24 เดือน คสช.: อำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม เมื่อทหารทำตัวเป็นอัยการและศาล

ในยุคของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ให้คดีของพลเรือนในข้อหาความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ ความผิดต่อความมั่นคง และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งของ คสช.ต้องพิจารณาที่ศาลทหาร โดยส่วนใหญ่แล้วศาลทหารใช้กระบวนการพิจารณาคดีคล้ายกับศาลพลเรือน แต่บุคลากรของศาลทหารรวมทั้งอัยการและตุลาการ เป็นนายทหาร และทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นในรอบสองปี ศาลทหารได้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการที่พิเศษไปจากศาลพลเรือนบ้าง

 

ศาลทหารทำโอที ฝากขัง 14 “ประชาธิปไตยใหม่” ตอนเที่ยงคืน   

โดยปกติเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับตัวผู้ต้องหาได้จะมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อการสอบสวนไม่เกิน 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นหากมีเหตุให้ต้องควบคุมตัวต่อตำรวจต้องนำตัวผู้ต้องหาไปที่ศาลเพื่อขออำนาจศาลฝากขังต่อ ในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกจับกุมนอกเวลาราชการ ระยะเวลา 48 ชั่วโมงนี้ก็เพียงพอสำหรับตำรวจที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้จนกว่าศาลจะเปิดทำการ

ในคืนวันที่ 26 มิถุนายน 2558 เกิดกรณีที่ไม่ปกติ เมื่อศาลทหารที่ปกติจะเปิดทำการระหว่าง 8.30 น. ถึงเวลา 16.30 น. กลับต้องเปิดทำการถึงเที่ยงคืน เพื่อรอพนักงานสอบสวนนำตัว 14 ผู้ต้องหากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งถูกจับในเย็นวันเดียวกันมาฝากขัง ทั้งที่ผู้ต้องหาทั้งหมดเพิ่งถูกจับกุมแค่สามถึงสี่ชั่วโมงและพนักงานสอบสวนยังมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อรอศาลทหารเปิดทำการในวันรุ่งขึ้นได้

เหตุผลที่อาจอธิบายความเร่งรีบครั้งนี้ คือตำรวจอาจเกรงว่า การควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจชั่วคราว อาจทำให้นักกิจกรรมและประชาชนจำนวนมากไปรวมตัวกันทำกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในกรณีควบคุมตัวผู้ชุมนุมกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก และกรณีชุมนุมครบรอบหนึ่งปีรัฐประหารที่หอศิลปกรุงเทพฯ ที่เมื่อนักกิจกรรมถูกจับจากที่ชุมนุมไปควบคุมที่สถานีตำรวจก็มีคนจำนวนมากมาให้กำลังใจ ทำกิจกรรมจุดเทียน ร้องเพลง รอการปล่อยตัว ซึ่งยากที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ การนำผู้ต้องขังไปควบคุมตัวยังเรือนจำจะลดแรงเสียดทานต่อตำรวจได้ระดับหนึ่ง 

 

กระบวนการสืบพยานที่ศาลทหาร นานจนสายเกินไป 

การต้องตกเป็นจำเลยในคดีอาญาขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นเรื่องที่น่าหนักใจอยู่ไม่น้อยสำหรับคนทั่วไป เพราะต้องเสียทั้งเวลาในการมาศาล รวมทั้งคอยกังวลใจว่าจะสู้คดีอย่างไร แล้วศาลจะตัดสินว่าอย่างไร การพิจารณาคดีโดยรวดเร็ว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในกระบวนการยุติธรรม และช่วยให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ต้องทนอยู่ในความทุกข์นานจนเกินไป 

ระบบที่ออกแบบกันมาในศาลยุติธรรม คือ การนัดสืบพยานต่อเนื่องกัน เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างรวดเร็วและไม่เปิดช่องให้แต่ละฝ่ายมีเวลาไปสร้างพยานหลักฐานใหม่จนได้เปรียบเสียเปรียบกัน สำหรับคดีที่พิจารณาในศาลทหาร กระบวนการสืบพยานจะต่างออกไปเพราะศาลทหารจะนัดสืบพยานของแต่ละคดี 1-2 นัด ต่อเดือน และจะสืบเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น บางครั้งพยานไม่มาศาลก็ต้องเลื่อนการสืบพยานออกไปอีกเรื่อยๆ ทำให้การสืบพยานของหลายๆ คดีกินเวลานาน 

“วันนี้จะตัดสินหรือยังครับ” คือคำถามที่สมัคร จำเลยคดี 112 ซึ่งถูกฟ้องต่อศาลทหารเชียงรายเฝ้าถามทนายแทบทุกครั้งที่ถูกนำตัวมาพิจารณาคดีที่ศาล ศาลนัดสืบพยานคดีของสมัครครั้งแรกในวันที่ 12 มกราคม 2558 หลังจากนั้นก็นัดสืบพยานเดือนละหนึ่งนัดเรื่อยมาโดยสืบเฉพาะช่วงเช้า การสืบพยานโจทก์ปากที่สาม ถูกเลื่อนออกไปถึงสามครั้งเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาลทำให้การสืบพยานซึ่งควรจะมีในเดือนมีนาคม 2558 ถูกเลื่อนไปเป็นเดือนมิถุนายน 2558 โดยสมัครต้องเดินทางมาศาลโดยไม่มีการพิจารณาคดีถึงสามครั้งภายในสามเดือน

ในเดือนกรกฎาคม 2558 สมัครตัดสินใจเลิกสู้คดีและรับสารภาพต่อศาล เนื่องจากทุกข์ใจเพราะที่ผ่านมาคดีนี้นัดสืบพยานมาหลายนัดแต่คดีก็ยังไม่เสร็จเสียที ทั้งที่ข้อต่อสู้ของเขา คือ การมีใบรับรองแพทย์ว่ามีอาการทางจิต และยังไม่มีโอกาสได้บอกศาล ศาลพิพากษาจำคุกสมัครเป็นเวลาสิบปีก่อนลดโทษเหลือห้าปี “มันนานเกินไป…” สมัครกล่าวหลังทราบคำพิพากษาแต่ก็ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม 

นอกจากคดีของสมัคร คดีอื่นๆ ที่พิจารณาในศาลทหารแล้วจำเลยเลือกสู้คดีแทนรับสารภาพก็มีการพิจารณาที่ยาวนานเหมือนกัน เช่น คดีข้อหาไม่ไปรายงานตัวของสิรภพ ที่นอกจากจะกินเวลานานเพราะศาลนัดสืบเฉลี่ยน้อยกว่าหนึ่งครั้งต่อเดือนแล้ว บางครั้งพยานโจทก์ไม่มาศาลทำให้ต้องเลื่อนการสืบพยานอย่างน้อยสามครั้ง (ดูตารางตัวอย่างการนัดสืบพยานในศาลยุติธรรมและศาลทหาร คลิกที่นี่)

 

การต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาล เพื่อออกจากกระบวนการยุติธรรมของ คสช.

จากที่ไอลอว์เก็บข้อมูล ตลอดสองปีในยุค คสช. มีพลเรือนอย่างน้อย 167 คน ถูกดำเนินคดีในศาลทหารในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง มีพลเรือนจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารเป็นเรื่องที่ผิดหลักการ จึงยื่นคำร้องคัดค้านอำนาจศาลทหารแม้จะรู้ว่านั่นจะทำให้กระบวนการพิจารณาคดีที่ล่าช้าอยู่แล้วต้องใช้เวลามากขึ้นไปอีก เนื่องจากศาลทหารจะต้องชะลอการพิจารณาคดีจนกว่าจะมีข้อยุติว่าคดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลใด สำหรับประเด็นที่ใช้ในการคัดค้านอำนาจศาลทหารอาจแบ่งเป็นสองประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ ประเด็นเงื่อนเวลา ว่าการกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดก่อนหรือหลังมีการออกประกาศฉบับที่ 37/2557 กับว่าการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารไม่ชอบธรรมขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล 

จาตุรนต์ ฉายแสง จำเลยคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของ คสช.และคดียุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 คัดค้านอำนาจศาลโดยระบุว่า คดีไม่รายงานตัวไม่อยู่ในศาลทหารเพราะเหตุเกิดก่อนมีการออกประกาศให้ผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ขึ้นศาลทหาร ขณะที่ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นที่เกิดจากการโพสต์เฟซบุ๊กและการจัดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แม้เกิดหลังมีการออกประกาศแต่ประกาศยังไม่ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา จึงถือว่ายังไม่มีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารก็ขัดต่อมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ให้ความคุ้มครองสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยโดยตุลาการที่เป็นอิสระ

สิรภพ จำเลยคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวและคดี 112 เป็นจำเลยอีกคนหนึ่งที่ต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาล แม้สิรภพจะไม่ได้ประกันตัวแต่ก็ยอมที่จะต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาลแม้จะรู้ว่านั่นจะทำให้การพิจารณาคดีของเขาต้องล่าช้าออกไป สิรภพต่อสู้ว่าการกระทำตามข้อกล่าวหาในคดีของเขาเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนมีประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร คดีของเขาจึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม สิรภพยังขอให้ศาลทหารส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยว่าประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ขัดหรือแย้งกับมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว

ในภาพรวมมีอย่างน้อย 11 คดี ที่จำเลยยื่นเรื่องคัดค้านอำนาจของศาลทหาร ซึ่งอย่างน้อย 3 คดีที่ศาลทหารมีคำสั่งแล้วว่า จะไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะศาลทหารไม่มีหน้าที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ (ดูรายละเอียดการคัดค้านอำนาจศาลทหารในคดีพลเรือนได้ คลิกที่นี่)

 

ศาลทหารสั่งเอง หมิ่นประมาท “ผู้นำ” ไม่ใช่คดีความมั่นคง ไม่ต้องขึ้นศาลทหาร

ในภาพรวมศาลทหารมีปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่ปัญหาทางวิธีปฏิบัติ เช่น การนำตัวผู้ต้องหา/จำเลยที่ได้ประกันไปปล่อยจากเรือนจำทำให้ต้องผ่านกระบวนการตรวจร่างกาย หรือ ปัญหาในการพิจารณาคดีที่มักสั่งพิจารณาคดี 112 เป็นการลับ รวมทั้งการลงโทษจำเลยคดี 112 หลายคนอย่างหนัก แต่การทำงานของอัยการทหารและศาลทหารก็พอจะมีพัฒนาการทางบวกอยู่บ้าง คือ การใช้ดุลพินิจพิจารณาความสอดคล้องระหว่างกฎหมายที่ใช้ฟ้องกับการกระทำตามข้อกล่าวหา ดังกรณี ของรินดาและ “แจ่ม”

รินดาถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โอนเงินจำนวนมหาศาลไปสิงคโปร์ ซึ่งเป็นข้อหาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร เธอถูกฝากขังต่อศาลทหาร ต่อมาในเดือนธันวาคม 2558 ศาลทหารแจ้งว่าหลังพิจารณาสำนวนแล้วเห็นว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีตามมาตรา 116 แต่น่าจะเป็นคดีหมิ่นประมาท ซึ่งศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณา คดีของรินดาจึงถูกจำหน่ายออกให้ไปฟ้องใหม่ที่ศาลของพลเรือน ในข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ซึ่งมีโทษเบากว่าคดีตามมาตรา 116 

“แจ่ม” ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์และความขัดแย้งในกองทัพ “แจ่ม” ถูกนำตัวไปฝากขังกับศาลทหารในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2558 ต่อมาในเดือนเมษายน 2559 อัยการทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง “แจ่ม” ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือน จึงคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนไปดำเนินการฟ้อง “แจ่ม” ต่อศาลพลเรือนต่อไป     

กรณีของ “แจ่ม” และรินดาแสดงให้เห็นว่ายังมีพัฒนาการทางบวกอยู่บ้างที่ศาลทหาร เพราะอัยการทหารและผู้พิพากษาศาลทหารมีความพยายามที่จะกลั่นกรองคดีอยู่บ้าง เมื่อพิจารณาเห็นว่าข้อหาที่จำเลยถูกกล่าวหาไม่ถูกต้องก็ไม่ดำเนินคดีต่อ ยังมีอีกหลายคดีที่ลักษณะคล้ายกับรินดาและ “แจ่ม” เช่น คดีที่มีแอดมินเพจแปดคนถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 116 จากการทำเนื้อหาล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ จากนี้จึงต้องจับตาต่อไปว่าศาลหรืออัยการจะมีความเห็นอย่างไร

 

ศาลทหารลงโทษหนักในคดีมาตรา 112 แต่มาตรฐานยังไม่แน่นอน 

“การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จำนวน 6 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 10 ปี รวมทั้งหมด 60 ปี เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 30 ปี”

คำพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558 ให้ลงโทษจำคุก พงษ์ศักดิ์ 60 ปี ตามมาตรา 112 อาจเป็นหมุดหมายหนึ่งที่ผู้คนจดจำกันได้ในช่วงเวลาสองปีของ คสช. เพราะเป็นคดีที่มีสถิติการลงโทษตามมาตรา 112 สูงที่สุดเท่าที่เคยมีบันทึกไว้ นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาอีกหลายคดีที่พบปรากฏการณ์ศาลทหารกำหนดโทษจำคุกสูงๆ เช่น คดีของเธียรสุธรรม ศาลทหารให้จำคุก 50 ปี คดีของศศิวิมล ศาลทหารให้จำคุก 56 ปี  

แนวการกำหนดโทษของศาลทหารก็ยังไม่แน่นอน หลายคดีศาลทหารกำหนดโทษจำคุก 10 ปีต่อการกระทำ 1 กรรม ขณะที่อีกหลายคดีศาลทหารก็กำหนดโทษน้อยลงมา เช่น คดีของ “สมศักดิ์ ภักดีเดช” ศาลให้จำคุก 9 ปี คดีของธนิตศักดิ์ศาลให้จำคุก 8 ปี และคดีของศศิวิมลศาลให้จำคุก 8 ปี ต่อการกระทำ 1 กรรม

แม้ว่าคดีมาตรา 112 ส่วนใหญ่ศาลทหารจะกำหนดบทลงโทษสูงตาม แต่ก็มีสองคดีของโอภาสที่ศาลทหารกำหนดโทษจำคุก 3 ปี ก่อนลดโทษให้เหลือ 1 ปี 6 เดือน เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จากการเขียนฝาผนังห้องน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นการกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำที่สุดเท่าที่กฎหมายเปิดช่องไว้สำหรับข้อหานี้ และยังมีคดีการเผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอมของนิรันดร์ และ “เนส” ที่ศาลทหารตัดสินลงโทษจำคุก 5 ปี และให้รอลงอาญาโทษจำคุก

 

ศาลยุติธรรมยังตีความกฎหมายผิดพลาด เป็นผลเสียแก่จำเลย 

“ศาลพิพากษาว่า จำเลยทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทั้งหมด 9 กรรม ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ลงโทษกรรมละ 3 ปี รวม 27 ปี ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้ลงโทษกรรมละ 4 เดือน รวม 36 เดือน รวมจำคุก 27 ปี 36 เดือน” 

คำพิพากษาคดีของศาลจังหวัดอุบลราชธานี ในคดีของ “จักราวุธ” เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 เป็นคำพิพากษาคดีที่จำเป็นต้องยกมาพูดถึง เพราะกำหนดโทษแปลกไปจากคดีอื่นๆ 

“จักราวุธ” ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กผิดมาตรา 112 ทั้งหมด 9 ข้อความ ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิพากษาว่าการโพสต์ข้อความหนึ่งครั้ง จะถูกลงโทษทั้งตามมาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แยกกระทงความผิดกัน โดยให้ลงโทษตามมาตรา 112 ข้อความละ 3 ปี และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ข้อความละ 4 เดือน หลังศาลจังหวัดอุบลราชธานีอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ “จักราวุธ” จึงเป็นจำเลยคนเดียวที่ต้องรับโทษสูงขึ้นอย่างไม่ปกติ แต่เขาตัดสินใจไม่ยื่นอุทธรณ์ เพื่อยื่นขออภัยโทษเพราะหวังว่าจะเป็นช่องทางให้ได้อิสรภาพเร็วขึ้น จนถึงวันที่ครบรอบสองปีของการรัฐประหาร “จักราวุธ” ยังอยู่ในเรือนจำ

ขณะที่คำพิพากษาคดีที่มีลักษณะเดียวกับคดี “จักราวุธ” ทุกคดีถือว่าการโพสต์ข้อความเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่หนักที่สุดเพียงบทเดียว เช่น คดีของธันย์ฐวุฒิ, คดีของอำพล, คดีของปิยะ ฯลฯ คำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานีน่าจะผิดจากหลักกฎหมายเรื่องการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทอย่างชัดเจน ทำให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกสูงขึ้นอีก 36 เดือน 

 

“แม้ในใบปลิวจะมีข้อความดูหมิ่นหลายบุคคล แต่เป็นข้อความที่กล่าวในเอกสารฉบับเดียวกัน ดังนั้นถือเป็นการกระทำกรรมเดียว ทำให้ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คุ้มครองไปถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ด้วยหรือไม่ จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โทษจำคุก 6 ปี”

คำพิพากษาของศาลจังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ให้จำคุกชาญวิทย์ 6 ปี เป็นคำพิพากษาอีกฉบับหนึ่งที่ต้องถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงกัน คดีนี้จำเลยถูกฟ้องว่าแจกใบปลิว 1 ชุด มีเนื้อหาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา รวม 4 พระองค์ โจทก์ฟ้องว่าเป็นความผิด 4 กรรม จำเลยรับสารภาพว่าทำใบปลิวขึ้นแจกจริง แต่ในชั้นพิจารณาคดีจำเลยยกข้อต่อสู้ขึ้นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียว เพราะแจกใบปลิวชุดเดียว และสมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่บุคคลที่มาตรา 112 คุ้มครอง 

สุดท้ายศาลเห็นด้วยกับข้อต่อสู้ของจำเลย ว่าการแจกใบปลิวเป็นการกระทำกรรมเดียว และพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี คดีนี้จึงต้องถือว่าจำเลยรับสารภาพแล้วว่ากระทำความผิดจริงเพียงแต่ต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมาย จำเลยจึงต้องได้รับลดโทษครึ่งหนึ่ง ดังนั้นชาญวิทย์ควรได้รับโทษลดโทษกึ่งหนึ่งคือจำคุก 3 ปี ไม่ใช่ 6 ปี แต่ศาลจังหวัดนนทบุรีกลับมองว่าคดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธ และไม่ลดโทษให้ อย่างไรก็ตามชาญวิทย์ ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ลดโทษให้ คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์

 

จากคำพิพากษาทั้งสองคดีสะท้อนให้เห็นมาตรฐานที่อ่อนแอและความไม่เป็นเอกภาพในการตีความกฎหมายของศาลยุติธรรม ซึ่งส่งผลให้จำเลยต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าความเป็นจริง คดีที่มีข้อกล่าวหาและการกระทำลักษณะเดียวกันเมื่อขึ้นสู่ชั้นศาลแล้วไม่อาจแน่ใจได้ว่าศาลจะพิพากษาในลักษณะเดียวกัน นอกจากการตีความกฎหมายแตกต่างกันไปในแต่ละคดีแล้ว ศาลยุติธรรมก็ยังกำหนดโทษในคดีมาตรา 112 ต่อการกระทำ 1 กรรมต่างกันออกไป เช่น คดีของ “จักราวุธ” กำหนดโทษ ปี 3 คดีของชาญวิทย์กำหนดโทษ 6 ปี คดีละครเวรทีเรื่องเจ้าสาวหมาป่า กำหนดโทษ 5 ปี และคดีของปิยะ กำหนดโทษ 9 ปี

 

คดีข้อหาทางการเมืองอื่น ศาลพลเรือนตีความให้เป็นประโยชน์แก่จำเลย

“ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับบุคคลที่มีชื่อถูกเรียกตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 1-3/2557 และ 5-6/2557 เป็นการกำหนดโทษเพิ่มเติมย้อนหลังและเป็นประกาศที่มุ่งใช้กับเฉพาะบุคคลที่มีรายชื่อในประกาศเรียกรายงานตัว ซึ่งตามหลักของกฎหมายอาญา กฎหมายจะกำหนดโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลังไม่ได้ และกฎหมายจะออกมาเพื่อเอาโทษกับเฉพาะบุคคลไม่ได้”

วันที่ 21 กันยายน 2558 ศาลแขวงดุสิตพิพากษาคดีที่สมบัติ บุญงามอนงค์ ถูกฟ้องฐานไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. โดยศาลยกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. เพราะเห็นว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 กำหนดโทษย้อนหลังและมุ่งใช้เฉพาะบุคคล จึงเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ไม่ได้ ซึ่งถือเป็นคำพิพากษาฉบับแรกที่ศาลวินิจฉัยสวนทางกับการใช้อำนาจออกประกาศและคำสั่งตามอำเภอใจของ คสช. ในทางที่เป็นประโยชน์กับจำเลย 

 

อีกคดีหนึ่งที่น่าสนใจ คือ คดีไม่มารายงานตัวของณัฐ คดีนี้ณัฐให้การรับสารภาพว่าไม่ได้ไปรายงานตัวตามที่ถูกคสช.ออกคำสั่งเรียกจริง ซึ่งคดีไม่มารายงานตัวส่วนใหญ่ที่จำเลยรับสารภาพ ศาลจะพิพากษาจำคุกและให้รอลงอาญา แต่เนื่องจากณัฐเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะรอลงอาญาได้ ศาลแขวงดุสิตจึงพิพากษาให้จำคุก 1 เดือน 10 วัน โดยไม่รอลงอาญา แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์แก้ไขคำพิพากษา โดยยกเอาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 55 ขึ้นมาใช้ว่า คดีนี้มีโทษจำคุกน้อย ศาลจึงยกโทษจำคุกให้ เหลือเพียงโทษปรับสถานเดียว 

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 55 ที่กำหนดให้ศาลมีอำนาจยกโทษจำคุกในกรณีที่จะลงโทษน้อยกว่าสามเดือน เป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว แต่ปกติศาลไม่ค่อยใช้อำนาจตามมาตรานี้บ่อยนัก และไม่เคยปรากฏมาก่อนในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การที่ศาลอุทธรณ์นำมาตรา 55 มาเป็นเหตุให้ณัฐไม่ต้องถูกจำคุกจึงเป็นนิมิตหมายใหม่ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลย

 

“คดีนี้เหตุเกิดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นท้องที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน แต่ ร.ต.ท.ชลิต เป็นเจ้าพนักงานสังกัดกองบังคับการปราบปราม ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบถึงการแบ่งหน่วยงานและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ทราบว่า ร.ต.ท.ชลิต ผู้ทำการสอบสวนเป็นผู้มีอำนาจสอบสวนโดยชอบ กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าคดีนี้มีการสอบสวนตามกระบวนการโดยชอบแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดี กรณีจึงไม่มีเหตุให้ต้องวินิจฉัยประเด็นปัญหาอื่นอีก พิพากษายกฟ้อง”

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลแขวงปทุมวันอ่านคำพิพากษาคดีที่อภิชาตถูกฟ้องในข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน คดีนี้จำเลยรับว่าเข้าร่วมการชุมนุมคัดค้านการรัฐประหารจริงแต่ต่อสู้เรื่องความชอบธรรมของคณะรัฐประหาร ศาลได้ยกเอาประเด็นอำนาจการสอบสวนของตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามมาเป็นเหตุยกฟ้องทั้งคดี โดยไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นการกระทำของจำเลย และความชอบธรรมของคณะรัฐประหารตามที่จำเลยต่อสู้

 

จากคำพิพากษา ในคดีไม่มารายงานตัวของสมบัติ บุญงามอนงค์ และณัฐ กับคดีชุมนุมของอภิชาต จะเห็นได้ว่า ในคดีการเมืองที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของ คสช. โดยตรงศาลพลเรือนมีแนวโน้มพยายามตีความและบังคับใช้กฎหมายในทางที่ไม่ต้องให้จำเลยได้รับโทษหนักจากเหตุความขัดแย้งทางการเมือง ขณะที่คดีในข้อหาไม่มารายงานตัวและข้อหาชุมนุมทางการเมือง ที่จำเลยต่อสู้คดีในศาลทหารรวมอย่างน้อย 14 คดี นับจนถึงวันครบรอบสองปี คสช. ศาลทหารก็ยังพิจารณาไม่เสร็จแม้แต่คดีเดียว จึงยังไม่มีแนวทางออกมาให้เห็นว่า ศาลทหารจะตีความกฎหมายในทางที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลยเช่นเดียวกับศาลพลเรือนหรือไม่

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาของคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออกทั้งหมดแล้ว จะเห็นว่า มีคำพิพากษาของศาลพลเรือนที่ออกมาถ่วงดุลกับอำนาจของ คสช. อยู่บ้าง แต่คำพิพากษาที่ผิดจากหลักกฎหมายชัดเจนทั้งสองคดีก็เป็นคำพิพากษาของศาลพลเรือน และแม้ในคดีมาตรา 112 ศาลทหารจะมีแนวโน้มกำหนดโทษจำคุกสูงกว่า แต่ก็มีคดีที่ศาลทหารกำหนดโทษขั้นต่ำ หรือ ให้รอลงอาญา ขณะที่ศาลพลเรือนเคยกำหนดโทษจำคุกสูงถึง 9 ปี ต่อการกระทำ 1 กรรม และเนื่องจากคดีที่จำเลยต่อสู้คดีในศาลทหารส่วนใหญ่ยังไม่เห็นคำพิพากษา ดังนั้น ในภาพรวมจึงยังสรุปไม่ได้อย่างชัดเจนว่าศาลพลเรือนจะพิพากษาคดีไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่จำเลยมากกว่าศาลทหาร 

ตลอดสองปีในยุค คสช. มีการจับกุมประชาชนและดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 106 คดี เป็นคดีที่ศาลทหาร 81 คดี และเป็นคดีที่ศาลพลเรือน 25 คดี ในจำนวนนี้ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 45 คดี คดีในศาลทหารที่จำเลยปฏิเสธและต่อสู้คดีจนถึงปัจจุบันศาลทหารมีคำพิพากษาไปแล้วเพียง 1 คดี

ดูตารางการตั้งข้อหาและดำเนินคดีทางการเมืองในยุค คสช. ทั้งหมด คลิกที่นี่


อ่านรายงาน 24 เดือน คสช.: เมื่ออำนาจทหารอยู่เหนือระบบยุติธรรม ต่อตอนอื่นที่

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage