22 พฤษภาคม 2557 คณะทหารในนาม “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ยึดอำนาจจากรัฐบาลของยิ่่งลักษณ์ ชินวัตร โดยให้เหตุผลว่า มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีประชาชนเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินต่างๆ จึงจำเป็นที่จะต้องยึดอำนาจ เพื่อระงับเหตุดังกล่าว
หลังการรัฐประหาร มีคนอย่างน้อย 751 คน ถูกคสช.เรียกรายงานตัว มีคนอย่างน้อย 428 คนถูกจับกุม บางคนถูก “ปรับทัศนคติ” เพื่อให้เข้าใจถึงความจำเป็นในการยึดอำนาจแล้วได้รับการปล่อยตัว ขณะที่อีกอย่างน้อย 163 คนถูกดำเนินคดีทางการเมือง ขณะเดียวกัน คสช. ก็ประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง ประกาศจำกัดกรอบการทำงานของสื่อมวลชน ประกาศให้ดำเนินคดีประชาชนในศาลทหาร ขณะที่การจัดกิจกรรมสาธารณะถูกปิดกั้น-แทรกแซง อย่างน้อย 71 ครั้ง
ประมวลภาพการเรียกบุคคลรายงานตัว
ในระยะเวลา 1 ปี หลังการรัฐประหาร ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 บุคคลอย่างน้อย 751 คน ถูกคสช. เรียกให้เข้ารายงานตัวด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งประกาศเรียกอย่างเป็นทางการผ่านวิทยุและโทรทัศน์ และการเรียกเข้ารายงานตัวอย่างไม่เป็นทางการ การโทรศัพท์มาเชิญไปรับประทานอาหารหรือกาแฟ และการส่งทหารไปเชิญที่บ้าน [อ่านวิวัฒนาการของการเรียกตัว และการเยี่ยมเยียน ภายใต้กฎอัยการศึก คลิกที่นี่]
หากจำแนกประเภทของบุคคลจะพบว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดง ถูกเรียกตัวมากที่สุด อย่างน้อย 278 คน ขณะที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่ม กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) และกลุ่มคปท. (เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย) ถูกเรียกอย่างน้อย 41คน นอกจากนี้ก็มีนักวิชาการ นักกิจกรรม นักศึกษา นักเขียนและสื่อมวลชน ถูกเรียกรายงานตัวอีกอย่างน้อย 176 คน คนที่เข้ารายงานตัวกับคสช. ส่วนใหญ่ต้องเซ็นข้อตกลงซึ่งกำหนดห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือต้องขออนุญาตคสช.ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ
มีอย่างน้อย 22 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหาหลังเข้ารายงานตัว ซึ่ง 6 คน ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดูเหมือนว่า การเรียกบุคคลรายงานตัว นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ “ปรับความเข้าใจ” หรือสร้างเงื่อนไขไม่ให้กลุ่มคนที่เห็นต่างจากคสช.เคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว ยังถูกใช้เป็นทางลัดในการตามตัวบุคคลมาดำเนินคดีอีกด้วย [ดูตารางข้อมูลคนถูกตั้งข้อหาทางการเมืองหลังการรัฐประหาร คลิกที่นี่]
ในจำนวนนี้มีผู้ต้องหาอย่างน้อยสองคนน่าจะเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว คือ พ.ต.อ.อัครวุฒิ์ หลิมรัตน์ และ สุรกริช ชัยมงคล
ปรากฎการณ์ใหม่ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดี 112 หลังการรัฐประหาร
การดำเนินคดีบุคคลสำคัญด้วยมาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันฯ
เท่าที่บันทึกได้ก่อนการรัฐประหาร มีการดำเนินคดีบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าแอบอ้างสถาบันฯเพื่อเรียกรับผลประโยชน์เพียง 2 คดีเท่านั้น คือคดีของอัศวิน และคดีของประจวบ แต่หลังการรัฐประหาร ปรากฎว่ามีบุคคลอย่างน้อย 30 คน ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันเพื่อเรียกรับผลประโยชน์
เริ่มตั้งแต่การจับกุม ชัยรินทร์ เลขาธิการสำนักงานเทิดไท้องค์ราชัน ในเดือนพฤศจิกายน 2557 ตามมาด้วยการจับกุมนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อย่าง พล.ต.ท. พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ และ พล.ต.ต. โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ ในเดือนเดียวกัน นอกจากนั้นก็มีบุคคลสำคัญอีกหลายคน ซึ่งเป็นญาติของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี ก็ถูกจับกุมและดำเนินคดีด้วยมาตรา 112
ดูรายงานพิเศษเกี่ยวกับการใช้กฎหมาย 112 ดำเนินคดีบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าแอบอ้างสถาบัน <คลิกที่นี่> และ รายชื่อผู้ที่ถูกดำเนินคดี 112 จากการแอบอ้างเท่าที่รวบรวมได้ <คลิกที่นี่>
จำนวนนักโทษ 112 พุ่งขึ้น ทั้งจับรายบุคคลและกวาดล้างกลุ่มวิทยุอินเทอร์เน็ต
ในช่วงเวลา 1 ปีหลังการรัฐประหาร มีการตั้งข้อหาบุคคลตามมาตรา 112 จากการแสดงออก อย่างน้อย 46 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับบรรยากาศก่อนการรัฐประหารที่มีนักโทษ 112 อยู่ในเรือนจำ 5 คน และมีคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่อีก 5 คดี
การจับกุมครั้งใหญ่ คือ การกวาดล้าง “เครือข่ายบรรพต” ซึ่งจัดทำและเผยแพร่คลิปเสียงรายการวิจารณ์การเมือง มีผู้ถูกจับกุมและถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเครือข่ายนี้อย่างน้อย 16 คน เริ่มจากกรณีของเฉลียว ที่ถูกเรียกให้เข้าไปรายงานตัวกับคสช. และถูกดำเนินคดีโดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อัพโหลดคลิปบรรพตขึ้นในเว็บฝากไฟล์ ต่อมาศาลอาญาพิพากษาให้จำคุก 3 ปี รอลงอาญา หลังจากนั้นมีการจับกุม “กวี” ซึ่งต่อมาถูกปล่อยตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ
ต่อมาในช่วงต้นปี 2558 หัสดิน ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของเสียง “บรรพต” และผู้เกี่ยวข้องรวม 14 คน ถูกจับกุม เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 ผู้ต้องหา 12 คนถูกอัยการทหารยื่นฟ้องรวมเป็นคดีเดียวกัน ขณะที่ธารา และ “ชบา” ถูกฟ้องแยกต่างหากเป็นอีกสองคดี ซึ่งคดีทั้งหลายยังอยู่ระหว่างการรอวันนัดจากศาลทหาร ซึ่งคลิปเสียง “บรรพต” นั้นเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตกว่า 400 ตอนมาตั้งแต่ปี 2553 แล้วแต่เพิ่งมีการจับกุมในช่วงเวลาดังกล่าว
คนอีกอย่างน้อย 5 คนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หลังถูกเรียกรายงานตัว ได้แก่ ธานัท, คฑาวุธ, “จักราวุธ”, สิรภพ และ จ่าประสิทธิ์ ขณะที่ผู้ต้องหาตามมาตรา 112 อีกจำนวนมากถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ถูกควบคุมตัว และสอบสวนภายใต้กฎอัยการศึก เช่น พงษ์ศักดิ์, ชโย, อานนท์, เธียรสุธรรม, โอภาส, ปติวัฒน์ เป็นต้น
ศาลทหารเพิ่มการลงโทษคดี 112 อีกเท่าตัว
กฎหมายอาญามาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกไว้ระหว่าง 3-15 ปี ในทางปฏิบัติ ศาลยุติธรรมมักจะลงโทษจำคุก 5 ปี ต่อความผิด 1 กรรม
หลังการรัฐประหาร มีการประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนบางประเภท รวมทั้งคดี 112 ซึ่งในรอบ 1 ปี หลังการรัฐประหาร ศาลทหารมีคำพิพากษาคดี 112 ที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นออกมาแล้วอย่างน้อย 4 คดี ได้แก่ คดีของคฑาวุธ, “สมศักดิ์ ภักดีเดช”, เธียรสุธรรม และโอภาส ซึ่งในคดีของคฑาวุธและคดีของเธียรสุธรรม ศาลทหารลงโทษจำคุกจำเลยความผิดกรรมละ 10 ปี คดีของ”สมศักดิ์ ภักดีเดช” ศาลลงโทษจำเลยความผิดกรรมละ 9 ปี ส่วนคดีของโอภาส ศาลลงโทษจำเลยกรรมละ 3 ปี
จะเห็นได้ว่า ศาลทหาร เพิ่มอัตราการลงโทษคดี 112 จากศาลพลเรือนขึ้นไปอีกเท่าตัว คดีของเธียรสุธรรม ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กรวม 5 ข้อความ ถูกลงโทษรวม 50 ปี ก่อนจะได้ลดโทษเหลือ 25 ปี เพราะรับสารภาพ เป็นคดี 112 ที่มีการลงโทษสูงที่สุด เท่าที่ iLaw เคยบันทึกมา
จับกุมและดำเนินคดี คนป่วยทางจิต
มีผู้ต้องหาตามมาตรา 112 อย่างน้อย 3 คนที่ถูกจับกุมหลังการรัฐประหารและถูกส่งไปตรวจอาการทางจิต แต่ยังคงถูกคุมขังและดำเนินคดี คือ “ธเนศ”, สมัคร และประจักษ์ชัย กรณีของ “ธเนศ” และ ประจักษ์ชัย นั้นมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเคยพบตัวและพูดคุยแล้วแต่ตัดสินใจไม่จับกุมเพราะสังเกตเห็นอาการไม่ปกติจากการพูดคุย แต่มาถูกจับกุมและดำเนินคดีอีกครั้งในยุคหลังการรัฐประหาร น
ในกรณีของ “ธเนศ” มีผลตรวจจากแพทย์ยืนยันแล้วว่าเป็นโรคจิตหวาดระแวง แต่เมื่อขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เงินสด 300,000 บาท ศาลก็ยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว
การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและการจัดกิจกรรมสาธารณะหลังการรัฐประหาร
หลังรัฐประหาร คสช.ออกประกาศฉบับที่ 7/2557 ห้ามการชุมนุมทางการเมืองและกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับสำหรับผู้ฝ่าฝืน ช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนมิถุนายน 2557 มีการจัดกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารหลายครั้ง มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 63 คน และถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมอย่างน้อย 24 คน แนวคำพิพากษาที่ออกมาเน้นการรอลงอาญา ยังไม่ปรากฎว่ามีจำเลยคนใดต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษา หลังเดือนมิถุนายน กระแสการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารซาลง จนกระทั่งมีกิจกรรมของกลุ่ม “พลเมืองโต้กลับ” ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งผู้จัดและผู้ร่วมกิจกรรมอีก 4 คน ถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมด้วย
16 มีนาคม 2558 ผู้ต้องหาคดีเลือกตั้งที่รักทั้ง 4 ร่วมร้องเพลงกับนักศึกษาที่มาให้กำลังใจที่หน้าศาลทหาร หลังได้รับการปล่อยตัวเพราะศาลไม่อนุญาตให้ฝากขัง
ห้ามจัด-ขอพูดด้วยคน การแทรกแซงการชุมนุมหรือการจัดกิจกรรมสาธารณะโดยทหาร
กิจกรรมสาธารณะที่ไม่ใช่การชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร เช่น การเสวนาวิชาการ กิจกรรมละคร หรือกิจกรรมฉายหนัง แม้จะไม่ได้ถูกห้ามตามประกาศของคสช. แต่ก็ถูกปิดกั้นหรือแทรกแซงเช่นกัน
จากการเก็บข้อมูล พบว่าในเวลา 1 ปี นับจากการรัฐประหาร มีการปิดกั้น แทรกแซง การชุมนุมสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเกิดขึ้นอย่างน้อย 71 ครั้ง แบ่งเป็นชุมนุมสาธารณะ 22 ครั้ง และเวทีเสวนาวิชาการและกิจกรรมสาธารณะอื่นๆ 49 ครั้ง ประเด็นที่ถูกปิดกั้นหรือแทรกแซงมากที่สุด ได้แก่ ประเด็นประวัติศาสตร์และการเมือง 33 ครั้ง รองลงมาเป็นเรื่องที่ดินและสิทธิชุมชน 12 ครั้ง
รูปแบบการปิดกั้นหรือแทรกแซงที่เกิดขึ้น อาจขึ้นอยู่กับประเด็นของงาน เช่น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือทหาร มักจะถูกห้ามจัด เช่น เวทีเสวนาเรื่อง การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ ซึ่งจัดโดย กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย หรือ LLTD ที่ต้องยุติลงกลางคัน หรืองานเสวนาเรื่อง “ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง” ซึ่งจัดโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็ถูกสั่งให้เลื่อนไปก่อน เช่นเดียวกัน
สำหรับกิจกรรมที่ถูกแทรกแซงด้วยรูปแบบอื่นๆ เช่น กิจกรรมเสวนาเรื่อง “สิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้ ร่างพ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์” ที่จัดโดยห้องสมุดสันติประชาธรรม มีทหารในเครื่องแบบมาฟังและบันทึกภาพและเสียงโดยตลอด ที่สำคัญนายทหารคนหนึ่งยังขอร่วมเป็นวิทยากรบนเวทีด้วย ขณะทีงานเสวนาเรื่อง “EIA นามูล: ความไม่เป็นธรรมของปิโตรเลียมบนบกอีสาน” ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็จัดภายใต้เงื่อนไข 3 ประการ คือ ไม่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล คสช. ไม่แสดงสัญลักษณ์ต่อต้าน และต้องเชิญเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าร่วมงานด้วย
พ.ร.บ. ความสะอาด: เสรีภาพใช้ได้…ถ้าจ่ายค่าปรับ
ในยุคของรัฐบาลคสช. มีการนำกฎหมายซึ่งมีโทษเล็กน้อยอย่าง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพการแสดงออกด้วย โดยวัตถุประสงค์ของการใช้กฎหมายนี้ ไม่ใช่การมุ่งดำเนินคดีเพื่อลงโทษให้หนัก แต่ใช้เพื่อทำให้ผู้ใช้เสรีภาพมีภาระมากขึ้น
จากการสังเกตการณ์ พบว่ามีอย่างน้อย 4 กรณี ที่ผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก ถูกเปรียบเทียบปรับ ตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ ได้แก่ กรณีญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายชุมนุมปี 53 โปรยใบปลิวเรียกร้องความเป็นธรรม โดยถูกปรับในอัตราสูงสุด 5,000 บาท กรณีที่นักศึกษาแขวนป้ายผ้า รำลึกถึงการรัฐประหาร 19 กันยา ที่สะพานลอย หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์์ไทยรัฐ กรณีนักศึกษาแขวนป้ายวิจารณ์การรัฐประหาร 19 กันยา บนสะพานลอยข้ามถนนพญาไท ทั้งสองกรณีนักศึกษาถูกเปรียบเทียบปรับคนละ 1,000 บาท กรณีพลวัฒน์ โปรยใบปลิวต้านรัฐประหารที่จ.ระยอง ถูกปรับ 500 บาท
การดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับชาวบ้านที่มีข้อพิพาทกับทหาร
จากการเก็บข้อมูลพบว่า มีอย่างน้อย 3 กรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกรณีชาวบ้านโพสต์ภาพถ่ายหรือคลิปวีดีโอที่เจ้าหน้าที่มีการพิพาทกับชาวบ้าน
4 มกราคม 2558 ไมตรี ซึ่งเป็นชาวลาหู่ ถูกดำเนินคดีแจ้งความดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังโพสต์วิดีโอคลิปการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับทหาร ซึ่งในวิดีโอ มีการกล่าวหาว่าทหารตบหน้าชาวบ้าน กรณีนี้เกิดจากการที่มีชายแต่งกายคล้ายทหารเข้าไปในหมู่บ้านกองผักปิ้ง ในจังหวัดเชียงใหม่แล้วตบหน้าชาวบ้านที่นั่งผิงไฟอยู่ ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้มีการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ จนนำไปสู่การประชุมร่วมกันและการบันทึกวิดีโอที่นำมาสู่การดำเนินคดี
23 มีนาคม 2558 สารวัตรกำนันที่ ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านนามูล-ดูนสาดที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด 2 ราย ในข้อหาหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากมีการโพสต์รูปถ่ายสารวัตรกำนันลงในเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว และมีผู้ใช้เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นที่อาจเข้าข่ายดูหมิ่นใส่ความผู้เสียหาย
ทั้งนี้ หลังรัฐประหารในช่วงเดือนมกราคม 2558 เริ่มมีทหารเข้ามาในบ้านนามูล-ดูนสาดเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนย้ายอุปการณ์ขุดเจาะเข้าไปในพื้นที่
24 มีนาคม 2558 กอ.รมน.จังหวัดชัยภูมิ เรียกตัว อดิศักดิ์ ลูกจ้างของหน่วยควบคุมไฟป่า เข้าพบเพื่อสอบถามถึงกรณีมีภาพถ่ายทหารที่เข้าไปยังที่ทำกินของชาวบ้านคำน้อย จ.ชัยภูมิ ถูกนำไปโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กสมัชชาคนจน พร้อมแถลงการณ์ระบุว่า เจ้าหน้าที่บังคับให้ชาวบ้านเซ็นชื่อในเอกสารยินยอมคืนพื้นที่ อดิศักดิ์ยอมรับว่าเป็นผู้ถ่ายภาพจริง แต่ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ ต่อมาอดิศักดิ์ถูกพาตัวไปที่สภ.เมืองชัยภูมิ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ทั้งนี้ การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติตาดโตนทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของชาวบ้านคำน้อย หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติตาดโตนจึงร่วมกับชาวบ้านดงคำน้อยทำแนวเขตผ่อนผัน แต่หลังจาก คสช. มีคำสั่งฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 เพื่อปราบปรามการทำลายทรัพยากรป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานและทหารก็ดำเนินนโยบายทวงคืนพื้นที่ป่า โดยไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
[อ่านรายงานสรุปสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออก ปี2557 คลิกที่นี่]