เงียบสงบ ไม่ปรากฎความเคลื่อนไหว: รายงานสถานการณ์ 5 ปี หลังรัฐประหาร ในจังหวัดเชียงใหม่

เงียบสงบ ไม่ปรากฎความเคลื่อนไหว รายงานสถานการณ์ 5 ปี หลังรัฐประหาร ในจังหวัดเชียงใหม่                                     

ายงานโดย อภิรักษ์ นันทเสรี อาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน รุ่น 12 

มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

ปรับปรุงครั้งสุดท้ายเมื่อ  28 พฤศจิกายน 2562

เงียบสงบ ไม่ปรากฎความเคลื่อนไหว: รายงานสถานการณ์ 5 ปี หลังรัฐประหาร ในจังหวัดเชียงใหม่

จุดเริ่มต้นของผมกับจังหวัดเชียงใหม่เริ่มขึ้นเมื่อได้เข้าศึกษาในภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2555  วันนั้น ขณะเป็นเฟรชชี่ลูกช้างชั้นปีที่ 1 ชีวิตก็หลงติดอยู่กับอะไรหลายอย่าง ทั้งระบบโซตัส ประเพณีรับน้องขึ้นดอยสุเทพ การเที่ยว กิน ดื่ม เล่น การเรียน ติดตามงานเสวนาวิชาการที่สนใจบ้าง 

ผมใช้ชีวิตอย่างปกติธรรมดาและมีความสุข จนปี 2556 อาจด้วยความคาดหวังของที่บ้าน และแรงขับภายในส่วนตัวผมตัดสินใจย้ายคณะไปยังคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เดิม ชีวิตก็ไม่ได้ต่างจากที่เป็นอยู่ในคณะเดิมมากนัก แม้จะย้ายมาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ แต่ก็มิได้สนใจการเมืองใดใด วิชากฎหมายก็ท่องตามตำราไปเพื่อให้สอบผ่านเท่านั้น 

จนกระทั่งปี 2557 ชีวิตผมก็เริ่มเปลี่ยน  ตั้งแต่มีรัฐประหารในช่วงกลางปี  ขณะนั้นมหาวิทยาลัยกำหนดเปลี่ยนแปลงการเปิดเทอมเป็นเดือนสิงหาคม 2557 เมื่อฤดูเปิดเทอมมาถึง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จะได้เรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ อาจารย์เปิดคลาสมาด้วยคำว่า “เทอมนี้เราจะเรียนอะไรกันดี ตอนนี้อยู่ในยุครัฐประหาร รู้ไหมตอนนี้ประเทศไทยไม่มีรัฐธรรมนูญใช้แล้ว ผมก็ไม่รู้จะสอนอะไร ?”

คำพูดประโยคนั้นของอาจารย์สร้างความสงสัยขึ้นในใจอยู่พอสมควร สถานการณ์ในคณะนิติศาสตร์ขณะนั้นก็มีความตึงเครียดอย่างเห็นได้ชัด เริ่มเห็นมีคนแปลกหน้ามายืนสูบบุหรี่บริเวณหน้าตึกคณะเป็นกลุ่ม 2-3 คน มีอาจารย์คอยถามไถ่ว่าเห็นคนแปลกหน้ามานั่งอยู่แถวหน้าคณะบ้างหรือไหม ทั้งมีข่าวลือในคณะว่ามีอาจารย์บางคนถูกทหาร ตำรวจนอกเครื่องแบบคอยติดตามชีวิต  เนื่องจากต่อต้านและวิจารณ์การรัฐประหาร 

สิ่งเหล่านั้นเพิ่มความเคลือบแคลงให้ผมว่าการรัฐประหาร ทำไมต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสิ่งใกล้ตัวของผมด้วย ทั้งคณะ อาจารย์ในคณะ เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย บรรยากาศในมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไป มีคนเริ่มพูดเรื่องกลัวการถูกจับ การจัดงานเสวนาวิชาการในมหาวิทยาลัยแทบไม่มีในช่วงดังกล่าว และนี่เป็นจุดแรกเริ่มที่ทำให้ผมสนใจในการรัฐประหารครั้งนี้ จนส่งอิทธิพลมาถึงการทำงานในเส้นทางนี้หลังเรียนจบเลยก็ว่าได้

ผมอาจจะเริ่มด้วยการยกเหตุการณ์เหล่านี้ เช่น การออกมาชุมนุมต้านรัฐประหาร ด้วยการชูป้ายและจุดเทียน ที่ประตูช้างเผือก หรือทางด้านวิชาการ ที่คณะนิติศาสตร์ ม.ช.ก็ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “อนาคตสังคมไทยว่าด้วยกฎอัยการศึก” นั่นคือปฏิกิริยาของคนเชียงใหม่ในช่วงแรกๆที่ต่อต้านการรัฐประหาร 

(สมชาย ปรีชาศิลปกุล ในงานเสวนา ““อนาคตสังคมไทยว่าด้วยกฎอัยการศึก” )

ต่อมาไม่กี่วัน ทหารเรียกแกนนำเสื้อแดง เข้ารายงานตัวในค่ายทหาร นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการและอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่างเช่น ธเนศว์ เจริญเมือง, นักกิจกรรมเจ้าของร้านหนังสือ Book Re:public อย่าง รจเรข วัฒนพาณิชย์ และคนอื่นๆอีกมากมายต่างถูกเรียกปรับทัศนคติ  จากนั้นสถานการณ์การจัดกิจกรรมทางการเมืองในเชียงใหม่ก็เงียบงันจนผิดสังเกต

(ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: ขอบคุณภาพจาก ประชาไท)

นอกจากความเงียบที่ปรากฎแล้ว เหตุจาก  คดีความ กิจกรรมที่ถูกปิดกั้น และการถูกเรียกรายงานตัว  ทั้งหมดทั้งมวลปฏิเสธไม่ได้เลยว่า  สถานการณ์ 5 ปีหลังรัฐประหารที่ผ่านมา  เชียงใหม่เมืองที่ผมรู้จัก ถูกทำให้เงียบลง   อย่างน้อยที่สุดบางถ้อยเสียงที่พยายามพูด ก็แทบไม่ได้ยินเลย 

นักศึกษาจากกลุ่มชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ (Can) ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ก่อน และหลังรัฐประหาร กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้การจัดกิจกรรมทางการเมืองมีน้อยลงว่า “หลังรัฐประหาร การทำกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษาถือว่าลำบากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากมีการแทรกแซงหลายทาง ทั้งจากเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยที่คอยเข้ามาเป็นตัวกลางคอย ตรวจสอบห้ามปราม ทหาร ตำรวจ ไปหาทั้งที่บ้าน บางคนถูกเรียกตัวไปคุยที่โรงพัก บางคนหนักถึงขั้นไปค่ายทหาร ซึ่งการคุกคามนึกศึกษาที่ทำกิจกรรมมีมาเรื่อยๆตั้งแต่ก่อนรัฐประหารแล้วแต่ไม่เคยเจาะจงเรื่องการเมืองมาก่อน”

เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานเก็บข้อมูลคดีในพื้นที่ภาคเหนือ ให้ข้อมูลว่า “สถานการณ์การจัดกิจกรรมก็ซบเซาลงชัดเจน งานเสวนาหัวข้อทางการเมืองแทบไม่สามารถจัดได้ เมื่อเทียบกับก่อนรัฐประหาร ที่เชียงใหม่เป็นจังหวัดหนึ่งที่คึกคักด้านการจัดกิจกรรมเสวนาต่างๆ ทั้งในมช. ร้านอย่าง book Re:public หรือในสายพวกงานศิลปะ ก็มีแตะเรื่องการเมืองบ่อยๆ และถูกจัดค่อนข้างบ่อย  แต่หลังการรัฐประหารที่ผ่านมาก็ซบเซาทางปัญญาลงอย่างเห็นได้ชัด กิจกรรมหรือหัวข้อต้องหันไปจัดแนววัฒนธรรมหรือทฤษฎีวิชาการอะไรมากกว่า หัวข้อที่พูดถึงการเมืองโดยตรงน้อยลงชัดเจน

แล้วการปิดกั้นที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ทำโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งช่วงแรกๆ ทหารจะใช้อำนาจเข้ามาปิดกั้นโดยตรงเองมากกว่า แต่มหาวิทยาลัยก็มีบทบาทในการช่วยปิดกั้น เช่น การไม่ให้ใช้สถานที่เมื่อมีหัวข้อที่สุ่มเสี่ยง หรือการให้ไปขออนุญาตทหารเองก่อน โดยมหาลัยไม่ดูแลใดๆ หรือการเรียกนักศึกษาไปคุยที่ตึกหน้า เป็นต้น ทำให้แม้แต่พื้นที่มหาวิทยาลัยที่ควรจะมีเสรีภาพทางความคิด-การแสดงออก ก็ถูกปิดล้อมไปด้วย”

เมื่อถามต่อไปถึงกลุ่มคนเสื้อแดงในเชียงใหม่ที่เคยจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องก่อนรัฐประหารก็ได้คำตอบว่า “แกนนำเสื้อแดงเกือบทุกพื้นที่ก็โดนเรียกตัวไปค่ายกันหมดหลังรัฐประหารใหม่ๆ  ส่วนใหญ่ถูกให้ทำข้อตกลง MOU ไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ออกมาก็ถูกติดตามพูดคุยเป็นระยะ ถ้าเกิดไปร่วมเคลื่อนไหวที่ไหนก็มักจะถูกเรียกคุย ไปที่บ้าน หรือขู่จะดำเนินการทางกฎหมาย ส่วนใหญ่เลยเลือกจะหยุด เพราะกลัวจะได้รับผลกระทบ แต่บางพื้นที่ก็หันไปพบปะกันตามกิจกรรมวัฒนธรรม เช่น ผ้าป่า งานบุญ แต่นัยยะทางการเมืองของกิจกรรมมันก็ไม่ได้มีมากเหมือนแต่ก่อน”

หลังรวบรวมข้อมูลและใช้ความคิดกับรายงานชิ้นนี้ และการที่ได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครนักสิทธิทำงานเก็บข้อมูลและติดตามคดีเกี่ยวกับเสรีภาพในหลายพื้นที่จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เชียงใหม่เมืองที่เราเคยอยู่อาศัยและเรียนถึง 5 ปี มีแต่ความเงียบ และแทบไม่มีกิจกรรมทางการเมืองเกิดขึ้นเลยหลังรัฐประหาร 

ตั้งแต่หลังรัฐประหาร ปี 2557 ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพทางการแสดงออกทั้งหมด 10 คดี

“ศาลเหมือนคอมเพล็กซ์โรงหนัง ที่ปากทางเข้ามีกระดานแผ่นใหญ่ ติดรายละเอียดไว้ครบถ้วน ห้องไหนพิจารณาคดีอะไร เริ่มต้นเวลาเท่าไหร่ เราจะเดินไปหยุดหน้าแผ่นกระดาน เลือกโปรแกรมที่เราสนใจ เข้าไปนั่งฟังในฐานะผู้สังเกตการณ์ ใครก็เข้าไปนั่งฟังได้ ขอเพียงอย่าถือกล้องถ่ายรูปและเครื่องบันทึกเสียงเข้าไปก็เป็นพอ หรือว่าอาหารและของคบเคี้ยว เออ, ไม่อนุญาติให้พูดคุยกัน ที่นั่งก็คับแคบนั่งไม่สบาย และถ้าใครไปนั่งโงกหลับในนั้น จ่าศาลตรงรี่เข้ามาหาเลยนะ แต่ไม่มีอะไรต้องบ่นโวยวาย เพราะเขาไม่คิดค่าตั๋ว “

(After Dark,Haruki Murakami) 

ใช่ครับ ! ผมกำลังพูดถึงหนังสือเล่มหนึ่ง ที่บางช่วงบางตอนนั้น ละม้ายแอบอิงไปกับฉากและชีวิตที่ปรากฎในตัวตลอด 1 ปี กับการเป็นอาสาสมัคร ว่าด้วยงานที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมาย และคดีเสรีภาพของไอลอว์นอกจากติดตามมอนิเตอร์เคสคดีเสรีภาพต่างๆทางออนไลน์แล้ว สิ่งที่เราทำเป็นหลักคือการลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสถานีตำรวจ ศาล พื้นที่ชุมนุมทางการเมือง หรือแม้กระทั่งเรือนจำ  “สนาม” เหล่านี้คือพื้นที่ที่ผมใช้ฝึกฝน และสัมผัสกับมันตลอดเวลาของการทำงาน ความที่เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ มีชุมชนนักกิจกรรมที่กว้างขวางในศาสตร์ทุกแขนง โดยเฉพาะด้านการเมือง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองเรื่องเสื้อสีก็ทำให้เมืองแห่งนี้ถูกขับเน้นไปด้วยมิติหลายหลาก

และนี่คือ 10 เรื่องราวคดีความอันเกี่ยวเนื่องกับเสรีภาพที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ หลังรัฐประหารเท่าที่บันทึกได้

1. ศศิวิมล: โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก

จดหมายลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 เดินทางออกมาจากเรือนจำ ในชื่อหัวว่า “เราห่างกันเพียงแค่ตัว” ที่ข้อความนับได้ 15 บรรทัดพอดีตามระเบียบของเรือนจำ ข้อความห่วงใยของแม่คนหนึ่งบอกเล่าถึงลูกๆ ว่า “เป็นไงกันบ้าง 2 สาว ตอนนี้กำลังทำอะไรกันอยู่น๊า คิดถึงจังเลย อยากเห็นหน้าลูกสาวของแม่จัง ดื้อกันบ้างหรือปล่าว โดยเฉพาะน้องไอติมต้องดื้อแน่ๆ เลยใช่ไหมลูก คิดถึงแม่กันบ้างไหม ช่วงนี้ฝนตก อากาศก็เย็น ดูแลตัวเองด้วย อย่าแอบไปเล่นน้ำฝนกันล่ะ เดี๋ยวไม่สบาย เรื่องเรียนเป็นไงบ้าง ok ไหม ทำการบ้านเก่งแล้วนี่ เห็นแม่ใหญ่บอกว่าอุ๊งอิ๊งเดี๋ยวนี้เก่งขึ้นเยอะเลย สอนการบ้านน้องถูกหมด ยังไงก็ตั้งใจเรียน อ่านหนังสือเยอะๆ นะจ๊ะคนเก่ง”

ภาพวาดประกอบในชื่อ “ครอบครัวของเรา” ถูกแต้มระบายสีอยู่ด้านล่างตัวอักษร…เหมือนกับครอบครัวทั่วๆ ไป ทั้งสี่คนในรูปวาดกำลังยิ้มอย่างมีความสุข

ศศิวิมล หรือโอ๋ ในวัย 29 ปี ทำงานเป็นพนักงานในแผนกเครื่องดื่มที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เธอแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย ก่อนแยกทางกับสามีในเวลาต่อมา โดยมีลูกสาวด้วยกันสองคน คนโตอยู่ในวัย 10 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นป.4 ส่วนคนเล็กอายุ 7 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นป.2 

เรื่องราวกั๊ดอกของ ศศิวิมลพนักงานของโรงแรมแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กชื่อ “รุ่งนภา คำภิชัย” โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ รวม 7 ข้อความ

7 สิงหาคม 2558 ศศิวิมลรับสารภาพ ศาลทหารเชียงใหม่พิพากษาจำคุกกรรมละ 8 ปี รวมเป็น 56 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 28 ปี  

2. สามารถ: แจกใบปลิวโหวตโนที่เชียงใหม่

20 กรกฎาคม 2559 ก่อนถึงกำหนดลงประชามติ 18 วัน ขณะที่คนทั่วไปยังไม่ค่อยอยากจะพูดอะไรมาก โทรทัศน์ก็มีแต่รายการที่จัดให้คนร่างรัฐธรรมนูญมานั่งพูดแล้วบังคับออกอากาศเหมือนกันทุกช่อง แม้แต่นักวิชาการกฎหมายก็ยังไม่มีใครกล้าออกมาวิจารณ์กันตรงๆ ลุงสามารถเอาใบปลิวที่ทำขึ้นเอง เขียนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค.  VOTE NO” ใส่กระเป๋าเป้แล้วเดินไปที่ลานจอดรถห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ เขาเอาใบปลิวไปเสียบไว้ตรงที่ปัดน้ำฝนหน้ากระจกรถที่จอดอยู่ประมาณ 20-30 คัน เสร็จแล้วก็เดินทางกลับบ้าน

“ผมหวังว่า ใบปลิวหนึ่งใบซึ่งไปติดอยู่ที่รถ เมื่อเจ้าของรถกลับมา ซึ่งเราก็ไม่รู้จักเขา เขาเห็นว่ามีใบปลิวก็แกะอ่าน ถ้าจะมีผลเป็นการจุดประกาย ปลุกจิตสำนึกก็หวังว่าจะเกิดประโยชน์ อย่างน้อยเขาก็รู้ว่ายังมีคนต่อสู้อยู่ ถ้าเขาไม่เห็นด้วย ก็ทิ้งไป ก็ไม่เป็นไร” ลุงสามารถ เล่าถึงแรงบันดาลใจ

“ผมมีความฝันมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแล้วว่า อยากเห็นประเทศมีประชาธิปไตยสมบูรณ์” ลุงสามารถเปิดประโยคแรกบอกศาลอย่างมั่นใจ ก่อนเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของลุงตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ มาจนถึงวันนี้ 

ลุงยังบอกศาลด้วยว่า ตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศซึ่งลุงไม่เห็นด้วย ลุงก็ไม่เคยออกไปชุมนุมคัดค้านแต่ให้โอกาสรอดูว่าจะพาประเทศไปทางไหน แต่พอเวลาผ่านมาหลายปีก็เห็นแล้วว่า คสช. มีแต่ทำให้บ้านเมืองถอยหลัง ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ต่างชาติไม่อยากค้าขายด้วย และทำให้ประชาชนในชนบทเดือดร้อน ลำบากยากแค้น จนลุงไม่สามารถทนดูต่อไปได้อีกแล้วและรู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง

สามารถ ชายวัย 56 ถูกกล่าวหาว่า จัดทำใบปลิวข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค.  VOTE NO” ในลักษณะเอกสารใบปลิว และนำไปเสียบไว้บริเวณที่ปัดน้ำฝนรถยนต์ที่จอดอยู่ภายในลานจอดรถของห้างพันธ์ทิพย์พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้จับกุมและดำเนินคดีสามารถฐานผิดพ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง

ในชั้นศาลผู้ต้องหายอมรับว่าเป็นคนไปแจกใบปลิวจริง แต่ทำไปโดยจิตใจบริสุทธิ์ เชื่อว่าสิ่งที่ทำไม่เป็นความผิด จึงต่อสู้คดี ศาลจังหวัดเชียงใหม่พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากข้อความในใบปลิวไม่อาจโยงถึงร่างรัฐธรรมนูญได้

3. ชัชวาลย์: แพร่ภาพข่าวการชุมนุมต้านรัฐประหาร

เรื่องเริ่มจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2557  เขาได้รับรูปภาพข่าวจากเพื่อนนักข่าวในท้องถิ่นคนหนึ่งทางไลน์ส่วนตัว  เป็นภาพข่าวชุมนุมประท้วงรัฐประหาร โดยผู้ชุมนุมราว 10 คน อยู่บริเวณลานอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี จังหวัดลำพูน ทั้งหมดใส่หน้ากากสีขาว และชูป้ายกระดาษที่มีข้อความ เช่น No Coup, Stop the coup, คนลำพูนต้องการการเลือกตั้ง

เมื่อเห็นภาพ ชัชวาลย์จึงโทรศัพท์ไปสอบถามเพื่อนนักข่าวคนนั้น และได้รับการยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเย็นวันนั้น เขาจึงส่งภาพและเขียนรายงานข่าวสั้นๆ ประกอบส่งไปที่ศูนย์ข่าวภูมิภาคของผู้จัดการออนไลน์ โดยรายงานว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันที่ 31 พฤษภาคม 2557   กระทั่งข่าวดังกล่าวขึ้นเผยแพร่ทางเว็บไซต์ผู้จัดการในช่วงสายของวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ทางบรรณาธิการนำไปรวมกับข่าวชุมนุมต้านรัฐประหารในจังหวัดเชียงใหม่ และพาดหัวข่าวนี้ว่า “แดงลำพูนแปลงกาย ใส่หลากสี สวมหน้ากากชูป้ายต้านรัฐประหารกลางเมือง” โดยไม่ได้ลงชื่อผู้เขียนข่าวไว้  หลังเผยแพร่ไปไม่นานนักเจ้าหน้าที่ทหารติดต่อไปยังสำนักข่าวและได้ความว่านักข่าวที่ส่งข่าวไปคือชัชวาลย์ จึงส่งกำลังทหารไปที่บ้านของเขา แต่ในบ่ายวันนั้น เขาออกไปทำงานภายนอกบ้าน ทำให้ไม่มีใครอยู่ แต่เพื่อนบ้านได้โทรศัพท์มาแจ้งเขาว่ามีทหารมาตามหา  เมื่อทราบว่าถูกตามตัว เย็นนั้นชัชวาลย์เดินทางเข้าไปพบทหารที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน ซึ่งขณะนั้นถูกใช้เป็นที่ตั้งของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตจังหวัดลำพูน 

หลังพูดคุยเบื้องต้นกับทหาร ชัชวาลย์ยอมรับว่าเป็นคนส่งภาพและข่าวนี้ไปเอง ทหารแจ้งว่าเข้าตรวจสอบในพื้นที่ลำพูนแล้ว แต่ไม่พบว่ามีชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้น การนำเสนอข่าวจึงบิดเบือน เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 เป็นความผิดต่อความมั่นคง

ชัชวาลย์ เป็นนักข่าวอิสระในจังหวัดลำพูน ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ภาพข่าวการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร พร้อมเขียนคำบรรยายใต้ภาพว่า “แดงลำพูนแปลงกาย ใส่หลากสี สวมหน้ากากชูป้ายต้านรัฐประหารกลางเมือง” บนเว็บไซต์ manageronline อันอาจเป็นการปลุกปั่นยั่วยุ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่ศาลทหารเชียงใหม่ ก่อนสู้คดีและศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง 

4. นักวิชาการแถลงข่าว “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร”

“ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก คืนวันนี้เราคุยกัน เช้าวันรุ่งขึ้นเราเขียนแถลงการณ์และบ่ายวันนั้นเราแถลงเลย จริงๆ ออกจะงงๆ ด้วยซ้ำ ผมไม่ได้เป็นคนร่างแถลงการณ์เอง ถ้าดูภาพวันนั้นคุณจะเห็นว่าผมดูไม่ได้เลย เพราะผมเมาค้าง และที่ต้องไปนั่งตรงนั้นเพราะคนที่นั่งบนแถลงการณ์มันไม่สมดุล เนื่องจากอาจารย์บางท่านไม่อยากอยู่ในเฟรมภาพ พอคนมันขาดอาจารย์อรรถจักรก็เลยถูกชวนเข้าไป และผมก็เห็นด้วยในหลักการอยู่แล้ว ผมก็เลยเข้าไปด้วย แล้วทุกคนก็ถ่ายรูป ขึ้นข่าวไปเยอะแยะเต็มไปหมด 

หากเทียบกับการทำกิจกรรมทุกครั้ง ครั้งนี้ถือว่าเบามากแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยแถลงร่วมกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในเรื่องที่ใหญ่โตกว่านี้ หนักกว่านี้ เช่น คัดค้านรัฐธรรมนูญ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ การรัฐประหาร “

(กฤษณ์พชร โสมณวัตร, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2558 หลังการแถลงการณ์ข่าวเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” เหตุการณ์นั้นทำให้นักวิชาการ 8 คน ถูกดำเนินคดีตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ฐานชุมนุมทางการเมือง เกิน 5 คน นอกจากดำเนินคดีแล้ว มีอาจารย์บางส่วนต้องเข้าค่ายทหาร เพื่อเข้ารับการ “ปรับทัศนคติ”

ต่อมาผู้ต้องหา 6 คนได้เข้าพบผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ภายในค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ และลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้ 6 คนดังกล่าวพ้นจากการถูกดำเนินคดี คดีนี้จึงเหลือผู้ต้องหาเพียง 2 คน คือ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และรศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล สุดท้ายแล้วคดีสิ้นสุดโดยที่อัยการศาลทหารเชียงใหม่ไม่สั่งฟ้องคดี

5. ธีรวรรณ: ถ่ายรูปคู่กับขันแดง

จากเรื่องราวขันแดงอันเป็นที่โจษจันลือลั่น ธีรวรรณ หญิงสาวจังหวัดเชียงใหม่ ถูกทหารเรียกตัวมาที่ค่ายกาวิละ จากนั้นก็ตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ภายในค่ายทหาร เนื่องจาก เธอถือขันน้ำสีแดงและถือภาพโปสเตอร์สวัสดีวันสงกรานต์ ปีใหม่ไทย ซึ่งมีรูปภาพอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้นักข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐถ่ายรูป ทั้งนี้ ธีรวรรณให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการประกันตัวผู้ต้องหาด้วยหลักทรัพย์ 1 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งหลังจากนั้นข่าวคราวคดีของเธอได้เงียบหายไป

6. ไมตรี: เผยแพร่คลิปหมิ่นประมาททหาร

หลังม่านฉาก และชีวิตสวยงาม ที่ตั้งตระหง่านบริเวณดอยหลวงเชียงดาว หลังขุนเขากลับมีเรื่องราวรวดร้าวอยู่ไม่น้อย..

จากที่พื้นเพเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ที่หมู่บ้านกองผักปิ้ง” หมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ห่างจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เพียงข้ามเขาไม่กี่ลูก และยังเป็นที่ตั้งของห้วยสันกลาง ต้นกำเนิดแม่น้ำปิง มีชาวบ้านราว 65 ครัวเรือน มีทั้งชาวลาหู่ ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ ส่วนใหญ่ทำอาชีพปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ขาย และปลูกข้าวไร่ไว้กินเอง หมู่บ้านติดแนวกันชนแห่งนี้เผชิญปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะยาเสพติดและปัญหาคนไร้สัญชาติ

ไมตรี มีบทบาทในการเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง “กลุ่มเยาวชนรักษ์ลาหู่” เพื่อทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนชาติพันธุ์ ให้ห่างไกลยาเสพติด อันเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานในพื้นที่ โดยภายหลังยังได้ร่วมกับกลุ่มกิจกรรมดินสอสี ทำโครงการ “พื้นที่นี้ดีจัง” ในพื้นที่บ้านกองผักปิ้ง เขายังมีทักษะในการทำภาพยนตร์ โดยเคยเข้าร่วมโครงการอบรมการทำภาพยนตร์ของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน และกำกับภาพยนตร์สั้นของตนเองมาแล้วหลายเรื่อง รวมทั้งยังมีบทบาทในการเป็นผู้สื่อข่าวพลเมืองให้กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวและวิถีชีวิตของชาวลาหู่ให้กับสังคมได้รับรู้

เดือนมกราคม 2558 ไมตรีถูกดำเนินคดีด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯหลังเผยแพร่วิดีโอคลิปการเจรจาระหว่างทหารกับชาวบ้าน ซึ่งเป็นการเจรจาเกี่ยวกับกรณีที่มีชาวบ้านถูกตบในระหว่างทหารเข้าไปปฏิบัติการที่หมู่บ้านกองผักปิ้งในคืนส่งท้ายปี ไมตรีใส่ข้อความประกอบคลิปวิดีโอนั้นมีใจความตอนหนึ่งว่า ‘ทหารตบเด็ก เยาวชนและคนแก่’

ก่อนสู้คดีกระทั่งศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้อง  

7. เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร เชียงใหม่

1.ป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ถูกนำมาติดในวันสุดท้าย ไม่เคยมีป้ายนี้มาก่อนตลอดงานประชุม และเป็นผลมาจากการที่ทหารเข้ามาป่วนในงาน แย่งเก้าอี้ หูฟังแปลภาษาอังกฤษ-ไทย ถ่ายรูปสอดแนมผู้เสนอบทความ ราวกับเป็นสมรภูมิการเมือง ตลอดสามวันของการประชุมไทยศึกษา

2.เหล่าทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบที่เข้ามาป่วนงาน ไม่มีการลงทะเบียน ไม่มีการแจ้งผู้จัดงาน เข้ามาก่อกวนตามอำเภอใจ ราวกับเป็นพื้นที่ทหาร ทั้งที่งานประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่งานเปิดสาธารณะ เป็นงานประชุมนานาชาติที่ผู้เข้าร่วมทั้งไทยและเทศต้องจ่ายเงินลงทะเบียนมาเข้าฟัง หากไม่ได้รับเชิญจากผู้จัดงาน

3.ตลอดสามวันของการประชุมวิชาการ ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเอือมระอาต่อการกระทำของทหารเหล่านี้ การมาถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าว และเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ในวันสุดท้าย ก็เพื่อจะสื่อสารไปยังทหาร ให้ยุติการกระทำนั้นเสีย ไม่มีการยุยงปลุกปั่นใดๆทั้งสิ้น

แล้วก็ อ้อ ไม่มีทหารคนไหนสื่อสารกับใครในงานดังที่แถลงการณ์กล่าวแต่อย่างใด

น่าแปลกที่มูลเหตุของเรื่องทั้งหมด เกิดขึ้นจากการกระทำของทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 โดยแท้ แต่ฝ่ายทหารกลับไม่ยอมรับ กลับปั้นแต่งเรื่องราวขึ้น เพื่อจ้องจะเล่นงานนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักศึกษา อย่างไม่ลดราวาศอก

และจงใจที่จะให้เรื่องนี้เป็นชนวนทางการเมืองให้ได้?”

ข้อความจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเข้าร่วมและนำเสนอผลงานวิชาการในการประชุมไทยศึกษา ต้นตอเหตุคดี เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร

กรกฎาคม 2560 มีนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่เชียงใหม่ จำนวนหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558

หลังจากพวกเขาเดินทางมาชูป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กระทั่งวันที่ 21 สิงหาคม 2560 ก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าราย จะเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาหลังจากมีตามหมายเรียก สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก โดยทั้งห้าคนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ทั้งนี้ชยันต์ ยังกล่าวกับเพื่อนๆ อีก 4 คน ที่ถูกฟ้องคดีด้วยว่า “ข้อความ ‘เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร’ ไม่ได้มีนัยความหมายเป็นบวกหรือเป็นลบแต่อย่างใด ถ้าเป็นแบบนี้ ต่อไปคำว่า ‘แอปเปิ้ล ไม่ใช่ส้ม’ ก็เป็นสิ่งที่พูดไม่ได้อีกต่อไป”

สุดท้ายคดีนี้ศาลยกฟ้องเนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ถูกยกเลิกไป 

8. คดีจดหมายประชามติ

ช่วงระหว่างวันที่ 13 – 15 กรกฎาคม 2559 มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตรวจพบการส่งจดหมาย “บิดเบือน” เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า 7,000 ฉบับ ไปตามที่ต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่   ต่อมา 27 กรกฎาคม 2559  ทหารจากค่ายกาวิละนำกำลังเข้าควบคุมตัวบุคคลรวมเจ็ดคนได้แก่ คเชน นายกเทศบาลตำบลช้างเผือก ธารทิพย์น้องสาวของทัศนีย์ซึ่งเป็นรองนายก อบจ.เชียงใหม่ และอดีต ส.ส.เชียงใหม่ เขตหนึ่ง พรรคเพื่อไทย  อติพงษ์ จนท.เทศบาลตำบลช้างเผือก เอมอร กอบกาญจน์ สุภาวดี และ วิศรุต ไปที่ค่ายกาวิละเพื่อสอบถามและเตรียมดำเนินคดีต่อไป 

ช่วงวันเวลาเดียวกันที่กรุงเทพมหานคร ทหารนำโดยพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ  เข้าควบคุมตัวทัศนีย์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างรอเข้าพบพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เพื่อแสดงความบริสุทธิกรณีที่ถูกเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับการส่งจดหมายบิดเบือนข้างต้น พ.อ.บุรินทร์แจ้งว่า การควบคุมตัวครั้งนี้อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 โดยทัศนีย์ถูกนำตัวไปควบคุมที่ มทบ. 11 ร่วมกับผู้ที่ถุกควบคุมตัวก่อนหน้านี้

ท่ามกลางความคลางแคลงสงสัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญนั้นถูกบิดเบือนอย่างไร  ทั้งหมดถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่ศาลทหารจังหวัดเชียงใหม่ และคดียังค้างอยู่ในชั้นศาลไม่ทราบความเคลื่อนไหวคดี  

9. การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

14 กุมภาพันธ์ 2561 นักศึกษากลุ่มสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย (LACMUD) จัดกิจกรรมชุมนุม “รวมพลคนอยากเลือกตั้ง ในเทศกาลแห่งความหมดรัก” ที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีคนเข้าร่วมประมาณ 100 คน การชุมนุมในวันนั้นจบลงโดยไม่มีคนถูกจับกุมหรือมีเหตุวุ่นวาย แต่ต่อมาในเดือนมีนาคมมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมหกคนถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558

สุดท้ายแล้วคดีนี้ในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองศาลยกฟ้องเนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ถูกยกเลิกแล้ว แต่ถูกปรับในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

10. เวที Walk to vote โพสต์ถึงทหาร

“ชาวเชียงใหม่ร่วมกับ มทบ.33 Walk to Vote ดนตรีดี เวทีพร้อม” 

ข้อความจากเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเข้าร่วมชุมนุม “Walk to Vote ที่ประตูท่าแพ เพื่อคัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้ง” 

หลังจาก ปิ่นแก้ว โพสต์ข้อความดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายมทบ.33 จึงเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษทั้งสองกับพนักงานสอบสวน กล่าวหาปิ่นแก้วในข้อหา“นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (1) และมีแกนนำในการชุมนุมอีกคนที่ถูกฟ้องแยกคดีออกไป 

ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นอัยการ รอฟังคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี

การปิดกั้นกิจกรรมในจังหวัดเชียงใหม่

“เชียงใหม่เป็นเมืองการท่องเที่ยว เราไม่อยากให้สภาพแวดล้อมไม่ดี จะได้มีความสุขกัน จะได้ไม่มีความทะเลาะเบาะแว้ง เศรษฐกิจของเชียงใหม่เนี่ย มันอยู่กับการท่องเที่ยวเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้ามีความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นมา มันจะเกิดปัญหา” 

ประโยคข้างต้นคือคำพูดจากปากนายทหารคนหนึ่งที่ค่ายกาวิละจังหวัดเชียงใหม่ พูดกับอาจารย์คณะนิติศาสตร์คนหนึ่งที่ไปรายงานตัวเพื่อรับการปรับทัศนคติทางการเมืองเรื่องจัดกิจกรรมฯ 

จากข้อมูลที่ไอลอว์ได้บันทึกการปิดกั้น และแทรกแซงกิจกรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึง 28 พฤศจิกายน 2562 ที่จังหวัดเชียงใหม่มีการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมทั้งหมด 18 กิจกรรม ดังนี้

 ลำดับ วันที่ ประเภท ชื่องาน ผู้จัดงาน การกรทำของเจ้าหน้าที่
114-มิ.ย.-57ปิดกั้นจัดฉายภาพยนต์ 1984กลุ่ม “ปันยามูฟวี่คลับ”ตำรวจได้คุมตัวและพูดคุยกับบดินทร์ ขอให้ไม่เคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมในเวลานี้ กิจกรรมดังกล่าวยกเลิกไปโดยตำรวจอ้างถึงปัญหาลิขสิทธิ์
223-ก.ค.-57ปิดกั้นจัดค่ายประเด็นเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาไทยนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มช.ทหารขอไม่ให้ ผศ.ดร.เก่งกิจพูด และจะมีตำรวจมาฟังด้วย งานเสวนาจึงยกเลิกไป รวมถึงทหารยังไปถามความเคลื่อนไหวในมหาวิทยาลัย พร้อมลงนามเอกสารห้ามเคลื่อนไหว
324-ก.ค.-57ปิดกั้นอ่านแถลงการณ์ แสดงเจตนารมณ์ ขับเคลื่อน “แนวคิดเชียงใหม่จัดการตนเอง”ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเองทหารร้องขอให้หยุดอ่านแถลงการณ์และเชิญผู้ร่วมกิจกรรมเข้าพูดคุย แต่ไม่มีการคุมขัง
417-ส.ค.-57ปิดกั้นกิจกรรม Light Up Night: ค่ำคืนสิทธิมนุษยชน ณ เชียงใหม่”แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยทหารโทรขอให้ยุติการจัดงาน เนื่องจากขัดคำสั่งคสช. เรื่องการชุมนุมเกิน 5 คน ทั้งยังเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง
524-ก.ย..-57ปิดกั้นเสวนาทางวิชาการว่าด้วยเรื่อง “วันนี้คุณเอาปี๊บคลุมหัวแล้ว..หรือยัง???”คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทหารโทรเข้ามาเจรจาและมีการส่งหนังสือเชิญตามหลัง พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้เลื่อนการจัดกิจกรรมออกไปก่อน
625-ก.ย.-57ปิดกั้นเสวนาวิชาการเรื่อง ความสุขและความปรองดองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทหารโทรศัพท์เข้ามาและขอความร่วมมือ
79-พ.ย.-57ปิดกั้นรณรงค์ “เดิน ก้าว แลก” เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทยสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และเครือข่ายพันธมิตรทหารได้ควบคุมแกนนำจัดกิจกรรมและเจรจาให้ยุติการรณรงค์ดังกล่าว
812-พ.ย.-57แทรกแซงรณรงค์ “เดิน ก้าว แลก” เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทยสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และเครือข่ายพันธมิตรทหารขอความร่วมมือห้ามใส่เสื้อ หรือสัญลักษณ์ใดในการเข้าเจรจากับม.ล. ปนัดดา แต่ แกนนำปฏิเสธ
925-พ.ย.-57แทรกแซง“กินข้าวถกปัญหา กิจกรรมนักศึกษา ภายใต้กฏอัยการศึก”กลุ่มนักกิจกรรม ม.เชียงใหม่ทหารและตำรวจกว่า 30 นายเข้ามาจับตามองอยู่รอบบริเวณ
106-มี.ค.-58ปิดกั้นจัดเสวนา “การเมืองภายใต้สถานการณ์ คสช.: การเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชนจะทางไหน?”คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาดเหนือ (กป. อพช.เหนือ)ทหารและฝ่ายความมั่นคงรู้สึกไม่สบายใจจึงขอให้ยกเลิกงาน
1118-มี.ค.-58แทรกแซงเสวนา “เสรีภาพในการชุมนุม/อนาธิปไตยบนท้องถนน”ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทหารโทรศัพท์มาบอกว่า การจัดงานในตอนนี้เป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่ผู้จัดงานกล่าวว่าเหมาะสมเพราะกำลังจะผ่านร่างพ.ร.บ.ชุมนุม
121-พ.ค.-58แทรกแซงการชุมนุมเรียกร้องสิทธิแรงงาน เนื่องในวันแรงงานสากลกลุ่มแรงงานสามัคคี (WSA) สหพันธ์คนงานข้ามชาติ (MWF) เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ก่อนหน้ากลุ่มแรงงานได้มีการยื่นของอนุญาตต่อทหารในการเดินรณรงค์ แต่ทหารมองว่าเป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยงเกินไป จึงขอให้ลดกลุ่มคนที่จะมายื่นหนังสือเพียง 30 คนจากเดิม 100 คน
1319-พ.ค.-58ปิดกั้น“ศิลปกรรมแห่งชาติหน้า ครั้งที่ 1 ตอน ศิยสั้ตชีปะวิลาวยืน”กลุ่มนักศึกษาศิลปะตำรวจได้เข้ามาพูดคุยกับจนท. หอศิลป์ฯในรายละเอียดและแจ้งขอให้ระงับการทำกิจกรรมนี้
1423-พ.ค.-58ปิดกั้น“75 ปีที่ผ่านและวันข้างหน้า ของนิธิ    เอียวศรีวงศ์”สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะมนุษยศาสตร์ มช. ร่วมกับกลุ่มพลเมืองเสมอกันทหารโทรศัพท์มาหาผู้จัดงาน เป็นกังวลเนื่องจากงานจัดขึ้นใกล้วันครบรอบรัฐประหาร 22 พค. ทั้งยังมีข่าวลือว่าจะเกณฑ์คนเสื้อแดงมาจำนวนมาก
154-ก.ค.-58แทรกแซงเสวนาวิชาการเรื่องเพศ “Gender & LGBTIQs”เจ้าหน้าที่หอนิทรรศการฯขอให้ยกเลิกการจัดงาน ทั้งที่ได้ให้คำอนุญาตไปแล้ว ต่อมามีทหารเข้ามาสังเกตการณ์และกล่าวว่า หากเนื้อหามีความสุ่มเสี่ยงจะระงับการจัดงานในทันที
1623-ธ.ค.-58ปิดกั้นรณรงค์ผลักดันให้รัฐบาลเดินหน้าโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน ยุติแผนแม่บทฯและทบทวนการประกาศอุททยานฯทับที่ชุมชนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move)ระหว่างการพูดคุยนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหารได้มีการนำพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มาแจกให้ผู้เข้าร่วมประชุมดูด้วย โดยเจ้าหน้าที่ได้แจ้งทางเครือข่ายว่าไม่อยากให้มีการดำเนินกิจกรรมต่อ พร้อมระบุว่ากิจกรรมเมื่อวานนี้สุ่มเสี่ยงต่อการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ
173-เม.ย.-59แทรกแซงงานเสวนา อ่านรัฐธรรมนูญในฐานะวรรณกรรมและศิลปะบุครีพับบลิกทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 (ค่ายกาวิละ) โทรมาบอกให้ทางร้านส่งหนังสือแจ้งเรื่องกิจกรรมโดยอ้างว่าเป็นคำสั่งกองทัพบก เมื่อทางร้านส่งหนังสือแจ้งเพื่อทราบทางทหารก็แจ้งกลับมาว่าไม่อาจอนุมัติให้จัดงานได้ จึงยกเลิกการจัดงาน อย่างไรก็ตาม งานเสวนานี้ได้ย้ายไปจัดที่โครงการบัณฑิตศึกษา ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
181-ส.ค.-59ปิดกั้นการลงประชามติแบบสามไม่รับ              มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

บทสรุปของความเงียบ และความหวังในการกลับมาของเสียงประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่

จากที่ได้พยายามค้นหาคำตอบว่าทำไม 5 ปี หลังรัฐประหารที่เชียงใหม่ จึงเงียบงัน ผมได้เห็นแล้วว่า ความเงียบสงบนั้นไม่ได้เกิดจากตัวของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่เอง แต่กลับกลายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่คอยควบคุมประชาชนอย่างใกล้ชิดปัจจัยที่ส่งผลให้ประชาชน ต้องเงียบล้วนเป็นการกระทำจากรัฐทั้งสิ้น ทั้งการดำเนินคดี ที่ในจังหวัดเชียงใหม่มีคดีที่เกี่ยวกับ เสรีภาพในการแสดงออก ถึง 10 คดี ถ้านับเป็นคนที่ถูกดำเนินคดีก็ไม่น้อยกว่า 20 คน ในระยะเวลา 5 ปี ก็ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว ในส่วนการปิดกั้นแทรกแซงกิจกรรมนั้น จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีสถิติการถูกปิดกั้นแทรกแซงไปไม่น้อยกว่า 18 ครั้ง ซึ่งเป็นการปิดกั้นไม่ให้จัดกิจกรรมถึง 11 ครั้ง ด้วยเหตุผลส่วนใหญ่คือความไม่สบายใจของเจ้าหน้าที่ ในส่วนการแทรงแซงการจัดกิจกรรมนั้น ที่เก็บสถิติอาจจะมีเพียง 7 ครั้ง แต่ทุกกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเมืองที่จัดในจังหวัดเชียงใหม่ จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร นอกเครื่องแบบเข้ามาร่วมอยู่ในงานคอยสอดส่องอยู่เสมอๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติจนไม่สามารถบันทึกเป็นสถิติได้ ในส่วนของการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย แต่ไม่สามารถบันทึกสถิติเป็นตัวเลขได้ มีเพียงเสียงบอกเล่าหรือข่าวลือมากมายที่หนาหูขึ้นมากในช่วงหลังรัฐประหาร เช่นการเรียกคนไปคุยในค่ายทหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกกำชับให้ไม่ให้บอกต่อกับใคร และจะมีเจ้าหน้าที่รัฐคอยติดตามความเคลื่อนไหวส่วนตัวตลอดเวลา

ที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะทำให้ดูสิ้นหวังและไม่เห็นทางออก แต่ทุกสิ่งก็ไม่สิ้นหวังไปเสียทีเดียว สิ่งที่ทำให้เห็นว่าเชียงใหม่ยังคงมีเสียงของประชาชนและยังไม่ได้เงียบไปเสียหมด ก็คงจะเป็นการออกมาชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2561 ที่บริเวณหน้าหอประชุม มช. ที่มีคนมาร่วมกันหลักร้อยคน โดยที่แกนนำการชุมนุมเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมาจากการนัดชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เริ่มจากกรุงเทพฯ แล้วส่งผลถึงคนเชียงใหม่ให้ลุกออกมาร่วมชุมนุม หรือการชุมนุม Walk to Vote ในช่วงเดือน มกราคม 2562 ที่คัดค้านการเลื่อนการเลือกตั้ง ของ คสช. ที่จัดขึ้นบริเวณประตูท่าแพก็มีคนเข้าร่วมไม่น้อยแสดงให้เห็นว่าคนเชียงใหม่ยังคงสนใจในทางการเมือง

หากการชุมนุมไม่ถูกสกัดกั้นโดยดำเนินคดีแกนนำที่เป็นนักศึกษาและมีทางผู้จัดจัดชุมนุมบ่อยครั้งคงจะมีประชาชนชาวเชียงใหม่ออกมาชุมนุมกันมากกว่านี้ และความหวังอีกอย่างหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ก็คือ ในจำนวนคดีความที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 10 คดีนั้น มีคดีที่ถูกพิพากษาจำคุกจริงๆ เพียงคดีเดียวเท่านั้น คือคดีของศศิวิมลที่ถูกกล่าวหาว่า ทำผิดประมวลกฎหมายอาญาคดี 112  

อีก 8 คดีนั้น มีการพิพากษายกฟ้องไปแล้วหรือจำหน่ายคดีไปแล้ว เหลือค้างเพียงคดี Walk to vote ที่เกิดขึ้นในปี 2562 ซึ่งอัยการก็ยังไม่สั่งฟ้อง แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครในเชียงใหม่ต้องติดคุกจริงๆ ในการทำกิจกรรมทางการเมือง

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage