ในสนามการเลือกตั้ง 2562 มีทั้งพรรคการเมืองหน้าเก่าและพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่หลายพรรค รวมถึงการแตกตัวของพรรคการเมืองเก่าไปเป็นพรรคขนาดกลาง และขนาดเล็ก อันเป็นผลพวงจากระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เนื่องจากประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มายาวนาน ซึ่งไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกของประชาชน การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นดั่งสนามต่อสู้ระหว่าง คสช. ที่ต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้ง กับ ฝ่ายประชาชนที่คิดว่า “ไม่เอาอีกแล้ว” กับการปกครองแบบที่ผ่านมา
ดังนั้น ก่อนการเลือกตั้งประชาชนจึงสนใจจุดยืนของพรรคการเมืองต่างๆ ต่ออนาคตของประเทศ และมีทั้งพรรคการเมืองที่ออกมาประกาศจุดยืนสนับสนุนการ "สืบทอดอำนาจของ คสช." และพรรคการเมืองที่มีจุดยืนชัดเจนว่า “ไม่เอา คสช.” เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับประชาชน
เมื่อคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อย่างเป็นทางการ แล้วเกือบทั้งหมดก็พอจะทำให้เห็นว่าจำนวนที่นั่ง ส.ส. ของพรรคการเมืองที่มีจุดยืนชัดเจนว่า “ไม่เอา คสช.” มีจำนวนที่นั่งรวมกันยังไม่ถึง 250 เสียง หรือครึ่งหนึ่งของสภา แต่ก็ยังมากกว่า พรรคการเมืองที่มีจุดยืนสนับสนุน “การสืบทอดอำนาจของ คสช.” อยู่มาก
ถ้าหากพิจารณาจาก “คะแนนดิบ” หรือจำนวนคนที่ลงคะแนนให้พรรคการเมืองเหล่านี้ จะพบว่า พรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนก่อนเลือกตั้งชัดเจนไม่เอา คสช. ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ได้คะแนนรวม 7,881,006 เสียง พรรคอนาคตใหม่ ได้คะแนนรวม 6,254,716 เสียง พรรคเสรีรวมไทย ได้คะแนนรวม 822,240 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้คะแนนรวม 485,574 เสียง พรรคประชาชาติ ได้คะแนนรวม 481,143 เสียง พรรคเพื่อชาติ ได้คะแนนรวม 419,121 เสียง พรรคพลังปวงชนไทย ได้คะแนนรวม 79,783 เสียง พรรคเพื่อธรรม ได้คะแนนรวม 15,130 เสียง และ พรรคสามัญชน ได้คะแนนรวม 5,291 เสียง ตามลำดับ เมื่อนำคะแนนของแต่ละพรรคมานับรวมกันจะได้มากถึง 16,444,004 เสียง
อีกด้านหนึ่ง สำหรับพรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนก่อนเลือกตั้งว่า สนับสนุน คสช. และสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนนรวมมาเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ 8,413,413 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้คะแนนรวม 415,202 เสียง และพรรคประชาชนปฏิรูป ได้คะแนนรวม 45,374 เสียง แต่เมื่อรวมกันแล้ว คะแนนเสียงที่สนับสนุน คสช. มีเพียง 8,873,989 เสียง หรือประมาณร้อยละ 53 ของคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองที่ประกาศ “ไม่เอา คสช.” ได้รับ
อย่างไรก็ดี การจัดตั้งรัฐบาลของแต่ละฝั่งจะเป็นไปในทิศทางใด ยังคงขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองที่ยังไม่ประกาศจุดยืนให้ชัดเจนอีกหลายพรรคด้วย หากพรรคการเมืองเหล่านี้ต้องการเลือกนายกรัฐมนตรีโดย “ฟังเสียงประชาชน” ก็น่าจะพอเห็นได้ว่า ประชาชนได้ลงคะแนนเสียงไปทางใด