- คดีชุมนุม, คดีมาตรา116, ฐานข้อมูลคดี
การชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้าสหประชาชาติ #UN62 (คดีผู้จัดการชุมนุม)
ผู้ต้องหา
สถานะคดี
คดีเริ่มในปี
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
วันที่ 22 พฤษภาคม 2561 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งกำหนดจัดกิจกรรมเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้หัวหน้าคสช.จัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังล้อมรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่คืนวันที่ 21 พฤษภาคมเพื่อเตรียมสกัดไม่ให้มีการเดินขบวนในตอนเช้า หลังเจรจาและปะทะกันกระทั่งกลุ่มผู้จัดบางคนตัดสินใจเข้ามอบตัว ในเวลาต่อมามีการตั้งข้อกล่าวหากับบุคคลอื่นในฐานะเป็นผู้จัดการชุมนุมเพิ่มเติมจนมีผู้ต้องหาในคดีนี้รวมทั้งสิ้น 21 คน
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
รังสิมันต์ โรม
อานนท์
ชลธิชา
สิรวิชญ์
ณัฏฐา
ปิยรัฐ
เอกชัย
โชคชัย
นิกร
ภัทรพล
ประสงค์
วิเศษณ์
วิโรจน์
ศรีไพร
วันเฉลิม
ประสิทธิ์
ธนวัฒน์
ประจิณ
บุญสิน
คีรี
พุทไธสิงห์
ข้อหา / คำสั่ง
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
ตามคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2561 เจ้าหน้าที่ระบุข้อกล่าวหาในคดีนี้ว่า รังสิมันต์โรมกับพวกรวมสิบห้าคนร่วมกันทำให้ปรากฎด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดที่ไม่ได้เป็นไปตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป กระทำการใดๆให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เมื่อเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 เลิกกระทำการก็ไม่เลิก ร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ร่วมกันเดินแถวหรือเดินขบวนกีดขวางการจราจร ร่วมกันชุมนุมกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานของรัฐหรือสถานศึกษา ร่วมกันชุมนุมสาธารณะในระหว่างมีคำสั่งห้า ร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยก่อให้เกิดความเดือดร้อนเกินสมควร ขัดขวางการฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ ร่วมกันไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และข้อหาทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย
สำหรับพฤติการณ์แห่งคดีพอสรุปได้ว่าในวันที่ 5 พฤษภาคม 2561 รังสิมันต์ปราศรัยนัดหมายให้มีการชุมนุมในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 จากนั้นในวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ก็ทำการโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ในเวลาต่อมาก็มีการโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนมาร่วมชุมนุมบนเฟซบุ๊กของบุคคลอื่น ได้แก่แฟนเพจกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เฟซบุ๊กส่วนตัวของอานนท์ เอกชัย สิรวิชญ์ และณัฏฐา ต่อมาในวันที่ 16 พฤษภาคม ชลธิชาทำหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้กำกับสน.ชนะสงครามซึ่งมีหนังสือตอบกลับในวันที่ 17 พฤษภาคมกำหนดเงื่อนไขการชุมนุมว่า ต้องไม่รบกวนผิวจราจร รบกวนทางเข้าออกหรือการปฏิบัติงาน ให้เจ้าหน้าที่ตั้งจุดคัดกรองเพื่อรักษาความปลอดภัย และให้ใช้เครื่องเสียงตามที่กฎหมายกำหนด หลังจากนั้นในวันที่ 20 พฤษภาคม 2561 แจ้งผู้จัดการชุมนุมว่าเนื่องจากการชุมนุมที่ประสงค์จะจัดเข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมืองจึงให้ผู้จัดไปขออนุญาตผู้รับมอบอำนาจจากหัวหน้าคสช.ก่อน และนำหนังสือมาแจ้งกับสน.ชนะสงครามผู้รับแจ้งการชุมนุมในเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนเริ่มการชุมนุม ซึ่งผู้แจ้งการชุมนุมไม่ได้นำหนังสืออนุญาตจากคสช.มาแสดงและไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งและเงื่อนไขของผู้รับแจ้งการชุมนุมไปยังผู้บังคับการตำรวจนครบาลหนึ่ง
ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ตั้งแต่ช่วงเวลา 13.00 น. เริ่มมีผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางมหาวิทยาลัยทำการปิดประตูล็อกกุญแจแต่นิกรนำคดีขนาดใหญ่มาตัดกุญแจเพื่อเปิดประตู หลังจา่กนั้นตั้งแต่เวลา 18.00 น. วันเฉลิม ศรีไพร ณัฏฐา สลับกันขึ้นปราศรัยโจมตีรัฐบาลและคสช.โดยมีประสิทธิ์เป็นพิธีกร ในวันที่ 22 พฤษภาคม ในเวลา 9.00 น. รังสิมันต์ปราศรัยเรียกให้ผู้ชุมนุมเดินเท้า ไปทำเนียบรัฐบาล ในขณะนั้นเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมมีการประกาศให้เลิกการชุมนุมเพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 แล้วแต่ผู้ชุมนุมก็ไม่หยุดรังสิมันต์ยังปราศรัยอย่างรุนแรงในลักษณะยุยงปลุกปั่นด้วย
ในเวลาประมาณ 14.30 น. มีผู้ชุมนุมประมาณ 200 คนเคลื่อนขบวนจากหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่ทำเนียบรัฐบาล โดยณัฏฐา ชลธิชา อานนท์ และเอกชัยนำผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ จนมาถึงบริเวณก่อนขึ้นสะพานมัฆวาน ในเวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมแต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิก และมีการทำร้ายร่างการเจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย
พฤติการณ์การจับกุม
กรณีการจับกุมที่สะพานมัฆวาน
ในเวลาประมาณ 15.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่เจ้าหน้าที่กำหนดเส้นตายให้ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณสะพานมัฆวานยุติการชุมนุม เจ้าหน้าที่ประกาศให้สื่อมวลชนและผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแยกตัวออกจากกลุ่มผู้ชุมนุม จากนั้นเจ้าหน้าที่เริ่มเคลื่อนกำลังมาบีบวงล้อมรอบอานนท์ ชลธิชา และ ณัฏฐา ซึ่งนั่งอยู่บนพื้นถนน ผู้เข้าร่วมการชุมนุมส่วนหนึ่งซึ่งอยู่บริเวณนั้นยืนเป็นวงล้อมผู้จัดการชุมนุมทั้งสามคนไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกคนล้มทับในจังหวะชุลมุน ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่จับคนที่ยืนล้อมผู้จัดการชุมนุมไปห้าคนและนำไปที่รถควบคุมของเจ้าหน้าที่ส่วนผู้จัดการชุมนุมทั้งสามยังคงนั่งอยู่ที่เดิม
ความพยายามในการเข้าควบคุมตัวผู้จัดการชุมนุมทำให้เกิดเหตุการณ์ชุลมุนอยู่ครู่หนึ่ง หลังจากนัี้นพล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู็บัญชาการตำรวจนครบาลซึ่งเป็นผู้ควบคุมการชุมนุมมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ยุติการปฏิบัติการชั่วคราวและเดินเข้ามาพูดคุยกับผู้จัดการชุมนุมทั้งสามคน พล.ต.ท.ชาญเทพกล่าวกับผู้จัดการชุมนุมทั้งสามว่าเหตุใดจึงเดินมาไกลขนาดนี้ และตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มผู้จัดไม่น่าจะนำประชาชนเดินมาเพราะก่อให้เกิดความวุ่นวาย ณัฏฐา หนึ่งในกลุ่มผู้จัดตอบไปว่าเป็นความต้องการของกลุ่มผู้ร่วมการชุมนุมที่ต้องการเดินมาให้ถึงทำเนียบรัฐบาล ณัฏฐาแจ้งกับพล.ต.ท.ชาญเทพว่าเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดี ทางกลุ่มจะขออ่านแถลงการณ์ที่เตรียมจะไปยื่นให้หัวหน้าคสช.ตรงสะพานมัฆวาน
หลังจากนั้นผู้ร่วมจัดการชุมนุมสามคนคือตัวเของณัฏฐา ชลธิชาและอานนท์ จะให้เจ้าหน้าที่นำตัวไปสถานีตำรวจ พล.ต.ท.ชาญเทพก็ตกลง ณัฏฐา จึงอ่านแถลงการณ์ประมาณสามถึงห้านาทีจากนั้นก็มอบตัวกับทางเจ้าหน้าที่ เมื่อผู้จัดการชุมนุมทั้งสามคนจะมอบตัว เอกชัยและโชคชัยผู้ร่วมการชุมนุมที่ยืนล้อมวงเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้จัดการชุมนุมสามคนที่อยู่กลางวงล้อมถูกล้มทับขณะที่มีเหตุชุลมุนบอกกับผู้จัดการชุมนุมทั้งสามคนและเจ้าหน้าที่ว่าหากจะเอาตัวทั้งสามคนไปก็ให้พาพวกเขาทั้งสองคนไปด้วย ทำให้ในที่สุดมีผู้ถูกควบคุมตัวจากบริเวณสะพานมัฆวานไปทั้งหมดสิบคน
กรณีการจับกุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในช่วงเวลาประมาณ 15.30น. เมื่อมีข่าวว่ามีผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมการชุมนุมส่วนหนึ่งถูกควบคุมตัวที่สะพานมัฆวานขณะที่กำลังเดินเท้าไปทำเนียบรัฐบาล สิรวิชญ์ ปิยรัฐ และรังสิมันต์ซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุมที่ติดอยู่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมอีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากในขณะนั้นมีผู้ร่วมการชุมนุมเหลืออยู่ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศษสตร์ไม่ถึง 200 คน และมีผู้จัดการชุมนุมเหลืออยู่เพียงสามคน ทั้งสามจึงตัดสินใจว่าจะยุติการชุมนุมเพื่อไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงเพราะขณะนั้นเจ้าหน้าที่มีการเสริมกำลังหน่วยควบคุมฝูงชนที่มีโล่และกระบองอยู่ด้านหลังแนวหน่วยควบคุมฝูงชนมือเปล่าที่ยืนเป็นแถวหน้าแล้ว รังสิมันต์จึงประสานกับผู้กำกับสน.ชนะสงครามเพื่อขอเจรจาว่าทางกลุ่มจะยุติการชุมนุม รังสิมันต์จะมอบตัวกับเจ้าหน้าที่เลยส่วนสิรวิชญ์และปิยรัฐจะอยู่ดูแลให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมสลายตัวและเดินทางกลับออกจากพื้นที่ให้เรียบร้อยแล้วจึงจะมอบตัว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมโดยบอกว่าทั้งสามต้องมอบตัวพร้อมกัน รังสิมันต์ตกลงกับเจ้าหน้าที่ในที่สุดโดยขอเจ้าหน้าที่ว่านอกจากพวกเขาทั้งสามคนแล้วอย่าจับกุมผู้เข้าร่วมการชุมนุมคนอื่น ฝ่ายปิยรัฐซึ่งเป็นผู็ปราศรัยอยู่บนรถเครื่องเสียงก็แจ้งผู้เข้าร่วมการชุมนุมว่าเพื่อไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง ตัวเขา
สิรวิชญ์และรังสิมันต์จะมอบตัวส่วนผู้เข้าร่วมการชุมนุมขอให้สลายตัวกลับบ้าน เบื้องต้นผู้เข้าร่วมการชุมนุมไม่ยอมแต่ปิยรัฐจึงพยายามชี้แจงว่าหากผู้เข้าร่วมการชุมนุมประสงค์จะให้กำลังใจพวกเขาทั้งสามคนก็สามารถตามไปที่หน้าสน.ชนะสงครามได้ ผู้ร่วมการชุมนุมจึงยอมสลายตัวส่วนปิยรัฐ รังสิมันต์ และสิรวิชญ์ก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนชุดที่ไม่มีโล่และกระบองพาตัวไปที่สน.ชนะสงคราม หลังทั้งสามคนอยู่ที่สน.ชนะสงครามได้ประมาณสองชั่วโมงก็มีผู้ถูกควบคุมตัวมาที่สน.ชนะสงครามเพิ่มเติมอีกสองคนคือวิเศษซึ่งเป็นคนขับรถและนิกรณ์ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมการ์ดของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ขณะที่รถเครื่องเสียงซึ่งปิยรัฐเป็นเจ้าของก็ถูกยึดมาที่สน.ชนะสงครามพร้อมกับวิเศษซึ่งเป็นคนขับ
ในวันเกิดเหตุคดีนี้มีผู้ถูกควบคุมตัวรวมทั้งหมด 15 คน ส่วนผู้ต้องหาในคดีที่เหลือเจ้าหน้าที่มาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในภายหลังแต่ยังไม่มีการจับกุมตัว
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
หมายเลขคดีดำ
ศาล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
แหล่งอ้างอิง
5 พฤษภาคม 2561
ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า กลุ่มคนอยากเลือกตั้งซึ่งจัดกิจกรรม อภิปรายไม่ไว้วางใจ "หยุดระบอบ คสช. หยุดยื้อเลือกตั้ง" และตลาดนัด "ช็อปช่วยทาส" ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ แถลงข้อเรียกร้องสามข้อต่อรัฐบาล ได้แก่ ให้จัดการเลือกตั้ง ในเดือน พ.ย.2561 ให้ คสช.ลาออก และให้กองทัพเลิกหนุน คสช. พร้อมระบุว่าหากข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนองกลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะทำกิจกรรมเดินเท้าจากธรรมศาสตร์ ไปหน้าทำเนียบรัฐบาล
8 พฤษภาคม 2561
กลุ่มคนอยากเลือกตั้งกำหนดจัดกิจกรรมเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้หัวหน้าคสช.จัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังล้อมรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่คืนวันที่ 21 พฤษภาคมเพื่อเตรียมสกัดไม่ให้มีการเดินขบวนในตอนเช้า
กระทั่งผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนในเวลาประมาณ 9.00 น.เจ้าหน้าที่ก็พยายามสกัดกั้นจนเกิดการปะทะกันแต่ก็ไม่มีเหตุรุนแรง ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่สามารถเข้ามาสมทบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็นัดรวมตัวกันด้านนอกแนวกั้นของเจ้าหน้าที่บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
ช่วงประมาณ 13.00 น. ในขณะที่ รังสิมันต์ ปิยรัฐ และสิรวิชญ์ และผู้จัดการชุมนุมอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพราะไม่สามารถเดินมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อานนท์ ชลธิชา และ ณัฏฐา นำผู้ชุมนุมที่ไม่สามารถเข้ามาสมทบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินเท้าไปตามถนนราชดำเนินมุ่งหน้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อมาถึงที่บริเวณสะพานมัฆวานเจ้าหน้าที่ทำการสกัดกั้นและประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมภายในเวลา 15.00 น. เมื่อถึงเวลา15.00 น. เจ้าหน้าที่ก็เข้าล้อมผู้จัดการชุมนุมได้แก่ อานนท์ ชลธิชา ณัฏฐา เอกชัย และ โชคชัย เพื่อทำการจับกุม แต่ทางผู้จัดได้ขออ่านแถลงการณ์ก่อน หลังจากนั้นจึงมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ ต่อมาในเวลาประมาณ 15.40 น. ปิยรัฐ รังสิมันต์และสิรวิชญ์ ผู้จัดการชุมนุมที่อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ประกาศยุติการชุมนุมและมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ ในเวลาต่อมามีการตั้งข้อกล่าวหากับบุคคลอื่นในฐานะเป็นผู้จัดการชุมนุมเพิ่มเติมจนมีผู้ต้องหาในคดีนี้รวมทั้งสิ้น 21 คน
28 พฤษภาคม 2561
ณัฏฐา ผู้ต้องหาที่ 9 ในคดีนี้ ไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญาที่ให้ฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลอุทธรณ์ โดยอ้างเหตุผลตามหลักการของรัฐธรรมนูญ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่รับรองสิทธิของผู้ต้องหาที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด ดังนั้นการให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาต้องมีเหตุจำเป็นเพื่อการสอบสวน เช่น เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
สำหรับคดีนี้ ณัฎฐามองว่า พนักงานสอบสวนอ้างว่า ยังต้องสอบพยานอีก 10 ปาก และตรวจลายนิ้วมือผู้ต้องหา ซึ่งเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย เพราะการสอบพยานที่เหลือกับการตรวจลายนิ้วมือไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาแล้ว หากผู้ต้องหาไม่ถูกควบคุมตัวก็จะไม่เป็นอุปสรรคกับการสอบสวน จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องควบคุมตัว และการที่ศาลอาญาพิจารณาว่า ผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ก็เห็นว่า เป็นการอ้างเหตุผลที่คาดเคลื่อนเพราะผู้ต้องหายังมีสิทธิพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ตลอดกระบวนการ สาเหตุที่พนักงานสอบสวนอ้างเพื่อขอให้ศาลออกหมายขังผู้ต้องหาในคดีนี้ ไม่ได้เป็นเหตุจำเป็นตามกฎหมาย การที่ศาลอาญาใช้ดุลพินิจสั่งให้ฝากขังผู้ต้องหาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คดีนี้เป็นคดีทางการเมือง ระหว่างฝ่ายนิยมเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตย โดยฝ่ายเผด็จการใช้กฎหมายและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือจัดการกับผู้เห็นต่าง ผู้ต้องหาในคดีนี้เรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง อันเป็นสิทธิขึ้นพื้นฐานของผู้ต้องหาเอง เป็นสิทธิที่ถูก คสช. ยึดเอาไปจากประชาชน การที่ผู้ต้องหาออกมาทวงสิทธิจึงมีเหตุอันสมควร ไม่ได้เกิดจากแรงจูงใจในทางอาญา แต่เป็นแรงจูงใจอันเกิดจากอุดมการณ์ทางการเมือง
การที่พนักงานสอบสวนอ้างเหตุที่ไม่มีความจำเป็นมาขอให้ศาลสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหา นอกจากจะไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วยังเป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้ต้องหา แสดงถึงพฤติกรรมมักง่าย ลุแก่อำนาจโดยใช้ศาลเป็นเครื่องมือ ทำให้เกิดภาระและสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ต้องหาที่จะต้องหาหลักทรัพย์มาประกันตัวเพื่อและกับอิสรภาพ
ผู้ต้องหามีอาชีพเป็นครู เป็นบุคคลสาธารณะ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง การถูกดำเนินคดีก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยหลบหนีและให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนตามที่นัดหมายทุกครั้ง ไม่เคยหลีกเลี่ยงการมาตามหมายเรียก ผู้ต้องหาไม่มีสันดานเป็นอาชญากร จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องควบคุมตัวไว้ ขอให้ศาลอุทธรณ์ยกคำสั่งของศาลอาญาที่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา และคืนเงินประกันให้นายประกันต่อไป
5 มิถุนายน 2561
เก้าวันหลังณัฏฐายื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งให้ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า การสั่งคำร้องขอฝากขังเป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น เป็นอำนาจพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนได้ ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ.มาตรา 66 และ มาตรา 87 จึงไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ.มารา 193 และการที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนนั้น เป็นเรื่องระหว่างศาลกับพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้ร้องโดยเฉพาะ ผู้ต้องหาที่ 9 จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลนี้ จึงไม่รับอุทธรณ์ของผู้ต้องหาที่ 9
14 มกราคม 2562
นัดฟังคำสั่งคดี
อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 15 มีนาคม 2562