หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจ นโยบายสำคัญที่คสช. เร่งรัดดำเนินการคือ ‘ทวงคืนผืนป่า’ ผ่านการออกคำสั่งจำนวนสองฉบับ ได้แก่ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ส่งผลให้ชาวบ้านถูกไล่ออกจากที่ดิน ไร้ที่ทำกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย แต่ทว่า คสช. ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายในการทวงคืนผืนที่ป่าตามที่หวังเอาไว้
คำสั่ง คสช. รวบอำนาจการจัดการป่าไม้ไว้ในมือทหาร
ในมาตรการทวงคืนผืนป่าตามคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 64/2557 และ 66/2557 ได้มอบอำนาจให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของฝ่ายทหาร มีอำนาจเต็มในการปราบปราม สั่งการ ควบคุมสิ่งต่างๆ เพื่อจัดระเบียบพื้นที่ป่า เช่น จับกุมผู้บุกรุก หรือผู้ที่ครอบครอง หรือทำให้สภาพป่าเสียหาย รวมถึงปราบปรามขบวนการตัดไม้ทำลายป่า กิจการแปรรูปไม้ หรือบุคคลที่มีไม้หวงห้ามไว้ครอบครอง แม้จะอยู่ในรูปเครื่องใช้หรือสิ่งประดิษฐ์ก็ตาม
ทั้งนี้ หากพบว่าทำผิดตามระเบียบกฎหมายให้ดำเนินการลงโทษอย่างเด็ดขาด และหากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด จะต้องถูกดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญาเหมือนกัน
อีกทั้ง คำสั่งทั้งสองฉบับยังให้ กอ.รมน. และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์และจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 ให้ห้ทหารที่มียศตั้งแต่ร้อยตรีขึ้นไปมีอำนาจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล โดยคำสั่งดังกล่าวระบุว่าจะใช้กับบรรดาผู้มีอิทธิพลต่างๆ แต่ทว่า คำสั่งนี้ก็ถูกเอามาใช้กับการทวงคืนผืนป่าด้วย จึงเกิดการเอาทหารหลายร้อยคนเข้าปิดล้อม-ตรวจค้น หมู่บ้านของชาวบ้าน
กล่าวโดยสรุปก็คือ คสช. ใช้วิธีการจัดการป่าไม้ด้วยการรวมศูนย์อำนาจไว้ในมือของหน่วยงานทหาร ทั้งในระดับพื้นที่-ระดับนโยบาย และอาศัยมาตรการที่รุนแรงเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาป่าไม้แทนมาตรการอื่นๆ
‘ชาวบ้าน’ ผู้ได้รับผลกระทบหลักจากมาตรการทวงคืนผืนป่า
แม้ว่า คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 66/2557 จะเน้นย้ำว่าการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่จะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ยากไร้ และให้มีกระบวนการเจรจาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในกรณีที่มีความสืบเนื่องต่อกันมา แต่เนื่องจากมาตรการหลักของคำสั่ง คสช. คือการใช้กำลังเข้าจับกุม และทวงคืนพื้นที่เป็นหลัก ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าและกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหากับภาครัฐได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ จากรายงานผลการศึกษามาตรการทวงคืนผืนป่าของกลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน หรือ Land Watch ได้ตั้งข้อสังเกตต่อมาตรการการทวงคืนผืนป่าของคสช. ว่า จากผลการดำเนินงานของ กอ.รมน. ไม่มีการระบุถึงการจับกุม ดำเนินคดีขบวนการลักลอบตัดไม้ หรือนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังการบุกรุกที่ดินในเขตป่า โดยไม่แจกแจงข้อมูลว่ามีผู้ต้องหาที่จับกุมได้นั้น เป็นนายทุน นักการเมือง เจ้าของโรงงานแปรรูปไม้ เจ้าหน้าที่รัฐ จำนวนเท่าใด และเป็นประชาชนทั่วไปจำนวนเท่าใด และมีความเป็นไปได้ที่มาตรการดังกล่าวถูกใช้กับประชาชนผู้ยากไร้ที่อาศัยในเขตป่าเป็นหลัก
นอกจากนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ชาวบ้านผู้ยากไร้ที่อาศัยในเขตป่าต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบอย่างน้อยสามลักษณะภายใต้มาตรการทวงคืนผืนป่า ได้แก่
หนึ่ง การข่มขู่คุกคาม ไล่รื้อ และดำเนินคดีกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า ที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 226 ครั้ง เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และป่าไม้ พร้อมอาวุธ กว่า 50 ราย ควบคุมตัวแกนนำชาวบ้านกว่า 11 คน ออกจากพื้นที่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่กรณีปัญหาพิพาทเรื่องที่ดินป่าไม้มายาวนาน
สอง การไล่รื้อ ตัดฟันทำลายพืชผลอาสินของชาวบ้านในพื้นที่ โดยใช้คำสั่งทางปกครอง ที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 287 ครั้ง เช่น เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง เข้าตัดฟันไร่ข้าวและข้าวโพดของชาวบ้านห้วยหก อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เป็นต้น
มาตรการทวงคืนผืนป่า ‘ขาดความเข้าใจ-ขาดการมีส่วนร่วม’ ทำให้ล้มเหลว
ประยงค์ ดอกลำใย ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.พอช.) และที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เคยประเมินผลมาตรการทวงคืนผืนป่าของคสช. ไว้ว่า ตามแผนแม่บทป่าไม้ที่มีมาตั้งแต่ปี 2528 กำหนดว่า ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งยังขาดอยู่อีก 26 ล้านไร่ เมื่อ คสช. ใช้นโยบายทวงคืนผืนป่ามาสี่ปี ยึดที่ดินชาวบ้านไปแล้ว 500,000 ไร่ ยังขาดอีกเยอะมาก จึงเป็นนโยบายที่ล้มเหลว ไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่สร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านรายเล็กรายน้อยที่ถูกไล่ที่ และถูกดำเนินคดี
ทั้งนี้ ในรายงานผลการศึกษามาตรการทวงคืนผืนป่าของกลุ่มจับตาปัญหาที่ดินมีการตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการทวงคืนผืนป่ามีปัญหาตั้งแต่หลักคิด เพราะการตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้อย่างน้อย 40 % ของพื้นที่ประเทศ เป็นแนวคิดเดียวกับคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2528 ซึ่งไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับสภาพบริบทการเปลี่ยนแปลงทางของสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์ด้านทรัพยากรที่ทวีความซับซ้อนในปัจจุบัน
อีกทั้ง มาตรการทวงคืนผืนป่ายังขาดความเข้าใจพัฒนาการของปัญหาที่ดินและป่าไม้ โดยผลักให้ชาวบ้านในเขตป่ากลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย ทั้งที่ในข้อเท็จจริงของปัญหาการบุกรุกป่าพบว่า ปัญหามาจากการสัมปทานทำไม้โดยรัฐ ซึ่งกินระยะเวลายาวนานถึง 92 ปี (นับตั้งแต่ก่อตั้งกรมป่าไม้ในปี 2439 จนถึงปี 2531) เป็นสาเหตุสำคัญของการลดลงของป่าไม้, นโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจโดยภาครัฐ ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ทำกินและการตั้งถิ่นฐานในเขตป่า, ปัญหาการประกาศเขตป่าของรัฐทับซ้อนพื้นที่ทำกินและที่ตั้งชุมชน หรือปัญหาความไม่ชัดเจนและแนวเขตที่ดินของรัฐทับซ้อนกัน
นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุด้วยว่า ปัญหาหนึ่งที่ทำให้มาตรการทวงคืนผืนป่ามีปัญหาคือ ตัวผู้จัดทำแผนแม่บทป่าไม้ที่มีเพียง 17 คน (ที่ปรึกษา 5 คน, คณะผู้จัดทำ 12 คน) โดยในจำนวนนี้ มีเจ้าหน้าที่ทหารถึง 11 คน ไม่มีสัดส่วนของตัวแทนภาคประชาชนและนักวิชาการสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระบวนการจัดทำแผนแม่บทฯ ใช้ระยะเวลาจัดทำไม่ถึง 45 วัน นับจากคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64 และ 66/2557 มีผลบังคับใช้ ทำให้ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วม กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเพียงพอ
RELATED POSTS
No related posts