได้อยากจะทำงานอะไรที่ไม่มั่นคงหรอก เราก็อยากทำอะไรที่ได้เงิน แต่ด้วยตอนนี้เราก็ไม่ได้ทำอะไรที่ใช้เงินมาก พอเราไม่ต้องใช้อะไรมาก การมีข้าวกินในทุกๆ วัน การมีอะไรโดยที่ไม่ต้องไปลำบากใครก็โอเคแล้ว

“เราอยู่กับคำถามความมั่นคงในชีวิตมาตลอด อย่างเมื่อไหร่จะเรียนจบ ม.6 พอเรียนจบ ม.6 ก็จะมีคนถามว่าอีก 5 ปี อีก 10 ปีจะเอายังไง แต่เราเองก็บอกไม่ได้หรอกว่าจะเอายังไง ขอแค่เราเอาตัวเรารอดได้ เราก็จะไม่ทิ้งเพื่อนๆ หรือว่าคนอื่นๆ ด้วย เราเชื่อว่าพวกเราจะไปด้วยกันในอีก 5 ปีหรือว่า 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นยังไงก็ยังจะมีทะลุฟ้าอยู่ ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในรูปแบบการเคลื่อนไหว แต่ทะลุฟ้าก็คือครอบครัว”

“ปูนเชื่อมั่นในการเคลื่อนไหวภาคประชาชนมากที่สุด เพราะคนที่เป็นเจ้าของอำนาจจริงๆ ต้องเป็นประชาชน หลักการควรจะเป็นแบบนั้น เราเลยรู้สึกว่าระบบราชการไม่ได้สัมพันธ์กับสิ่งที่ประชาชนต้องการขนาดนั้น พอมันไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนแต่ยึดโยงกับส่วนกลาง เราคิดว่าถ้าแต่ละภาค แต่ละจังหวัด ถ้าเขามีสิทธิจัดเก็บภาษีในจังหวัดเขาเอง และใช้ในจังหวัดเขาเองก็อาจจะเป็นตัวชี้วัดได้ว่าความเจริญมันเกิดจากตรงไหน ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเก็บภาษีไว้ตรงกลางอย่างเดียว”

สนใจการกระจายอำนาจ ปฏิรูปสถาบันและเศรษฐกิจกับการเมือง

“สิ่งที่เราสนใจอยู่ตอนนี้หนึ่งเลยคือการกระจายอำนาจ อย่างที่สองคือความเป็นมา ตำแหน่งแห่งที่และอำนาจของสถาบันกษัตริย์ และตอนนี้ก็เริ่มมาสนใจเรื่องการเมืองกับเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น คนอาจจะเข้าใจว่า โอเค พิธาไม่ได้เป็นนายก แต่ ณ วันแรกที่พิธาไม่ได้เป็นนายกเราสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เราควรจะได้ไปเท่าไหร่แล้ว? นโยบายที่อาจจะได้ทำในรัฐบาลพิธาจะเกิดประโยชน์อย่างไรกับประชาชนบ้าง? เขาจะต้องรู้ว่าสิ่งที่ประชาชนควรจะได้รับตลอดสี่ปีมันหายไป”

“เมื่อโครงสร้างการเมืองไม่เข้มแข็งทำให้เนื้อในเมืองก็ล้มเหลวไปด้วย มันคือสิ่งที่ใกล้ตัวมากที่สุด เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 รัฐธรรมนูญบอกว่ารัฐต้องจัดหาวัคซีนให้ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวดเร็วและเหมาะสมทันท่วงทีมากที่สุด แต่รัฐธรรมนูญ 2560 บอกแค่ไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างเดียวมันเลยทำให้เห็นว่าการจัดการไข้หวัดนกกับการจัดการโควิดมันต่างกัน ตอนโควิดรัฐก็ไม่ได้สนใจว่าจะต้องเร่งมือขนาดไหน สุดท้ายแล้วรัฐบาลประยุทธ์ก็ไม่มีความผิดเลยในการทำให้คนตายหลายคนขนาดนั้น”

“พอเราเป็นนักเคลื่อนไหว เราเป็นนักกิจกรรม เป็นคนที่อยากเสนอความคิดตัวเองให้กับสังคม เราก็เลยต้องกลับมาตั้งคำถามกับความคิดของเราที่จะเสนอไปให้กับสังคมอยู่เสมอว่าสังคมเขาต้องการแบบไหน แล้วเราจะพูดแบบไหนให้เขาอยากฟังมากที่สุด คือเราเองก็คิดว่า ถ้าอยู่ๆ มาพูดว่าสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างงี้นะ เราคิดว่าคนอาจจะไม่อยากฟัง คนคงจะอยากฟังอะไรที่เป็นเหตุเป็นผล แล้วก็รู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับตัวเขา ก็เลยต้องทำให้เราต้องหาคำตอบมากขึ้น ซึ่งเมื่อเราตั้งคำถามกับตัวเองแล้วก็ต้องตอบตัวเองให้ได้”

ทำใจหากติดคุก แต่เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน 

“วันที่ไปฟังคำพิพากษาก็จะมีคนที่บ้านทะลุฟ้าที่ไปกับเราแล้วก็มีคนส่งกำลังใจมาให้ในเพจทะลุฟ้า ถ้าเกิดว่าคำพิพากษาอออกมาว่า ‘รอลงอาญา’ ก็จะกรี๊ดดีใจในห้องพิจารณาคดีเลย แต่ถ้าเกิดลงโทษสามปีสี่เดือนไม่รอลงอาญา เราก็จะเฉยๆ คือเราพร้อม คือเราก็ทำใจไว้นะ มันอาจจะดูเป็นตัวเลขที่เยอะ แต่เราก็เชื่อว่าสักวันหนึ่ง ‘มึงเจอกูแน่ เพราะความคิดกูยังไงมันก็ถูกกว่ามึงอยู่แล้ว’ หนึ่งสิ่งที่เราเชื่อว่าเราถูกต้องก็คือความคิดของเรานี่แหละ เราก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนหรือเสียผลประโยชน์ ถ้าคุณเดือดร้อนกับความคิดนี้แปลว่าคุณรักษาผลประโยชน์ที่ไม่ชอบธรรมอยู่หรือเปล่า” 

จิตวิญญาณนี้ต่อให้เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

“เรารู้สึกว่าตัวเราเกิดมา เรามีประโยชน์ได้จากการลงมือทำอะไรที่มันเกิดประโยชน์กับคนอื่น ถ้าเรายังยึดมั่นอยู่ตรงนี้ อยู่กับตัวของเราเองมันจะเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด เลยขอให้ตัวเองยึดมั่นให้อยู่ตรงนี้ต่อไป แล้วก็พยายามบอกกับตัวเองว่าทำไปเถอะมันเจอแล้ว ก็ให้สู้ต่อไป” 

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage