สี่ปีคสช.: สัญลักษณ์และประดิษฐกรรมแห่งการท้าทายอำนาจรัฐทหาร

ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา คสช.พยายามจำกัดการแสดงออกหรือการเคลื่อนไหวต่อต้านโดยสันติของผู้เห็นต่างและคัดค้านการรัฐประหาร โดยใช้อำนาจพิเศษหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการเรียกตัวแกนนำขบวนการเคลื่อนไหวหรือนักการเมืองคนสำคัญที่อาจนำการเคลื่อนไหวของประชาชนไปเข้าค่ายปรับทัศนคติและทำข้อตกลงห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง การออก ‘กฎหมาย’ ด้วยอำนาจพิเศษเช่นประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 (ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน) , 49/2557 (ห้ามสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง) และคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 (ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน) มาจำกัดการเคลื่อนไหวและการส่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ ไปเยี่ยมบ้านผู้ออกเคลื่อนไหวต่อต้านคสช.
 
ในภาพรวมการสยายปีกแห่งของอำนาจคสช.อาจจะพอสร้างผลที่เป็นรูปธรรมได้บ้างเพราะตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมาแกนนำกลุ่มการเมืองที่มีแนวโน้มต่อต้านการรัฐประหารอย่างกลุ่ม นปช.ก็มีการจำกัดบทบาทการเคลื่อนไหวของตัวเองและไม่มีการนัดเคลื่อนไหวใหญ่ในระดับที่เคยเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร แต่ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความกลัวที่ คสช.พยายามสร้างขึ้นผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือการบริหารประเทศของคสช.ก็ใช่จะอยู่ในสภาวะยอมจำนนโดยสิ้นเชิง พวกเขาเพียงแต่ปรับเปลี่ยนแนวทางการเคลื่อนไหวใหม่อย่างการแสดงออกเชิญสัญลักษณ์ด้วยรูปแบบต่างๆเข้ามาแทนที่ื โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบความเคลื่อนไหวนี้นอกจากจะเป็นการลดความเสี่ยงของการชุมนุมขนาดใหญ่ที่อาจจบลงด้วยการถูกสลายการชุมนุมหรือถูกดำเนินคดี ยังสะท้อนจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของผู้ร่วมการเคลื่อนไหวหลังการรัฐประหารที่พยายามหาลูกเล่นมาสร้างสีสันเพื่อทำให้ผู้รับสารรู้สึกว่าการแสดงออกทางการเมืองเป็นสิ่งที่ธรรมดาที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ ไม่ใช่เรื่องรุนแรงหรือน่ากลัวแต่อย่างใด
 
เนื่องในโอกาสครบรอบสี่ปีของการรัฐประหาร ไอลอว์ถือโอกาสรวบรวมสัญลักษณ์และประดิษฐกรรมส่วนหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อแสดงออกถึงจุดยืนคัดค้านการรัฐประหารและการดำรงอยู่ของคสช. สัญลักษณ์ในรายงานชิ้นนี้หมายถึงท่าทางหรือสิ่งของที่มีอยู่แต่เดิมแต่ถูกนำมาให้ความหมายใหม่ในการคัดค้านการรัฐประหารหรือคสช.ส่วนประดิษฐกรรมหมายถึงสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการสื่อสารถึงความไม่เห็นด้วยหรือการคัดค้านการรัฐประหารหรือคสช.โดยตรง
 

ชูสามนิ้ว: สัญลักษณ์ที่ถูกหยิบใช้และปรับเปลี่ยนความหมายมาตลอดสี่ปี 

 
เท่าที่มีข้อมูลการรวมตัวของประชาชนเพื่อคัดค้านการรัฐประหารของคสช.น่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 หรือหนึ่งวันหลังการรัฐประหารแล้ว  แต่การรวมตัวครั้งดังกล่าวน่าจะยังไม่ได้มีการคิดค้นสัญลักษณ์ใดสัญลักษณ์หนึ่งมาใช้ในการแสดงออกร่วมกัน มีแต่เพียงการที่แต่ละคนเขียนป้ายแสดงความรู้สึกหรือออกมาตะโกนแสดงความรู้สึกของตัวเองในจุดนัดพบเท่านั้น การรวมตัวของกลุ่มประชาชนในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ในสถานที่หลายแห่งในเวลาไล่เลี่ยกันได้แก่ที่ ทางเดินสกายวอล์กสนามกีฬาแห่งชาติ, หน้าหอศิปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ห้างสรรพสินค้า เทอร์มินอล 21 แยกอโศก, ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ) น่าจะเป็นครั้งแรกที่ผู้เข้าร่วมมีการใช้สัญลักษณ์ร่วมกันคือ ยกแขนชูนิ้วสามนิ้ว คือ นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่มาจากภาพยนตร์เรื่อง The  Hunger Games
 
กิจกรรมชูสามนิ้วต้านรัฐประหารที่สกายวอล์กสยามสแควร์ ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2557 ภาพจาก Banrasdr Photo
 
สำหรับความหมายของสัญลักษณ์สามนิ้วเท่าที่มีการรายงานมีอยู่สองแบบ ความหมายแรกคือ “ขอบคุณ สรรเสริญ และลาก่อน” ซึ่งเป็นความหมายดั่งเดิมตามภาพยนตร์ The Hunger Game  อย่างไรก็ตามในบริบทของการคัดค้านการรัฐประหารการชูสามนิ้วได้ถูกนำไปผนวกกับอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 ได้แก่ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภารดรภาพ  สัญลักษณ์ “สามนิ้ว” น่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่มีการหยิบยกมาใช้ซ้ำในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อคัดค้านการรัฐประหารและคสช.บ่อยครั้งที่สุดและมีการให้ความหมายใหม่ตามบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปด้วย โดยในช่วงต้นปี 2561 ที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการสืบทอดอำนาจของคสช. สัญลักษณ์สามนิ้วถูกหยิบยกมาใช้และให้ความหมายใหม่ว่า “1. เลือกตั้งในปีนี้ (2561) 2.เผด็จการจงพินาศ 3.ประชาธิปไตยจงเจริญ” 
 
นอกจากการรวมตัวชูสามนิ้วที่กล่าวมาข้างต้นก็มีการชูสามนิ้วอีกอย่างน้อยสองครั้งที่กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในสาธารณะ ครั้งแรกในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังมอบนโยบายให้ข้าราชการที่จังหวัดขอนแก่น นักศึกษากลุ่มดาวดินห้าคนสวมเสื้อสกรีนข้อความที่เมื่อยืนเรียงกันอ่านว่า “ไม่ เอา รัฐ ประ หาร” พร้อมทั้งชูสัญลักษณ์สามนิ้วต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ก่อนจะถูกควบคุมตัวออกไป คล้อยหลังจากนั้นเพียงหนึ่งวันในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งเป็นวันที่ภาพยนตร์ Hunger Game – The Mocking Jay ภาค 1 มีกำหนดเข้าฉายในเมืองไทย ณัชชชา นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ยืนทำสัญลักษณ์สามนิ้วพร้อมเอามืออีกข้างหนึ่งปิดปากที่บริเวณแผ่นป้ายโฆษณาภาพยนตร์ The Hunger Game เป็นเหตุให้เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ”เชิญตัว” ไปที่สน.ปทุมวัน การจับกุมผู้ที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูสามนิ้วยังถูกเฟซบุ๊กเพจ “ไข่แมว” หยิบไปทำภาพล้อเลียนด้วย แต่น่าเสียดายที่ภาพดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงในอินเทอร์เน็ตได้แล้วเนื่องจากภาพต้นฉบับถูกโพสต์ในเพจไข่แมวเดิมที่ปิดตัวไป
 
 
ภาพการ์ตูนล้อการจับคนชูสามนิ้วไปปรับทัศนคติโดยเพจไข่แมว ปัจจุบันเข้าถึงไม่ได้แล้วเนื่องจากเพจปิดไปแล้ว
 

บันทึกไว้ในยุคสมัย ครั้งหนึ่งคนไทยต้องแอบนัดกันอ่านหนังสือ

ในบริบทการเมืองที่การชุมนุมโดยสงบกลายเป็นสิ่งต้องห้ามและผิดกฎหมาย นักกิจกรรมทางสังคมส่วนหนึ่งพยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์นำกิจกรรมที่เป็นกิจวัตรปกติในชีวิตประจำวันมาประยุกต์เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้ประชาชนสามารถระบายความอึดอัดคับข้องใจอย่างสันติได้บ้างแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เสี่ยงต่อการปะทะหรือการจับกุมมากจนเกินไป  
 
“พีชชี่” นักกิจกรรมที่เป็นคนต้นคิดในการจัดกิจกรรมอ่านหนังสือคัดค้านการรัฐประหารเล่าให้ฟังที่มาของการจัดกิจกรรมว่า หลังการรัฐประหารเธอติดตามข่าวการเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารและการใช้อำนาจจับกุมประชาชนอย่างใกล้ชิด จนเกิดความรู้สึกว่า คสช.เริ่มประสบความสำเร็จในการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวผ่านการจับตัวผู้ออกมาประท้วงในลักษณะ “ปะทะตรง” เธอจึงเริ่มคุยกับเพื่อนว่า น่าจะต้องหาวิธีทำกิจกรรมที่หลีกเลี่ยงการแสดงออกโดยตรงเพื่อลดเงื่อนไขการใช้อำนาจจับกุมของเจ้าหน้าที่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นกิจกรรมที่สามารถสื่อถึงการคัดค้านได้อย่างมีพลังด้วย
 
 
กิจกรรมอ่านหนังสือ 1984 ที่หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา กรกฎาคม 2557 ภาพจาก ประชาไท
เพื่อนชาวต่างชาติของ “พีชชี่” คนหนึ่งเล่าให้เธอฟังว่าในปี 2556 เคยมีการจัดกิจกรรมอ่านหนังสือประท้วงแผนการเอาที่ดินสวนสาธารณะไปสร้างเป็นห้างสรรพสินค้าในตุรกี เธอจึงได้นำเอาแนวคิดดังกล่าวมาประยุกต์เป็นการจัดกิจกรรมอ่านหนังสือคัดค้านการรัฐประหารในไทย เนื่องจากเห็นว่ารูปแบบของกิจกรรมไม่ได้มีลักษณะเป็นการเผชิญหน้า ในขณะเดียวกันก็สามารถสื่อนัยถึงกิจกรรมได้อย่างชัดเจนผ่านเนื้อหาของหนังสือที่นำมาอ่านอันได้แก่ หนังสือ 1984 วรรณกรรมของจอร์จ ออร์เวลที่บอกเล่าเรื่องราวของประเทศสมมติประเทศหนึ่งที่ถูกปกครอง โดยระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่มีการสอดส่องและควบคุมไม่เพียงการแสดงออกทางกายแต่ครอบคุมไปถึงความคิดและจิตใต้สำนึก รวมทั้งหนังสือการเมืองอื่นๆที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน
 
“พีชชี่”ระบุว่าตัวเธอเป็นผู้ประสานงานและร่วมทำกิจกรรมอ่านหนังสือทั้งหมดสี่ครั้งครั้งแรกจัดที่ลานสกายวอล์กบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่สองที่สกายวอล์กบีทีเอสช่องนนทรีย์  ครั้งที่สามที่สกายวอล์กบริเวณวัดปทุมวนาราม และครั้งที่สี่เป็นการอ่านแบบเคลื่อนที่บนรถไฟฟ้า และเล่าต่อไปว่า การจัดกิจกรรมอ่านหนังสือเป็นการจัดแบบไม่เปิดเผยเนื่องจากมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย การประสานงานระหว่างผู้เข้าร่วมเป็นลักษณะการบอกต่อ ไม่มีการประกาศเชิญชวนบนเฟซบุ๊ก (ยกเว้นครั้งที่สี่ที่มีการสร้าง event ในเฟซบุ๊ก) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละครั้งจะมาพูดคุยทำความเข้าใจกันก่อนเริ่มทำกิจกรรมและทุกครั้งจะเตรียม “แมวมอง” ไว้คอยดูลาดเลาด้วย สำหรับตัว “พีชชี่” ทุกครั้งที่ไปทำกิจกรรมเธอจะพกโทรศัพท์แบบที่สามารถโยนทิ้งได้แบบไม่เสียดายแทนสมาร์ทโฟน แม้กิจกรรมอ่านหนังสือจะมีการประสานงานแบบ “ปิดลับ” เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้เข้าร่วมจะถูกคุกคามแต่ก่อนเริ่มกิจกรรมทุกครั้งก็จะมีการติดต่อสื่อมวลชนให้มารอทำข่าวเพื่อให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นสื่อสารถึงประชาชนให้มากที่สุด
 
 
กิจกรรมอ่านหนังสือต้านรัฐประหาร 27 พฤษภาคม 2557 ภาพจาก ประชาไท
 
เมื่อถามถึงการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ “พีชชี่” ระบุว่า กิจกรรมอ่านหนังสือมีการประสานงานแบบไม่เปิดเผย จึงไม่เคยมีการคุกคามโดยตรงจากเจ้าหน้าที่ ทั้งยังเล่นกับ ‘กฎหมาย’ ของคสช. ด้วยการให้ผู้เข้าร่วมอ่านหนังสือกันสี่คนซึ่งไม่ถึงห้าคนตามที่คสช.สั่งห้ามด้วย พร้อมทั้งเล่าแบบติดตลกด้วยว่า พอจัดกิจกรรมอ่านหนังสือครั้งที่สามที่ลานสกายวอล์กช่องนนทรีย์เสร็จ วันรุ่งขึ้นเธอและเพื่อนๆตั้งใจจะไปจัดกิจกรรมตรงนั้นอีกครั้งแต่ปรากฎว่ามีการตั้งเวทีแอโรบิคมาตั้งในบริเวณนั้นทั้งที่ปกติไม่น่าจะมีเธอเลยตัดสินใจยกเลิกกิจกรรมในนาทีสุดท้าย สำหรับผลตอบรับจากสังคม “พีชชี่”  ยอมรับว่า หากวัดกันในแง่จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้คงมีคนมาไม่มากเหมือนที่ประเทศตุรกี แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้ปรากฎว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารยังมีตัวตนอยู่ แม้ “พีชชี่” จะยอมรับว่าระหว่างการทำกิจกรรมเธอและผู้เข้าร่วมก็มีความกลัวอยู่บ้างแต่เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมและมาตรการสำรองไว้ระดับหนึ่งแล้วรวมทั้งการเคลื่อนไหวรูปแบบนี้ก็เป็นสิ่งใหม่ที่ฝ่ายความมั่นคงยังพลิกตำรารับไม่ทัน “พีชชี่” และผู้เข้าร่วมคนอื่นๆจึงตัดสินใจผลักมันไปข้างหน้า       
 

แซนด์วิช สัญลักษณ์ต้านรัฐประหารที่คสช.”ภูมิใจ” นำเสนอ

 
 
นอกจากการอ่านแล้ว การกินก็เป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์อีกกิจกรรมหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาให้ความหมายในฐานะกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหาร อย่างไรก็ตามกรณีของแซนด์วิชก็มีความต่างจากกรณีของการอ่านหนังสืออยู่บ้างเพราะหนังสือ 1984 และหนังสือการเมืองที่ถูกนำมาอ่านเล่มอื่นๆถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของการคัดค้านการรัฐประหารด้วยความจงใจแต่แซนด์วิชคือสิ่งที่ถูกทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์ด้วยความบังเอิญและที่สำคัญผู้ที่ทำให้แซนด์วิชกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านรัฐประหารไม่ใช่นักกิจกรรมที่ไหนแต่เป็นคสช.ที่ใช้อำนาจผ่านเจ้าหน้าที่รัฐเสียเอง
 
ลูกเกดนักกิจกรรมสาวอีกคนหนึ่งเล่าย้อนไปถึงที่มาที่ไปของแซนด์วิชในฐานะสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหารว่า หลังคสช.มีประกาศห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน เธอและเพื่อนๆที่ยังเป็นนักศึกษาในขณะนั้นคุยกันว่าน่าจะต้องจัดกิจกรรมอะไรสักอย่าง ครั้นจะจัดการชุมนุมก็อาจจะเข้าเงื่อนไขที่จะถูกเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจจับกุมได้ จึงคุยกันว่า น่าจะจัดกิจกรรมลักษณะอื่นที่ โดยเฉพาะเป็นกิจกรรมที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนอยู่แล้ว สุดท้ายเลยคุยกันว่า น่าจะจัดดูหนังแล้วก็กินขนมด้วยกัน
 
 
กิจกรรมปิคนิคใต้ร่มนนทรี อ่านบทกวี ฉายหนัง รัฐประหาร เหตุการณ์ที่ทำให้แซนด์วิชเป็นสัญลักษณ์ในการต้านรัฐประหาร ภาพจาก เพจ Banrasdr Photo
 
ลูกเกดและกลุ่มเพื่อนนักกิจกรรมจึงโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรม “ปิคนิคใต้ร่มนนทรี อ่านบทกวี ฉายหนัง รัฐประหาร” ในวันที่ 6 มิถุนายน 2557  ลูกเกดเล่าต่อไปว่า ตอนแรกพวกเธอไม่ได้คิดถึงแซนด์วิชในฐานะสัญลักษณ์ทางการเมืองเลยเพราะตัวเธอเองก็ไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์อะไรขนาด  แซนด์วิชเป็นแค่หนึ่งในขนมที่ซื้อไปแจกคนมาร่วมงานเท่านั้นเพราะมันแกะกินง่าย แต่ปรากฎว่าตั้งแต่ก่อนเวลานัดหมายก็มีเจ้าหน้าที่มาตรึงกำลังห้ามไม่ให้จัดงานพวกเธอก็เลยต่อรองกับเจ้าหน้าที่ว่าจะขอแค่กินแซนด์วิชแล้วกลับเพราะเตรียมมาแล้วแต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมจนเกิดภาพที่ลูกเกดเล่าว่า “เจ้าหน้าที่พยายามแย่งแซนด์วิชจากนักศึกษาตัวเล็กๆ” นับตั้งแต่วินาทีนั้นแซนด์วิชก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้คัดค้านการรัฐประหาร “โฆษกของนักกิจกรรมที่ดีที่สุดไม่ใช่โรม ไม่ใช่จ่านิว แต่เป็นคสช.เอง” คำบอกเล่าของลูกเกดดูจะอธิบายความผลิกผันที่ทำให้แซนด์วิชเปลี่ยนจาก “ของกินเล่น” มาเป็น “สัญลักษณ์” ที่มีความหมายทางการเมืองได้ดีที่สุด
 
ลูกเกดและเพื่อนๆตัดสินใจพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการจัดกิจกรรมที่ใช้แซนด์วิชเป็นสัญลักษณ์โดยตรง“ไม่อะไรมว๊าก อยากกินแซนด์วิช”  ในวันที่ 22 มิถุนายน 2557 ที่ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน การจัดกิจกรรมครั้งนั้นส่งผลให้นักศึกษารวมเก้าคนถูกพาตัวไปปรับทัศนคติที่ค่ายทหารรวมทั้งตัวของลูกเกดด้วย
 
 
กล่องแซนด์วิช หนังสือ 1984 และ โทรศัพท์เปิดเพลงชาติฝรั่งเศส อุปกรณ์ที่แชมป์ใช้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในวันที่ 22 มิถุนายน 2557 ที่มาแชมป์
 
นอกจากลูกเกดและเพื่อนในกลุ่มอีกแปดคน ในวันเดียวกันยังมีนักศึกษาอีกคนหนึ่งที่ไปทำกิจกรรมกินแซนด์วิชจนถูกควบคุมตัวไปปรับทัศนคติด้วย แชมป์นักกิจกรรมทางสังคมซึ่งกำลังศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ในขณะเกิดเหตุเล่าว่าตัวเขาไปกินแซนด์วิชบริเวณลานน้ำพุ สยามพารากอนในเวลาประมาณ 16.30 ตามที่มีการประกาศเชิญชวนกันในเฟซบุ๊กแต่เมื่อเขามาถึงกลุ่มนักกิจกรรมที่เป็นคนนัดหมายทำกิจกรรมได้แก่ ลูกเกดและเพื่อนๆรวมเก้าคนก็อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่หมดแล้วขณะที่บริเวณนั้นก็มีเพียงเจ้าหน้าที่และผู้สื่อข่าวจึงไม่มีใครแสดงตัวว่ามาทำกิจกรรม แชมป์จึงหยิบหนังสือ 1984 ขึ้นมาอ่านและกินแซนด์วิชเพียงลำพัง ซึ่งนั่นทำให้เขากลายเป็นจุดสนใจของทั้งผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจในทันที
 
แชมป์เล่าต่อว่าหลังเขากินแซนด์วิชไปชิ้นหนึ่งเขาก็หยิบโทรศัพท์มือถือมาเปิดเพลงชาติฝรั่งเศสที่โหลดไว้ในเครื่องก่อนหน้านี้แล้วโดยเหตุที่เลือกใช้เพลงชาติฝรั่งเศสเป็นเพราะเคยมีข่าวว่าการชูสามนิ้วถูกประกาศให้เป็นกิจกรรมต้องห้าม เขาจึงใช้วิธีเปิดเพลงชาติฝรั่งเศสซึ่งเชื่อมโยงถึงอุดมการณ์แห่งการปฏิวัติฝรั่งเศสอันได้แก่ “เสรีภาพ ความเสมอภาค และภารดรภาพ” ซึ่งถูกผูกโยงกับสัญลักษณ์สามนิ้วแทน เขาทำกิจกรรมไปจนเมื่อฝนทำท่าจะตกจึงเตรียมจะเดินออกแต่สุดท้ายก็ถูกชายแต่งตัวด้วยชุดไปรเวทมะรุมมะตุ้มทำการจับกุมจนเป็นที่มาของภาพขณะที่เขาถูกลากไปบนพื้นบนหน้าสื่อ
 
 
แชมป์ขณะถูกควบคุมตัวที่สยามพารากอน ภาพจาก Banrasdr Photo
 
ตามบทสัมภาษณ์ที่แชมป์เคยให้ไว้กับสำนักข่าวประชาไท แชมป์ระบุว่าเมื่อเขาถูกพาไปควบคุมตัวที่เดียวกับกลุ่มนักศึกษาผู้จัดงานที่ถูกพาตัวไปก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ทหารนำข้าวผัดกะเพรามาให้เขากินระหว่างรอ แต่แชมป์ปฏิเสธและกินแซนด์วิชของตัวเองที่เหลือแทน เมื่อสอบถามเพิ่มเติมว่าการปฏิเสธข้าวผัดกะเพราและกินแซนด์วิชแทนเป็นเพราะแชมป์ต้องการแสดงออกอะไรบางอย่างใช่หรือไม่แชมป์ตอบว่า ตอนนั้นเขาไม่ได้ต้องการจะแสดงจุดยืนอะไรแล้วแต่ที่เลือกกินแซนด์วิชต่อเป็นเพราะเขาไม่ต้องการ “ติดหนี้บุญคุณ” อะไรกับทหาร แชมป์เล่าต่อว่า เมื่อเขาถูกควบคุมตัวจากห้างลงมาที่ลับตาคนแล้วก็มีการทำร้ายร่างกายทั้งถูกชกและถูกศอกซึ่งเขาชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความบังเอญแต่เป็นความจงใจ แชมป์กล่าวต่อไปว่าแม้เจ้าหน้าที่ทหารที่นำข้าวมาให้กับชายในชุดไปรเวทที่ทำร้ายร่างกายเขาจะเป็นคนละคนกัน แต่แชมป์ก็ไม่ต้องการที่จะกินข้าวจากเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเมื่อเขาถูกจับกุมตัวอีกครั้งในการทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์เขาก็ปฏิเสธอาหารที่เจ้าหน้าที่นำมาให้เช่นเดียวกัน  
 

นาฬิกาบอกเวลา: สัญลักษณ์ของเวลาที่เสียไปและประดิษฐกรรมต่อต้านการทุจริต

 

 
ในบรรดาสิ่งของที่ถูกหยิบใช้เพื่อคัดค้านการรัฐประหารหรือประท้วงคสช.ทั้งหมดในรายงานชิ้นนี้ นาฬิกาเป็นสิ่งเดียวที่ถูกหยิบมาใช้ทั้งในฐานะสัญลักษณ์เพื่อให้ความหมายทดแทน “เวลาที่เสียไป” และฐานะประดิษฐกรรมทางการเมืองที่ผลิตขึ้นเพื่อเสียดสีบุคคลรัฐมนตรีในรัฐบาลคสช.ที่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีพฤติการณ์ทุจริตคอรัปชันเสียเอง ทั้งที่ตอนเข้ามาสู่อำนาจการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลที่แล้วคือ “เหตุผล” ที่คสช.ใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญของตัวเอง
 
ลูกเกดเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งนาฬิกาถูกหยิบยกมาให้ความหมายในฐานะสัญลักษณ์ทางการเมืองในกิจกรรม “ศุกร์ 22 มาฉลองกันมะ”  ที่เชิญชวนประชาชนมาร่วมยืนดูนาฬิกาเงียบๆ ใน เวลา 18.00 – 18.15 ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯว่า ช่วงก่อนวันครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร เธอและเพื่อนๆนักศึกษาที่มีความตื่นตัวทางการเมืองกลุ่มหนึ่งมีความคิดที่จะจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงการรัฐประหารที่กำลังจะผ่านไปครบหนึ่งขวบปี ในที่สุดเธอและเพื่อนๆก็ตัดสินใจที่จะหยิบนาฬิกา เครื่องมือบอกเวลามาให้ความหมายทางการเมืองในกิจกรรมครั้งนี้ สำหรับเหตุที่เลือกนาฬิกา ลูกเกดระบุว่าหน้าที่ตามปกติของนาฬิกาคือเครื่องมือบอกเวลา การจัดกิจกรรมครั้งนี้จึงเป็นการสื่อความหมายว่าเวลาหนึ่งปีที่ผ่านไปประเทศและประชาชนได้สูญเสียอะไรหลายๆอย่างไป ขณะเดียวกันนาฬิกาก็เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่ว่าจะอยู่บนฝาผนัง บนข้อมือ หรือแม้กระทั่งในโทรศัพท์มือถือ การใช้นาฬิกาเป็นสัญลักษณ์จึงทำให้คนที่สนใจมาร่วมทำกิจกรรมได้ไม่ยากนัก
 
 
กิจกรรมดูนาฬิการำลึกหนึ่งปีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2561
 
แม้ว่ากิจกรรมยืนดูนาฬิกาจะยุติไปตั้งแต่เวลาประมาณหนึ่งทุ่มของวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 แล้ว แต่นาฬิกาในฐานะสัญลักษณ์ของเวลาที่ต้องสูญเสียไปยังคงอยู่เพราะจนถึงวันนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยืนดูนาฬิการวมเก้าคนรวมทั้งลูกเกดยังคงมีชื่อในสารบบคดีของศาลทหารจากการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยในจำนวนเก้าคนมีสองคนที่คดีอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพแล้วทำให้ต้องเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาลทุกครังที่มีวันนัด
 
ในช่วงขวบปีที่สองของการรัฐประหาร นาฬิกาถูกหยิบมาใช้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงเวลาและโอกาสที่ประเทศต้องสูญเสียไปเพราะการรัฐประหาร แต่เมื่อย่างเข้าขวบปีที่สี่ของการรัฐประหารนาฬิกาได้ถูกมาสร้างเป็น “ประดิษฐกรรม” ทางการเมืองเพื่อเสียดสีกรณีที่มีการเปิดเผยว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่มีนาฬิกาในครอบครองอย่างน้อย 25 เรือน แต่ไม่ได้นาฬิการดังกล่าวไว้ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อปปช.
 
ตามรายงานของบีบีซีไทย เพจเฟซบุ๊ก CSI LA เริ่มขุดคุ้ยปมนาฬิกาหรูของพลเอกประวิตรเป็นครั้งแรกในวันที่ 4 ธันวาคม 2560  ด้วยการจับภาพนาฬิกาข้อมือที่พล.อ.ประวิตรใส่ขณะถ่ายภาพหมู่ครม.ชุดใหม่ และได้นำภาพนาฬิกาหรูที่พล.อ.ประวิตรในอีกหลายๆโอกาสมาทยอยเปิดเผยอย่างต่อเนื่องพร้อมเปิดเผยรู่น ยี่ห้อ และราคา  ก่อนจะมาสรุปในวันที่ 17 มกราคม 2560 ว่าเท่าที่สำรวจได้พล.อ.ประวิตรมีนาฬิกาหรูอย่างน้อย 25 เรือน การเปิดโปงเรื่องนาฬิกาหรูของเพจ CSI LA  ทำให้นักกิจกรรมทางสังคมส่วนหนึ่งนำเอา “นาฬิกา” ไปสร้างสรรค์เป็นประดิษฐกรรมออกมาแซว เช่น โตโต้ นักกิจกรรมทางสังคมคนหนึ่งได้โพสต์เฟซบุ๊กในวันที่ 28 ธันวาคมว่า หากมีการเปิดเผยนาฬิกาหรูครบ 12 เรือนเขาจะนำภาพนาฬิกาหรูไปทำปฏิทินตั้งโต๊ะแจกเป็นของขวัญปีใหม่ แต่ปรากฎว่า จำนวนนาฬิกาที่ถูกนำมาเปิดเผยมีมากถึง 25 เรือน ปิยรัฐจึงเปลี่ยนไปทำเป็นปฏิทินแบบแผ่นเดียวเพื่อให้สามารถใส่รูปนาฬิกาได้ครบทุกเรือน หลังจากนั้นในวันที่ 12 มกราคม 2561 ปิยรัฐก็โพสต์ภาพปฏิทินพร้อมข้อความว่าเขาดำเนินการแจกจ่ายปฏิทินแล้ว   
 
 
ปฏิทินข้าราชการตัวอย่าง ภาพจาก พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of the Commonners
 
เอกชัย นักกิจกรรมทางสังคมอีกคนหนึ่งก็ปรินท์ภาพนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตรมาติดบนเสื้อสูทพร้อมตั้งชื่อเสื้อตัวดังกล่าวว่า “เสื้อเกียรติยศประดับเหรียญหน้าด้าน” และตัวเขาก็สวมเสื้อตัวดังกล่าวไปทำกิจกรรมเชิญสัญลักษณ์เสียดสีพล.อ.ประวิตร ในบางโอกาส เช่น ในวันที่ 5 มีนาคม 2561 เอกชัยเดินทางไปยื่นหนังสือให้ป.ป.ช.เรียกตัวพล.อ.ประวิตรมาชี้แจงเกี่ยวกับการครอบครองนาฬิกาหรูหลายรายการ และในวันที่ 13 มีนาคม 2561 เอกชัยก็สวมเสื้อตัวเดียวกันไปทำพิธีจุดธูปไล่สิ่งอัปมงคลที่ทำเนียบรัฐบาลพร้อมทั้งนำแผ่นป้ายไวนิลที่มีรูปนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตรมาถือแสดงเป็นการแสดงออกเชิญสัญลักษณ์พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์ว่าเขาจะมาดักรอมอบนาฬิกาให้พล.อ.ประวิตรในการประชุมครม.ทุกวันอังคารจนกว่าพล.อ.ประวิตรจะออกมารับนาฬิกาด้วยตัวเอง 
 
 
เสื้อสูทประดับนาฬิกาหรูที่เอกชัยทำขึ้นเพื่อเสียดสีปมนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร ภาพจาก เอกชัย หงส์กังวาน
 
ปมนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตรยังถูกนำไปสร้างสรรค์เป็นภาพกราฟฟิตีบนฝาผนังด้วย โดยเพจเฟซบุ๊ก Headache Stencil ได้โพสต์ภาพกราฟฟิตีที่เป็นรูปนาฬิกาปลุกยี่ห้อโรเล็กซ์และมีหน้าพล.อ.ประวิตรอยู่หน้าปัดในวันที่ 30 มกราคม 2561 พร้อมเขียนข้อความประกอบว่า ” นาฬิกาเยอะ แต่เวลาน่าจะหมดละนะ พอเหอะลุง งานเลี้ยงย่อมมีเลิกลา… no more time” ต่อมาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 เฟซบุ๊กเพจดังกล่าวก็โพสต์ข้อความว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาติดตามความเคลื่อนไหวของเขาบริเวณใกล้ที่พักเกือบจะตลอด 24 ชั่วโมง และก่อนหน้านั้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 โตโต้ นักกิจกรรมทางสังคมที่ทำปฏิทินนาฬิกาหรูออกแจกจ่ายก็โพสต์ภาพ บุคคลแต่งตัวคล้ายเจ้าหน้าที่กำลังเผ้าดูชายคนหนึ่งลบภาพกราฟฟิตีนาฬิกาที่น่าจะถูกวาดโดย  Headache Stencil ออกจากสะพานลอยแห่งหนึ่ง เป็นภาพ cover เฟซบุ๊กของตัวเอง 
 
 
กราฟฟิตีนาฬิกาที่มีใบหน้าพล.อ.ประวิตรอยู่บนหน้าปัด ภาพจาก  Headache Stencil
 

“ยุทธน๊อคคิโอ” กับโจทย์ใหญ่ทำยังไงให้การเมืองอยู่ในชีวิตประจำวัน

 

 
ประดิษฐกรรมทางการเมืองชิ้นสุดท้ายที่จะหยิบยกมาบอกเล่าในรายงานชิ้นนี้ได้แก่ประดิษฐกรรมชุด “ยุทธน๊อคคิโอ” ภาพหน้าพิน็อคคิโอจมูกยาวที่ใบหน้าถูกตกแต่งให้ละม้ายคล้ายคลึงกับหัวหน้าคสช.ซึ่งถูกนำมาใช้ในกิจกรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งครั้งแรกในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561
 
ในเดือนพฤศจิกายน 2557 พล.อ.ประยุทธ์เคยให้สัมภาษณ์กับผู็สื่อข่าวว่ามีความตั้งใจที่จะจัดการเลือกตั้งภายในหนึ่งปีตามโรดแมปที่วางไว้  จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ระหว่างที่พบปะพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นก็ประกาศว่า น่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 แต่ก็ไม่มีการเลือกตั้งเนื่องจากสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ส่งผลให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไปเพราะต้องทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่  ในเดือนตุลาคม 2560 หลังพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มีผลบังคับใช้ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวตอนหนึ่งว่าคาดว่าในเดือนมิถุนายน 2561 น่าจะประกาศวันเลือกตั้งได้และการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2561 
 
อย่างไรก็ตามในช่วงกลางเดือนมกราคม 2561 ก็มีความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปอีกครั้งเมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีมติเสียงข้างมาก ปรับแก้ในมาตรา 2 เกี่ยวกับการกำหนดวันบังคับใช้กฎหมายให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งจะถูกเลื่อนไปจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562
 
 
หน้ากากยุทธน๊อคคิโอ
 
แนวโน้มที่การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปอีกครั้งทำให้มีกลุ่มประชาชนออกมาทำกิจกรรมเชิญสัญลักษณ์ในชื่อ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” โดยมีข้อเรียกร้องหลักให้มีการจัดการเลือกตั้งในปีนี้ โดยการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 ได้มีการนำหน้ากาก  “ยุทธน๊อคคิโอ” ออกมาแจกจ่ายให้ประชาชนที่มาร่วมงานสวมใส่เพื่อเสียดสีว่าพล.อ.ประยุทธ์เคยสัญญาเรื่องการเลือกตั้งหลายครั้งแต่ก็เลื่อนออกไปทุกครั้ง เหมือนพิน็อคคิโอ ตุ๊กตาไม้ที่โกหกจนจมูกยาว 
 
ลูกเกดหนึ่งในนักกิจกรรมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเล่าถึงที่มาที่ไปของการสร้างหน้ากาก”ยุทธ์น็อคคิโอ”ขึ้นมาว่าเมื่อพูดถึงการโกหกสิ่งที่ทุกคนน่าจะนึกถึงก็คือพิน็อคคิโอ เพื่อนสมาชิกในกลุ่มที่มีความสามารถทางกราฟฟิกและมีความคิดสร้างสรรค์เลยออกแบบหน้ากาก “ยุทธ์น็อคคิโอ” ขึ้นมาเพื่อใช้ทำกิจกรรมโดยพยายามดีไซน์ให้ดูตลกเพราะไม่ต้องการทำให้การเมืองเป็นเรื่องเครียด ส่วนที่ครั้งแรกเอามาดีไซน์เป็นหน้ากากก็เพราะคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนที่มาร่วมกิจกรรมกับทางกลุ่มมีส่วนร่วมด้วยการใส่หน้ากากถ่ายรูปได้ นอกจากนี้หน้ากากก็น่าจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้มาร่วมกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบถ่ายรูปและเอาไปค้นประวัติมาดำเนินคดีได้
 
หลังผลิตหน้ากากออกมาใช้ทำกิจกรรมในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ “ยุทธน๊อคคิโอ” ก็ถูกผลิตเป็นพัดและนำมาจำหน่ายราคาอันละยี่สิบบาทในวันที่ 24 มีนาคม 2561 หรือหนึ่งเดือนหลังจาก “ยุทธน๊อคคิโอ” ปรากฎโฉมต่อสาธารณะในรูปแบบหน้ากาก ลูกเกดเล่าถึงการนำดีไซน์ของหน้ากากไปทำเป็นพัดว่า เธอและคนในกลุ่มมีการพูดคุยกันว่าน่าจะต้องหาทางทำให้  “ยุทธน๊อคคิโอ” กลายเป็นแบรนด์ที่คนเห็นติดตา เห็นมันทั่วไปเหมือนที่เห็นสติกเกอร์เขียนชื่อวัดแห่งหนึ่งติดตามท้ายรถกระบะ ไม่ใช่แค่เป็นสัญลักษณ์ที่เห็นได้แค่ตามที่ชุมนุม การนำ  “ยุทธน๊อคคิโอ” ไปทำเป็นพัดจะทำให้มันเกิดประโยชน์ใช้สอยขึ้นมา ไม่ว่าจะใช้ระหว่างมาร่วมกิจกรรมของทางกลุ่มท่ามกลางอากาศร้อน หรือใช้ในชีวิตประจำวันเช่น ตอนนั่งรถเมลล์ 
 
พัด ยุทธน๊อคคิโอ ภาพจาก พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of the Commonners
 
นอกจากทำเป็นพัดแล้ว “ยุทธน๊อคคิโอ” ยังถูกนำไปผลิตเป็นซองกันน้ำแจกในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ถนนข้าวสารด้วยขณะที่สมาชิกกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่นำซองกันน้ำไปแจกก็ร่วมเล่นน้ำที่ตรอกข้าวสารด้วย บนซองกันน้ำนอกจากจะมีภาพ “ยุทธน๊อคคิโอแล้ว”ยังมีคำว่า “อยากเลือกตั้ง” สกรีนไว้ด้วย ลูกเกดเล่าถึงแนวคิดในการผลิตซองกันน้ำชิ้นนี้ว่า ทางกลุ่มต้องการทำให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่อยู่ในชีวิตและสามารถอยู่ร่วมกับงานเทศการได้ สำหรับการตอบรับจากประชาชนที่ตรอกข้าวสารลูกเกดเล่าว่าครั้งแรกที่ไปแจกทางกลุ่มก็รู้สึกกลัวอยู่นิดๆเพราะคนที่มาเล่นน้ำก็น่าจะมีแนวคิดทางการเมืองที่หลากหลายแต่เมื่อไปลงพื้นที่แจกจริงก็มีกระแสตอบรับที่ดี บางคนที่จำสมาชิกในกลุ่มได้ก็มาขอถ่ายรูปบางคนเดินมาขอด้วยความสนใจ และก็ไม่ปรากฎว่ามีคนที่เห็นต่างมาตำหนิหรือพูดไม่ดีใส่มีแค่บางคนที่พอเห็นว่าเป็นซองกันน้ำเรียกร้องการเลือกตั้งก็ลังเลที่จะรับอาจจะเป็นเพราะความกลัวซึ่งทางกลุ่มก็เข้าใจ
 
 
ซองกันน้ำยุทธน๊อคคิโอ ภาพจาก กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย
 
สัญลักษณ์และประดิษฐกรรมทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงสี่ปีที่คสช.เป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ที่ถูกนำเสนอในรายงานชิ้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์ในการคัดค้านการรัฐประหารและคสช.เท่านั้น และงานชิ้นนี้ก็คงยังไม่ใช่งานที่เสร็จสมบูรณ์เพราะตราบเท่าที่คสช.ยังคงอยู่ในอำนาจนักกิจกรรมทางสังคมก็น่าจะยังคงต้องผลิตสัญลักษณ์หรือประดิษฐกรรมใหม่ๆมาสื่อสารเพื่อท้าทายอำนาจของคสช.ต่อไป และนับจากนี้คงต้องติดตามต่ออย่างใกล้ชิดว่าเมื่อใกล้จะถึงวันเลือก และบรรยากาศทางการเมืองกลับมาคึกคักอีกครั้ง จะมีสัญลักษณ์และประดิษฐกรรมใหม่อะไรออกมาให้ได้ชมกันอีก
 

 

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage