ด่วน! เปิดรับสมัคร สว. 200 ตำแหน่ง สมัครได้ตั้งแต่ 20 – 24 พ.ค. 67 เท่านั้น

สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นหน่วยหนึ่งในกระบวนการนิติบัญญัติ เดิมสว. “ชุดพิเศษ” มีจำนวน 250 คนโดยมีที่มาแบบ “พิเศษ” จากการคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษนี้มีอายุครบห้าปีตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2560 จึงหมดวาระไปและเปิดให้มีการเลือกชุดใหม่มาแทน

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ มีจำนวน 200 คน มาจาก “การเลือกกันเอง” ของผู้สมัคร ซึ่ง สว. ชุดใหม่นี้ไม่มีอำนาจพิเศษแบบ สว. จาก คสช. เช่น ไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ สส. ได้ แต่ยังมีอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติหลายประการ

กระบวนการคัดเลือกสว. ชุดต่อไปจึงเริ่มขึ้นในปี 2567 คนที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และประสงค์เข้ารับการเลือกให้เป็นสว. สามารถสมัครเข้าร่วมกระบวนการได้ โดยต้องไปสมัครในวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 เท่านั้น โดยรายละเอียดที่ควรรู้เกี่ยวกับการทำงานในฐานะสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และการสมัครรับเลือก มีดังต่อไปนี้

1. ขอบเขตการทำงานและความรับผิดชอบ

1)  พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายกำหนดให้ต้องผ่าน 3 ขั้นตอน ซึ่งสว. มีอำนาจอยู่ในทุกขั้นตอน ได้แก่

  • ขั้นที่ 1) วาระรับหลักการ ต้องใช้เสียงของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ซึ่งในจำนวนนั้นต้องมีเสียงเห็นชอบของ สว. 1 ใน 3
  • ขั้นที่ 2) วาระพิจารณารายมาตรา ต้องใช้เสียงข้างมากของที่ประชุมรัฐสภา
  • ขั้นที่ 3) วาระเห็นชอบ ต้องได้เสียง สส. และ สว. “เกินกว่ากึ่งหนึ่ง” ซึ่งในจำนวนนั้นต้องมีเสียงเห็นชอบของ สว. 1 ใน 3 และเสียง สส. พรรคที่ไม่มีรัฐมนตรี(รมต.) ประธาน/รองประธานสภา 20%

2) พิจารณากฎหมาย กฎหมายแต่ละประเภทอมีขั้นตอนแตกต่างกันออกไป เช่น 

  • ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ผู้มีอำนาจพิจารณา คือ รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย สส. และ สว. พิจารณาไปพร้อมกัน การพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ต่างๆ สว. จึงมีบทบาทเท่ากันกับ สส.
  • พิจารณาร่างพ.ร.บ. หรือการรับรองพระราชกำหนด สส. จะมีบทบาทหลักในการพิจารณา ถ้าผ่านการพิจารณาของสส. ในวาระสามแล้ว ร่างกฎหมายนั้นจะถูกส่งให้วุฒิสภาพิจารณาสามวาระเช่นกัน หากสว. ไม่เห็นด้วยอาจยับยั้งได้ชั่วคราว หรือขอแก้ไขและตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่วมกับสส.

3)   ให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจกับวุฒิสภาเป็นผู้พิจารณาและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าทำหน้าที่ในศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ดังนี้

  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เก้าคน (มาตรา 204)
  • คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เจ็ดคน (มาตรา 222)
  • ผู้ตรวจการแผ่นดิน สามคน (มาตรา 228)
  • คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เก้าคน (มาตรา 232)
  • คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เจ็ดคน (มาตรา 238)
  • ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (มาตรา 241)
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เจ็ดคน (มาตรา 246)

นอกจากนี้ สว. ยังมีอำนาจให้ความเห็นชอบในการดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น 

  • อัยการสูงสุด : พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 10
  • ตุลาการศาลปกครองสูงสุด : พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 15
  • เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา : พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 มาตรา 63
  • เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งชาติ (ปปง.) : พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 42

·    4) ตรวจสอบฝ่ายบริหาร อาทิ เช่น

  • ตั้งกระทู้ถาม เพื่อให้คณะรัฐมนตรีของกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหานั้นๆ มาชี้แจงความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหา (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 150)
  • เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 153)
  • ปรึกษาหารือปัญหาประชาชนในการประชุมวุฒิสภา (ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 ข้อ 18)

2. คุณสมบัติของผู้สมัคร สว.

  1. ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
  2. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันที่สมัครรับเลือก
  3. มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี ไม่นับรวมผู้สมัครกลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
  4. ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
  • เกิดในอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร
  • เคยทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร
  • เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
  • เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า สองปีการศึกษา

คุณสมบัติต้องห้ามเหล่านี้ ถ้าเป็น…สมัครไม่ได้!

1) เป็นสมาชิกพรรคการเมือง (ถ้าลาออกก็สมัครได้) อ่านวิธีลาออกจากสมาชิกพรรคการเมืองได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/22228 และสามารถตรวจสอบสถานะการเป็นสมาชิกพรรคได้ทาง https://party.ect.go.th/checkidparty

2)     เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ (ถ้าลาออกก็สมัครได้) อ่านวิธีการ “ลาออกชั่วคราว” เพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/22161

3)     เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

4)     เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ดูแนวทางการตีความก่อนหน้านี้ได้ทาง https://www.ilaw.or.th/articles/31972

5)     เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

6)     เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

7)     เป็นหรือเคยเป็นตำแหน่งดังต่อไปนี้ เว้นแต่พ้นตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัคร

  • สส.
  • รัฐมนตรี 
  • สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  • ผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง ได้แก่
    • หัวหน้าพรรคการเมือง
    • เลขาธิการพรรคการเมือง
    • เหรัญญิกพรรคการเมือง
    • นายทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง
    • กรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง
    • หัวหน้าและกรรมการสาขาพรรคการเมือง
    • ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด
    • ตำแหน่งอื่นๆ ที่ถูกกำหนดไว้ในข้อบังคับของแต่ละพรรคการเมือง

8)     เป็นบุพการี (บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย) คู่สมรส หรือบุตร ของผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้

  • สส. 
  • สว. 
  • ข้าราชการการเมือง 
  • สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  • ผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ

9)     เป็นบุพการี (บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย) คู่สมรส หรือบุตร ของผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ในคราวเดียวกัน (หนึ่งครอบครัว สมัครได้แค่คนเดียวในหนึ่งสมัย)

10)     เคยเป็นสว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 (สว. ชุดพิเศษ สมัครอีกไม่ได้)

11)      ติดยาเสพติดให้โทษ (ดูจากใบรับรองแพทย์)

12)      วิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ (ดูจากใบรับรองแพทย์)

13)      อยู่ในระหว่าง (ข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้)

  • ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
  • ถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
  • ต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

14)      ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

15)      เคยรับโทษจำคุก พ้นโทษยังไม่ถึง 10 ปี ยกเว้นความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ

16)      เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่

17)   เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาลงโทษจำคุกเพราะทำผิดตามกฎหมายปราบปรามการทุจริต

18)   เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดตามกฎหมายความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดกฎหมายยาเสพติด การพนัน การค้ามนุษย์ หรือการฟอกเงิน

19)   เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทุจริตในการเลือกตั้ง

20)   เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีส่วนในการเสนอหรือกระทำการใดๆ ที่มีผลให้สส. สว.  หรือกรรมาธิการ มีส่วนในการใช้งบประมาณ

21)   เคยพ้นตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่า เป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม

3. สวัสดิการ

1) รายได้ประจำเดือนของสว. อยู่ที่ 113,560 – 119,920 บาท หากได้รับเลือกเป็น สว. และได้รับเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภา ก็จะได้รับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอีก ดังนี้

เงินประจำตำแหน่งเงินเพิ่มรวม
ประธานวุฒิสภา74,42045,500119,920
รองประธานวุฒิสภา73,24042,500115,740
สว.71,23042,330113,560

เมื่อมีการประชุม สว. จะได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งต่อวัน เฉพาะครั้งที่มาประชุม ดังนี้

  • ประชุมคณะกรรมาธิการ ได้รับเบี้ยอัตราครั้งละ 1,500 บาท
  • ประชุมคณะอนุกรรมาธิการ ได้รับเบี้ยอัตราครั้งละ 800 บาท

2) สว. 1 คน มีผู้ช่วยได้มากถึง 8 คน สว. สามารถตั้งผู้ช่วยประจำตัวได้ จากคนที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตัวจากประสบการณ์การทำงาน สว.หนึ่งคนสามารถมีผู้ช่วยได้สูงสุดแปดคน ดังนี้

ตำแหน่งหน้าที่จำนวนที่ตั้งได้  (คน)เงินเดือน (บาท)
ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำปรึกษาทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์ให้แก่ สว.124,000
ผู้ชำนาญการศึกษาค้นคว้า หาข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย รวมทั้งรวมรวมปัญหาและข้อร้องเรียนต่าง ๆ เพื่อจัดทำญัตติ กระทู้ถาม ข้อหารือหรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์แก่ สว.215,000
ผู้ช่วยดำเนินงานมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่ สว.กำหนด เช่น การพูดคุยรับฟังปัญหาประชาชน ติดต่อประสานกับหน่วยราชการ  เข้าร่วมสัมมนาหรืองานประเพณีต่างๆ 515,000

3) สวัสดิการรักษาพยาบาล

การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล

  • ค่าห้องและค่าอาหาร/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง)  จำนวนเงินไม่เกิน 4,000 บาท (รวมค่าบริการการพยาบาล)
  • ค่าห้อง ไอ.ซี.ยู/ซี.ซี.ยู/วัน (สูงสุด 7 วัน/ครั้ง) จำนวนเงินไม่เกิน 10,000 บาท (ไม่รวมค่าผ่าตัด)
  • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ครั้ง จำนวนเงินไม่เกิน 100,000 บาท
  • ค่ารถพยาบาล จำนวนเงิน 1,000 บาท
  • ค่าแพทย์ผ่าตัด/ครั้ง 120,000 บาท (ให้หมายความรวมถึงค่าใช้จ่าย ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้องผ่าตัด เช่น ค่าแพทย์ผ่าตัด ค่าวิสัญญีแพทย์ ค่าใช้อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ในห้องผ่าตัดค่าเครื่องมือดมยา ค่าผ่าตัดด้วยกล้องเป็นต้น)
  • ค่าแพทย์เยี่ยมไข้/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) จำนวนเงินไม่เกิน 1,000 บาท
  • ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค/ครั้ง   จำนวนเงินไม่เกิน 4,000 บาท
  • การคลอดบุตร (1) คลอดธรรมชาติ จำนวนเงินไม่เกิน 20,000 บาท  (2) คลอดโดยการผ่าตัด จำนวนเงินไม่เกิน 40,000 บาท 
  • การรักษาทันตกรรม/ปี จำนวนเงินไม่เกิน 5,000 บาท

กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก

  • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ปี  จำนวนเงินไม่เกิน 90,000 บาท
  • อุบัติเหตุฉุกเฉิน/ครั้ง จำนวนเงินไม่เกิน 20,000 บาท (รวมถึงการรักษาภายใน 15 วัน โดยไม่รวมกับค่าใช้จ่ายทั่วไป)
  • การตรวจสุขภาพประจำปี จำนวนเงินไม่เกิน 7,000 บาท

4) บำนาญ สว. สวัสดิการ สว. ไม่ได้มีสิทธิรับเฉพาะขณะที่ดำรงตำแหน่งเท่านั้น แต่ภายหลังจากที่หมดวาระของ สว.แล้ว ยังมี “กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกองทุนประกันสังคมเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงและเป็นทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ที่เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา (สว. และ สว.) อีกด้วย        5) ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 

เครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นเครื่องหมายแสดงเกียรติยศและบำเหน็จความชอบ ตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. 2564  สว. สามารถขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ ดังนี้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ขอพระราชทาน
เริ่มต้นขอขอได้ถึง
ประธานวุฒิสภามหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
รองประธานวุฒิสภาประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
สว.ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)
  • อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสวัสดิการ-สิทธิประโยชน์ของ สว. ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/28411

4. เงื่อนไขในการสมัคร สว. แบบ “คัดเลือกกันเอง”

การสมัครชิงตำแหน่ง สว. แบ่งผู้สมัครออกเป็น 20 กลุ่มตามลักษณะของแต่ละอาชีพ-อัตลักษณ์ ซึ่งผู้สมัครเป็นคนเลือกสมัครเองว่า ต้องการจะสมัครในกลุ่มใด เนื่องจากในขั้นตอนการคัดเลือก หรือที่เรียกกันว่า “เลือกกันเอง” ผู้สมัครจะต้องถูกแบ่งไปเลือกกันเองตามกลุ่มอาชีพที่ได้ลงสมัครไว้แต่แรก โดยทั้ง 20 กลุ่ม มีดังต่อไปนี้

  1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ
  2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ หรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย
  3. กลุ่มการศึกษา เช่น ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา
  4. กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท พยาบาล เภสัชกร
  5. กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก
  6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
  7. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ 
  8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน 
  9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมาย (SME) และ ผู้ประกอบกิจการอื่นๆ
  10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากข้อ (9)
  11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม
  12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
  14. กลุ่มสตรี
  15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
  16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี นักกีฬา การแสดงและบันเทิง
  17. กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
  18. กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม
  19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 
  20. กลุ่มอื่นๆ 
    ชวนดูรายละเอียดการนิยามแต่ละกลุ่มได้ทาง https://www.ilaw.or.th/articles/30289

5. ยื่นใบสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 20 – 24 พฤษภาคม 2567

1) ขอรับใบสมัครที่สำนักงานเขต-อำเภอ ผู้ที่ต้องการสมัครสว. ไปรับใบสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 โดยจะต้องไปขอรับเอกสารการสมัครที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตใดก็ได้ทั่วประเทศ ทั้งนี้หากทำเอกสารหายหรรือชำรุดก็สามารถไปขอรับเอกสารใหม่ได้ โดยนำบัตรประชาชน หรือบัตรที่หมดอายุแล้วไปแสดงตนเพื่อขอรับใบสมัครสว. ได้

2) ยื่นใบสมัคร หลังจากผู้ประสงค์สมัคร สว. ไปรับเอกสารมาและจัดการเอกสารเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการยื่นใบสมัคร ผู้สมัครจะต้องยื่นเอกสารและหลักฐานประกอบการการสมัครด้วยตนเอง ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอกำหนด และเป็นอำเภอหรือเขตที่ผู้ประสงค์สมัครต้องการตามที่มีคุณสมบัติโดยยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 20 – 24 พฤษภาคม 2567 

เอกสารที่เกี่ยวข้องและหลักฐานที่ผู้สมัครจะต้องยื่น มีดังนี้

1. แบบใบสมัคร (สว. 2)
2. แบบข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว. 3)
3. แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว. 4) ยกเว้นผู้ที่จะสมัครในกลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น ไม่ต้องใช้เอกสารนี้
4. สำเนาบัตรประชาชน
5. สำเนาทะเบียนบ้าน
6. ใบรับรองแพทย์
7. รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวกและไม่สวมแว่นตาดำ ขนาดกว้างประมาณ 8.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13.5 เซนติเมตร จำนวนคนละสองรูป  สำหรับปิดแบบข้อมูล สว. 3
8. หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับอำเภอที่ผู้สมัครเลือกสมัคร ได้แก่

  • หลักฐานที่แสดงว่าผู้สมัครเกิดในอำเภอที่สมัคร เช่น สูติบัตร
  • หลักฐานที่แสดงว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครไม่น้อยกว่าสองปี เช่น ทะเบียนบ้านที่เคยมีชื่ออยู่
  • หลักฐานที่แสดงว่าทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี เช่น หลักฐานการรับราชการของหน่วยงานต้นสังกัด หรือหนังสือรับรองการทำงานจากบริษัทที่ผู้สมัครรับเลือกเคยทำงานเป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือก หากผู้สมัครประกอบอาชีพอิสระหรือค้าขายอิสระสามารถใช้หลักฐานการเสียภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในเขตอำเภอที่สมัครเลือกได้
  • หลักฐานที่แสดงว่าเคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
  • หลักฐานที่แสดงว่าเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา เช่น วุฒิการศึกษา

9. หลักฐานอื่นๆ เช่น

  • เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี)
  • หลักฐานการลาออกกรณีเป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

10. เงินค่าธรรมเนียมการสมัคร คนละ 2,500 บาท โดยการชำระเงินค่าสมัคร ผู้สมัครสามารถชำระเป็นเงินสด หรือตั๋วแลกเงินหรือแคชเชียร์เช็ค แล้วแต่กรณี

11. สำเนาหลักฐานอื่นที่ผู้สมัครนำมาแสดงตนว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตามข้อ 46 และไม่เป็นผู้ถูกจำกัดสิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง (ถ้ามี)
โดยสามารถตรวจสอบสถานะการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ที่ https://party.ect.go.th/checkidparty ตรวจสอบว่าถูกจำกัดสิทธิสมัคร สว. ไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้ไปเลือกตั้ง สส. หรือเลือกตั้งท้องถิ่นในรอบสองปี (ตั้งแต่พฤษภาคม 2565 ลงมา) และไม่ได้แจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้ที่ https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/absvote/

ดูเอกสารที่ต้องเตรียมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/21466

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage