คดีเสรีภาพปี 2556 : ปีแห่งศาลอุทธรณ์และศาลสูง

เวลาเดินผ่านไปอย่างรวดเร็วจนใกล้จะหมดปี 2556 แล้ว หากย้อนมองดูสถานการณ์ด้านเสรีภาพนับตั้งแต่มกราคมจนถึงตุลาคม แม้ยังไม่ครบปีแต่ก็พอเห็นได้ว่าปีนี้เป็นปีที่สถานการณ์เสรีภาพมีความแปรปรวนอย่างมาก นักโทษจากคดีเสรีภาพจำนวนหนึ่งได้รับเสรีภาพทางกาย คือได้รับการปล่อยตัวจากการคุมขังในเรือนจำ ทั้งโดยสู้คดีชนะในศาลชั้นต้นและได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการละเมิดกรณีใหม่ๆ เกิดขึ้น คดีทางการเมืองหลายคดีที่น่าจะจบ เพราะตำรวจสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลชั้นต้นยกฟ้องไปแล้ว แต่สำนักงานอัยการมักมีคำสั่งให้ทบทวนคดี หรืออุทธรณ์คดีต่อ และเมื่อถึงชั้นศาลอุทธรณ์ ก็มีคำพิพากษากลับ ให้ลงโทษใน “ทุก” คดี 

การปิดกั้นเว็บไซต์ การแบนสื่อ การเรียกสื่อไปตักเตือน การตั้งกรรมการตรวจสอบสื่อหลังเสนอประเด็นกระทบความมั่นคง และการฟ้องสื่อ เป็นการกระทำของหน่วยงานรัฐที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ปัญหาเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ คือ แก้ในระดับกฎหมายและนโยบายเลยในรอบปีที่ผ่านมา

รายงานชิ้นนี้ รวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นในปี 2556 (นับตั้งแต่มกราคมถึงตุลาคม) ถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงานเสรีภาพประจำปีฉบับสมบูรณ์ที่จะเผยแพร่ในเดือนเมษายน 2014 

การบล็อคและแบนสื่อ

การปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ในประเทศไทย ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของกระทรวงไอซีที นับแต่มกราคมถึงตุลาคม 2556กระทรวงไอซีทีมีคำร้องให้ศาลอนุญาตให้ปิดกั้นเว็บไซต์ทั้งสิ้น 48 ฉบับ ส่งผลให้ปิดกั้นเว็บไซต์จำนวนทั้งสิ้น 4,587 ยูอาร์แอล โดยยูอาร์แอลร้อยละ 88 เป็นเรื่องการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ฯ

ลักษณะการปิดกั้นเว็บไซต์ในปี 2556 แตกต่างจากปีก่อนหน้า ตรงที่จำนวนเว็บไซต์ที่ขอปิดกั้นในคำร้องแต่ละฉบับมีจำนวนน้อยลง คือเป็นจำนวนหลักสิบหรือสูงสุดที่คำร้องละ 600 URLs ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงหากเทียบกับคำร้องใน 2-3 ปีก่อนหน้านี้ที่คำร้องหนึ่งๆ มีผลให้ปิดกั้นได้คราวละหลายพันยูอาร์แอล อย่างไรก็ดี คำสั่งศาลที่อนุญาตให้ปิดกั้นเว็บไซต์ได้มีลักษณะแตกต่างจากปีก่อนหน้า ตรงที่ระบุไว้ด้วยว่า หากภายหลังมีการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ และ/หรือข้อความในลักษณะเดียวกันซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อีกไม่ว่าจะในยูอาร์แอลอื่นก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้โดยไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องใหม่

สถานการณ์เสรีภาพของสื่อโทรทัศน์ก็น่าจับตามอง เพราะเป็นปีทีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ออกมาแสดงแสนยานุภาพหลายอย่าง สถานการณ์วงการทีวีในปีนี้ มีทั้งกรณีที่เจ้าของสถานีสั่ง “ห้ามออกอากาศ” ไม่ว่าจะเป็นการห้ามเด็ดขาด หรือชะลอการออกอากาศ รวมทั้งการใช้อำนาจของกสทช.สั่งปรับรายการโทรทัศน์ที่ฝ่าฝืนมาตรา 371 ซึ่งกำหนดขอบเขตเนื้อหาของรายการที่ห้ามออกอากาศ

เริ่มตั้งแต่ต้นปี ละคร “เหนือเมฆ 2” ว่ากันว่าเนื้อหาพาดพิงถึงนักการเมืองถูกระงับออกอากาศสามตอนสุดท้ายแบบสายฟ้าแล่บ โดยสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 สั่งระงับเอง ต่อมาในเดือนมีนาคม รายการ “ตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 5” ถูกผู้บริหารสถานีไทยพีบีเอสสั่งระงับออกอากาศหลังมีกลุ่มประชาชนที่ไม่พอใจเนื้อหาของตอนก่อนหน้าที่มีการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ แต่ต่อมาก็นำมาออกอากาศภายหลัง คล้ายกับกรณีรายการ “ฅนค้นฅน ตอน ศศิน เฉลิมลาภ 388 กม. จากป่าสู่เมือง” ซึ่งถูกระงับโดยสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ด้วยเหตุผลว่า รายการนำเสนอข้อมูลด้านเดียว อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง และภายหลังได้ออกอากาศ

นอกจากการตัดสินใจเซ็นเซอร์ตัวเองของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์แล้ว ยังมีความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. (หน่วยงานย่อยใน กสทช.) กรณีแรกคือ การสั่งปรับรายการ “ปากโป้ง” ที่ออกอากาศทางช่องของบริษัทอาร์เอสเป็นเงิน 500,000 บาท จากการออกอากาศเทปสัมภาษณ์เด็กออทิสติกที่ถูกครูข่มขืน โดยกสท.เห็นว่ามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม กรณีที่สอง คือ การออกแถลงการณ์ว่าการ์ตูนเรื่อง “ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ ภาค 2” ที่ออกอากาศทางช่องแก๊งการ์ตูน มีฉากไม่เหมาะสม ซึ่งกำลังพิจารณาบทลงโทษต่อไป และกรณีที่สาม คือ การเรียกผู้สร้างละครเรื่อง “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ซีรียส์วัยรุ่นชื่อดังทางช่องวันแชนแนลเข้าไปพูดคุยแต่ยังไม่มีคำสั่งอะไรออกมา

ด้านวงการภาพยนตร์ไทยมีความครึกครื้น จากเดิมที่ไม่ค่อยพบหนังไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองมากนัก ในปี 2556 มีภาพยนตร์การเมืองออกมาถึงสองเรื่อง และทั้งสองเรื่องก็มีปัญหาต้องเผชิญกับคณะกรรมการภาพยนตร์เช่นกัน เมื่อเดือนเมษายน ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” ซึ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทยกัมพูชา ได้รับคำสั่ง “ห้ามฉาย” ก่อนที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์จะกลับคำสั่งในอีกสองวันถัดมาเปลี่ยนให้เป็นเรต “18+” ในเวลาไล่เลี่ยกัน ภาพยนตร์สารคดี “ประชาธิปไทย” ซึ่งกำกับโดย เป็นเอก รัตนเรือง และ ภาสกร ประมูลวงศ์ ก็ถูกสั่งให้ดูดเสียงออกทั้งหมด 5 จุดที่พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ก่อนจะได้รับเรต “ทั่วไป” 

คดีมาตรา 112 ในปีแห่งศาลอุทธรณ์และศาลสูง

ภาพรวมคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 ยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก หากมองย้อนจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองระยะหลัง จะพบว่าช่วงปี 2552-2553 เป็นระยะเวลาที่มีประชาชนถูกฟ้องมาตรา 112 จำนวนมาก หรือเป็นระยะเริ่มต้นของคดี ปี 2554-2555 เป็นปีที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาในหลายคดี และปัจจุบัน ปี 2556 ก็ถึงเวลาของศาลอุทธรณ์และศาลสูง 

แม้ดูเหมือนบรรยากาศจะคลี่คลายเพราะมีนักโทษทางความคิด 3 ราย ได้รับพระราชทานอภัยโทษ (วันชัยธันย์ฐวุฒิ-นปช.ยูเอสเอ และ สุรชัย แซ่ด่าน) แต่ความน่ากังวลของคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในปีนี้คือ ยังมีคดีใหม่ๆ เกิดขึ้น ส่วนบรรดาคดีที่พนักงานสืบสวนสอบสวนสั่งไม่ฟ้องแล้วนั้น สำนักงานอัยการก็ยังมีคำสั่งให้ทบทวนข้อมูลเพิ่มเติม หรือคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำตัดสินแล้วนั้น สำนักงานอัยการจะอุทธรณ์คดี โดยช่วงปีที่ผ่านมาพบว่า ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยใน “ทุก” คดี

การจับกุมผู้ต้องหาตามมาตรา 112 รายใหม่ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ได้แก่ กรณีนายกิตติธน ผู้เล่นเว็บบอร์ดอินเทอร์เน็ตฟรีดอม ถูกกำลังตำรวจเกือบ 20 คันรถบุกเข้าจับกุมเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่คดีเก่าๆ ที่ค้างอยู่ในชั้นตำรวจหลายปีแล้วก็เหมือนถูกลมอะไรพัดให้กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง เช่น คดีคนขายหนังสือกงจักรปีศาจ ที่ถูกจับตั้งแต่ปี 2549 สำนักงานอัยการก็เพิ่งสั่งฟ้องในเดือนสิงหาคม คดีก้านธูป นักเรียนที่มีชื่อเสียงในเว็บบอร์ดการเมืองซึ่งเคยถูกแจ้งข้อหาเมื่อปี 2553 แม้พนักงานสืบสวนสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีแล้วแต่สำนักงานอัยการก็สั่งให้ทบทวนโดยให้พนักงานสอบสวนหาข้อมูลเพิ่มเติม คดีของนายสุรชัย แซ่ด่าน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ปราศรัยที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2554 ทางดีเอสไอก็เพิ่งมาแจ้งข้อกล่าวหาในเดือน กรกฎาคม 2556

สำหรับคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลสูง ผลออกมาพบว่า มีทั้งกรณีที่ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นเคยให้ยกฟ้องมาเป็นให้ลงโทษ เช่น คดีสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งปราศรัยในการชุมนุมพันธมิตรฯ (จำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา ได้ประกันตัว) และคดีนพวรรณ-เบนโตะ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความในเว็บบอร์ดประชาไท (จำคุก 5 ปีไม่รอลงอาญา ได้ประกันตัว) และกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นสั่งให้จำคุกจำเลย ดังกรณีคดีดา ตอร์ปิโด ซึ่งปราศรัยในที่สนามหลวง (จำคุก 15 ปี ไม่รอลงอาญา ไม่ได้ประกันตัว) และคดีอิบราฮิม นักการหุ้นชาวซาอุดิอาระเบีย ที่แพร่ข่าวหุ้นตก (จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ไม่ได้ประกันตัว)

ด้านศาลฎีกาก็มีคำพิพากษาออกมาอย่างน้อย 2 คดี คือ คดีเจ๊แดง โคราช หรือ นางสาวปภัสชนัญญ์ ซึ่งเผาโลงศพที่มีป้ายผ้าข้อความบุคคลชั้นสูง (จำคุก 3 ปี) โดยยืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ คดีณัชกฤษ หรือที่รู้จักกันในนาม คดีหมิ่นอดีตกษัตริย์ฯ ซึ่งเป็นการจัดรายการวิทยุกล่าวพาดพิงบรรยากาศสังคมในยุครัชกาลที่ 4 (จำคุก 2 ปี รองลงอาญา)

กล่าวได้ว่า ดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลสูงถูกพิพากษาลงโทษในทุกคดี การที่ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาในคดีสนธิ ลิ้มทองกุล และคดีนพวรรณ-เบนโตะนั้น ลากให้สังคมกลับเข้าสู่ความหวาดกลัวต่อมาตรา 112 มากขึ้น โดยเฉพาะในคดีสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ศาลวางบรรทัดฐานว่า การนำเอาข้อความที่ผิดมาเผยแพร่ซ้ำไม่ว่าด้วยเจตนาใด เมื่อทำให้ประชาชนรับรู้มากขึ้น ก็เป็นความผิด

สำหรับคดีสำคัญที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในปีนี้ เช่น คดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข (จำคุก 10 ปี ไม่ได้ประกันตัว) คดีเอกชัย-คนขายซีดี (จำคุก3 ปี ไม่ได้ประกันตัว) ปัจจุบันจำเลยอยู่ระหว่างอุทธรณ์ และยังมีคดีที่ศาลชั้นต้นสั่งยกฟ้อง คือ คดียุทธภูมิ-พี่ฟ้องน้อง ทั้งนี้ สำนักงานอัยการก็จะยื่นอุทธรณ์ด้วย

คดีหมิ่นประมาท อาวุธเพื่อการปิดปากการตรวจสอบ

การฟ้องหมิ่นประมาทที่ส่งผลต่อการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน พบเห็นได้หลายกรณี ผู้ถูกฟ้องมีตั้งแต่ สื่อมวลชน นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และประชาชน ทั้งนี้ ผู้ฟ้องทั้งหมดล้วนเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในสังคม ไม่ว่าจะจากฝ่ายรัฐหรือเอกชน ซึ่งข้อหาส่วนใหญ่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 

กลไกตามกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับสื่อทำหน้าที่ส่งเสริมให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง ขณะเดียวกันก็ท้าทายความกล้าหาญของสื่อที่มุ่งทำหน้าที่เผยแพร่ข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา การฟ้องคดีในช่วงปีที่ผ่านมายิ่งตอกย้ำความเสี่ยงของสื่อมวลชนและนักวิชาการที่มุ่งนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสังคม ทำให้วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์อันเป็นสิทธิเสรีภาพทางการเมืองขั้นต้นในการตรวจสอบความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนถูกคุกคาม

น่าสนใจว่า หน่วยงานและองค์กรที่ฟ้องสื่อล้วนเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในสังคม อย่างคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. (หน่วยงานย่อยใน กสทช.) ที่ฟ้องดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการ “ที่นี่ThaiPBS” ซึ่งออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส กรณีที่ดร.เดือนเด่นวิพากษ์วิจารณ์ “ร่างประกาศซิมดับ” ของกทค. ออกรายการที่นี่ThaiPBS สร้างความตื่นตระหนกในวงการวิชาการและสื่อมวลชนอย่างมาก 

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ฟ้องสื่อออนไลน์อย่างไทยพับลิกา เว็บไซต์ที่เน้นการทำข่าวเชิงลึก หลังจากที่ไทยพับลิก้าทำสกู๊ปขนาดยาวติดตามความไม่โปร่งใสทางการเงินของสหกรณ์ โดยเว็บไซต์ไทยพับลิก้ามีกองบรรณาธิการขนาดเล็กเพียง 5 คนเท่านั้น แต่คดีนี้ฟ้องกองบรรณาธิการถึง 4 คน และมีคดีที่บริษัทเนเชอรัลฟรุต ฟ้องนายอานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยและนักสิทธิมนุษยชนชาวอังกฤษ ที่เขียนวิจัยเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานของโรงงานสับปะรดกระป๋อง และเผยแพร่งานวิจัยนี้ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ทั้งสองคดีที่กล่าวมา ถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทและคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

อีกคดีที่ต้องจับตา คือ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป. ฐานหมิ่นประมาทเจ้าพนักงานและหมิ่นประมาทผู้พิพากษา หลังแกนนำกลุ่มกวป.จัดชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญในเดือนเมษายนและปราศรัยโจมตีการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากถูกแจ้งความดำเนินคดี แกนนำกวป.ตอบโต้โดยการแจ้งความกลับ ต่อมาทั้งสองฝ่ายแจ้งความตอบโต้กันหลายคดี

มีข้อสังเกตว่าช่วงปีนี้ การแสดงความเห็น ความเชื่อ และข่าวลือ ลงบนพื้นที่เฟซบุค ก็นำไปสู่คดีความจำนวนมาก และเช่นเคยที่ลักษณะการฟ้องคดีล้วนมาจากบุคคลผู้มีอำนาจหรือเป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ อาทิเช่น นายกรัฐมนตรีฟ้องคดีข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อ ชัย ราชวัตร นักเขียนการ์ตูนชื่อดังจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หลังเขียนข้อความวิจารณ์นายกรัฐมนตรี  บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด (ผู้ผลิตข้าวตราฉัตร) ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต่อนายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ผู้ดำเนินรายการ ฅนค้นฅน หลังโพสต์เรื่องข้าวเน่า (ต่อมาถอนฟ้อง)  และกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ออกหมายเรียกนายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หลังเขียนสเตตัสเกี่ยวกับกระแสการรัฐประหารว่าอาจมีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และความผิดอันทำให้เกิดความปั่นป่วนภายในราชอาณาจักร

คดีการชุมนุม

การเมืองบนท้องถนนยังเป็นพื้นที่สื่อสารที่สำคัญของประชาชน และรัฐธรรมนูญก็ให้การคุ้มครองเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองดังกล่าวก็ไม่สามารถป้องกันการดำเนินคดีตามกฎหมายได้ 

สำหรับคดีการชุมนุมที่น่าสนใจที่มีคำพิพากษาในปี 2556 ได้แก่ คดีปีนสภาสนช. ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2550 ผู้ชุมนุมคัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีผู้ชุมนุมบางส่วนปีนเข้าไปในอาคารรัฐสภาส่งผลให้มีผู้ชุมนุมสิบคนถูกดำเนินคดี ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยที่ศาลเห็นว่าเป็นแกนนำให้จำคุก 1 ปี 4 เดือน และจำคุกจำเลยที่ศาลเห็นว่าเป็นผู้เข้าร่วม 8 เดือน รอลงอาญา 2 ปี ปัจจุบัน จำเลยอยู่ระหว่าอุทธรณ์คดี

คดีการชุมนุมของคนงานไทรอัมพ์ ซึ่งมาชุมนุมขอความเป็นธรรมหลังถูกเลิกจ้างที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลและหน้ารัฐสภาในปี 2552 ผู้ชุมนุมสามคนถูกดำเนินคดีฐานชุมนุมมั่วสุมก่อความวุ่นวาย คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยชี้ว่า แม้การชุมนุมจะก่อให้เกิดความวุ่นวาย แต่การชุมนุมครั้งนี้ก็เป็นไปโดยสงบและไม่เกินกว่าเหตุ ปัจจุบัน พนักงานอัยการอยู่ระหว่างอุทธรณ์คดี

คดีบก.ลายจุดฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ถูกดำเนินคดีหลังจัดการชุมนุมใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ ในเดือนพฤษภาคม 2553 ระหว่างที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง ปี 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกนายสมบัติเป็นเวลา 6 เดือน แต่ให้รอลงอาญาไว้ ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

สำหรับความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในคดีการชุมนุมที่เกิดขึ้นรอบปีทีผ่านมา มีกรณีที่อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีที่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมปิดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองในปี 2551

โดยรวมจะเห็นว่า แม้เสรีภาพในการชุมนุมจะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแต่การใช้เสรีภาพในชุมนุมก็เต็มไปด้วยข้อจำกัด เช่น ถูกจำกัดในช่วงที่มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง หรือจำกัดด้วยข้อกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายการจราจร หรือกฎหมายควบคุมการใช้เครื่องขยายเสียง ทำให้หลายครั้งผู้ชุมนุมต้องตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและมีความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียอิสรภาพด้วยการถูกจองจำ

กฎหมายและนโยบายใหม่ๆ ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา

ต้นปี 2556 เป็นต้นมา มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกฎหมายและนโยบายที่อาจกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพออกมาหลายอย่าง โดยมีทั้งร่างกฎหมายที่ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา และการประกาศใช้กฎหมายพิเศษเพื่อควบคุมการชุมนุมหลายครั้ง นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะเข้าไปสอดส่องประชาชนในโลกออนไลน์ด้วย 

เริ่มต้นปีมาด้วยข่าวคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … เตรียมเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีการกำหนดความผิดและโทษฐานการทำซ้ำด้วยการบันทึกภาพ หรือเสียง หรือภาพและเสียงในโรงภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต

ต่อมาในเดือนเมษายน สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ได้เผยแพร่ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับใหม่ออกมาเพื่อรับฟังความคิดเห็น โดยร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับสพธอ.กำหนดให้การทำสำเนาข้อมูลเป็นความผิด อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญวิจารณ์ในข้อกฎหมายนี้ว่า ในทุกๆ ครั้งที่เปิดดูข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบบก็ทำสำเนาโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่การใช้อินเทอร์เน็ตจะไม่มีการทำสำเนาข้อมูลเลย นอกจากนี้ก็มีการบัญญัติความผิดเรื่องการครอบครองภาพโป๊เด็ก ที่ระบุว่าการครอบครองภาพโป๊เด็ก แม้ไม่ได้เผยแพร่ก็มีความผิดแล้ว และมีการกำหนดเพิ่มระยะเวลาในการเก็บล็อกไฟล์ของผู้ให้บริการด้วย ซึ่งอาจสร้างภาระให้ผู้ให้บริการอย่างมาก

ไม่กี่เดือนต่อมา เดือนกรกฏาคม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. ก็เปิดเผยร่างประกาศ กสทช. ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ของเนื้อหาที่ห้ามออกอากาศตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 หลังจากเปิดเผยออกมาก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า หลักเกณฑ์ในร่างประกาศฉบับนี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพของสื่ออย่างมาก เนื่องจากมีการขยายขอบเขตเนื้อหาที่ห้ามออกอากาศให้กว้างขวางออกไปนอกเหนือจากตัวบทมาตรา 37  ทั้งอำนาจของกสทช.ในการออกประกาศนี้ก็ถูกตั้งคำถามว่าชอบธรรมหรือไม่

ต่อมาเดือนสิงหาคม ประเด็นร้อนแรงที่ต้องจับตา คือการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งในปีนี้ สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างฉบับที่พรรคเพื่อไทยเสนอแล้วและมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายฉบับนี้ โดยการพิจารณาเรื่องนี้เกิดขึ้นบนความเห็นต่างของหลายฝ่าย ทั้งประเด็นที่ว่าจะให้นิรโทษกรรมแก่บุคคลกลุ่มใดบ้าง โดยจุดร่วมที่ทุกฝ่ายมีร่วมกันคือ นิรโทษกรรมให้ประชาชนทั่วไป แต่จุดต่างที่ถกเถียงอย่างมาก คือ จะนิยามนักโทษทางการเมืองให้รวมถึงนักโทษคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นนักโทษทางความคิดด้วยหรือไม่ จะนิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่มีบทบาทสั่งการและปฏิบัติงานในเหตุการณ์ปี 2553 หรือไม่ และจะนิรโทษกรรมให้แก่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ บนข้อถกเถียงเหล่านี้ก็ยังมีข้อโต้เถียงในการขับเคลื่อนร่างกฎหมาย ระหว่างฝ่ายที่ยึดมั่นในหลักการการแสวงหาความยุติธรรม กับฝ่ายที่ต้องการผลักดันให้กฎหมายนิรโทษกรรมมีผลช่วยเหลือนักโทษการเมืองโดยเร็ว

ล่าสุด ต้นเดือนตุลาคม กระทรวงวัฒนธรรมก็คลอด ร่างพ.ร.บ.มรดกวัฒธรรมจับต้องไม่ได้ พ.ศ. … ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการและเห็นชอบส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป  โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ระบุว่า การนำวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียนแล้วไปดัดแปลงในลักษณะหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนศาสนาและความมั่นคงของประเทศ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  จากข้อกำหนดนี้เองทำให้เกิดกระแสต่อต้านร่างกฎหมายนี้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากคนทั่วไปเข้าใจว่าวัฒนธรรมที่ขึ้นทะเบียนแล้วจะไม่สามารถดัดแปลงได้เลย แต่ก็ต้องจับตาต่อไป เพราะลักษณะที่ข้อกฎหมายนี้ห้ามต่างก็เป็นคำกว้างๆ ที่ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนว่าต้องเป็นแบบใด

นอกจากร่างกฎหมายที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาแล้ว ก็มีการประกาศใช้กฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง นั่นคือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยปีนี้มีการประกาศใช้ถึงสองครั้งภายในระยะเวลาไม่ห่างกัน คือช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม เนื่องจากมีการชุมนุมหลายกลุ่มด้วยกัน ในเดือนสิงหาคม มีการประกาศใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ 3 เขต ได้แก่ ดุสิต พระนคร และป้อมปราบฯ เนื่องจากมีการชุมนุมของประชาชนหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการประชุมสภาในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม  ต่อมาในเดือนตุลาคม มีการประกาศใช้ใน 3 เขตเช่นเดิม เนื่องจากมีการชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณที่ทำเนียบรัฐบาล  โดยผลจากการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี สามารถจัดการกับฝูงชนได้อย่างทันท่วงที สามารถสั่งให้ปิดการจราจร หรือสั่งไม่ให้เข้าออกในพื้นที่ที่ประกาศได้ ซึ่งอาจเสี่ยงเกิดความรุนแรงต่อประชาชนที่มาชุมนุม

อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นกฎหมายหรือนโยบาย แต่ก็เป็นประเด็นร้อนที่ทุกคนให้ความสนใจ เมื่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ หรือ ปอท. ออกมาให้ข่าวว่า ปอท.กำลังขอความร่วมมือจากบริษัท Naver Japan ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น Line ซึ่งเป็นโปรแกรมแชทชื่อดัง เพื่อขอตรวจสอบข้อมูลการสนทนาผ่านแอพ Line รวมถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้รายนั้นๆ ที่ถูกสงสัยว่าอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง หลังจากปอท.ออกมาให้ข่าวไม่นาน ก็มีกระแสต่อต้านมากมาย เนื่องจากเป็นการกระทำที่ล่วงละเมิดเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวอย่างมาก  ภายหลังบริษัท Naver Japan ก็ออกแถลงการณ์ว่า ยังไม่ได้รับคำขอจากปอท.อย่างเป็นทางการ และยืนยันว่าบริษัทมีนโยบายรักษาข้อมูลผู้ใช้อย่างเป็นมาตรฐานสากล

ความเคลื่อนไหวที่ต้องจับตา

คดีสำคัญที่สามารถใช้ชี้วัดมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมไทยและวัดระดับเสรีภาพ ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในสิ้นปี 2556 นี้ มีหลายคดีด้วยกัน ได้แก่ 

คดีผู้ชุมนุมปิดถนนที่อ.หนองแซง จ.สระบุรีเพื่อคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าและบ่อขยะ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกจำเลยคนละ 1 ปี รอลงอาญา 2 ปี จำเลยสู้คดีต่อในชั้นฎีกา โดยศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาปลายเดือนตุลาคม 

สำหรับหมิ่นประมาทนั้น มีคดี กทค. (หน่วยงานย่อยของกสทช.) ฟ้องดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และนางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสนั้น ก็มีกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 2 ธันวาคม 2556 และคดีที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ฟ้องกองบรรณาธิการเว็บไซต์ไทยพับลิก้า มีกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งทั้งสองคดีมีเหตุให้ต้องลุ้นว่า ศาลจะรับฟ้องว่ามีมูลในคดีหมิ่นประมาทหรือไม่ และโจทก์ผู้ฟ้องจะตัดสินใจถอนฟ้องหรือไม่

ด้านคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ยังมีประเด็นต้องจับตาหลายเรื่อง ได้แก่ คดีจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในฐานะตัวกลางเว็บไซต์ที่ปล่อยให้มีข้อความกระทบต่อความมั่นคง คดีนี้จำเลยถูกฟ้องจากการลบความเห็นทั้งสิ้น 10 ความเห็นในเว็บบอร์ดไม่เร็วพอ ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิดใน 9 กรรมเพราะข้อความเหล่านั้นถูกลบภายใน 1-11 วัน ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่รับฟังได้ แต่ลงโทษฐานที่ลบกระทู้หนึ่งช้าเกินไปโดยปล่อยทิ้งไว้นาน 20 วัน  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 1 ปี 8 เดือนและให้รอลงอาญา ทั้งอัยการและจำเลยอุทธรณ์คดีนี้ โดยศาลอุทธรณ์จะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556

คดีนายกิตติธน หรือ เคนจิ ซึ่งแสดงความเห็นในเว็บบอร์ดอินเทอร์เน็ตฟรีดอมจนถูกดำเนินคดีนั้น น่าจับตาว่าเป็นคดีใหม่อีกคดีที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวและถูกจับกุมตั้งแต่ชั้นสืบสวนสอบสวน ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการกระทำใด ทั้งนี้ อัยการมีกำหนดต้องสั่งฟ้องภายในเดือนพฤศจิกายนนี้หรือให้สิทธิประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี

คดีบัณฑิต อาณียา ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 เขาแสดงความคิดเห็นและแจกเอกสารในงานสัมมนาวิชาการ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้มีความผิด 2 กระทงรวมจำคุก 4 ปี แต่เห็นว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตเภทจึงให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยกระทำการโดยรู้ผิดชอบและสามารถบังคับตัวเองได้ ไม่สมควรให้รอการลงโทษ แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ มีเหตุลดโทษหนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ศาลฎีกามีกำหนดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 11 ธันวาคมนี้

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage