รายงานสิทธิเสรีภาพทางการเมือง ปี 2559: เสียงแห่งความเงียบ

ปี 2559 เข้าสู่ปีที่สามภายใต้รัฐบาล คสช. ไอลอว์ขอนิยามว่าเป็นปีของความเงียบ ปัญหาและความขัดแย้งทางการเมืองยังปรากฏอยู่ในทุกส่วนของสังคม แต่เมื่อเป็นประเด็นที่ขัดแย้งกับรัฐบาล คสช. ปัญหาดังกล่าวก็มักจะถูกกดไว้ไม่ให้มีโอกาสได้แสดงออกมา ไม่ว่าจะด้วยกฎหมาย หรือมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาล คสช. สร้างขึ้นเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับการแสดงความคิดเห็น

คำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116, การเรียกปรับทัศนคติ ฯลฯ ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อปิดกั้นทั้งการชุมนุมและการแสดงออกทางออนไลน์ นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมืองจำกัดการทำกิจกรรมลง เพราะหลายคนต่างก็มีข้อหาติดตัวจำนวนมาก และล้วนถูกบีบด้วยมาตรการต่างๆ จนกระทั่งความพยายามเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนในประเด็นสำคัญๆ ลดน้อยลงมาก แทบไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ

ท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบงันนี้เอง ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. ก็ผ่านการทำประชามติ, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านกฎหมายหลายร้อย, หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ไปแล้วกว่า 122 ครั้ง, กฎหมายหลายเรื่องเป็นไปในทางจำกัดสิทธิของประชาชนและเพิ่มอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ รัฐบาล คสช. กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยไปในทิศทางใหม่ โดยประชาชนแทบไม่รู้ และคนเห็นต่างแทบไม่มีโอกาสบอก

เหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยน 2 ครั้งในปีนี้ คือ การทำประชามติที่รัฐบาลปิดกั้นการรณรงค์จนร่างรัฐธรรมนูญได้รับเสียงข้างมากสนับสนุน และการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ยิ่งตอกย้ำให้การเคลื่อนไหวในประเด็นสังคมการเมืองที่แตกต่างจากรัฐบาลถูกกดให้เงียบอย่างที่สุด

1/5 ความเงียบเพราะชินชา หลังตกอยู่ในอำนาจนานกว่าสองปีโดยไม่มีที่สิ้นสุด

2/5 ความเงียบเมื่อเผชิญความพ่ายแพ้

3/5 ความเงียบที่ถูกบังคับโดยสถานการณ์

4/5 ความเงียบงันภายใต้อำนาจเด็ดขาด

5/5 ความเงียบแบบผูกขาด ออกกฎหมายจำนวนมากประชาชนไม่รู้เรื่อง

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage