ศาลปกครองให้เพิกถอนระเบียบแนะนำตัว สว. 67 แต่คำพิพากษายังไม่มีผล ต้องรอให้ถึงที่สุด กกต. ต้องชัดเจนว่าจะไม่อุทธรณ์ต่อ

24 พฤษภาคม 2567 ศาลปกครองกลางมีนัดอ่านคำพิพากษาคดีที่ผู้ประสงค์ลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) หกราย ได้แก่ พนัส ทัศนียานนท์ (นักวิชาการด้านกฎหมาย), ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย (แพทย์), ชลณัฏฐ์ กลิ่นสุวรรณ (พิธีกร), ถนัด ธรรมแก้ว (นักเขียน), ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ (นักร้อง) และนิติพงศ์ สำราญคง ยื่นฟ้องคดีขอให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 (ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ) ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแนะนำตัว ขัดต่อกฎหมาย

ที่มาที่ไปของคดีนี้ สืบเนื่องมาจาก ในการเลือก สว. ชุดใหม่ ระบบ “เลือกกันเอง” พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) ไม่ได้เปิดช่องให้ผู้สมัคร สว. สามารถ “หาเสียง” เหมือนกรณีของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้ แต่ในมาตรา 36 กำหนดให้  ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่ กกต. กำหนด ซึ่ง กกก. ก็ได้ออกระเบียบ การแนะนำตัวฯ มา มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2567 ระเบียบฉบับนี้สร้างเงื่อนไขและมี “ข้อจำกัด” ในการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. หลายประการ เช่น ข้อจำกัดในเชิงเนื้อหา ว่าการแนะนำตัวต้องมีข้อมูลใดบ้าง การแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ จำกัดให้ผู้สมัครต้องทำ “ด้วยตนเอง” และต้องเผยแพร่หรือส่งให้เฉพาะผู้สมัคร สว. อื่นเท่านั้น เท่ากับว่าประชาชนทั่วไปจะไม่สามารถเข้าถึงการแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ของผู้สมัคร สว. ได้ ในวันที่ 30 เมษายน 2567 ผู้ฟ้องทั้งหกจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนระเบียบดังกล่าว และนอกจากคดีนี้ ก็มีอีกหนึ่งคดีที่เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ฟ้องเพิกถอนระเบียบดังกล่าวเช่นกัน โดยฟ้องเมื่อ 29 เมษายน 2567

ต่อมา กกต. ก็ออก ระเบียบ การแนะนำตัวฯ ฉบับที่สอง มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 2567 ระเบียบฉบับที่สอง ผ่อนคลายเงื่อนไขวิธีการแนะนำตัว โดยเฉพาะการแนะนำทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ประชาชนมีโอกาสรู้จักผู้สมัคร สว. มากขึ้น แต่ยังคงกำหนดข้อจำกัดในเชิงเนื้อหาการแนะนำตัวของผู้สมัคร ว่าต้องมีเนื้อหาใดบ้าง และยังคงข้อห้ามในการแนะนำตัวไว้

หลังจากศาลมีคำสั่งรับฟ้องและพิจารณาคดีแล้ว วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาทั้งสองคดี ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 14 สำหรับคดีที่มีผู้ฟ้องหกราย นำโดยพนัส ทัศนียานนท์ ศาลปกครอง เวลา 14.00 น. ศาลปกครองอ่านคำพิพากษา ให้เพิกถอนระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ ดังนี้

  • ข้อ 3 นิยาม “การแนะนำตัว” ซึ่งระบุว่า หมายความว่า การบอก ชี้แจง หรือแจกเอสการ เพื่อให้ผู้สมัครอื่นรู้จัก
  • ข้อ 7 กำหนดรูปแบบการแนะนำตัวแบบเอกสารกระดาษ ต้องไม่เกิดสองหน้ากระดาษเอสี่ และกำหนดว่าการแนะนำตัวในเอกสารผู้สมัคร สว. สามารถใช้ข้อความใดได้บ้าง
  • ข้อ 8 ตามระเบียบฉบับแรก ซึ่งมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 27 เมษายน ถึง 15 พฤษภาคม 2567 เดิมกำหนดให้การแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เผยแพร่ผ่านผู้สมัครอื่นเท่านั้น
  • ข้อ 11 (2) ที่กำหนดว่า ระหว่างวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลบังคับใช้ (11 พฤษภาคม 2567) จนถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก ห้ามผู้สมัครและผู้ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัว ที่ประกอบอาชีพทางวิทยุ โทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร ใช้ความสามารถหรือวิชาชีพ เอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว 
  • ข้อ 11 (3) ที่กำหนดว่า ระหว่างวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลบังคับใช้ (11 พฤษภาคม 2567) จนถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก ที่กำหนดห้ามแจกเอกสารเกี่ยวกับการแนะนำตัวโดยวิธีการวาง โปรยหรือติดประกาศในที่สาธารณะ

ศาลระบุว่า บทบัญญัติข้างต้น เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนบทบัญญัติในระเบียบ กกต. ข้างต้น ตั้งแต่วันที่มีผลใช้บังคับ

สำหรับข้อ 11 (5) ซึ่งกำหนดว่า ระหว่างวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลบังคับใช้ (11 พฤษภาคม 2567) จนถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร แนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณางเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิตัล ซึ่งผู้ฟ้องให้ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนด้วยนั้น ศาลปกครองเห็นว่า แม้ข้อ 11 (5) นี้จะมีเนื้อหาที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแนะนำตัว แต่ก็เป็นมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและความเสมอภาคในการแนะนำตัว จึงเป็นไปตาม พ.ร.ป. สว.ฯ

อย่างไรก็ดี แม้ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบ กกต. ข้อ 3 ข้อ  7 ข้อ 8 (ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมภายหลังโดยระเบียบฉบับที่สองแล้ว) ข้อ 11 (2) และข้อ 11 (3) แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า การเพิกถอนระเบียบ กกต. ตามคำพิพากษาจะมีผลทันที เนื่องจากจะต้องรอให้พ้นระยะอุทธรณ์เสียก่อน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 70 วรรคสอง กำหนดว่า กรณีเป็นคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ให้รอการปฏิบัติตามคำบังคับไว้จนกว่าจะพ้นระยะเวลาการอุทธรณ์ ซึ่งในมาตรา 73 กำหนดระยะเวลาการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดว่า ต้องทำภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ถ้าไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนด ถือว่าคดีถึงที่สุด หลังจากนั้นศาลปกครองก็จะประกาศผลคำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษา และมีผลเป็นการเพิกถอนระเบียบ กกต. ดังกล่าว (มาตรา 72 วรรคสาม)

เนื่องจากกฎหมายกำหนดระยะเวลาในการอุทธรณ์ไว้ถึง 30 วัน ซึ่งจะถึงกำหนดในวันที่ 23 มิถุนายน 2567 ขณะที่การเลือก สว. ระดับอำเภอ จะเกิดขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2567 การเลือกระดับจังหวัดจะเกิดขึ้นในวันที่ 16 มิถุนายน 2567 และการเลือกระดับประเทศ จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 เพื่อความชัดเจนในการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว. กกต. จึงควรออกมาแสดงความชัดเจนว่าจะไม่อุทธรณ์คดีนี้ 

เหตุผลในการเพิกถอนระเบียบ กกต. ข้อ 3 ข้อ  7 ข้อ 8 ข้อ 11 (2) และข้อ 11 (3) ศาลปกครองให้เหตุผลว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ สว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย มีอำนาจหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย แก้พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นชอบผู้มาดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และตำแหน่งในหน่วยงานรัฐ รวมถึงการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน 

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 78 กำหนดให้รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ รวมถึงการตัดสินใจทางการเมือง  ดังนั้น การออกกฎหมายโดยรัฐ จะต้องสอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวด้วย

พ.ร.ป.สว. ฯ มาตรา 36 กำหนดให้ ผู้สมัครอาจแนะนำตัวได้ตามวิธีการและเงื่อนไขที่ กกต. กำหนด บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้สมัคร จะช่วยเหลือผู้สมัครในการแนะนำตัว ก็ต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งในระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ มีผลใช้บังคับกับ ผู้ประสงค์จะสมัคร สว. ผู้สมัคร สว. และผู้ช่วยเหลือในการแนะนำตัว ซึ่งการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กกต. กำหนด จะมีความผิดตามพ.ร.ป. สว.ฯ มาตรา 70 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี  เมื่อกฎหมายกำหนดบทลงโทษจำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคล ดังนั้น บทบัญญัติในระเบียบดังกล่าวจะต้องมีความชัดเจนแน่นอน ไม่คลุมเครือ ต้องไม่มีลักษณะเลือกปฏิบัติโดยไม่จำเป็น และไม่สร้างภาระเกินสมควร

ศาลปกครอง อธิบายเหตุผลประกอบการเพิกถอนระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ แต่ละข้อ ในความดังนี้

  • ข้อ 3 นิยาม “การแนะนำตัว” ซึ่งระบุว่า หมายความว่า การบอก ชี้แจง หรือแจกเอสการ เพื่อให้ผู้สมัครอื่นรู้จัก : ไม่สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชน
  • ข้อ 7 กระทบต่อเสรีภาพของผู้สมัครในการแนะนำตัว ทั้งข้อจำกัดในเชิงปริมาณที่ต้องไม่เกินสองหน้ากระดาษเอสี่ ทั้งข้อจำกัดในเชิงเนื้อหา ที่กำหนดให้ระบุข้อความตามที่ระเบียบ กกต. กำหนดเท่านั้น ทั้งที่ผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. สามารถระบุเนื้อหาแนะนำตัวได้อย่างอิสระในว่าเรื่องคุณวุฒิ ผลงาน รวมทั้งแนวความคิดด้านต่างๆ การกำหนดเช่นนี้จึงเป็นการสร้างข้อกำหนดที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้สมัครเกินความจำเป็น
  • ข้อ 8 ตามระเบียบฉบับแรก ซึ่งมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 27 เมษายน ถึง 15 พฤษภาคม 2567 เดิมกำหนดให้การแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เผยแพร่ผ่านผู้สมัครอื่นเท่านั้น เป็นการจำกัดเสรีภาพของผู้สมัคร สว. ไม่สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชน
  • ข้อ 11 (2) การห้ามผู้สมัครและผู้ช่วยเหลือผู้สมัครแนะนำตัว ที่ประกอบอาชีพทางวิทยุ โทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร ใช้ความสามารถหรือวิชาชีพ เอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว ศาลระบุว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ขณะเดียวกัน ผู้สมัครจากกลุ่มอื่นก็อาจใช้ความสามารถเพื่อเป็นประโยชน์ในการแนะนำตัวได้ แต่กลับไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขเหล่านี้
  • ข้อ 11 (3) ที่กำหนดว่า ระหว่างวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภามีผลบังคับใช้ (11 พฤษภาคม 2567) จนถึงวันที่ กกต. ประกาศผลการเลือก ที่กำหนดห้ามแจกเอกสารเกี่ยวกับการแนะนำตัวโดยวิธีการวาง โปรยหรือติดประกาศในที่สาธารณะ มีผลกระทบต่อเสรีภาพในการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว. หากเป็นผู้สมัครที่ไม่สามารถเข้าถึงการแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ก็จะไม่มีโอกาสได้แนะนำตัวเท่ากับผู้สมัครคนอื่นที่สามารถแนะนำตัวทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ สำหรับข้อกังวลเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย สามารถกำหนดมาตรการอื่นได้ เช่น การให้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage