5 ตุลาคม 2557
ประชาไทรายงานว่า กลุ่มสภาหน้าโดมจัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการชำระ และสร้าง” ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีวิทยากรได้แก่ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวลักษณ์ จำเลยคดีนี้
ตามรายงานของประชาไท ตอนหนึ่งของงานเสวนา สุลักษณ์ตั้งข้อสังเกตว่า ความจริงในทางประวัติศาสตร์อาจจะมีการต่อเติม ตัดออก หรือเขียนขึ้นใหม่ และความจริงอาจจะไม่ตรงกันเสมอไป โดยยกตัวอย่างกรณีการทำยุทธหัตถีว่า ประวัติศาสตร์ไทยและพม่าเขียนไม่ตรงกันโดยประวัติศาสตร์ของฝั่งพม่าระบุว่าสมเด็จพระนเรศวรใช้พระแสงปืนยิงพระมหาอุปราช ซึ่งสุลักษณ์ตั้งคำถามว่าสรุปแล้วข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นี้จริงๆแล้วคืออะไร
16 ตุลาคม 2557
เอเอสทีวีเมเนเจอร์ออนไลน์รายงานว่า พล.ท.ผดุง นิเวศวรรณ ประธานมูลนิธิคณะบุคคลพอเพียง และ พล.ท.พิทยา วิมะลิน นายทหารนอกราชการ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามให้ดำเนินคดีกับสุลักษณ์ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จากเนื้อหาที่สุลักษณ์กล่าวระหว่างร่วมอภิปรายหัวข้อ "ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ในทำนองว่า การทำยุทธหัตถีไม่มีจริง รวมทั้งมีถ้อยคำอีกส่วนหนึ่งที่อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายนี้
24 ธันวาคม 2557
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนให้ไปพบในวันที่ 25 ธันวาคม 2557 เพื่อให้ปากคำว่าบุคคลใดเป็นผู้จัดกิจกรรมเสวนา พิพัฒน์แจ้งกับพนักงานสอบสวนว่า ไม่ขอให้ปากคำเพราะตนเป็นเพียงผู้อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งสุดท้ายเจ้า
28 กุมภาพันธ์ 2560
วอยซ์ทีวีออนไลน์รายงานว่า สุลักษณ์ให้ทนายไปพบพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามเพื่อขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนอนุญาตให้เลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาไปก่อนโดยยังไม่กำหนดวันนัดใหม่
20 เมษายน 2560
วอยซ์ทีวีออนไลน์ รายงานว่า พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามเรียกพยานบุคคลมาสอบปากคำเพิ่มเติมสองคนได้แก่ เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี และธเนศ อาภรณ์สุวรรณ โดยทั้งสองเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะอยู่ในเวทีอภิปรายร่วมกับสุลักษณ์
เจนวิทย์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการวงเสวนาในวันเกิดเหตุและธเนศซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรบนเวทีเดียวกับสุลักษณ์ให้การถึงรายละเอียดของการเสวนาว่า วิทยากรแต่ละคนนำเสนอหัวข้อใด สำหรับตัวสุลักษณ์ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีนี้นำเสนอหัวข้อเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของปรีดี พนมยงค์และป๋วย อึ๊งภากรณ์
6 ตุลาคม 2560
ข่าวสดอิงลิชรายงานว่า ได้รับแจ้งจากสุลักษณ์ว่า พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องคดีของสุลักษณ์ต่ออัยการศาลทหารกรุงเทพและสุลักษณ์ได้รับแจ้งให้ไปพบพนักงานสอบสวนที่สน.ชนะสงครามในวันที่ 9 ตุลาคม 2560 เพื่อที่พนักงานสอบสวนจะนำตัวเขาไปส่งต่ออัยการศาลทหารกรุงเทพ
สุลักษณ์ให้สัมภาษณ์กับข่าวสดอิงลิชด้วยว่า "ถ้าประเทศเป็นปรกติและเป็นนิติรัฐ ก็จะไม่มีปัญหาอะไร กฎหมายมาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ใช้คุ้มครองพระมหากษัตริย์ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่ง แต่ถ้ากฎหมายนี้ถูกใช้กับผู้ที่วิจารณ์อดีตพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์เมื่อ 500 ปีก่อน มันก็คงไม่ใช่เรื่องปกติแล้ว"
“If the country was normal and there existed rule of law in this country, then there won’t be problems. The lese majeste law protects the current monarch and if someone is charged for criticizing a king who reigned 500 years ago, then something is not normal,” said Sulak, sounding disturbed and worried.
9 ตุลาคม 2560
สุลักษณ์เข้าพบพนักงานสอบสวนที่สน.ชนะสงครามในเวลา 10.00 น. ต่อมาในเวลา 10.15 น. พนักงานสอบสวน แจ้งว่าสุลักษณ์ว่าทางตำรวจมีความเห็นสั่งฟ้องและนำตัวสุลักษณ์ไปที่ศาลทหารกรุงเทพเพื่อส่งสำนวนฟ้องแก่อัยการศาลทหาร
ในเวลา11.30 น. อัยการศาลทหารตรวจสำนวนคดีเสร็จและนัดหมายให้สุลักษณ์มาฟังคำสั่งคดีในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 โดยในระหว่างนี้สุลักษณ์ ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางเงินประกัน
7 ธันวาคม 2560
นัดฟังคำสั่งอัยการ
สุลักษณ์เดินทางมาที่ศาลทหารกรุงเทพในเวลาประมาณ 10.00 น. เพื่อฟังคำสั่งคดีตามที่อัยการทหารนัดหมาย ที่หน้าอาคารศาลทหารกรุงเทพมีผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งพร้อมทั้งตัวแทนสถานทูตเยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ และตัวแทนคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยมารอสังเกตการณ์ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ทหารที่ศาลขอให้ผู้มาสังเกตการณ์ทุกคนรออยู่ด้านหน้าประตูศาลไม่ให้เข้าไปในอาคาร
สุลักษณ์ทักทายกับเจ้าหน้าที่สถานทูตที่มารอสังเกตการณ์นัดฟังคำสั่งคดีของเขา
ในเวลาประมาณ 10.30 น. สุลักษณ์เดินออกมาจากอาคารศาลโดยได้ทักทายกับตัวแทนสถานทูตก่อนที่จะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ได้ขอให้อัยการทหารสอบพยานเพิ่มเติมเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีความละเอียดอ่อน อัยการทหารจึงนัดฟังคำสั่งคดีใหม่ในวันที่ 17 มกราคม 2561 สุลักษณ์แสดงความกังวลด้วยว่าหากกรณีของเขานำไปสู่การดำเนินคดีจริงๆก็จะทำให้การศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ในประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่น่ากังวลเพราะต่อไปนี้แม้แต่จะพูดถึงพระเจ้าเหาก้ไม่ได้
17 มกราคม 2561
เวลา 9.30 น. สุลักษณ์เดินทางมาพบอัยการศาลทหารกรุงเทพเพื่อฟังคำสั่งคดีอีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้อัยการเคยนัดฟังคำสั่งคดีในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 แต่สุลักษณ์ขอให้อัยการทหารสอบพยานเพิ่มเติม
ในวันนี้มีผู้แทนสถานทูตหลายแห่งเช่นเยอรมัน แคนาดา เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศสและตัวแทนจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมาร่วมสังเกตการณ์นอกจากนี้ก็มีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศมารอติดตามคำสั่งคดี
หลังสุลักษณ์เข้าพบอัยการทหารประมาณสิบนาทีก็เดินออกจากอาคารศาลพร้อมกับแจ้งกับสื่อมวลชนที่มารอทำข่าวว่า อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าคิดว่าคำสั่งคดีนี้จะสร้างบรรทัดฐานใดหรือไม่ สุลักษณ์ตอบว่าไม่คิดว่าคำสั่งคดีนี้จะสร้างบรรทัดฐานใดเพราะภายใต้สถานการณ์ที่สังคมไม่เป็นประชาธิปไตย การแสดงความเห็นเรื่องใดๆก็อาจมีการดำเนินคดีได้ ในกรณีของเขานี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ถูกดำเนินคดี 112 แต่ก็หวังว่านี่จะเป็นครั้งสุดท้าย
สำหรับขั้นตอนต่อไปสุลักษณ์ระบุว่าหลังจากนี้ทางอัยการทหารจะส่งความเห็นไปที่สน.ชนะสงครามซึ่งเป็นผู้เริ่มสำนวนคดีต่อไป