ตั้งแต่เหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 เรือนจำพิเศษกรุงเทพและเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ (เรือนจำพลตำรวจบางเขน) กลายเป็น “บ้าน” หลังใหม่ของจำเลยที่ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 ทั้งญาติและกลุ่มผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกันต่างแวะเวียนมาเยี่ยมผู้ต้องขังคดีการเมืองที่เรือนจำเป็นจำนวนมาก บางครั้งก็เป็นการมาเยี่ยมตามปกติ บางครั้งก็มีการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เช่น กิจกรรมฉลองวันเปลี่ยนแปลงการปกครองกับนักโทษการเมือง ทำให้พื้นที่หน้าเรือนจำกลายเป็นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือพบปะสังสรรค์ยามที่ไม่มีการชุมนุมทางการเมืองบนท้องถนน
โดยปกติแต่ละเรือนจำจะมีกฎระเบียบจำกัดจำนวนญาติที่เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในแต่ละวัน แตกต่างกันไปตามแต่เงื่อนไขด้านสถานที่และจำนวนเจ้าหน้าที่ของเรือนจำแต่ละแห่ง เช่น เรือนจำพิเศษมีนบุรีให้พบญาติได้ไม่เกินสามคนต่อการเยี่ยมหนึ่งครั้ง หรือที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพไม่เกินห้าคนต่อหนึ่งครั้ง แต่เมื่อมีผู้มาเยี่ยมนักโทษการเมืองเป็นจำนวนมาก บางครั้งเรือนจำพิเศษกรุงเทพก็อนุโลมให้ผู้ต้องขังออกมาพร้อมกันหลายคนในคราวเดียวและให้ผู้มาเยี่ยมเข้าเยี่ยมพร้อมกันโดยไม่จำกัดจำนวน นอกจากนี้ก็ยังผ่อนคลายระเบียบเรื่องการฝากเงินฝากของ ทำให้กลุ่มญาติผู้ต้องขังและเพื่อนร่วมอุดมการณ์มีโอกาสฝากเงินหรือสิ่งของเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีการเมืองร่วมกัน
กฎใหม่เรือนจำหลังรัฐประหาร
หลังการยึดอำนาจ มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในเรือนจำทั้งในแง่นโยบายและผู้บริหารองค์กร ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 84/2557 เปลี่ยนตัวอธิบดีกรมราชทัณฑ์ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเรือนจำ หลังจากนั้นกฎระเบียบในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเริ่มเข้มงวดขึ้น จากคำบอกเล่าของสุกัญญา ภรรยาของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องขังคดี 112 พบว่าสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนหลังการรัฐประหารคือการที่ผู้ต้องขังแต่ละคนจะต้องส่งชื่อผู้ที่จะมาเข้าเยี่ยมไม่เกินสิบคนให้กับเจ้าหน้าที่ทำให้บุคคลอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในรายชื่อจะเข้าเยี่ยมไม่ได้
“กฎสิบคน” จริงๆ แล้วไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการเยี่ยมติดต่อ ของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขัง และการเข้าดูกิจการ หรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2555 ข้อ 8. ที่กำหนดว่า เพื่อความมั่นคงของเรือนจำ ให้ผู้ต้องขังแจ้งชื่อบุคคลภายนอกไม่เกินสิบคน ที่จะให้เข้ามาพบหรือติดต่อกับตนในเรือนจำ หากจะแก้ไขรายชื่อก็ให้แจ้งล่วงหน้าสามสิบวัน
สถานการณ์ก่อนหน้านี้ที่มีนักโทษการเมืองอยู่ในเรือนจำจำนวนมาก เรือนจำพิเศษกรุงเทพเคยผ่อนคลายความเข้มงวดของกฎระเบียบข้อนี้ โดยอนุญาตให้ผู้ต้องขังที่ถูกจับในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมปี 2553 รวมทั้งผู้ต้องขังคดี 112 ออกมาในห้องเยี่ยมพร้อมกันคราวละหลายๆ คนและไม่จำกัดรายชื่อผู้เข้าเยี่ยม เป็นโอกาสให้ผู้มาเยี่ยมทำกิจกรรมให้กำลังใจผู้ต้องขังได้ แต่ในยุคของรัฐบาล คสช. “กฎสิบคน” ถูกนำมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด กิจกรรมเยี่ยมให้กำลังใจผู้ต้องขังทางการเมืองจึงต้องยุติไปโดยปริยาย
นอกจาก “กฎสิบคน” แล้ว กฎระเบียบเรื่องการฝากเงินให้ผู้ต้องขังก็เข้มงวดขึ้นด้วย โดยก่อนการรัฐประหาร ผู้ฝากเงินเพียงแต่กรอกแบบฟอร์มยื่นแก่เจ้าหน้าที่ก็สามารถฝากเงินได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นญาติกัน ผู้ต้องขังบางคนจึงอาจให้ญาติของตัวเองช่วยฝากเงินให้เพื่อนผู้ต้องขังที่ไม่มีญาติได้อยู่บ้าง หรือกลุ่มคนที่คิดเห็นทางการเมืองเหมือนกันก็อาจรวมตัวกันฝากเงินช่วยผู้ต้องขังคดีการเมืองได้ แต่ในยุค คสช. การฝากเงินให้ผู้ต้องขังก็เข้มงวดขึ้นโดยกำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิเยี่ยมผู้ต้องขังเท่านั้นจึงจะมีสิทธิฝากเงิน นอกจากนี้ผู้ไม่ประสงค์นามคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า เธอและคนอีกจำนวนหนึ่งมีชื่อในคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. เพราะเหตุว่าเคยฝากเงินและร่วมทำกิจกรรมเยี่ยมนักโทษการเมืองที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
นอกจากความเปลี่ยนแปลงสองเรื่องข้างต้น ก็มีความเปลี่ยนแปลงที่น่ากังวลในเรื่องอื่นๆ เช่น สุกัญญาเล่าเรื่องที่ได้รับฟังมาจากสามีว่า ก่อนการรัฐประหารผู้ต้องขังยังพอได้อ่านหนังสือพิมพ์เก่าบ้าง แต่หลังการรัฐประหารแม้แต่หนังสือพิมพ์เก่าก็ไม่มีสิทธิอ่าน และเวลาผู้ต้องขังคดีการเมืองออกมาพบญาติ จะถูกจัดให้อยู่ในห้องเยี่ยมเฉพาะซึ่งน่าจะมีการติดเครื่องดักฟังทำให้ญาติและตัวผู้ต้องขังไม่อาจพูดคุยกันได้อย่างอิสระ
ปิดคุกการเมืองหลักสี่ สลายพื้นที่กิจกรรมเสื้อแดง
เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ถูกจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ในปี 2554 เพื่อใช้เป็นสถานที่คุมขังผู้ที่ทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องอันกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 การย้ายผู้ต้องขังซึ่งเป็นคนเสื้อแดงมารวมกันที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ทำให้ญาติผู้ต้องขัง และนักกิจกรรมเสื้อแดงเดินทางมาเยี่ยมผู้ต้องขัง และทำกิจกรรมร่วมกันอยู่บ่อยๆ ในช่วงเทศกาลสำคัญ
เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ทำหน้าที่เป็นสถานที่คุมขังนักโทษการเมืองและที่นัดพบของนักกิจกรรมเสื้อแดงจากปี 2554 เรื่อยมาจนถึงการรัฐประหารปี 2557 ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์คนใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. ลงนามคำสั่งย้ายผู้ต้องขัง 22 คน ที่อยู่ในเรือนจำแห่งนี้ไปคุมขังต่อที่เรือนจำตามภูมิลำเนาโดยให้เหตุผลว่าเป็นไปเพื่อประหยัดงบประมาณ ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.กระทรวงยุติธรรม ออกคำสั่งยุบเลิกเรือนจำชั่วคราวหลักสี่โดยให้เหตุผลว่ากองบัญชาการตำรวจสันติบาล ต้องการใช้พื้นที่ดังกล่าว
เปิดเรือนจำในค่ายทหาร จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายอำนาจทหารเหนือระบบยุติธรรม
การจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวในค่ายทหาร เป็นอีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจซึ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรือนจำชั่วคราว แขวงถนนนครชัยศรี ถูกจัดตั้งโดยคำสั่งของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.กระทรวงยุติธรรม ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2558 ซึ่งเป็นเรือนจำที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ค่ายทหารที่มักใช้คุมขังบุคคลที่ถูกจับด้วยเหตุทางการเมือง เรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ถูกตั้งขึ้นโดยเหตุผลว่าเพื่อใช้ควบคุมตัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคงซึ่งไม่ควรควบคุมปะปนกับผู้ต้องขังอื่น ชายชาวอุยกูร์สองคนซึ่งเป็นจำเลยคดีระเบิดราชประสงค์ เป็นผู้ต้องขังชุดแรกของเรือนจำแห่งนี้
เรือนจำชั่วคราว มทบ.11 ได้ถูกใช้เป็นที่คุมขังผู้ต้องหาและจำเลยคดีความมั่นคงคนสำคัญอีกหลายคนรวมทั้ง พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา, สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือหมอหยอง และจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ เลขาของสุริยันซึ่งถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันฯ โดย พ.ต.ต.ปรากรมและสุริยันเสียชีวิตระหว่างถูกฝากขังในเรือนจำ มทบ.11 ปลายเดือนตุลาคมและต้นเดือนพฤศจิกายนตามลำดับ ซึ่งปรากฏว่าญาติของทั้ง พ.ต.ต.ปรากรมและสุริยัน ต่างไม่ติดใจการตายและนำศพไปประกอบพิธีอย่างรวดเร็วโดยยังไม่มีรายงานว่ามีการไต่สวนเพื่อหาสาเหตุการตายโดยศาลตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด นอกจากผู้ต้องขังห้าคนข้างต้น เท่าที่ยืนยันได้ยังมีผู้ต้องขังคดี 112 ป่วน “Bike for Dad” อีกอย่างน้อยห้าคนที่เคยมาอยู่ในเรือนจำแห่งนี้ระยะหนึ่งแต่ภายหลังถูกย้ายไปเรือนจำอื่น
ชูชาติ ทนายของจำเลยคดีระเบิดราชประสงค์เล่าถึงอุปสรรคในการคุยกับลูกความในเรือนจำ มทบ.11 ให้ฟังว่า เมื่อทนายเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ระหว่างการสนทนาจะมีเจ้าหน้าที่ทหารมานั่งใกล้ๆ เพื่อจดบันทึกบทสนทนารวมทั้งมีการอัดเสียงไว้ นอกจากนี้ทนายยังต้องส่งคำถามที่จะถามลูกความให้เจ้าหน้าที่ดูก่อนด้วยซึ่งเจ้าหน้าที่อาจตัดคำถามได้ ขณะที่เบญจรัตน์ ทนายของคดีป่วน “Bike for Dad” ก็เล่าไม่ต่างกันว่า ระหว่างการพูดคุยจะมีทหารมาอยู่ใกล้เสมอซึ่งขัดกับหลักการที่ทนายและลูกความมีสิทธิปรึกษากันอย่างเป็นส่วนตัว
การจัดตั้งเรือนจำในค่ายทหาร ทำให้ทหารเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแบบครบวงจรหลังจากก่อนหน้านี้ มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ให้อำนาจทหารเรียกบุคคลไปสอบถามได้ไม่เกิน 7 วันก่อนชั้นสอบสวนและให้เป็นพนักงานสอบสวนในชั้นสอบสวนด้วย ขณะที่ชั้นพิจารณาก็มีการประกาศให้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนในความผิดบางประเภท ก่อนที่ในขั้นสุดท้ายจะมีการจัดตั้งเรือนจำชั่วคราวในค่ายทหาร เพื่อควบคุมตัวจำเลยส่วนหนึ่งระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งคำบอกเล่าของทนายและข่าวการเสียชีวิตของผู้ต้องหาคดี 112 จำนวนสองคนที่ยังไม่มีการไต่สวนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงโดยศาล ก็ทำให้เรือนจำชั่วคราว มทบ. 11 กลายเป็นหลุมดำในกระบวนการยุติธรรมยุคคสช.ที่พร้อมจะเปิดรับแขกรายใหม่ได้ทุกเมื่อ
ประกันตัวศาลทหาร เข้าเรือนจำก่อนปล่อยทีหลัง
โดยปกติกระบวนการของศาลพลเรือน เมื่อผู้ต้องหาถูกนำตัวมาศาลเพื่อขออำนาจศาลฝากขังครั้งแรก ผู้ต้องหาจะถูกนำตัวไปไว้ที่ห้องควบคุมชั่วคราวใต้ถุนศาล หากศาลอนุญาตให้ประกันตัวก็จะถูกปล่อยตัวจากศาลกลับบ้านทันที แต่หากไม่ได้ประกันก็จะถูกส่งไปควบคุมตัวที่เรือนจำ
ในยุครัฐบาล คสช. เท่าที่เก็บข้อมูลไว้มีพลเรือนอย่างน้อย 167 คน ต้องขึ้นศาลทหารในคดีการเมือง แต่ศาลทหารมีกฎระเบียบต่างจากศาลพลเรือน เมื่อผู้ต้องหาถูกนำตัวมาฝากขังกับศาลทหารแม้จะยื่นประกันตัวก็จะถูกส่งตัวไปกักที่เรือนจำระหว่างรอคำสั่งและต้องผ่านกระบวนการต่างๆ เฉกเช่นผู้ต้องขังปกติ
จิตรา คชเดช นักกิจกรรมด้านแรงงานซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวกับ คสช.เล่าถึงกระบวนการเมื่อถูกส่งเข้าเรือนจำว่า เมื่อเข้าไปถึงก็ต้องถอดเสื้อผ้าให้ผู้คุมตรวจร่างกายและถูกตรวจช่องคลอดเพื่อหายาเสพติด นอกจากนี้ระหว่างทำประวัติก็ถูกห้ามไม่ให้เดินแต่ต้องใช้วิธีถัดก้นไป
“กลไกที่เข้าเรือนจำหรือทัณฑสถานหญิงฯ นั้น กระทำกับเราเหมือนนักโทษ เรียกได้ว่ามีกระบวนการทำให้กลายเป็นนักโทษ โดยปฏิบัติกับเราเท่ากับนักโทษที่ถูกศาลสั่งจำคุกในคดีอาญาทั่วไปแล้ว” แม้ศาลทหารจะออกคำสั่งให้ประกันตัวจิตราตั้งแต่เวลา 16.20 น. แต่กว่าจิตราจะออกจากทัณฑสถานหญิงกลางก็ล่วงไปถึง 21.05 น.แล้ว
กรกนก ผู้ต้องหาคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาเปิดเผยถึงการตรวจภายในด้วยขาหยั่ง การบังคับให้ถอดเสื้อผ้าต่อหน้าคนอื่น และการปฏิบัติภายในทัณฑสถานหญิงกลางจนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม จนในที่สุด สิริพร ชูติกุลัง ผอ.ทัณฑสถานหญิงกลาง ได้กล่าวขอโทษกรกนกระหว่างเวทีเสวนาซึ่งจัดที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 สิริพรระบุว่า หลังจากนี้จะมีการเลิกใช้ขาหยั่งและกำชับให้การตรวจค้นตัวเป็นไปตามหลักแบงค็อก รูลส์ หรือข้อกำหนดของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ
อ่านรายงาน 24 เดือน คสช.: เมื่ออำนาจทหารอยู่เหนือระบบยุติธรรม ต่อตอนอื่นที่