- คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, ฐานข้อมูลคดี
อานนท์ หมิ่นเอ็นจีโอตระกูล ส.
ผู้ต้องหา
สถานะคดี
คดีเริ่มในปี
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
อานนท์ โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กในทำนองว่า กลุ่มเอ็นจีโอตระกูลส. แสวงหาประโยชน์จากกองทุนพัฒนาต่างๆ ต่อมารสนา โตสิกตระกูลและพวกพบข้อความดังกล่าวจึงติดต่อชี้แจงกับอานนท์ ครั้งนั้นอานนท์กล่าวขอโทษรสนาและสัญญาว่าจะโพสต์ข้อความขอโทษลงบนเฟซบุ๊ก แต่เปลี่ยนใจไม่โพสต์ขอโทษ รสนาและพวกจึงฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ในความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
ข้อหา / คำสั่ง
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
วันที่ 25 สิงหาคม 2558 เวลากลางคืน อานนท์ โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายเป็นข้อมูลปลอมหรือข้อมูลเท็จลงบนเฟซบุ๊กของตัวเองว่า "เปิดตัว /กลุ่มลับแสวงประโยชน์งบแผ่นดิน :เอ็นจีโอ ตระกูล ส แสวงหาอำนาจเงินโดยเขียนกฎหมายให้มีกองทุนอ้างพัฒนาด้านต่างๆคือองค์กรด้านกฎหมายและงานสาธารณะสุข เช่น สปสช,สวรส,สสส,สช,สรพ,สพฉ เป็นหน่วยงานรับงบประมาณทับซ้อนมหาศาล"
โจทก์เห็นว่าข้อความข้างต้นไม่เป็นความจริงและมีลักษณะเป็นการใส่ความให้เกิดความสับสนและส่งผลให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง
พฤติการณ์การจับกุม
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
หมายเลขคดีดำ
ศาล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
แหล่งอ้างอิง
ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 9.50 น. สุภัทราเบิกความต่อศาลว่า ตนรู้จักและมีตำแหน่งอยู่ในกลุ่มองค์กรที่มีชื่อย่อ ส. คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอดส์ ทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อโครงการที่เสนอของบประมาณของ สสส. เพื่อจัดทำโครงการเกี่ยวกับเอดส์
สุภัทรายืนยันว่าตนเองไม่มีอำนาจเด็ดขาดในการอนุมัติโครงการใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นเพียงแต่ผู้ให้ความเห็นเท่านั้น การอนุมัติงบประมาณใดๆ เป็นมติของคณะกรรมการของ สสส. ทั้งนี้ตนจะได้รับเงินค่าตอบแทนจากการให้ความเห็นในแต่ละโครงการ โครงการละ 1,000 บาท นอกจากนี้ มูลนิธิที่ตนทำงานประจำอยู่ไม่เคยขอรับทุนจากโครงการตระกูล ส.
สุภัทราเบิกความต่อไปว่า ข้อความที่อานนท์โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวทำให้ตนได้รับความเสียหาย ข้อความดังกล่าวทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า ตนและโจทก์ร่วมทั้งหมดเป็นทุจริตฉ้อคนโกง ทำให้ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง นอกจากนี้ ข้อความที่อานนท์โพสต์มีคนกดถูกใจ 49 ครั้ง และกดเผยแพร่ 23 ครั้ง จึงเชื่อว่าจำนวนผู้ที่เห็นข้อความดังกล่าวมีมากกว่าผู้ที่เป็นเพื่อนของจำเลยในเฟซบุ๊ก และการกดแชร์ทำให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสามารถพบเห็นข้อความดังกล่าวได้ทุกที่ทั้งในและต่างประเทศ
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยถามว่าการที่สุภัทราทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและให้ความเห็นต่อ สสส. สุภัทราจึงสามารถกำกับทิศทางให้ สสส. อนุมัติโครงการใดๆ ได้ใช่หรือไม่ สุภัทราตอบว่า หน้าที่หลักของตนเองคือการเป็น "Steering Committee" หรือการกำกับทิศทางแผนงานด้านสุขภาวะทางเพศ มีหน้าที่เพียงแต่ให้คำปรึกษาทิศทางเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศเท่านั้น โดย สสส. ซึ่งเป็นเจ้าของเงินงบประมาณเป็นผู้กำหนดเป้าหมายระยะยาว (หรือแผนระยะ 5-10 ปี) ไว้อยู่แล้ว ตนจึงทำหน้าที่กำกับทิศทางของโครงการย่อยให้เป็นไปตามเป้าหมายใหญ่ที่ สสส. ได้กำหนดไว้เท่านั้น
ทนายจำเลยถามว่า สุภัทราเป็นหนึ่งในรายชื่อ 52,000 ชื่อที่เสนอร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพชาติ และต่อมาสุภัทราได้เป็นหนึ่งใน 10 คน ที่ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้เข้าใจได้ว่าสุภัทราอาจได้รับผลประโยชน์ต่อการเสนอกฎหมายดังกล่าว สุภัทราตอบว่าตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง และการเข้าชื่อเสนอกฎหมายก็เป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นสิทธิที่ตนสามารถกระทำได้ในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง
ทั้งนี้ ในระหว่างการเข้าชื่อเสนอกฎหมายดังกล่าว สุภัทราไม่ทราบว่ามีผู้ใดร่วมลงชื่อใน 52,000 รายชื่อ และไม่ทราบมาก่อนว่าจะได้รับเลือกเป็นหนึ่งในคณะกรรมการดังกล่าว
ทนายจำเลยถามว่าสุภัทราเป็นจำเลยในคดีหมิ่นประมาทซึ่งถูกกลุ่มแพทย์ฟ้องดำเนินคดีสุภัทราร่วมกับ จอน อึ๊งภากรณ์ และพวก ในประเด็นเรื่องหลักประกันสุขภาพ สุภัทราตอบว่าตนเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวจริง และคดีดังกล่าวเป็นคดีหมิ่นประมาท ไม่ใช่เรื่องที่ตนกระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น
นอกจากนี้อานนท์ยังไม่ได้ลบโพสต์หรือแจ้งความต่อตำรวจภายหลังการโพสต์ข้อความรูปภาพดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าอานนท์เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง โดยไม่ได้ถูกแฮ๊กเฟซบุ๊กแต่อย่างใด
นิมิตร์เบิกความต่อว่า ข้อความดังกล่าวทำให้เข้าใจว่า ตนมีพฤติกรรมทุจริตฉ้อโกง แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว นอกจากนี้ข้อความดังกล่าวยังกระทบต่อการทำงานด้านประชาสังคมของตน เนื่องจากการทำงานกับภาคประชาสังคมต้องได้รับความเชื่อถือจากบุคคลทั่วไป และอาจกระทบต่อการอนุมัติให้เงินทุนจากแหล่งทุนต่างๆ เพื่อดำเนินโครงการภายใต้มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ซึ่งตนเป็นผู้อำนวยการอยู่ในปัจจุบัน
นิมิตร์เบิกความต่อว่า ตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมา มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวีเป็นจำนวนมาก ตนจำเป็นต้องผลักดันหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อต้องการให้ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับการดูแลจากรัฐ และต่อมา สสส. ได้นำชื่อของตนไปเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอดส์ โดยมีหน้าที่ให้ความเห็นในโครงการที่เกี่ยวกับโรคเอดส์ แต่ตนเองไม่มีหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณ
นิมิตร์เบิกความต่อว่า กรณีที่กฤษฎีกาตีความว่า สปสช. ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ การเบิกจ่ายเงินดังกล่าวเป็นไปเพื่อความคล่องตัวในการให้บริการของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นปัญหาด้านการตีความแต่ไม่ได้เกี่ยวกับทุจริตคอร์รัปชั่น
ต่อมาคณะรัฐมนตรีจึงได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเรื่อง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจําเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริม การจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินงานของโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุขเป็นไปได้ตามปกติ
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทางกฤษฎีกาตีความว่า มีการจัดสรรเงินผิดวัตถุประสงคขัดต่อกฎหมายคือพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติในเรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข และกรณีหน่วยบริการนำเงินเหมาจ่ายรายหัวไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าจ้างลูกจ้าง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าตอบแทนบุคลากร ซึ่งการตีความดังกล่าวทำให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขขาดความคล่องตัวในการบริหารงาน
ต่อมา คสช. จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขเรื่องนี้แล้ว และคาดว่าน่าจะมีการแก้ไขตัวบทกฎหมายต่อไป เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินด้านสาธารณสุขเป็นไปอย่างถูกต้อง
ทนายจำเลยถามค้านต่อในประเด็นการขอรับเงินจากองค์กรเภสัชกรรม นิมิตร์ชี้แจงว่า ตนเคยพิจารณาเรื่องการใช้งบประมาณขององค์กรเภสัชกรรม และมูลนิธิที่ตนทำงานประจำอยู่เคยขอทุนจากองค์การเภสัชกรรมเพื่อจัดทำหนังสือขององค์กร ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการอยู่
ทนายโจทก์ถามติงในประเด็นการอนุมัติเงินขององค์การเภสัชกรรม นิมิตร์ชี้แจงว่า องค์การเภสัชกรรมไม่เคยมีชื่อเสียงเรื่องการทุจริต และตนก็ไม่มีส่วนร่วมในการอนุมัติเงินขององค์การเภสัช
สำหรับการกระทำของจำเลย รสนาเบิกความว่าทราบเรื่องที่จำเลยโพสต์ข้อความจากสารี อ๋องสมหวัง ซึ่งเป็นผู้ถ่ายภาพหน้าเฟซบุ๊กของจำเลยที่มีข้อความดังกล่าวและส่งมาให้ทางไลน์ในช่วงประมาณวันที่ 27-28 สิงหาคม 2558
รสนาเบิกความว่า จำได้ว่าเคยพบอานนท์ที่งานแต่งงานของ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ตนจึงโทรศัพท์ไปหา ม.ล.กรกสิวัฒน์ เพื่อถามเกี่ยวกับตัวอานนท์ โดยม.ล.กรกสิวัฒน์บอกตนว่าจะประสานให้ตนกับอานนท์ได้พูดคุยกัน ต่อมา อานนท์ก็ได้โทรมาหาตนจึงบอกกับอานนท์ว่า ข้อความดังกล่าวทำให้บุคคลหลายคนได้รับความเสียหายและขอให้อานนท์โพสต์ชี้แจงและขอโทษผ่านทางเฟซบุ๊กของอานนท์เอง มิเช่นนั้นตนจะดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท
อานนท์ได้กล่าวขอโทษและบอกว่าเดี๋ยวจะจัดการให้ แต่ประมาณหนึ่งชั่วโมงต่อมา อานนท์โทรกลับมาบอกตนว่า ผมขอโทษนะครับ ผมไม่สามารถเขียนคำขอโทษได้ เพราะทนายบอกว่าจะเสียรูปคดี ตนจึงตอบกลับว่า "งั้น พี่ฟ้องเธอนะ"
นอกจากนี้ มูลนิธิสุขภาพไทยไม่เคยถูกกล่าวหาหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตแต่อย่างใด
รสนาแถลงต่อศาลว่า การถูกกล่าวหาตามข้อความของจำเลย ทำให้ตนเสื่อมเสียชื่อเสียง เนื่องจากตนดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการตรวจสอบด้านธรรมาภิบาลและการทุจริต และมีผลงานที่มีชื่อเสียงคือการตรวจสอบการทุจริตในการจัดซื้อยาของกระทรวงสาธารณสุข
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยถามต่อไปว่า ร่างฯดังกล่าวเสนอให้มีกรรมการจากตัวแทนคุ้มครองผู้บริโภคไปเป็นกรรมการด้วยใช่หรือไม่ รสนาชี้แจงว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอของประชาชน และไม่ได้ระบุชื่อของตนหรือบุคคลใดๆ เป็นการเฉพาะเจาะจงให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ร่างฯดังกล่าวเพียงต้องการให้มีตัวแทนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ของทุกภาคส่วนมาเป็นคณะกรรมการ ซึ่งรวมถึงภาคประชาชนด้วย
ทนายจำเลยถามถึงเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนเรื่องการทุจริตการจัดซื้อน้ำยาล้างไต รสนาระบุว่า ตนไม่ทราบเรื่องดังกล่าว
ทนายจำเลยถามรสนาต่อว่า บุคคลสาธารณะและประเด็นสาธารณะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร รสนาตอบว่า ตนไม่ทราบ โดยในประเด็นนี้ศาลเห็นว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยหมิ่นประมาทจึงไม่บันทึก
ทนายจำเลยถามในประเด็นเรื่องการตรวจสอบ IP address รสนาชี้แจงว่า ตนเข้าใจว่าโจทก์ที่ห้า ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในมูลนิธิของโจทก์ไปดำเนินการแล้ว และหลังจากนั้นโจทก์ทั้งห้าคนได้พูดคุยกันว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของอานนท์ จำเลยในคดีนี้จริง และอานนท์ในคดีนี้ก็เคยโทรศัพท์คุยเรื่องที่โพสต์เฟซบุ๊กกับตนจริง ทั้งนี้ รสนาไม่ยืนยันว่า ฝ่ายโจทก์ได้ให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ตรวจสอบ IP address ด้วยหรือไม่ ตามที่ทนายจำเลยถาม
ตอบทนายโจทก์ถามติง
ทนายโจทก์ถามเรื่องการโต้ตอบระหว่างจำเลยกับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า ปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้แชร์โพสต์ของจำเลย รสนาแถลงว่า ตนเห็นการโต้ตอบดังกล่าวจากการที่ ปรียานันท์ นำเฟซบุ๊กของตนมาให้ดูผ่านโทรศัพท์มือถือ