การปกป้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นภารกิจที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ดังจะเห็นได้จากการระบุไว้ในประกาศ คสช. ที่ 1/2557 ซึ่งออกมาในวันยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557
ในทางปฏิบัติ คสช.ใช้อำนาจพิเศษเรียกตัวผู้ที่ คสช.สงสัยว่าเคยทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มารายงานตัวเพื่อ “สอบถาม” ก่อนนำตัวไปดำเนินคดี ขณะเดียวกันก็ติดตามบุคคลที่แสดงความเห็นเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ มาลงโทษอย่างเข้มข้น ส่งผลให้ตลอดยุค คสช.นับจากวันยึดอำนาจจนถึง 16 กรกฎาคม 2562 มีคนถูกตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 อย่างน้อย 98 คน
สถานการณ์คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เริ่มมีความผ่อนคลายมากขึ้นในปี 2561 เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดออกแนวปฏิบัติให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีมาตรา 112 เพียงผู้เดียว แนวปฏิบัตินี้น่าจะส่งผลให้การพิจารณาสำนวนคดีนี้มีความรัดกุมขึ้น
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนการดำเนินการกับผู้ที่รัฐเห็นว่าแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในลักษณะ “ไม่เหมาะสม” ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง หากแต่มีการปรับมาใช้ตัวบทกฎหมายอื่นหรือวิธีการอื่นแทน
ในส่วนของสถานการณ์คดีมาตรา 112 ในปี 2562 เท่าที่มีข้อมูลยังไม่พบว่ามีการตั้งข้อกล่าวหาบุคคลใดอีก ส่วนคดีที่อยู่ในสารบบแล้วยังคงมีความเคลื่อนไหว ดังนี้
1. พิพากษาคดี ‘สิชล’
ภายหลังการเลือกตั้ง ศาลมีคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ 1 คดี ได้แก่ คดีของ “สิชล” เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2559 “สิชล” ผู้มีอาการป่วยทางจิตถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความและภาพในลักษณะเป็นการเสียดสีในหลวงรัชกาลที่ 9 แม้โพสต์นั้นจะมีขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 แล้ว แต่การจับกุมตัวเขาเพิ่งเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2561
หลังถูกควบคุมตัวโดยตำรวจ “สิชล” ก็ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2561 กว่าจะได้รับการประกันตัวโดยต้องวางเงินประกัน 20000 บาทและต้องใส่กำไลข้อเท้าซึ่งเป็นเครื่องติดตามตัว
ที่น่าสนใจคือ ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้อง “สิชล” ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพียงฐานเดียวโดยไม่ฟ้องมาตรา 112 หลังจากนั้นในชั้นอัยการ มีการฟ้อง “สิชล” ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาเพิ่มเติม
การสืบพยานคดีนี้เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2562 โจทก์นำพยานเข้าเบิกความรวม 4 ปาก ได้แก่ พยานคนกลางเป็นนักวิชาการที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความที่โพสต์, พ่อของ “สิชล” และเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) อีก 2 คน ฝ่ายจำเลยมีพยาน 3 ปาก ได้แก่ ตัวของ “สิชล” เองและแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาอีก 2 คน
พยานคนกลางให้ความเห็นว่า ข้อความที่ “สิชล” โพสต์มีลักษณะเป็นการจาบจ้วง และเป็นการส่งกระแสความไม่ดีต่อพระมหากษัตริย์ ขณะที่พ่อของ “สิชล” ซึ่งเป็นพยานโจทก์เบิกความทำนองว่า ก่อนที่จะถูกคุมขัง “สิชล” หมกหมุ่นเรื่องศาสนา ระหว่างที่ “สิชล” ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ อาการป่วยทางจิตของเขาก็กำเริบ จึงต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของราชทัณฑ์ และเมื่อ “สิชล” ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเขาก็พา “สิชล” ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ขณะที่เจ้าหน้าที่จาก ปอท.เบิกความถึงวิธีการติดตามตัว “สิชล” การสรุปสำนวนและการทำความเห็นสั่งฟ้อง
ในส่วนของพยานจำเลย “สิชล” เบิกความว่า เขาเคยทำงานกับสถานประกอบการต่างๆ มาก่อนถูกดำเนินคดี แต่ทำงานกับแต่ละแห่งได้ไม่นานนักเพราะเขามักพูดเรื่องมนุษย์ต่างดาวกับเพื่อนร่วมงานและผู้บริหาร ต่อมาเขาไปพบแพทย์เพราะมีอาการปวดหัวจึงได้ทราบว่าตัวเองมีอาการป่วย หลังจากนั้น มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขาไม่กล้าไปรับการรักษาเพราะกลัวถูกมัดมือมัดเท้า
ในส่วนของแพทย์ที่ให้การรักษา “สิชล” ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาเบิกความทำนองว่า “สิชล” มีอาการกระวนกระวายและมีความคิดหลงผิด คิดว่าตัวเองเป็นพระพุทธเจ้า จึงวินิจฉัยว่า “สิชล” เป็นโรคจิตเภท แต่ตัวแพทย์ไม่อาจยืนยันว่าในขณะเกิดเหตุ “สิชล” โพสต์ข้อความไปโดยที่เขาควบคุมตัวเองได้หรือไม่
ในเดือนธันวาคม 2562 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง “สิชล” ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่ลงโทษในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และ (5) เป็นเวลา 3 ปี แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา
ศาลให้เหตุผลประกอบการลงโทษจำเลยตอนหนึ่งว่า ไม่มีพยานปากใดยืนยันได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยไม่รู้ผิดชอบชั่วดีและในทางพิจารณายังพอฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยยังรู้ผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง
คดีนี้ศาลลงโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ มาตรา 14(3) ที่ระบุว่า “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา” ซึ่งโดยปกติเป็นข้อหาที่ใช้ควบคู่กับประมวลกฎหมายอาญา แต่ในคดีนี้ศาลกลับไม่ลงโทษจำเลยด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย
ดูรายละเอียดคดีของ “สิชล”
2. ไม่ฟ้องคดีใหม่ คดีเก่าโอนกลับศาลพลเรือน
คดีมาตรา 112 ที่เคยอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหารถูกโอนย้ายกลับคืนมาอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
หลังรัฐประหาร คสช.ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้ความผิดทางอาญาของพลเรือนบางประเภทรวมทั้งคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2557 อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ต่อมาในวันที่ 12 กันยายน 2559 หลังการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้ว หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 55/2559 ประกาศให้คดีของพลเรือนที่เคยอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลทหารกลับไปอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลพลเรือน (ศาลยุติธรรม) ตามเดิม
อย่างไรก็ตามคำสั่งดังกล่าวจะมีผลเฉพาะกับคดีที่เหตุเกิดหลังคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 55/2559 ออกมาเท่านั้น คดีที่เกิดก่อนหน้านั้นหรือคดีที่อยู่ในสารบบความแล้วให้ศาลทหารพิจารณาต่อไป
ต่อมาในวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 หลังประเทศมีการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งอยู่ระหว่างรอเข้าถวายสัตย์เพื่อปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อเป็นสมัยที่สองอันจะเป็นการพ้นจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. ก็ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 สั่งให้โอนย้ายคดีพลเรือนที่คงค้างอยู่ในศาลทหารทั้งหมดมาให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณา
เท่าที่รวบรวมข้อมูลได้ หลังการเลือกตั้งในปี 2562 มีคดีมาตรา 112 ที่ยังคั่งค้างอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดถูกย้ายมาให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาอย่างน้อย 15 คดี เช่น คดีของพัฒน์นรี แม่ของสิรวิชญ์หรือ “นิว” นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องหลังการรัฐประหาร
คดีของประจักษ์ชัย ผู้ป่วยทางจิตที่ถูกกล่าวหาว่ายื่นคำร้องที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ต่อหน่วยงานราชการ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 หรือ 3 วันหลัง พล.อ.ประยุทธ์ออกคำสั่งให้โอนคดีพลเรือนในศาลทหารกลับมาพิจารณาโดยศาลยุติธรรม ประจักษ์ชัยก็ได้เสียชีวิตเพราะปัญหาสุขภาพ
เมื่อถึงวันที่ 19 กรกฎาคมซึ่งเป็นวันนัดสืบพยาน ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากจำเลยเสียชีวิตแล้ว พร้อมทั้งนำใบมรณบัตรของประจักษ์ชัยมาแสดงต่อศาล อย่างไรก็ตาม ศาลทหารแจ้งทนายของประจักษ์ชัยว่าศาลไม่สามารถสั่งคดีได้แล้ว เนื่องจากมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ให้โอนย้ายคดีของพลเรือนไปให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณา ทนายจำเลยจึงต้องรอให้ศาลอาญาซึ่งเป็นผู้รับโอนคดีเป็นผู้สั่งจำหน่ายคดีในเดือนธันวาคม 2562
นอกจากนั้นยังมีคดีของสิรภพ ผู้ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่เนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์บนเว็บบอร์ดประชาไทและบนเฟซบุ๊กส่วนตัว สิรภพนับเป็นจำเลยคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดียาวนานที่สุดในยุค คสช. (เฉพาะคดีที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา) โดยเขาถูกคุมขังระหว่างการพิจารณา ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2557 ก่อนได้รับการประกันตัวในวันที่ 11 มิถุนายน 2562 รวมเวลาเกือบ 5 ปีเต็ม หลังจากนั้นช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ศาลทหารจึงสั่งโอนคดีของสิรภพไปให้ศาลอาญาเป็นผู้พิจารณาต่อ
สำหรับคดี 112 ที่มีการย้ายมาให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาคดีต่อ ได้แก่ คดีบัณฑิตแสดงความเห็นที่งานเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญ, คดีบัณฑิตแสดงความเห็นที่งานเสวนาของพรรคนวัตกรรม, คดีของอัญชัญ, คดีของเสาร์, คดีของณัฏฐธิดาหรือ “แหวน” พยานคดีสลายการชุมนุมที่วัดปทุมวนาราม, คดีป่วน Bike for Dad, คดีของประธินกับณัฐพล, คดีของฤาชา, คดีของหฤษฏ์และณัฏฐิกา ซึ่งปัจจุบันณัฏฐิกาลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศแล้วและศาลทหารกรุงเทพก็ออกหมายจับแล้ว, คดีของ “บุปผา”, คดีสราวุทธิ์ที่จังหวัดเชียงราย และคดีของสุริยศักดิ์
3. แนวปฏิบัติใหม่ ไม่ฟ้องคดี 112 แต่ฟ้องคดีอื่นหรือคุกคามด้วยวิธีการอื่น
หลังการเลือกตั้ง มีปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่มองว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นล่อแหลมหรือสุ่มเสี่ยงจะเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม ดังนี้
3.1 #แบนเมเจอร์
ในวันที่ 28 กันยายน 2562 #แบนเมเจอร์ ติดอันดับแฮชแท็กยอดนิยมในทวิตเตอร์ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่เขียนข้อความและติดแฮชแท็กดังกล่าวส่วนใหญ่พูดถึงมาตรการที่เข้มงวดของโรงภาพยนตร์ที่มีต่อผู้ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี การติดแฮชแท็กดังกล่าวเป็นประเด็นถึงขั้นที่ทางโรงภาพยนตร์ต้องออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า ทางโรงภาพยนตร์ไม่มีนโยบายเชิญผู้ชมออกจากโรง พร้อมทั้งระบุว่าแนวปฏิบัติของโรงภาพยนตร์ต่อกรณีดังกล่าวว่าจะขอความร่วมมือให้ลุกยืนเพื่อถวายความเคารพ ซึ่งถือปฏิบัติต่อกันมาอย่างยาวนานแต่จะไม่มีการเชิญลูกค้าออกจากโรงภาพยนตร์
นอกจากนั้นก็มีรายงานว่าในวันที่ 31 สิงหาคม 2562 มีการสร้างกิจกรรมนัดกันบนเพจเฟซบุ๊กเพื่อไปดูภาพยนตร์โดยไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งปรากฏว่าในวันนัดหมาย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบไปประจำการบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์พารากอนซีนีเพล็กซ์อันเป็นจุดหมายที่ทางเพจเจ้าของกิจกรรมประกาศไว้ เมื่อภาพยนตร์เริ่มฉายก็มีเจ้าหน้าที่บางนายเข้าไปในโรงภาพยนตร์ด้วยซึ่งปรากฏว่ามีผู้ชมคนหนึ่งที่ไม่ลุกยืนจนจบเพลง เจ้าหน้าที่จึงไปยืนข้างๆ ผู้ชมคนนั้นและเมื่อเขาเดินออกจากโรงหลังภาพยนตร์จบเจ้าหน้าที่ก็เข้าไปตักเตือนก่อนจะปล่อยให้กลับบ้าน
3.2 #ขบวนเสด็จ
การติดแฮชแท็กนี้บนโลกทวิตเตอร์มีขึ้นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์สภาพการจราจรและการจัดการจราจรของเจ้าหน้าที่ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2562 ส่งผลให้ในวันที่ 2 ตุลาคม 2562 มีบางช่วงเวลาที่ #ขบวนเสด็จ ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งบนโลกทวิตเตอร์ หลังจากนั้นในวันที่ 12 ธันวาคม #ขบวนเสด็จ ก็กลับมาเป็นแฮชแท็กยอดนิยมบนโลกทวิตเตอร์อีกครั้งโดยครั้งนี้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ติด #ขบวนเสด็จ พร้อมกับทวิตรูปภาพคนรอขึ้นเรือตามจุดต่างๆ เช่น ท่าเรือข้ามเกาะล้าน ท่าเรือแหลมบาลีฮาย ท่าเรือพระสมุทรเจดีย์
ในช่วงที่ #ขบวนเสด็จ ถูกพูดถึงในสังคมอย่างกว้างขวางรอบแรกช่วงเดือนตุลาคม 2562 มีรายงานว่าคืนวันที่ 3 ตุลาคมหรือ 1 วันหลังจากที่ #ขบวนเสด็จ ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งบนโลกทวิตเตอร์รอบแรก นักกิจกรรมคนหนึ่งได้รับข้อความทางโทรศัพท์เป็นภาษาอังกฤษว่า “Please delete all your social network accounts by tonight for your safety. Royal Thai Palace” ข้อความแปลโดยสรุปได้ว่า เพื่อความปลอดภัยของคุณ ขอให้ลบการแสดงความเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหมดภายในคืนนั้น
ตามรายงาน ข้อความถูกส่งมาโดยไม่ปรากฏหมายเลขต้นทาง แต่ระบุชื่อผู้ส่งเป็นภาษาอังกฤษว่า “Royal Thai Palace” สำนักข่าวประชาไทติดต่อไปที่สำนักพระราชวังเพื่อสอบถามเรื่องดังกล่าว มีการโอนสายไปที่กองวัง เจ้าหน้าที่แจ้งผู้สื่อข่าวว่าไม่สามารถให้คำตอบได้เพราะกองวังไม่ได้ดูแลเรื่องดังกล่าวพร้อมทั้งให้ความเห็นส่วนตัวเพิ่มเติมว่าข้อความดังกล่าวไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับสำนักพระราชวัง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีการปฏิบัติในลักษณะดังกล่าว
ในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีรายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า มีผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนใช้นามสมมติว่า “พี” ซึ่งเคยเขียนข้อความติด #ขบวนเสด็จ ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจากมหาวิทยาลัยที่เธอศึกษาอยู่ไปยัง สภ.คลองหลวง ปทุมธานี เพื่อซักถามเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยในช่วงที่เข้ามาควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงเอกสารใดๆ เมื่อไปถึงที่ สภ.คลองหลวง “พี” ถูก “สอบถาม” โดยมีการตั้งกล้องวิดีโอบันทึกการสนทนาเอาไว้ มีการปริ้นท์ภาพถ่ายที่เธอเคยรีทวีตข้อความของบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มาให้ดูและสอบถาม รวมทั้งมีความพยายามที่จะนำโทรศัพท์ของเธอไปตรวจสอบถึง 3 ครั้งแต่พีไม่ยินยอม แต่เธอยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบโดยที่โทรศัพท์ยังคงอยู่ในมือของเธอ เจ้าหน้าที่ขอถ่ายภาพ IP ของโทรศัพท์มือถือ, ชื่อล็อคอินทวิตเตอร์, เบอร์โทรศัพท์, ชื่ออีเมลทั้งหมดและจดหมายที่ถูกส่งเข้ามา รวมไปถึงการขอดูแชทไลน์, Instagram story และเฟซบุ๊กของเธอซึ่งไม่ได้ถูกใช้งานมานานแล้ว เท่าที่ทราบผู้ใช้ทวิตเตอร์คนนี้ยังไม่ถูกดำเนินคดีแต่ก็ต้องเซ็นชื่อในข้อตกลงซึ่งมีสาระสำคัญว่า เธอยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอุปกรณ์ และอนุญาตให้นำข้อมูลไปใช้, รับรองว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย และเธอตกลงว่าจะไม่ทวีตข้อความเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อีก
3.3 ถือป้ายประท้วงในการชุมนุม #ไม่ถอยไม่ทน
ในวันที่ 14 ธันวาคม 2562 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่และแกนนำพรรคบางส่วนจัดการชุมนุม #ไม่ถอยไม่ทน หลัง กกต.มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่กรณีกู้ยืมเงินจากธนาธร หลังการชุมนุมมีผู้ร่วมการชุมนุมคนหนึ่งโพสต์ภาพป้ายเขียนข้อความ F…. you Dictatorship โดยที่มุมกล้องของภาพดังกล่าวหันไปทางหอศิลป์กรุงเทพซึ่งมีภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ขนาดใหญ่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 หลังภาพป้ายดังกล่าวถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ มีการแสดงความคิดเห็นในลักษณะไม่เห็นด้วยต่อการโพสต์ภาพดังกล่าวอย่างรุนแรง หลังจากนั้นจึงมีการเปิดเผยว่าผู้ที่โพสต์ภาพดังกล่าวเป็นผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวแห่งหนึ่งและสำนักข่าวที่เป็นต้นสังกัดก็ออกแถลงการณ์ในเวลาต่อมาว่าผู้สื่อข่าวที่โพสต์ภาพดังกล่าวได้ลาออกจากบริษัทแล้ว หลังจากนั้นมีการตอบโต้จากผู้ใช้ทวิตเตอร์ด้วยการเขียนข้อความติด #แบนโมโน ซึ่งเป็นต้นสังกัดของผู้สื่อข่าวคนดังกล่าว แต่หลังจากนั้นความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เงียบไป
4. ดำเนินคดีนักกิจกรรมโพสต์ข้อความประวัติศาสตร์ต่างประเทศ
ภายหลังการเลือกตั้ง 62 การจัดการกับผู้ที่แสดงความคิดเห็นในลักษณะที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความร้ายแรงที่สุดน่าจะเป็นกรณีของ “กาณฑ์” นักกิจกรรมที่เคยถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กาณฑ์เป็นนักกิจกรรมที่มักใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ในช่วงค่ำวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจาก #ขบวนเสด็จ และ #แบนเมเจอร์ ถูกพูดถึงในสังคมไทยอย่างกว้างขวางไม่นาน มีรายงานว่า กาณฑ์ถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำที่ปอท. จากนั้นจึงมีรายงานว่าในวันที่ 8 ตุลาคม 2562 กาณฑ์ถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เพียงข้อกล่าวหาเดียว ซึ่งศาลอาญาให้ประกันตัวด้วยวงเงิน 100,000 บาทและตั้งเงื่อนไขห้ามโพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกันอีก
ทั้งนี้การเสนอข่าวเกี่ยวกับการกระทำตามข้อกล่าวหาของกาณฑ์ไม่ได้มีการลงรายละเอียดใดๆ มีเพียงรายละเอียดคร่าวๆ ว่ามีการพูดถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลกในลักษณะที่อาจเป็นการปลุกปั่นกระแสหรือสร้างความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชน