เพราะจังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้ ขอคน 40 อัพจับมือแฮ็คระบบเลือกสว. สู้กติกาโจร 

วันที่  16 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00 น.  ที่สโลคอมโบ สามย่าน เครือข่าย Senate67 จัดกิจกรรม “สมัครเพื่อเปลี่ยน จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้” สืบเนื่องจากการสมัครเพื่อเลือกกันเองของสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ที่มีจำนวน 200 คนจาก 20 กลุ่มอาชีพ คุณสมบัติของผู้สมัครสำคัญคือ ต้องมีอายุครบ 40 ปีและต้องมีเงินสำหรับค่าสมัคร 2,500 บาท ภายในงานมีกิจกรรมเช่น การอ่านแถลงการณ์จากเครือข่ายพรรคการเมืองนิสิตนักศึกษา และวงเสนา “เสียงจากคนไม่มีสิทธิถึงคนมีสิทธิ”  

เวลาประมาณ 17.00 น. อภิสิทธิ์ ฉวานนท์ นายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2567 ระบุโดยสรุปว่า แม้พวกเขายังอายุไม่ถึงเกณฑ์สมัครแต่เราก็ยึดมั่นในหลักการว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และประชาชนทุกคนล้วนสามารถมีส่วนร่วมในการกําหนดทิศทางของประเทศนี้ได้ จึงเชิญชวนผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนมา “สมัครเพื่อเปลี่ยน” เปลี่ยนให้ประเทศไทยเข้าใกล้ประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เปลี่ยนให้ไม่มีใครต้องอดอาหารประท้วงการเสียชีวิตเช่นเดียวกันกับ บุ้ง-เนติพร

เปลี่ยนให้ประเทศไทยได้รับการนิรโทษกรรมประชาชนที่รวมคดี 112 เปลี่ยนให้มี สว. ที่สนับสนุนหลักการประชาธิปไตยและเสียงของประชาชน “พวกเราในฐานะคนที่ไม่มีสิทธิ จึงต้องฝากความหวังและอนาคตของพวกผมและประเทศไว้กับคนที่มีสิทธิ จังหวะนี้มีแต่พี่ที่ทำได้”

ในวงเสวนา “เสียงจากคนไม่มีสิทธิถึงคนมีสิทธิ” มีผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติลงสมัครสว.มาร่วมแลกเปลี่ยนได้แก่ ต๋ง-ปนัดดา ศิริมาศกุล นักกิจกรรมทางการเมือง แชมป์-ฉัตรชัย พุ่มพวง สหภาพคนทำงาน โรซี่-จรรยา วงศ์สุรวัฒน์ SpokeDark TV และซี-จันทนา วรากรสกุลกิจ นักกิจกรรมทางการเมือง  ดำเนินรายการโดยอธึกกิต แสวงสุข มีรายละเอียดโดยสรุปคือ การวิพากษ์วิจารณ์ระบบการเลือกกันเองตั้งแต่การวางคุณสมบัติของมีสิทธิลงสมัครสว. และการต้องจ่ายค่าสมัคร 2,500 บาท หลายคนมองว่า สนามสว.จะเป็นโอกาสหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และเรียกร้องให้ผู้ที่มีสิทธิมาลงสมัครเยอะๆ ทั้งนี้สว.ชุดใหม่จะมีส่วนสำคัญกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่ต้องได้เสียงหนึ่งในสามจากทั้งหมด หรือ 67 เสียง มีรายละเอียดเช่น 

สับค่าสมัครสว.สวนทางประชาธิปไตย กติกาโจรแต่คนรุ่น ‘40 ต้องสู้

ซี-จันทนา นักเคลื่อนไหวที่ถูกจำคุกในคดีข้อหาครอบครองอาวุธฯ ภายใต้การประกาศกฎอัยการศึกของคณะรัฐประหาร และข้อหาอื่นตามมาภายหลังเป็นเวลากว่าเจ็ดปีและพ้นโทษออกมาเมื่อปี 2564 ซึ่งทำให้เธอมีลักษณะต้องห้ามพ้นโทษมาไม่ถึงสิบปี ไม่สามารถลงสมัครสว.กล่าววิจารณ์ในการเสียเงินค่าสมัครเลือกสว. 2,500 บาท “อยากถามกกต. เหมือนกัน พวกคุณเข้าใจคำว่าระบอบประชาธิปไตยแค่ไหนเพราะกฎกติกาที่คุณร่างมามันย้อนแย้งกับระบอบประชาธิปไตย” นอกจากนี้ยังตั้งคำถามที่ตัวเองไม่มีสิทธิลงสมัครด้วยว่า พ้นโทษแล้ว ตอนที่อยู่ในเรือนจำมีการรณรงค์ให้โอกาสคนในเรือนจำ แต่วันนี้พ้นโทษออกมาแล้วแต่โอกาสที่พึงมีพึงได้กลับหายไป ไม่มีโอกาสได้ลงสมัครสว. “แค่สิทธิเลือกตั้ง [เลือกกันเอง] ยังไม่ได้เลยก็อย่าหวังว่า ไปสมัครงานใครเขาจะรับ” ทุกวันนี้ส่วนตัวมีความสิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรมและองค์กรที่เกี่ยวข้อง

“แต่ในความสิ้นหวังของพี่ซี พี่ซีเห็นแสงสว่างเรืองรองนิดหน่อยจากคนรุ่นใหม่ เราคาดหวังว่ามันไม่เปลี่ยนแปลงในยุคพี่ซีแน่นอน แต่ความเปลี่ยนแปลงมันก็เกิดขึ้นเยอะแยะ ซึ่งมันอาจจะเป็นอีก 10-20 ปีก็ต้องฝากความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ ทีนี้เราฝากความหวังให้กับเขาแล้วตัวเราล่ะ ตัวเราอยู่เฉยๆหรอ อยู่บ้าน…ก่อนที่เราจะไปฝากความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ การออกมาลงเลือกสว.ซึ่งเหมาะกับเราคือคนที่ 40 อัพ คือกติกาโจรเรารู้ทุกอย่าง แต่เราจะมานั่งพูดว่า เห้ย เราไปเข้ากติกาโจรๆ แล้วเมื่อไหร่จะชนะถ้ามึงไม่เข้าไปสู้กับโจร หน้าที่ของเราคือต้องสู้กับมันก็คือต้องรณรงค์ ในเมื่อพี่ซีก็ไม่มีสิทธิ เจ็บใจไหม เจ็บใจ ตั้งคำถามก็ได้แต่ตั้งคำถาม ไม่เป็นไรแค้นแต่กูก็ต้องสู้ เอาความเจ็บใจความแค้นเหล่านั้นเป็นพลังแล้วก็รณรงค์ หน้าที่ของเราคือต้องช่วยเด็กๆ ก่อนที่จะฝากความหวังกับเด็ก ตัวเราต้องทำแล้วส่งต่อความหวังให้เขาการเลือกตั้งสว.  พี่ซีรณรงค์เราต้องช่วยกันทุกภาคส่วนผู้ที่มีสิทธิ อาจจะมองไม่เห็นแสงสว่าง รู้กติกาเยอะแยะ มองแล้วเป็นรองแต่ก็ไม่เป็นไร ยังไงก็ต้องสู้” 

เช่นเดียวกับแชมป์-ฉัตรชัย พุ่มพวง สหภาพคนทำงานที่มองว่า “คนกว่า 18 ล้านคน ที่เป็นคนวัยทำงาน รายได้ต่อเดือนไม่ถึง 15,000 บาท เงินค่าสมัคร 2,500 บาท จึงอาจเป็นการกันคนส่วนมากออกไป มันไม่ใช่ระบบที่โอบรับทุกคนที่มีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน ผมคิดว่าคนที่ออกแบบระบบนี้ ไม่ได้เชื่อในประชาธิปไตย ไม่ได้เชื่อในการเลือกตั้ง ไม่เชื่อว่าคนเท่ากัน เขาเชื่อว่ามีบางคนที่สูงกว่า เหมาะสมกว่าตามที่เขาคิด ซึ่งจริงๆเราก็รู้กันว่าพวกเราเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นอะไร มีโปรไฟล์ยังไง ตอนที่เราอยู่บนถนน จะ สส. สว. ที่ลงมาคุยกับพวกเรา พวกเขาก็มีตัวเท่าๆกับเรา

จริงๆ ก็เหมือนเป็นสนามนึงที่ฟังกติกาดูแล้ว มันสิ้นหวัง ยากจังเลย แต่ส่วนตัวมองว่ามันก็เป็นอีกโอกาสหนึ่งในการได้ทำความรู้จักผู้คน ซึ่งเป้าหมายของเราคือสังคมประชาธิปไตยที่คนเท่าเทียมกัน ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นได้ มันไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย ไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่รัฐหรือทุน แต่มันอยู่ที่พวกเราว่าจะจัดการมันได้หรือเปล่า แล้วสนาม สว. ก็เป็นอีกสนามหนึ่งที่เป็นแบบฝึกหัดให้พวกเราว่าเราจะเอาจริงไหม สังคมที่คนเท่ากัน เราจะเอาจริงไหม”

ด้านต๋ง-ปนัดดา ศิริมาศกุล นักกิจกรรมทางการเมืองกล่าวว่า “สำหรับเราที่เป็นคนรุ่นใหม่เราไม่มีสิทธิอยู่แล้ว หนูอายุไม่ถึง 40 สิ่งที่หนูอยากฝากไปบอกถึงทุกคน เหมือนที่พี่ถึก [อธึกกิต แสวงสุข] บอกว่าถ้าเราคิดว่าตัวเองไม่มีคุณสมบัติมากพอให้ย้อนไปดูสว. 250 แล้วก็มีคำนึงที่หนูได้สภาพ สภาพสว” 250 คือถ้าจะคิดว่าตัวเองดีไม่พอนั่นแหละย้อนไปดูว่าสิ่งที่เขาทำกับประชาชนสิ่งที่เขาปฏิบัติ ต่อสื่อหรือสิ่งที่เขาแบบสื่อสารกับประชาชนมันเป็นยังไง หนูคิดว่าทุกคนดีพอที่จะเป็นสว.ชุดนี้ได้ แล้วก็อย่างที่บอกในฐานะของผู้ที่ไม่มีสิทธิ อยากส่งข้อความถึงทุกคนที่มีสิทธิ…”

อยากให้ทุกคนย้อนกลับไปตั้งแต่ที่เรามีการเคลื่อนไหว อย่างหนูอ่ะหนูเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งจะมาตื่นตัวทางการเมือง เพิ่งจะมาเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงปี 63 แต่หนูอยากให้เรามองย้อนไปน่าจะเป็นตั้งแต่ปี 53…อยากให้ทุกคนจำความโกรธความสิ้นหวังความผิดหวังในทุกๆอย่างที่เรารู้สึกว่าเราส่งเสียงไปมากแค่ไหนมันก็ไม่ถึงผู้มีอำนาจที่อยู่ข้างในนั้น ไม่ถึงสักที แล้วหนูรู้สึกว่านี่แหละมันเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลง สว.ชุดใหม่เนี่ยจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนแล้วก็หนูเชื่อว่าเสียงของประชาชนจะไปถึง อย่างน้อยมันก็กระเถิบไปอีกนิดนึงได้ก็ยังดี อยากฝากทุกคนจริงๆที่อายุ 40 ขึ้นไปให้ไปสมัครสว.กันด้วย

จับมือแฮ็คระบบสว. ล้มการเมืองแบบที่ ‘เขา’ ให้สยบยอม

อธึกกิตระบุว่า  เราไม่ได้คาดหวังว่าเราจะได้สว.แบบที่มีความคิดมีประชาธิปไตยเกินครึ่งก็ได้เพราะตามธรรมชาติมันคงไม่เป็นเช่นนั้น  “แต่ผมย้ำว่า สิ่งที่มันควรจะเกิดขึ้นก็คือสว.ที่มีความรับผิดชอบแล้วก็สังคมกดดันได้ อย่างที่บอกว่ามันต้องไม่เหมือน 250 สว.ที่มาจากแต่งตั้ง…เขาไม่ได้เป็นคนความคิดเหมือนกับขบวนการคนรุ่นใหม่อะไรทั้งหมดก็ได้ แต่เขามีสติ มีเหตุผลที่จะพอที่จะรับฟังว่า… คนต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ จะแก้มาตรา 256 เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งสสร. สส.เห็นชอบแต่ต้องอาศัยเสียงสว. หนึ่งในสาม 67 คน จาก 200 ผมคิดว่า ถ้ามันไม่ใช่คนดื้อด้าน ไม่ใช่คนดื้อด้านมาจากการแต่งตั้ง 67 เสียงมันต้องได้ มันควรจะได้…ต่อให้มันเป็นคนที่พรรคการเมืองตั้งมาก็ตาม”

“….อีกอย่างหนึ่งที่เราเคลื่อนไหวไป มันมีพลังของการเคลื่อนไหวของการเปลี่ยนแปลงในตัวมันเอง ผลมันอาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขที่สว.ออกมาว่า คุณได้เท่าไหร่ใน 200 ได้ร้อยแต่ 120 ได้ 80  แต่มันอยู่ที่พลังของประชาชนที่ที่ร่วมกันผลักดัน เมื่อเรามีพลังในการผลักดันอย่างนี้แล้ว สว.ที่ออกมา มันอาจจะเป็นขั้วอีกอย่างหนึ่งอะไรต่างๆ มันจะถูกกระแสของประชาชนกดดันให้ต้องยอมรับว่าถึงเวลาที่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญ ถึงเวลาที่จะต้องตั้งสรร. … ผมว่าอันนี้คือสิ่งที่เราควรจะคาดหวัง พูดให้ลึกลงไปอีกการแฮ็คระบบสว.ครั้งนี้มันมีความสำคัญตรงที่ว่า มันจะทำให้เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดกับรัฐธรรมนูญ 2560 คือรัฐธรรมนูญ 2560…ไม่ได้คาดคิดว่า จะเกิดการต่อสู้การแฮ็คระบบสว.แบบนี้ เพราะฉะนั้นยิ่งพลังของการต่อสู้ ของการแฮ็คระบบสว.มันเข้มแข็งเท่าไหร่ รัฐธรรมนูญ 2560 และผู้มีอำนาจจากรัฐธรรมนูญนี้ก็จะยิ่งวิตกกังวล วิตกกังวลแล้วก็ทำไง เขาก็จะต้องแบบหาวิธีอะไรอย่างที่บอกว่าบางทีอาจจะมีการตีรวนไม่ให้มันเลือกตั้งสำเร็จ”

อย่างไรก็ตามอธึกกิตมองว่า มันก็จะเกิดการต่อสู้กันทางการเมืองที่ทำให้การเมืองแบบที่ไม่เป็นไปตามที่ ‘เขา’ คาดหวัง ซึ่งการเมืองในลักษณะดังกล่าวคือ การเมืองที่ประชาชนสยบยอมและยอมรับสิ่งที่เป็นอยู่

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage