- คดีอื่นๆ, ฐานข้อมูลคดี
ไนซ์ ดาวดิน: ชูป้ายต้านรัฐประหาร
ผู้ต้องหา
สถานะคดี
คดีเริ่มในปี
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
นักศึกษากลุ่มดาวดิน 7 คนถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 หลังออกมาแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหาร โดยถือป้ายผ้าที่เขียนข้อความว่า “คัดค้านรัฐประหาร” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558
ภายหลังภาณุพงษ์ หรือ ”ไนซ์ ดาวดิน” หนึ่งในผู้ต้องหา ถูกดำเนินคดี “พูดเพื่อเสรีภาพ” จึงถูกเข้ากระบวนการดำเนินคดีในชั้นศาล ต่อจาก จตุภัทร์ หรือ“ไผ่ ดาวดิน” ที่ถูกดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้
หลังจากสืบพยานโจทก์ได้เพียงปากเดียว ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลทหารขอนแก่นมีคำสั่งให้งดการสืบพยานและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากมีคำสั่งยกเลิก คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หรือ “ไนซ์ ดาวดิน” จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน มีประสบการณ์ลงพื้นที่ไปทำงานกับชาวบ้านที่คัดค้านการทำปิโตรเลียมในจังหวัดกาฬสินธุ์
ข้อหา / คำสั่ง
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
นักศึกษากลุ่มดาวดิน 7 คนถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 หลังออกมาแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหาร โดยถือป้ายผ้าที่เขียนข้อความว่า “คัดค้านรัฐประหาร” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558
พฤติการณ์การจับกุม
22 พฤษภาคม 2558 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น หลังนักศึกษากลุ่มดาวดิน ทั้ง 7 คน ออกมาแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหาร ประมาณ13.27 น. เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ได้เข้าจับกุม ในระหว่างจับกุมเจ้าหน้าที่กล่าวว่า "ขอเชิญตัวแต่โดยดี ถ้าไม่ไปจะมีมาตรการเพิ่ม" ก่อนที่ทั้ง7 คน จะถูกนำตัวไปมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร (มทบ.23)
และถูกนำตัวเข้าห้องขังทันที เวลา 21.00 น. ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
หมายเลขคดีดำ
ศาล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
แหล่งอ้างอิง
21 ธันวาคม 2560
ที่ศาลมลฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น นัดสอบคำให้การ ในคดี “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน”
หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณาคดีในคดี "พูดเพื่อเสรีภาพ" อัยการทหารได้ขอทำการอายัดตัว ภานุพงษ์ หรือ “ไนซ์ ดาวดิน” และทำการยื่นฟ้องคดี ในความผิดฐาน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จากเหตุการณ์ไปร่วมชูป้ายต่อต้านรัฐประหาร ที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น ตุลาการศาล มทบ. 23 ประทับรับฟ้องของอัยการทหาร และออกหมายขัง ภานุพงศ์ไว้ในระหว่างการพิจารณาคดี พร้อมทั้งนัดสอบคำให้การในวันที่ 22 มกราคม 2561 โดยภาณุพงษ์ได้ถูกนำตัวไปขังที่ทัณฑสถานบำบัดขอนแก่นตามหมายขังของศาล ทนายความของภานุพงษ์ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสดเป็นหลักประกันจำนวน 10,000 บาท ต่อมาในเวลา 16.50 น. ศาล มทบ.23 มีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
22 มกราคม 2561
นัดสอบคำให้การ
ที่ศาลทหารจังหวัดขอนแก่น ศาลนัดสอบคำให้การ คดีที่อัยการทหารเป็นโจทก์ฟ้องภานุพงศ์ หรือ “ไนซ์ ดาวดิน” นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินอีกหนึ่งคน ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 จากการจัดกิจกรรมชูป้ายคัดค้านรัฐประหารในโอกาสครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร ในกรณีเดียวกันกับจตุภัทร์ หรือ “ไผ่ ดาวดิน” หลังศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้ฟังแล้ว ภานุพงศ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอต่อสู้คดี จากนั้นอัยการแถลงขอสืบพยาน ด้านทนายจำเลยติดใจขอตรวจพยานหลักฐาน ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561
19 กุมภาพันธ์ 2561
นัดตรวจพยานหลักฐาน
ห้องพิจารณาคดีที่1 ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์เวลา 10.15 นาฬิกา บรรยากาศภายในห้องพิจารณาคดีเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย นอกจากทนายของจำเลย อัยการฝ่ายโจทก์และตัวจำเลยเองแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารจากสารวัตรทหารบกกับเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมุนษยชน เข้านั่งสังเกตการพิจารณาคดีด้วย ไนท์ได้พูดคุยทักทายผู้เข้ามาสงเกตการณ์ด้วยสีหน้าปกติ
โดยฝ่ายจำเลยได้ยื่นพยานบุคคลจำนวน 4 ลำดับและพยานเอกสารจำนวน 4 ลำดับ รวม 8 ลำดับ พยานบุคคลทั้งหมดเป็นนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และนิติศาสตร์ ประกอบด้วยเช่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ศาสตราจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ส่วนพยานเอกสาร ประกอบไปด้วยเอกสารตัวบทกฎหมายและคำพิพากษา เช่นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และหนังสือรวมประกาศ คำสั่งภายใต้ยุค คสช. ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 – 29 มีนาคม 2559
ทางด้านโจกท์ ยื่นพยานบุคคล 5 ลำดับพยานเอกสาร 10 ลำดับและพยานวัตถุอีก 1 รวมเป็น 16 ลำดับ พยานบุคคลเป็นชุดจับกุมในวันเกิดเหตุกับนักข่าวที่บันทึกภาพเหตุการณ์ พยานเอกสารเป็นในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ส่วนพยานวัตถุเป็นแผ่นซีดีบันทึกไฟล์ภาพเคลื่อนไหว
ศาลเริ่มถามทนายจำเลยก่อนว่ารับพยานของฝ่ายโจกท์ลำดับใดได้บ้าง ทนายโจทก์จึงแถลงต่อศาลว่าในส่วนพยานเอกสาร ยอมรับเฉพาะในส่วนที่จำเลยลงชื่อเท่านั้น แต่ไม่ยอมรับข้อเท็จจริงในเอกสารเหล่า ส่วนเอกสารอย่างบันทึกการจับกุมไม่ยอมรับ เพราะจำเลยในคดีไม่ลงลายมือชื่อและพนักงานสอบสวนบันทึกพฤติกรรมแห่งคดีไม่ครบถ้วน ส่วนพยานบุคคลทั้งหมดและพยานวัตถุ ทนายฝ่ายโจกท์ไม่รับทั้งหมด
ศาลจึงถามทนายจำเลยว่าตามที่ ยืนพยานบุคคลมาจะใช้ต่อสู้คนประเด็นใด ทนายจำเลยตอบว่าพยานบุคคลที่เป็นนักวิชาการต้องการ เบิกตัวเพื่อบรรยายให้เห็นถึงว่าตัวคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ไม่มีสภาพเป็นกฎหมายและการกระทำของจำเลยเป็นการการทำอยู่ในหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ทั้งกิจกรรมที่จำเลยได้ทำไม่ได้เป็นการชุมนุมทางการเมือง
ศาลจึงถามฝั่งโจทก์ว่ายอมรับพยานฝั่งจำเลยในส่วนใดได้บ้าง อัยการฝั่งโจกท์จึงแถลงว่ายอมรับความถูกต้องของพยานเอกสารบุคคลทั้งหมด ส่วนพยานบุคคลไม่ยอมรับ
21 มีนาคม 2561
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง: พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง ผู้จับกุมและผู้กล่าวหา
เริ่มสืบพยานเวลาประมาณ 14.00 น.
พ.อ.สุรศักดิ์ เบิกความว่า ปัจจุบันรับราชการอยู่ที่ มณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น ในตำแหน่งหัวหน้ากองกำลังพล มณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น ขณะเกิดเหตุรับราชการในมณฑลทหารบกที่ 23 ในตำแหน่งหัวหน้ากองข่าว มีหน้าที่ในการติดตามเฝ้าระวังข่าวสารที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติและดูแลผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา นอกจากนี้ผู้บังคับบัญชายังได้มีคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ในกองกำลังรักษาความสงบจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีหน้าที่เหมือนกับการข่าวเหมือนเดิมแต่เพิ่มในเรื่องการติดตามเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของมวลชนในเรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
พ.อ.สุรศักดิ์ เบิกความต่อว่าเป็นผู้กล่าวหาและจับกุมจำเลยทั้ง 7 คน มีผู้ถูกกล่าวหาคือ จตุภัทร์ ,อภิวัฒน์ ,พายุ ,ภานุพงศ์ ,สุวิชชา ,ศุภชัยและวสันต์ โดยจำนามสกุลของทั้ง 7 คนนี้ไม่ได้ และได้กล่าวหาทั้ง 7 คนในข้อหาชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนขึ้นไป จากจำเลยทั้งหมดนั้นมีภานุพงศ์อยู่ในศาลและจตุภัทร์ถูกดำเนินคดีอีกคดีหนึ่งไปก่อนหน้านี้แล้วส่วนจำเลยที่เหลืออีก 5 คนได้ทำการหลบหนี ในการจับกุมนั้นได้มีผู้ร่วมจับกุมคือ ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร ผู้บังคับกองร้อยสารวัตรทหาร มณฑลทหารบกที่ 23 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ขอนแก่น เข้าร่วมจับกุมด้วย เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่บริเวณลานอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
พ.อ.สุรศักดิ์เล่าถึงพฤติการณ์ก่อนวันเกิดหตุว่า ได้รับทราบจากแหล่งข่าวและการโพสต์ข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตว่าจะมีการชุมนุมของกลุ่มคนเหล่านี้ขึ้น โดยทราบจากแหล่งข่าวว่าจะมีการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารและเป็นการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษากลุ่มดาวดิน ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน คือวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ได้มีนักศึกษาจำนวน 2 คน แจกใบปลิวที่มีข้อความต่อต้านรัฐประหารโดยเจ้าหน้าที่ได้ยึดใบปลิวแล้วปล่อยตัวกลับบ้านไป ในวันเกิดเหตุ ได้มีการจัดกองกำลังร่วมระหว่างทหารกับตำรวจเพื่อเฝ้าระวังว่าจะมีการชุมนุมตามที่โพสต์หรือไม่ เวลาประมาณ 13.00 น. จำเลยกับพวกรวม 7 คน ได้มาที่บริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ชูป้ายที่มีข้อความว่าคัดค้านรัฐประหาร โดยมีป้ายอื่นๆบนกระดาษประมาณ 5 แผ่นซึ่งมีข้อความเชิงคัดค้านรัฐประหารเหมือนกัน นอกจากการชูป้ายแล้วยังมีการใช้คำพูดโจมตีระหว่างการชูป้ายด้วย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปแจ้งเตือนแต่ก็ยังไม่ยอมหยุด ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เข้าไปแจ้งว่าเป็นการชุมนุมผิดกฎหมาย โดยกฎหมายในขณะนั้นคือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อที่ 12 ห้ามมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หลังจากที่แจ้งและขอให้ยุติแล้วแยกย้ายกลับแต่จำเลยทั้ง 7 คน ไม่ยอมหยุด เมื่อไม่ยอมหยุดเจ้าหน้าที่ก็จะขอให้ไปปรับทัศนคติที่สถานีสารวัตรทหาร ค่ายศรีพัชรินทร ในการเชิญตัวไปที่ค่ายศรีพัชรินทรนั้นจำเลยทั้ง 7 คน ได้ทำการต่อสู้ขัดขืน และเมื่อมาที่ค่ายศรีพัชรินทรเพื่อปรับทัศนคติแต่จำเลยทั้ง 7 คน ไม่ยอมปรับทัศนคติ
จึงได้ส่งตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายโดยจับกุมและส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวน สภ.ขอนแก่นซึ่งได้บันทึกไว้ตามบันทึกการจับกุม ในส่วนของแผ่นป้ายของกลางเจ้าหน้าที่ได้ยึดไว้เป็นของกลางและบันทึกไว้ในบัญชีของกลาง และพ.อ.สุรศักดิ์ยืนยันว่าในคดีนี้พนักงานสอบสวนได้นำภาพถ่ายการกระทำความผิดมาให้ยืนยันและลงลายมือชื่อซึ่งได้ทำการยืนยันและลงลายมือชื่อไว้ทุกภาพเพื่อเป็นพยานหลักฐานจำนวน 3 แผ่น
พ.อ.สุรศักดิ์เล่าต่อว่า ในวันเกิดเหตุนอกจาก ทหารและตำรวจแล้ว ยังมีผู้สื่อข่าวจาก ไทยพีบีเอส บันทึกภาพเคลื่อนไหวในการชุมนุมดังกล่าวไว้ โดยได้ขอข้อมูลบันทึกภาพเคลื่อนไหวจากนักข่าวเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนด้วย และพ.อ.สุรศักดิ์ได้ยืนยันบันทึกคำให้การที่ได้ให้การกับพนักงานสอบและลงลายมือชื่อไว้ และไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้ง 7 คนมาก่อน
หลังจากอัยการทหารถามเสร็จแล้วได้แถลงต่อศาลว่าจากวันนัดตรวจพยานหลักฐานได้มีการตกลงกันไว้ว่าเนื่องจากเป็นพยานโจทก์ 3 ปากเป็นพยานที่อยู่ในวันจับกุมถือว่าเป็นพยานคู่ (พยานที่อยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน) ต้องมาศาลในเวลาเดียวกัน ซึ่งโจทก์ไม่สามารถนัดหมายพยานให้มาพร้อมกันทั้ง 3 คนได้ จึงขอให้โจทก์สืบพยานโจทก์ทั้ง 3 ปากเสร็จก่อน แล้วจึงให้ทนายจำเลยถามค้าน พยานโจทก์ทั้ง 3 คน ในนัดเดียว ทนายจำเลยไม่คัดค้านที่โจทก์ขอ จึงไม่มีการถามค้านพยานโจทก์ โดยนัดหมายในวันต่อไปคือ วันที่ 24 พฤษภาคม 2561 เวลา 13.00 น. สืบพยานโจทก์ ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร ผู้บังคับกองร้อยสารวัตรทหาร มณฑลทหารบกที่ 23
24 พฤษภาคม 2561
5 กันยายน 2561
นัดสืบพยาน พ.ต.ท.นรวัฒน์ คำพิโล ศาลเลื่อนสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 19 กรกฎาคม 2561 หลังพยานไม่มาศาลเพราะยังไม่ได้หมายศาลเนื่องจากเปลี่ยนที่อยู่
19 พฤศจิกายน 2561
นัดเสืบพยาน
เมื่อทั้งหมดมาถึงศาล มีเจ้าหน้าที่เข้ามาแจ้งว่าพยานโจทก์ยังเดินทางมาไม่ถึงศาลให้นั่งรอก่อน ต่อมาในเวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่ศาลเชิญทนายของภานุพงศ์เข้าไปพูดคุยในห้องอัยการทหาร
เมื่อทนายกลับออกมาก็แจ้งกับภานุพงศ์ว่าศาลทหารสั่งให้เลื่อนการสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 4 กุมภาพันธุ์ 2562 เนื่องจาก พ.ต.อ. นรวัฒน์ คำภิโล พยานโจทก์ที่มีกำหนดมาเบิกความวันนี้ป่วยกระทันหันไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ภานุพงศ์จึงลงชื่อรับทราบการเลื่อนนัดจากนั้นจึงเดินทางกลับ