Thailand Post Election Report: ม.116 “ยุยงปลุกปั่น” อาวุธทางการเมืองและสิ่งทดแทน ม.112

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” เป็นกฎหมายที่ถูกนำมาใช้บ่อยครั้งหลังการรัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมา โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่แสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในเชิงวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

จากข้อมูลที่ศูนย์ข้อมูลคดีเสรีภาพรวบรวมไว้ ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 26 ธันวาคม 2562 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 130 ราย แบ่งเป็น

  • การชุมนุมหรือการแสดงออกเชิญสัญลักษณ์หรือเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 82 ราย  
  • การแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะทั้งออนไลน์และออฟไลน์ 48 ราย

เฉพาะหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นต้นมามีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 12 ราย ได้แก่ นักการเมืองที่เคลื่อนไหวต่อต้านคสช. กับแกนนำพรรคการเมืองที่เคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญของคสช.

การดำเนินคดีในลักษณะข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า แม้คณะรัฐประหารจะไม่ได้มีสถานะชัดเจนเหมือนก่อนการเลือกตั้ง แต่การใช้ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” หรือภัยความมั่นคงแห่งรัฐกับกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้าน ‘คสช.2’ ยังคงมีอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีกองทัพเป็นกลไกในการเริ่มต้นคดี

อย่างไรก็ดี พบว่า หลังการเลือกตั้งศาลและอัยการก็มีแนวโน้มยุติคดีมากขึ้น โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้านคสช. แต่ศาลยังคงใช้ มาตรา 116 มาทดแทนการลงโทษผู้ต้องหาหรือจำเลยที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามมาตรา 112 

มาตรา 116 ในฐานะอาวุธทางการเมืองของ คสช.

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๑๑๖ ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

(๑) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

(๒) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(๓) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

จากตัวบทกฎหมาย ระบุให้การแสดงออกในบางลักษณะเป็นความผิด มีคีย์เวิร์ดสำคัญคือ “ข่มขืนใจ” “ใช้กำลังประทุษร้าย” เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือรัฐบาล หรือ “ปลุกปั่น” ให้ประชาชนก่อความไม่สงบ ส่วนการแสดงออกอันเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตจะไม่มีความผิด ทว่า ในทางปฏิบัติ มาตรานี้ถูกมาใช้กับผู้ที่ชุมนุมโดยสงบ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง หรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ข้อมูลคดีเสรีภาพพบว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีฐาน ‘ยุยงปลุกปั่น’ จากการวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้านคสช. อย่างน้อย 70 คน จากการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 28 คนจากการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ 21 คน และอื่นๆ 11 ราย เช่น การครอบครองขันแดงที่มีลายเซ็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

คดีช่วงก่อนเลือกตั้ง เช่น 

  • คดี ‘พันธุ์ศักดิ์‘ จัดกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เป็นการเดินเท้าเพื่อประท้วงและเรียกร้องความเป็นธรรมจากการให้พลเรือนต้องถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร 
  • คดี ‘ปรีชา‘ ที่มามอบดอกไม้ให้พันธ์ศักดิ์ในกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน ทั้งที่เขาไม่ใช่ผู้ชุมนุมหรือผู้จัดชุมนุม
  • คดี ‘กลุ่มประชาธิปไตยใหม่‘ จัดชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 
  • คดี ‘ประวิตร โรจนพฤกษ์‘ โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฯและตั้งคำถาม 4 คำถามถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคสช.
  • คดี ‘แกนนำพรรคเพื่อไทยสามคน‘ จัดแถลงข่าวเรื่อง “4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำไปสู่ความมืดมนและอันตราย” 

คดีช่วงหลังการเลือกตั้ง เช่น 

  • คดี ‘ธนาธร‘ ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิดฐาน ‘ยุยงปลุกปั่น’ จากการร่วมชุมนุมกับกลุ่มประชาธิปไตยใหม่และพาหนึ่งในผู้กระทำความผิดหลบหนี ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 แต่เพิ่งจะกลับมาเป็นคดีอีกครั้ง 
  • คดี ‘แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน-นักวิชาการ‘ จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “พลวัฒแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีการกล่าวถึงการแก้ไขมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยรูปแบบของรัฐ ทำให้ฝ่ายความมั่นคงใช้เป็นประเด็นในการดำเนินคดี

มาตรา 116 ในฐานะ “สิ่งทดแทน” มาตรา 112

มาตรา 116 ยังมีอีกสถานะสำคัญ คือ “สิ่งทดแทน” มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ ข้อหา ‘หมิ่นพระมหากษตริย์’ กล่าวคือ นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา แนวโน้มการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ลดลง และผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีนี้เข้าถึงสิทธิมากกว่าในอดีต ทั้งสิทธิในการประกันตัว หรือการที่ศาลพิพากษายกฟ้องหรือละเว้นไม่ลงโทษตามมาตรา 112 แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีการนำกฎหมายอื่นมาใช้ทดแทนซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ มาตรา 116

ตัวอย่างของการใช้ มาตรา 116 เป็นบทลงโทษผู้ต้องหาในคดี 112 คือ คดีของ ประเวศ และ สิชล

ประเวศถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กส่วนตัวจำนวน 13 ข้อความ จนต่อมาถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และมาตรา 116 จำเลยเลือกต่อสู้คดีนี้โดยไม่ยอมรับกระบวนการที่เกิดขึ้น ไม่ให้การ และไม่นำสืบพยาน ท้ายที่สุด ศาลพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามมาตรา 116 ลงโทษจำคุกกรรมละ 5 เดือน รวมจำคุก 15 เดือน และกำหนดโทษจำคุกอีก 1 เดือนในข้อหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือในชั้นสอบสวน แต่คำพิพากษาไม่ได้มีการวินิจฉัยใดๆ ถึงข้อหาตามมาตรา 112 ที่มีการฟ้องร้องเข้ามา 

สิชลถูกจับกุมเนื่องจากโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 พร้อมแสดงความคิดเห็นประกอบ 2 ครั้ง เบื้องต้นเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 และถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำเรื่อยมา ต่อมาตำรวจสั่งไม่ฟ้องในข้อหานี้ เหลือเพียงข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คดีจึงย้ายจากศาลทหารไปศาลพลเรือน และเมื่อยื่นฟ้องคดี อัยการพลเรือนยื่นฟ้องในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แทน

กองทัพยังคงมีบทบาท “บุรุษดำเนินคดี”

จากคำให้การของ ‘พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ‘ ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก และผู้ชำนาญการสำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4) และอดีตฝ่ายกฎหมาย คสช. ต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า การดำเนินคดีการเมืองและความมั่นคงหลังการรัฐประหาร ปี 2557 แบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่

หนึ่ง ส่วนกองกำลัง มอบหมายให้ ผบ.กองกำลังต่าง ๆ มีอำนาจสั่งการ “หน่วยล่าง” เช่น ผบ.กองร้อยรักษาความสงบเรียบร้อย โดยมีคำสั่งจากแม่ทัพภาคในฐานะ ผบ.กองพล ถ่ายทอดมาโดยลำดับ

สอง ส่วนที่ขึ้นกับสำนักงานเลขาธิการ คสช. มี ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. เป็นผู้บังคับบัญชา เป็นไปตามดุลพินิจของ คสช. หากจะแจ้งความดำเนินคดีกับใครในกรุงเทพฯ ก็จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่รับมอบอำนาจดำเนินการแทน โดย พล.ต.บุรินทร์รับผิดชอบคดีการเมือง ส่วน พล.ต.วิจารณ์ จดแตง รับผิดชอบคดีอาวุธสงครามและการก่อการร้าย

นั่นเท่ากับว่า หลังการรัฐประหาร คสช.มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดการกับกลุ่มต่อต้านเป็นการเฉพาะ แม้ว่าหลังการเลือกตั้งโครงสร้างของคสช. จะเปลี่ยนรูปไป แต่กองทัพก็ยังมีบทบาทในการดำเนินคดีกับกลุ่มที่มีแนวความคิดในการต่อต้านคสช. หรือเคลื่อนไหวในประเด็นที่อ่อนไหวต่อคสช. เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ยกตัวอย่างเช่น คดีของ ‘คดี ‘ธนาธร’ ที่ร่วมชุมนุมกับกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ โดยมี  พล.ต.บุรินทร์ เป็นผู้เข้าแจ้งความ ส่วนคดี ‘แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน-นักวิชาการ’ จัดเวทีเสวนาที่จังหวัดปัตตานี โดยมี พล.ต.บุรินทร์ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจาก พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เข้าแจ้งความร้องทุกข์เช่นเดียวกัน

หลังเลือกตั้ง “ศาล-อัยการ” มีแนวโน้มยุติคดีต่อต้านคสช.

ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 26 ธันวาคม 2562 มีการดำเนินคดีข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ อย่างน้อย 46 คดี แบ่งเป็น

  • อยู่ระหว่างการพิจารณาชั้นตำรวจ 10 คดี (42 คน)
  • อยู่ระหว่างพิจารณาคดีของศาล 16 คดี (61 คน)
  • ตำรวจหรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง 5 คดี (12 คน)
  • ศาลยกฟ้อง 5 คดี (5 คน)
  • ศาลสั่งจำคุก 5 คดี (7 คน)
  • ไม่ทราบความเคลื่อนไหว 5 คดี (3 คน)

* หมายเหตุ: หนึ่งคนอาจถูกดำเนินมากกว่าหนึ่งคดี

จากข้อมูลข้างต้นพบว่า การดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่นส่วนมากไม่มีความคืบหน้า อันจะเห็นได้ว่าคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของตำรวจและอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล อย่างน้อย 26 คดี จาก 46 คดี

ที่ผ่านมามีคดีที่สิ้นสุดลงแล้ว อย่างน้อย 15 คดี โดยคดีที่สิ้นสุดลงเพราะศาลยกฟ้องหรือตำรวจอัยการสั่งไม่ฟ้องล้วนแล้วแต่เป็นคดีเล็กน้อยที่ห่างไกลจากองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย เช่น คดี ‘ชัชวาล’ รายงานข่าวการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารผิดวัน หรือคดี ‘ปรีชา’ มอบดอกไม้ให้ผู้จัดกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน เป็นต้น 

ส่วนคดีที่ศาลลงโทษจำคุก มีข้อสังเกตว่า เป็นคดีที่สัมพันธ์กับการถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือข้อหา “หมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ” ร่วมอยู่ด้วย เช่น คดีของ  ประเวศ และ ชญาภา

อย่างไรก็ดี หลังการเลือกตั้ง พบว่า ทิศทางของคำพิพากษาและความเห็นของอัยการมีแนวโน้มจะยุติคดีมากกว่าลงโทษ โดยเฉพาะกับคดีที่เป็นการแสดงออกในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านคสช. 

ยกตัวอย่างเช่น

  • ศาลยกฟ้องแกนนำ 6 คน คดี  “RDN50” หรือคดีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งไปชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง บริเวณถนนราชดำเนิน รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยระบุว่าเป็นการชุมนุมไม่ปลุกปั่น คำปราศรัยเป็นการติชมตามระบอบประชาธิปไตย 
  • อัยการสั่งไม่ฟ้อง คดี “แกนนำพรรคเพื่อไทย” จำนวน 3 คนที่จัดแถลงข่าว “4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช. นำไปสู่ความมืดมนและอันตราย
Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage