สรุปคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนเมษายน 2567

เดือนเมษายน 2567 มีคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อยสองคดี รวมแล้วมีคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 135 คดีจากทั้งหมด 303 คดี สองคดีได้แก่ คดีของพรชัย วิมลศุภวงศ์ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่จากการโพสต์เฟซบุ๊กสี่ข้อความ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาตามศาลชั้นต้นที่วางโทษมา 12 ปี ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 เขาถูกคุมขังมาแล้ว 27 วัน 

และคดีของอานนท์ นำภาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ จากการปราศรัยระหว่างการชุมนุมแฮร์รี่ พอตเตอร์ 2  ศาลวางโทษตามมาตรา 112 สามปี ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 30 วันและปรับฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ขออนุญาต 150 บาท ลดโทษหนึ่งในสามเหลือโทษจำคุกสองปี 20 วันและปรับ 100 บาท คดีนี้ถือเป็นคดีที่สามจากทั้งหมด 14 คดีของอานนท์ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา นับเฉพาะความผิดตามมาตรา 112 รวมทั้งหมด 10 ปี และตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 20 วัน ทั้งนี้เขาไม่ได้รับการประกันตัวนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแรกเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 อานนท์ถูกคุมขังเป็นเวลา 218 วันหรือเจ็ดเดือนกับห้าวัน

นอกจากนี้มีนัดพิพากษาที่เลื่อนออกไปหนึ่งนัดคือ คดีมาตรา 112 ของแอมมี่-ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์และปูน-ธนพัฒน์ กาเพ็ง กรณีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่สิบหน้าเรือนจำคลองเปรม เหตุสืบเนื่องจากแอมมี่มีอาการป่วย 

คดีพรชัยโพสต์เฟซบุ๊กสี่ข้อความหมิ่น ร. 10

วันที่ 4 เมษายน 2567 เวลา 9.30 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดพรชัย วิมลศุภวงศ์ ชาวปกาเกอะญอวัย 38 ปี ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 เขาถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์ข้อความสี่ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาสื่อถึงพระมหากษัตริย์ที่วางตนไม่เป็นกลาง เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง และเชิญชวนให้ไปร่วมการชุมนุม คดีนี้มีเจษฎา ทันแก้ว อดีตการ์ดของกลุ่ม กปปส. เป็นผู้กล่าวหา  โดยพรชัยต่อสู้คดีว่า ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง เนื่องจากเฟซบุ๊กของตนถูกแฮ็กในช่วงดังกล่าว ทั้งพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ปรักปรำเขาก็ไม่มีน้ำหนักมั่นคง เพราะการพิมพ์จากภาพบันทึกหน้าจอ ไม่ใช่เป็นการพิมพ์จากเว็บเบราเซอร์ที่จะมี URL หรือที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ติดมาด้วย ทั้งยังเป็นการใช้โทรศัพท์บันทึกวิดีโอเพียงบางส่วนมาเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล

ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาพิเคราะห์แต่ละข้อความตามฟ้อง เห็นว่า มีเจตนากล่าวถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน มีการใช้สรรพนามไม่เหมาะสมและนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทั้งยังชักชวนผู้อ่านข้อความให้เข้าร่วมการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในส่วนข้อต่อสู้เรื่องการถูกโจรกรรมเฟซบุ๊กศาลเห็นว่า จำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างลอยๆ ว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวถูกโจรกรรม โดยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ามีบุคคลได้นำภาพของจำเลยไปตัดต่อหรือใช้แทน หากมีผู้โจรกรรมเฟซบุ๊กจริง จำเลยน่าจะต้องแจ้งความหรือดำเนินการอย่างไรเพื่อหาตัวผู้กระทำ แต่จำเลยไม่ได้กระทำการดังกล่าว ทั้งเชื่อว่าโจทก์ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้ศาลฎีกาพิจารณา ต่อมาวันที่ 6 เมษายน 2567 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 พรชัยถูกคุมขังมาเป็นเวลา 27 วันแล้ว

ทั้งนี้พรชัยยังมีคดีมาตรา 112 อีกหนึ่งคดีคือ ที่ศาลจังหวัดยะลาจากการถ่ายคลิปวิดีโอตัวเองลงบนเฟซบุ๊ก และโพสต์ข้อความอีกสองข้อความ ศาลพิพากษา ให้มีความผิดหนึ่งกรรมจากการโพสต์คลิปไลฟ์ ในขณะที่อีกสองกรรมให้ยกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานไม่ปรากฏ URL จึงไม่สามารถตรวจสอบไปยังต้นโพสต์ได้ ลงโทษจำคุกสามปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือสองปี รวมโทษสองคดี 14 ปี

พิพากษาทนายอานนท์คดีที่สาม เหตุปราศรัย #ม็อบแฮร์รีพอตเตอร์2

วันที่ 29 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 703 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนฟังคำพิพากษา คดีนี้สืบเนื่องจากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบแฮร์รีพอตเตอร์2 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564  คดีนี้มีนพดล พรหมภาสิต  เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้กล่าวหา 

คำพิพากษาโดยสรุปว่า ในฐานความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น แม้จำเลยจะอ้างว่าตัวจำเลยอยู่ห่างจากผู้ชุมนุมอื่นๆ แต่จากพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่าอานนท์เป็นผู้นัดหมายในการชุมนุม และกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีการเว้นระยะห่างและใส่หน้ากากอนามัย รวมถึงไม่มีการตั้งจุดคัดกรองโรค ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายห้ามรวมตัวเกิน 5 คนขึ้นไป ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดฯ ลงโทษจำคุก 30 วัน ส่วนข้อหาฝ่าฝืนเจ้าพนักงานควบคุมโรค ให้ยกฟ้อง

เรื่องการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากพยานหลักฐานเห็นว่ามีการใช้เครื่องขยายเสียงจริง และพยานโจทก์มายืนยันว่าอานนท์ไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงจริง จึงมีความผิดลงโทษปรับ 150บาท

สุดท้ายในส่วนของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พิเคราะห์แล้วเห็นว่าจากทางนำสืบของโจทก์เห็นว่าอานนท์เป็นผู้ปราศรัยตามฟ้องในคดีนี้จริง โดยในส่วนคำปราศรัยของอานนท์นั้นมีพยานโจทก์มาเบิกความในทางเดียวกันว่าคำปราศรัยดังกล่าว เป็นการโจมตีใส่ร้ายรัชกาลที่ 10 โดยใส่ร้ายว่ามีการนำทรัพย์สินส่วนรวมไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทำให้เกิดความเสื่อมเสียและดูไม่ดีต่อพระองค์ท่าน และจากทางนำสืบของโจทก์แม้จะไม่สามารถทราบเจตนาที่แท้จริงของอานนท์ว่ามีเจตนาดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทหรือไม่ แต่ในเอกสารหมาย จ.23 มีข้อความชัดเจน และเมื่อพิจารณาข้อความดังกล่าวจากพยานหลักฐานทั้งหมดเห็นว่า จำเลยปราศรัยโจมตีรัชกาลที่ 10 ให้ประชาชนเข้าใจว่ามีความโลภ เป็นการใส่ความให้เสื่อมเสียเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง และด้อยค่า ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ได้คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ผู้ใดจะละเมิดมิได้ อีกทั้งประมวลกฎหมายอาญาก็ได้มีกฎหมายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ฯ แยกออกมาโดยเฉพาะ โดยไม่มีข้อยกเว้นเหมือนกฎหมายหมิ่นประมาทและดูหมิ่นทั่วไป และการนำสืบพยานของจำเลยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดลงโทษจำคุก 3 ปี

ในการพิจารณาคดีจำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุกในข้อหาตามมาตรา 112 2 ปี, ฝ่าฝืน  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 20 วัน  และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับ 100 บาท รวมจำคุก 2 ปี 20 วัน ปรับ 100 บาท ข้อสังเกตในคดีนี้คือ ในการอ่านคำพิพากษาศาลจะไม่อ่านข้อความที่ปราศรัยที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี โดยจะอ่านเป็นข้อความตามเอกสารหมาย จ.26 แทนข้อความทั้งหมด

คดีนี้ถือเป็นคดีที่สามจากทั้งหมด 14 คดีของอานนท์ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา นับเฉพาะความผิดตามมาตรา 112 รวมทั้งหมด 10 ปี และตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 20 วัน ทั้งนี้เขาไม่ได้รับการประกันตัวนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแรกเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 อานนท์ถูกคุมขังเป็นเวลา 218 วันหรือเจ็ดเดือนกับห้าวัน

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage