ช่วงเวลา | ยอดรวมตั้งแต่รัฐประหาร – 30 เมษายน 2559 | ยอดรวมเฉพาะเดือนเมษายน 2559 |
---|---|---|
คนถูกเรียกรายงานตัว | 915 | 4 |
คนถูกจับกุมคุมขัง จากการชุมนุมโดยสงบ | 224 | 10 |
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร | 167 | 9 |
คนถูกดำเนินคดีที่ศาลพลเรือน | 49 | 1 |
คนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ฯ (ม.112) | 66 | 3 |
จำนวนคนที่ถูกคุมขังด้วยคดี และที่ถูกคุมขังระหว่างพิ ในเดือนเมษายน 2559 | 53 |
สถานการณ์ทางการเมืองในเดือนเมษายน 2559 คุกรุ่นไม่แพ้อุณหภูมิที่น่าจะสูงแตะระดับ 40 องศา สำหรับความเคลื่อนไหวคดีเสรีภาพ เดือนนี้มีการนัดสืบพยานโจทก์สองคดีคือ คดีจิตรา คชเดช ฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวและคดี 116 ของสมบัติ บุญงามอนงค์ นอกจากนั้นก็มีความเคลื่อนไหวในชั้นอัยการ ได้แก่ คดี 112 ของเสาร์ (ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) และคดีนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งอัยการทหารมีความเห็นสั่งฟ้อง ส่วนคดี 116 ของ “แจ่ม” (โพสต์เรื่องทุจริตราชภักดิ์) อัยการทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง นอกจากนี้ก็มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือการวินิจฉัยเขตอำนาจศาลซึ่งมีออกมาสามคดี ได้แก่ คดีพลเมืองรุกเดิน ซึ่งศาลอาญาเห็นว่าอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร คดี 116 ของจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยเขตอำนาจระหว่างศาลเห็นว่าคดีส่วนหนึ่งอยู่ในอำนาจศาลพลเรือนและอีกส่วนหนึ่งอยู่ในศาลทหาร
นอกจากความเคลื่อนไหวคดีในศาลแล้ว ความเคลื่อนไหวการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกอื่นๆ ก็ระอุไม่แพ้กัน ทั้งการเรียกวัฒนา เมืองสุข นักการเมืองพรรคเพื่อไทยเข้าค่ายช่วงสงกรานต์จนทำให้กลุ่ม ‘พลเมืองโต้กลับ’ เริ่มออกมาทำกิจกรรมยืนเฉยๆ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว ซึ่งต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลเก้าคนเข้าค่ายทหารในช่วงเช้ามืดวันที่ 27 เมษายน โดยอ้างว่าทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ (ก่อนที่ต่อมาจะถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 116 เพิ่ม) กลุ่มพลเมืองโต้กลับก็ทำกิจกรรมใส่เสื้อขาวยืนเฉยๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกครั้งผู้ที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นแกนนำจะถูกพาตัวไปที่สถานีตำรวจแต่ไม่มีการตั้งข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. มีเพียงข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือเป็นการเรียกไปกักตัวเฉยๆ
บุกจับเก้าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ก่อนแปดคนถูกตั้งข้อหา 116
ประมาณ 7.30 น. ของวันที่ 27 เมษายน 2559 อานนท์ นำภา ทนายสิทธิมนุษยชนโพสต์เฟซบุ๊กว่า มีบุคคลอย่างน้อย 5 คน ก่อนที่ภายหลังโฆษก คสช.จะออกมาแถลงว่ามีการควบคุมตัวบุคคลอย่างน้อยสิบคน (ภายหลังสามารถยืนยันได้ว่าผู้ที่ถูกทหารควบคุมตัวมีทั้งหมดเก้าคน) โดยเบื้องต้นเป็นการเรียกไปสอบถามเพราะทั้งสิบมีพฤติการณ์ที่อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในช่วงดึกวันเดียวกัน นิธิ หนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวโพสต์เฟซบุ๊กว่า ได้รับการปล่อยตัวแต่บุคคลอื่นยังคงอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่
การใช้กำลังทหารควบคุมตัวบุคคลทั้งเก้าก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคลุมเครือของเหตุแห่งการควบคุมตัว วันที่ 28 เมษายน 2559 บุคคลที่ถูกควบคุมตัวรวมแปดคนถูกนำตัวไปแถลงข่าว โดยทั้งหมดถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการร่วมกันทำเพจต่อต้านรัฐบาล ในวันที่ 29 เมษายน 2559 ผู้ต้องหาทั้งแปดถูกนำตัวจากกองปราบปรามไปที่ศาลทหารเพื่อฝากขัง ทนายจำเลยยื่นขอประกันตัวจำเลยทั้งหมดโดยวางหลักทรัพย์คนละ 100,000 บาท แต่ต่อมาศาลทหารมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยระบุเหตุผลว่าพฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรงและมีการทำเป็นขบวนการ ผู้ต้องหาชายเจ็ดคนจึงถูกนำไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพส่วนผู้ต้องหาหญิงอีกหนึ่งคนถูกนำไปควบคุมไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง
ความเคลื่อนไหวคดี 116 ที่น่าสนใจอื่นๆ: เลื่อนสืบพยานคดี บก.ลายจุด/ อัยการทหารไม่รับฟ้องคดีโพสต์ข้อความทุจริต ‘ราชภักดิ์’
นอกจากการจับกุมและตั้งข้อหาตามมาตรา 116 กับบุคคลรวมแปดคนจากการทำเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” ในเดือนนี้ยังมีความเคลื่อนไหวคดี 116 ที่น่าสนใจอีกสองเรื่อง ได้แก่ การสืบพยานโจทก์คดีสมบัติ บุญงามอนงค์ โพสต์ข้อความเชิญชวนคนออกไปชุมนุมต้านรัฐประหาร และกรณีอัยการทหารสั่งไม่ฟ้องคดี ‘แจ่ม’ ผู้ถูกกล่าวหาว่าโพสต์เรื่องทุจริตอุทยานราชภักดิ์
คดีของ สมบัติ บุญงามอนงค์ ศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 27 เมษายน 2559 อัยการทหารแถลงขอเลื่อนการสืบพยานออกไปอีกหนึ่งนัดเพราะ พ.ต.ท.สันติพัฒน์ พรหมะจุล ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ พยานโจทก์ติดราชการด่วน ศาลทหารเห็นว่ามีเหตุอันควรจึงอนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานปากนี้วันที่ 22 กรกฎาคม 2559 เวลา 8.30 น.
คดีของ “แจ่ม” อัยการนัดจำเลยมารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 เมื่อพนักงานสอบสวนเดินทางมาถึงศาลในเวลาประมาณ 12.00 น. อัยการทหารบอกกับ”แจ่ม”และพนักงานสอบสวนว่า คดีนี้หัวหน้าอัยการทหารเห็นว่าไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของพลเรือนก็ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร จึงคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนนำไปดำเนินคดีในศาลยุติธรรมต่อไป
ตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 จนถึงเดือนเมษายน 2559 มีผู้ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 รวมทั้งสิ้น 47 คน
ว่าด้วยเขตอำนาจศาล: พลเมืองรุกเดินสู้คดีต่อศาลทหาร ส่วนคดีของจาตุรนต์ให้แยกสำนวน
เดือนนี้มีคำสั่งเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลออกมาสองคดี ได้แก่ คดีพลเมืองรุกเดินของพันธ์ศักดิ์ และคดีของจาตุรนต์ ซึ่งถูกฟ้องรวมสามข้อหา ได้แก่ ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของ คสช. ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความและจัดแถลงข่าวเรื่องไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร
คดีของพลเมืองรุกเดิน พันธ์ศักดิ์ซึ่งถูกกล่าวหาว่าทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการจัดกิจกรรมเดินเท้าไปศาลทหารเพื่อรณรงค์ไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร ยื่นคัดค้านอำนาจศาลทหารในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 โดยให้เหตุผลสรุปได้ว่า ประกาศคำสั่ง คสช. รวมทั้งประกาศฉบับที่ 37/2557 เรื่องให้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนในความผิดบางประเภท ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี ในข้อ 14(1) เรื่องสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและข้อ 14(5) สิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลสูง หลังพันธศักดิ์ยื่นคำร้องคัดค้านเขตอำนาจศาล ศาลทหารแจ้งว่าจะทำความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาลส่งไปที่ศาลอาญา เมื่อศาลอาญาทำความเห็นกลับมาก็จะนัดพันธ์ศักดิ์และอัยการทหารมาฟังคำสั่งอีกครั้ง
ในวันที่ 1 เมษายน 2559 ศาลทหารนัดพันธ์ศักดิ์มาฟังคำสั่งเรื่องเขตอำนาจศาลซึ่งสรุปได้ว่า ประกาศ คสช.มีสถานะเป็นกฎหมายเนื่องจาก คสช.สามารถยึดอำนาจและควบคุมสถานการณ์ได้สำเร็จ ประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารจึงมีผลผูกพันคดีนี้ด้วย ศาลอาญาจึงเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร
คดีจาตุรนต์ ฉายแสง จาตุรนต์ถูก คสช.เรียกรายงานตัวแต่ไม่ยอมไปรายงานตัวตามคำสั่งทั้งยังใช้สื่อสังคมออนไลน์โพสต์ข้อความแสดงจุดยืนไม่รับอำนาจ คสช.และนัดผู้สื่อข่าวจัดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทยในวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 จาตุรนต์ยื่นคำร้องคัดค้านอำนาจศาลทหารในวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ระบุเหตุผลโดยสรุปได้ว่า คำสั่งเรียกจาตุรนต์เข้ารายงานตัวออกมาก่อนที่ประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารมีผลบังคับใช้ และแม้การกระทำตามข้อกล่าวหาเรื่องการโพสต์ข้อความ และการจัดแถลงข่าวจะเกิดภายหลังประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารมีผลบังคับใช้ แต่ประกาศดังกล่าวก็ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 4 ซึ่งรับรองสิทธิเสรีภาพของพลเมืองไทยที่เคยได้รับการคุ้มครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศรวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ไทยเป็นภาคีอยู่ เนื่องจากต่อมาศาลทหารและศาลอาญากรุงเทพใต้มีความเห็นขัดกันในเรื่องเขตอำนาจศาล จึงต้องส่งความเห็นของทั้งสองศาลไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอํานาจหน้าที่ระหว่างศาล (คณะกรรมการฯ) เป็นผู้ชี้ขาด
ในวันที่ 25 เมษายน 2559 ศาลทหารนัดจาตุรนต์มาฟังคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ เรื่องเขตอำนาจศาลซึ่งสรุปความได้ว่า คดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญากรุงเทพใต้ ส่วนคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร หลังอ่านคำวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาล ศาลทหารสั่งให้จำหน่ายคดีของจาตุรนต์ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวออกจากสารบบ ส่วนคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้นัดสอบคำให้การในวันที่ 1 มิถุนายน 2559 เวลา 8.30 น.
ความเคลื่อนไหวคดี 112: อัยการทหารสั่งฟ้องจำเลยคดียื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง – ทหารรวบบุรินทร์ หนึ่งในผู้ชุมนุม “ยืนเฉยๆ” จาก สน.ไปค่ายทหารก่อนตั้งข้อหา 112 – พ่วงข้อหา 112 กับสองผู้ต้องหาคดีเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์”
เดือนเมษายนไม่มีนัดสืบพยานคดี 112 แต่ก็มีความเคลื่อนไหวที่สำคัญเกิดขึ้นคืออัยการทหารมีคำสั่งฟ้องเสาร์ จำเลยที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการป่วยทางจิตแต่สู้คดีได้ กับกรณีที่ทหารนำตัวบุรินทร์ หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมใส่เสื้อขาวยืนเฉยๆ ซึ่งกำลังถูกพนักงานสอบสวนสอบกรณีร่วมชุมนุมไปค่ายทหาร ก่อนจะถูกนำตัวมาตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ในภายหลัง
คดีของเสาร์ เสาร์ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยการเขียนคำร้องยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 13 มีนาคม 2558 ทำนองว่า บุคคลสำคัญท่านหนึ่งสื่อสารกับเสาร์ผ่านทางโทรทัศน์ว่าให้ไปทวงเงินคืนจากทักษิณ เสาร์จึงไปยื่นคำร้องจนถูกดำเนินคดี ในชั้นสอบสวนขณะเสาร์ถูกคุมขังใกล้ครบกำหนดฝากขัง 84 วัน พนักงานสอบสวนขอให้ศาลส่งตัวเสาร์ไปตรวจอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ (สถาบันกัลยาฯ) ในภายหลังแพทย์มีความเห็นว่าเสาร์มีอาการป่วยทางจิตแต่สามารถสู้คดีได้ อัยการทหารจึงสั่งฟ้องเสาร์ในวันที่ 20 เมษายน 2559 เสาร์ได้รับการประกันตัวในวันเดียวกันด้วยหลักทรัพย์เป็นสลากออมสินมูลค่า 400,000 บาท
ภาพสเก็ตช์บรรยากาศในห้องอัยการทหาร กรมพระธรรมนูญ ระหว่างเสาร์รอฟังคำสั่งอัยการในคดี 112
คดีของบุรินทร์ บุรินทร์เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมใส่เสื้อขาวยืนเฉยๆ ที่อนุสาวรีย์ชัยเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 เพื่อเรียกร้องให้ คสช.ปล่อยตัวบุคคลเก้าคนที่ถูกควบคุมตัวในเช้าวันเดียวกัน บุรินทร์และพวกรวม 16 คน ซึ่งมีนักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เช่น อานนท์ นำภา พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และปกรณ์ อารีกุล จากขบวนการประชาธิปไตยใหม่รวมอยู่ด้วยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวจากบริเวณอนุสาวรีย์ชัยไปที่สถานีตำรวจพญาไทซึ่งเป็นเจ้าของท้องที่เพื่อทำการสอบสวน ขณะที่การสอบสวนกำลังดำเนินไปก็มีเจ้าหน้าที่ทหารเดินทางมาที่ สน.และควบคุมตัวบุรินทร์ออกไป
บุรินทร์อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารตั้งแต่คืนวันที่ 27 เมษายน จนถึง 29 เมษายนจึงถูกส่งตัวไปที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อตั้งข้อกล่าวหาก่อนจะถูกส่งตัวไปฝากขังที่ศาลทหารในวันที่ 30 เมษายน 2559 ขณะนี้บุรินทร์ยังไม่ได้ยื่นประกันตัวและถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งในเดือนเมษายนก็คือการตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เพิ่มเติมกับหฤษฏ์และณัฏฐิกา สองในแปดผู้ต้องหาคดีเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าเหตุที่ทั้งสองถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 คืออะไร แต่หฤษฏ์ หนึ่งในผู้ต้องหาให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวในทำนองว่า หลักฐานที่เจ้าหน้าที่นำมาให้ดูเป็นภาพที่แคปมาจากบทสนทนาในโปรแกรมแชทของเฟซบุ๊ก
อดีต ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทยเข้าพบทหารกรณีขันแดง – วัฒนานอนค่ายหลังไม่หยุดโพสต์เฟซบุ๊ก
สืบเนื่องจากกรณีเจ้าหน้าที่จับตัวหญิงถ่ายภาพกับขันแดงซึ่งมีลายเซ็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปตั้งข้อหาตามมาตรา 116 ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2559 ในเดือนเมษายน 2559 ได้มีการขยายผลโดยการบุกไปตรวจยึดขันแดงที่สำนักงานอดีต ส.ส.จังหวัดน่านพรรคเพื่อไทยสามคน ก่อนจะเรียก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีต ส.ส.จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย ไปที่ค่ายสุริยพงษ์ เพื่อพุดคุยถึงกรณียึดขันแดงในวันที่ 8 เมษายน 2559 โดยชลน่านเปิดเผยภายหลังว่าการพูดคุยมีบรรยากาศเป็นกันเองและไม่ตึงเครียด
ในกรณีของวัฒนา เมืองสุข การเรียกเข้ารายงานตัวแตกต่างจากกรณีของชลน่านเพราะมีความตึงเครียดมากกว่า ในวันที่ 13 เมษายน 2559 วัฒนาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กถึงกรณีที่สองพรรคใหญ่แสดงท่าทีจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ข้อความของวัฒนาทำให้ทหารติดต่อมาว่าจะมารับตัว วัฒนาแจ้งกับทหารว่าวันที่ 13 ไม่สะดวกให้คุมตัวแต่จะให้มารับตัว 14 แทนซึ่งก็ปรากฏว่ามีการนำกำลังทหารมารอวัฒนาที่บ้านพัก ในวันที่ 15 เมษายน วัฒนาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ขอให้ทหารที่ตรึงกำลังอยู่ที่บ้านถอนออกไปโดยตนจะเดินทางเข้าพบทหารที่ มทบ. 11 เองในวันที่ 18 เมษายน 2559
ในวันนัด วัฒนาเดินทางไปที่ มทบ.11 พร้อมบอกกับสื่อมวลชนก่อนเข้าค่ายว่า หากตนไม่ได้ออกจากค่ายทหารในเวลา 15.00 น. จะถือว่า คสช.ใช้อำนาจกักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งตนจะเดินหน้าดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องต่อไป ในช่วงค่ำวันที่ 20 เมษายน 2559 ซึ่งวัฒนายังคงอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร ตัวแทน คสช.เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนกองปราบฯ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษว่าวัฒนาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 39/2557 เรื่องห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง วัฒนาถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารในวันที่ 21 เมษายน 2559 และได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพในช่วงค่ำเมื่อศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว
ทหารขยัน รวบบุคคลเข้าค่ายสิบคนในวันเดียวก่อนเก้าคนถูกตั้งข้อหาหนัก
วันที่ 27 เมษายน มีกรณีเจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 เกิดขึ้นในวันเดียวกันถึงสองกรณี กรณีแรกเกิดขึ้นในช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ทหารนำกำลังเข้าจับกุมบุคคลรวมเก้าคนซึ่งถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำเพจต่อต้านรัฐบาลในเวลาไล่เลี่ยกัน ญาติของนพเก้า หนึ่งในผู้ถูกจับตัวเล่าว่า ช่วงประมาณ 7.00 น. ได้ยินเสียงคล้ายคนงัดประตูบ้าน เมื่อออกจากห้องนอนมาดูก็พบคนกำลังงัดแงะประตูบ้าน โดยมีกลุ่มบุคคลแต่งตัวคล้ายทหารเข้ามาหลายคน มาถามหานพเก้าและจับตัวไปโดยไม่แสดงหมายใดๆ ขณะที่ญาติของวรารัตน์ ผู้ถูกจับอีกคนหนึ่งก็เล่าว่า มีเสียงกดกริ่งที่บ้านหลายครั้ง และเห็นมีคนปีนเข้ามา พร้อมกับต่อว่าตนในทำนองว่าเปิดประตูช้าเพราะทำลายหลักฐานอยู่หรือ ก่อนจะควบคุมวรารัตน์พร้อมกับยึดคอมพิวเตอร์ไป ในภายหลังนิธิ หนึ่งในเก้าผู้ถูกจับได้รับการปล่อยตัวแต่อีกแปดคนถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
เจ้าหน้าที่นำผู้ต้องหาคดี เพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” ทั้งแปดมาฝากขังต่อศาลทหารในวันที่ 29 เมษายน 2559 ภาพจากเพจ Banrasdr Photo
ในช่วงเย็นวันเดียวกัน กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมใส่เสื้อขาวยืนเฉยๆ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับทั้งเก้าคน (ขณะนั้นนิธิยังไม่ถูกปล่อยตัว) ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ส่งผลให้มีผู้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวไปที่ สน.รวม 16 คน ระหว่างที่พนักงานสอบสวน สน.พญาไทกำลังทำการสอบสวนผู้ที่ถูกคุมตัวมาจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก็ปรากฏว่ามีทหารมาที่ สน.แล้วพาตัวบุรินทร์ หนึ่งใน 16 ผู้ถูกจับกุมออกไปจาก สน. ปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในผู้ถุกควบคุมตัวเล่าว่า เจ้าหน้าที่ทหารนำตัวบุรินทร์ออกจากห้องสอบสวนโดยไม่แจ้งพนักงานสอบสวน ไม่แจ้งสิทธิ หรือแจ้งข้อหาใดๆ บุรินทร์ถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังถูกคุมตัวในค่ายทหาร
สำหรับแปดผู้ต้องหาคดีเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” หลังถูกจับตัวเข้าค่ายทหารในวันที่ 27 เมษายน 2559 ก็ถูกควบคุมตัวมาฝากขังกับศาลทหารในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในวันที่ 29 เมษายน 2559 หลังศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา ในเวลาประมาณเที่ยง อานนท์ นำภา หนึ่งในทีมทนายโพสต์เฟซบุ๊กว่าได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องหาทั้งแปดด้วยเงินสดคนละ 100,000 บาท แต่ต่อมาปรากฏว่าศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยระบุว่า พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรงและมีการทำเป็นขบวนการ
พลเมืองโต้กลับนัด ‘ยืนเฉยๆ’ ทวงคืนวัฒนาและเก้าคนที่ถูก ‘อุ้ม’
หลังวัฒนา เมืองสุข ถูกควบคุมตัวข้ามคืนในค่ายทหาร กลุ่มพลเมืองโต้กลับโดย อานนท์ นำภา มีการนัดกันออกมาทำกิจกรรมใส่เสื้อขาวยืนเฉยๆ เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัววัฒนา เมืองสุข ในวันที่ 19 เมษายน เจ้าหน้าที่วางกำลังบริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตั้งแต่ช่วงก่อนเวลาหกโมงเย็นซึ่งเป็นเวลานัดหมาย เมื่ออานนท์และกลุ่มผู้ทำกิจกรรมมาที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยได้ครู่หนึ่งก็ถูกพาตัวไปที่ สน.พญาไทก่อนจะถูกปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา เนื่องจากในวันที่ 20 เมษายน วัฒนายังไม่ได้รับการปล่อยตัว กลุ่มพลเมืองโต้กลับจึงจัดกิจกรรมใส่เสื้อขาวยืนเฉยๆ อีกครั้งที่สกายวอล์ค บีทีเอสช่องนนทรี ครั้งนี้หลังสิรวิชญ์หรือ ‘จ่านิว’ อ่านแถลงการณ์เสร็จก็ถูกพาตัวพร้อมกับพวกรวมห้าคนไปที่ สน.ยานาวาเจ้าของท้องที่ ภายหลังทั้งห้าได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหาแต่เจ้าหน้าที่ขอให้ลงบันทึกประจำวันและทำข้อตกลงว่าหากจะจัดกิจกรรมต้องแจ้งตำรวจเจ้าของท้องที่ล่วงหน้า 24 ชม. กลุ่มพลเมืองโต้กลับประกาศนัดหมายว่าจะจัดกิจกรรมยืนเฉยๆ อีกครั้งในวันที่ 21 เมษายน ที่สกายวอล์คช่องนนทรี พร้อมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ยานนาวาล่วงหน้าไว้ แต่เนื่องจากวัฒนาได้รับการปล่อยตัวจากการควบคุมของทหารในวันที่ 21 เมษายน กิจกรรมจึงถูกยกเลิกไป
กลุ่มพลเมืองโต้กลับนัดจัดกิจกรรมยืนเฉยๆ อีกครั้งในเย็นวันที่ 27 เมษายน 2559 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อมีการจับกุมบุคคลเก้าคนไปคุมตัวในค่ายทหารในช่วงเช้าวันเดียวกัน ในการจัดกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ชัยครั้งนี้ อานนท์ นำภา พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และพวกปรากฏตัวที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ได้เพียงสามนาทีก็ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.พญาไท อานนท์ นำภา ถูกพนักงานสอบสวน สน.พญาไทตั้งข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมคนอื่นอีก 15 คนไม่ถูกพนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหาใดๆ อย่างไรก็ตาม ขณะที่การสอบสวนกำลังดำเนินไปก็มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบสองคนเข้ามาที่ สน.และควบคุมตัวบุรินท์ หนึ่งในผู้ชุมนุมออกไปโดยไม่ทราบสาเหตุ บุรินทร์ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ในภายหลัง ในวันที่ 28 เมษายน 2559 กลุ่มพลเมืองโต้กลับนัดจัดกิจกรรมยืนเฉยๆ อีกครั้งที่สกายวอล์ค บีทีเอสช่องนนทรี ครั้งนี้มีเพียงสิรวิชญ์ที่ถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ยานนาวาก่อนจะถูกปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา
สิรวิชญ์หรือ ‘จ่านิว’ ถ่ายภาพร่วมกับผู้มาให้กำลังใจที่หน้า สน.ยานนาวา หลังได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา กรณีร่วมกิจกรรมยืนเฉยๆ ที่สกายวอล์คบีทีเอสช่องนนทรี เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแอดมินเพจ “เรารัก พล.อ.ประยุทธ์” ทั้งแปดคน ในวันที่ 28 เมษายน 2559
ในภาพรวมถือว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดการกับการชุมนุมของกลุ่มพลเมืองโต้กลับได้อย่างละมุนละม่อม ยกเว้นกรณีการควบคุมตัวนัชชชา กองอุดม ในวันที่ 27 เมษายน ซึ่งเจ้าตัวโพสต์ข้อความว่า เจ้าหน้าที่ใช้คำพูดไม่เหมาะสมระหว่างควบคุมตัว และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ออกมากล่าวขอโทษในภายหลัง ไม่มีการใช้กำลังหรือการตั้งข้อหาร้ายแรง อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่จะยอมผ่อนปรนให้มีการจัดกิจกรรมหากสังเกตจากวิธีการที่มีการปิดพื้นที่และควบคุมตัวผู้เป็นแกนนำจัดกิจกรรมออกไปกักไว้ที่ สน.อย่างรวดเร็ว
พ.ร.บ.ประชามติฯ มีผลบังคับใช้แล้ว จับแล้วหนึ่งราย
วันที่ 22 เมษายน 2559 มีการประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) ในราชกิจจานุเบกษา โดยมีการบัญญัติโทษผู้กระทำการต่างๆ เช่น การเผยแพร่ข้อความ ภาพ หรือเสียง ในช่องทางต่างๆ ในลักษณะที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ไว้ที่จำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในวันที่ 26 เมษายน สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวตอนหนึ่งว่า ในวันที่ 27 เมษายน 2559 จะเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษกับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ รายหนึ่ง ซึ่งกรรมการ กกต.เป็นผู้ประสบเหตุเอง แต่ยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเป็นผู้ใด ต่อมาในช่วงค่ำวันที่ 27 เมษายน 2559 พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทน ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แถลงข่าวการจับกุม จีรพันธุ์ ตันมณี ประธานกองทุนรัฐวัฒน์ตันมณีเพื่อสิทธิคนออทิสติก โดยมีการกล่าวหาว่า จีรพันธุ์โพสต์เฟซบุ๊กด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรง เชื่อมโยงไปสู่การชี้นำว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จีรพันธุ์ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนด้วยเงินสด 200,000 บาท