Thailand Post Election: เมื่อตุลาการเริ่มตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์ด้วยกฎหมาย

สถาบันตุลาการหรือศาลได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อต้องทำหน้าที่ตีความกฎหมาย พิจารณาตัดสินคดี ปัญหาเกิดขึ้นเพราะหลังการรัฐประหาร ผู้มีอำนาจซึ่งไม่มีความชอบธรรมในทางการเมืองมักออกกฎหมายกดปราบผู้ต่อต้าน จึงเป็นการผลักให้ศาลต้องเผชิญหน้ากับประชาชนโดยตรง และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ย่อมดังขึ้นกว่าเดิม

วิธีการที่ศาลหรือหน่วยงานภาครัฐเลือกใช้ในการจัดการกับหรือตอบโต้คำวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนกลับเป็นมาตรการทางกฎหมาย ทำให้หลังการรัฐประหารคดีความเกี่ยวกับการ “ดูหมิ่นศาล” หรือ “ละเมิดอำนาจศาล” เพิ่มขึ้น ยิ่งหลังการเลือกตั้ง ศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญดูจะยิ่งเข้มงวดกับการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทหรือคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวกับการเมืองมากขึ้นด้วย

มีข้อสังเกตด้วยว่า ‘ยุทธวิธี’ ที่ศาลใช้ คือ การเลือกเป้าหมายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมหรือมีชื่อเสียง รวมถึงใช้การกดดันให้กลุ่มดังกล่าวแสดงท่าทีอ่อนน้อมต่อศาล เช่น การขอโทษในทางสาธารณะเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีหรือลงโทษให้ถึงที่สุด

 

“ดูหมิ่นศาล-ละเมิดอำนาจศาล” VS. การวิพากษ์วิจาณ์

โดยทั่วไปแล้วศาลหรือสถาบันตุลาการจะมีมาตรการทางกฎหมายที่ใช้การคุ้มครองการวิพากษ์วิจารณ์ที่เรียกว่า ความผิดฐานดูหมิ่นศาลและการละเมิดอำนาจศาล ซึ่งมีทั้งในประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป วิ.แพ่ง) 

ความผิดฐานดูหมิ่นศาลอยู่ใน ป.อาญา มาตรา 198 บัญญัติว่า “ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลอยู่ในมาตรา 30 ถึง 33 แต่ทว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับข้อกำหนดในการแสดงความคิดเห็นจะอยู่ใน ป.วิแพ่ง มาตรา 32 ที่กำหนดว่า ผู้เขียน บรรณาธิการ หรือ ผู้พิมพ์โฆษณาสิ่งพิมพ์ ที่เผยแพร่ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แห่งคดีที่ศาลมีคำสั่งพิจารณาคดีลับหรือมีคำสั่งห้ามโฆษณา (เผยแพร่ข้อมูล) โดยตรง ถือว่าทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล 

นอกจากนี้ มาตรา 32 ยังกำหนดด้วยว่า ระหว่างการพิจารณาคดีไปจนถึงเวลาที่คดีถึงที่สุดหากหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์แสดงความเห็นหรือเผยแพร่ข้อมูลโดยมีเจตนาชี้นำหรือมีอิทธิพลเหนือการใช้ดุลพินิจของศาล เหนือคู่ความหรือพยานหลักฐานแห่งคดี หรือมีเจตนา โน้มน้าวชักจูงความคิดเห็นของสาธารณะชนด้วยวิธีการต่างๆ เช่น 

  1. เผยแพร่ข้อมูลที่ผิดจากข้อเท็จจริง
  2. รายงานหรือวิภาคกระบวนพิจารณาคดีโดยไม่เป็นกลางหรือไม่ถูกต้อง
  3. วิพากษ์การดำเนินคดีหรือถ้อยคำพยานหลักฐานโดยไม่เป็นธรรม หรือรายงานในลักษณะที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงของคู่ความ แม้ข้อความดังกล่าวจะเป็นจริง
  4. รายงานในลักษณะชักจูงให้มีการให้ถ้อยคำพยานที่เป็นเท็จต่อศาล

โดยผู้ที่ทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล อาจถูกศาลสั่งให้ออกจากบริเวณศาลหรือสั่งลงโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยการให้ออกนอกพื้นที่ศาล ศาลอาจสั่งให้มีผลเฉพาะระหว่างเวลาที่ศาลนั่งพิจารณาคดีหรือศาลอาจใช้ดุลพินิจกำหนดกรอบเวลาได้ตามสมควร

สำหรับศาลรัฐธรรมนูญ แต่เดิมไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์เป็นการเฉพาะ แต่หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ คสช. เป็นคนแต่งตั้งร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งก็มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ได้ร่วมกันผลักดันพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ) และเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ให้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเข้ามา 

ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ปรากฏอยู่ใน พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ 38 วรรคสาม ที่กำหนดให้ การวิจารณ์คําสั่งหรือคําวินิจฉัยคดีที่กระทําโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคําหรือมีความหมายหยาบคายเสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอํานาจศาล หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือ การวิจารณ์คําสั่งหรือคําวินิจฉัยคดีที่กระทําโดยไม่สุจริตและใช้ถ้อยคําหรือมีความหมายหยาบคายเสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ถือเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และนักกิจกรรม ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์นำของไหว้ศาลพระภูมิไปรอให้กำลังใจโกวิทที่ศาลรัฐธรรมนูญ 30 สิงหาคม 2562 (ภาพจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม)

 

หลังรัฐประหาร ศาลเข้มงวดต่อการวิจารณ์มากขึ้น

ก่อนการรัฐประหาร คดีตัวอย่างที่สำคัญของการตอบโต้การแสดงออกในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อศาล คือ คดีสุดสงวนประท้วงหน้าศาลแพ่ง โดยคดีนี้สุดสงวนถูกกล่าวหาว่าเมื่อปี 2557 ได้นำกลุ่มมวลชนกว่าร้อยคนที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลแพ่ง ในคดีเพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมตัวกันหน้าอาคารศาลแพ่งเพื่อวางพวงหรีดและชูป้ายข้อความ เช่น แด่ความอยุติธรรมของศาลแพ่ง

ในคดีดังกล่าว ศาลฎีกาพิพากษาว่าเป็นความผิดฐานการละเมิดอำนาจศาล  ให้จำคุกเป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยศาลเห็นว่า สุดสงวนเป็นถึงอาจารย์ด้านกฎหมายนำประชาชนมากดดันดุลยพินิจของศาลถือเป็นบ่อนทำลายสถาบันศาลด้วยการลิดรอนความเป็นอิสระของศาลให้เป็นไปตามอารมณ์ของคู่ความ นำไปสู่ความวุ่นวาย ไม่เคารพกติกาของกฎหมาย พฤติการณ์ของสุดสงวนสะท้อนถึงความเหิมเกริมไม่หวั่นเกรงต่อกฎหมาย

หลังการรัฐประหารในปี 2557 ศาลยุติธรรมเข้ามาทำหน้าที่พิจารณาคดีทางการเมืองมากขึ้น และหลายคดีเป็นที่จับตาของประชาชน ทำให้หลีกเลี่ยงได้อย่างที่จะต้องเผชิญหน้ากับการแสดงออกในเชิงวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของศาล แต่ศาลก็ยังใช้มาตรการทางกฎหมายในการตอบโต้การแสดงออกในเชิงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น

คดีตัวอย่างอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีนักกิจกรรมละเมิดอำนาจศาลจังหวัดขอนแก่น ในคดีนี้มีเหตุมาจากนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าศาลจังหวัดขอนแก่นและนำไม้มาทำเป็นสัญลักษณ์ตาชั่งเอียง โดยฝั่งหนึ่งมีรองเท้าบู๊ททหารแขวนไว้ อีกฝั่งหนึ่งเป็นถังเปล่า มีการชวนให้นำดอกไม้สีขาววางไว้อาลัยที่ใต้ฐานตราชั่ง เพื่อแสดงถึงความอยุติธรรมในการดำเนินคดีของ ‘จตุภัทร์’ หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ที่แชร์บทความข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศแต่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว 

ในคดีดังกล่าว ศาลมีคำสั่งว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และสั่งให้รอการกำหนดโทษของผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงที่หก ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เจ็ดสั่งให้จำคุกหกเดือนแต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้เป็นเวลาหนึ่งปี 

ด้านศาลรัฐธรรมนูญ หลัง พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญฯ มีผลบังคับใช้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 โดยมีจุดน่าสนใจอยู่ที่ข้อที่ 10 ที่นำบัญญัติเรื่องการ “ห้ามวิจารณ์ศาลโดยไม่สุจริต” มาบรรจุไว้ และข้อกำหนดฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ 30 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือในวันที่ 17 ตุลาคม 2562

 

หลังเลือกตั้ง เลือกเป้าหมายแต่ปราบด้วย “ไม้อ่อน”

หลังการเลือกตั้ง ศาลยังคงเข้ามามีบทบาทในการบังคับใช้กฎหมายและตีความกฎหมายในคดีทางการเมืองหรือคดีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ซึ่งหลายคดีได้นำไปสู่การตั้งคำถามและนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะ และศาลหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็เลือกใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์

จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลคดีเสรีภาพพบว่า นับตั้งแต่หลังเลือกตั้งหรือวันที่ 24 มีนาคม 2562 ถึง 10 มกราคม 2563 มีการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อกดดันหรือตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์ศาล อย่างน้อย 4 คดี ดังนี้

ชื่อตำแหน่ง/อาชีพข้อหาพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาสถานะคดี
ปิยบุตร แสงกนกกุลเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ความผิดฐานดูหมิ่นศาล ตาม ป.อาญา  และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯจัดแถลงข่าวและเผยแพร่แถลงการณ์บนอินเทอร์เน็ตหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวน
รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ในลักษณะวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญอย่างไม่เหมาะสม คดีสิ้นสุดหลังมีการชี้แจงและขอโทษศาล
ยุทธเลิศ สิปปภาคผู้กำกับภาพยนตร์ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์กรณีศาลรัฐธรรมนูญเรียก รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ เข้าพบคดีสิ้นสุดหลังมีการชี้แจงและขอโทษศาล
สฤณี อาชวานันทกุลนักเขียน นักแปล นักวิชาการอิสระความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์ศาลที่มีคำสั่งตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส. ปมถือหุ้นสื่อคดีสิ้นสุดหลังมีการชี้แจงและขอโทษศาล

จากข้อมูลข้างต้น มีข้อสังเกตว่า ผู้ที่ถูกดำเนินคดีมีลักษณะเหมือนกัน คือ เป็นกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนในสังคม ได้แก่ บรรดานักวิชาการ นักการเมือง หรือกลุ่มคนที่มีชื่อเสียง ทั้งที่ผู้ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ศาลในที่สาธารณะมีจำนวนที่มาก แต่ศาลกลับเลือกดำเนินคดีไม่กี่คน นอกจากนี้ ผลจากการดำเนินคดีพบว่า ศาลมีแนวโน้มยุติคดีผ่านการให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวขอโทษขออภัยต่อศาลเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีต่อหรือเอาผิดให้ถึงที่สุด

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage