เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. …. จากคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอมา
นับว่ากฎหมายการชุมนุมเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาที่มีการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ฝ่ายผู้ชุมนุมมองว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเด็ดขาดที่ตนพึงมีได้ และถูกรับรองในรัฐธรรมนูญ แต่ทางฝ่ายรัฐบาลก็จะมองว่าการชุมนุมจะต้องมีกรอบมาบังคับเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม ไม่กระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่น และมองว่าการชุมนุมเป็นสิ่งที่ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลลดลง
ร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบนั้น ได้กำหนด คำนิยาม ของการชุมนุมสาธารณะ
- เป็นการชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะ
- เพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
- โดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป
- บุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่
เนื้อหาสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้ คือ
การชุมนุมที่ยกเว้นไม่อยู่ในบังคับของร่างพระราชบัญญัตินี้
(1) การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี
(2) การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น
(3) การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา เพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น
(4) การชุมนุมภายในสถานศึกษา
(5) การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติของกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการ
(6) การชุมนุมสาธารณะเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก (มาตรา4)
(7) การชุมนุมเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง
การแจ้งการชุมนุม(มาตรา10)
ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่แจ้งการชุมนุม โดยแจ้งต่อหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ก่อนการชุมนุม 72 ชั่วโมง หากไม่สามารถแจ้งก่อน 72 ชั่วโมง ต้องทำหนังสือผ่อนผันต่อผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ก่อนเริ่มการชุมนุม
การชุมนุมที่ต้องห้ามตามกฎหมาย(มาตรา 8)
การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกของ สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาลและหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ โรงพยาบาล สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานทูต
หน้าที่ของผู้ชุมนุม(มาตรา 17)
(1) ไม่ขัดขวางความสะดวกของประชาชนที่จะเข้าออกทางสาธารณะตามปกติ หรือ ขัดขวางการบริการสนามบิน ท่าเรือ สถานีขนส่ง หรือสื่อสาธารณะ
(2) ไม่ปิดบังหรืออำพรางตน
(3) ไม่นำอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุม
(4) ไม่บุกรุกหรือทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น
(5) ไม่ทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตราย หรือได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร
(6) ต้องเลิกการชุมนุมสาธารณะภายในระยะเวลาที่ผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งไว้(มาตรา 19)
การดูแลการชุมนุม
เป็นหน้าที่ของหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ ที่จะต้อง
1. อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นสถานที่ชุมนุม
2. อำนวยความสะดวกในการจราจรและการขนส่งสาธารณะในบริเวณที่มีการชุมนุมและ บริเวณใกล้เคียงเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมน้อยที่สุด
จากที่กล่าวมาเป็นสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งมีหลายภาคส่วนที่ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัตินี้ แต่ท้ายสุดประชาชนจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวสมควรจะประกาศใช้หรือไม่ และถ้าสมควรจะมีเนื้อหาอย่างไรเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ใช่เพียงการนำบทเรียนการชุมนุมทางการเมืองบางเหตุการณ์มาออกแบบกฎหมายที่ใช้บังคับกับการชุมนุมทุกรูปแบบของประชาชนทุกคน