26 กุมภาพันธ์ 2562 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาเรียบร้อยแล้ว โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้ตั้ง พล.อ.ประวิตร เป็นประธานแล้ว มาดูกันว่ากรรมการสรรหา ส.ว. ชุดนี้มีที่มาอย่างไร
ที่มาของกรรมการสรรหา ส.ว. ได้ถูกระบุอยู่ใน บทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 (1) ที่กำหนดว่าให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่งซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่งต้ังจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง จํานวนไม่น้อยกว่า 9 คนแต่ไม่เกิน 12 คน มีหน้าที่ดําเนินการสรรหาบุคคลซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภา
ซึ่งกรรมการสรรหา ส.ว. โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานสรรหานี่แหละจะคัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม ในอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศมีจํานวนไม่เกิน 400 คน ตามวิธีการที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว. กําหนด แล้วนํารายชื่อเสนอต่อ คสช.
โดยให้ดําเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน แล้วให้จัดทําเป็นบัญชีรายชื่อ เสนอต่อ คสช. โดยแยกผู้ได้รับเลือกตามกลุ่มและตามวิธีการสมัคร
จากนั้น คสช. ก็จะคัดเลือก ส.ว. ทั้งหมด ให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จะเห็นว่า แม้จะมีกระบวนการที่ทำให้ดูเหมือนว่า ส.ว. มีที่มาจากหลายทาง และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสรรหา ส.ว. แต่ท้ายที่สุดแล้ว คสช. ก็เป็นคนแต่งตั้งและคัดเลือก คณะกรรมการสรรหา ส.ว. และ การเลือก ส.ว. ในขั้นสุดท้ายอยู่ดี
ส่วน ส.ว. ที่ได้รับการคัดเลือกจาก คสช. ก็จะมาทำหน้าที่สำคัญ อย่างเช่น เป็นตัวแปรหลักในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี, ทำหน้าที่ควบคุมรัฐบาลให้ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี, การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เป็นต้น
รวมถึงการเลือกตั้ง 2562 ที่ คสช. ได้โดดลงมาในสนามเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ และมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็พอจะเดาได้ไม่ยากว่า ส.ว. ที่ถูกเลือกโดย คสช. จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี
อ่าน 8 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ ส.ว. : https://ilaw.or.th/node/4936