- คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, คดีมาตรา116, ฐานข้อมูลคดี
วัฒนา:โพสต์ว่าหมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุ
ผู้ต้องหา
สถานะคดี
คดีเริ่มในปี
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
วัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า หมุดคณะราษฎรเป็นวัตถุโบราณ ต่อมาเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ร้องทุกข์กล่าวโทษวัฒนาในความผิดฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) วัฒนาเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 เพื่อรับทราบข้อกล่าว
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
ข้อหา / คำสั่ง
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อวัฒนา ในความผิดฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียหาย อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯมาตรา 14(1) จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า หมุดคณะราษฎร์ที่ติดตั้งที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เป็นโบราณวัตถุ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ
พฤติการณ์การจับกุม
วันที่ 20 เมษายน 2560 ในช่วงบ่าย วัฒนา เมืองสุข เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนปอท. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ด้วยตัวเอง โดยยังไม่มีการออกหมายเรียกหรือหมายจับ
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
หมายเลขคดีดำ
ศาล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
แหล่งอ้างอิง
เพจเฟซบุ๊กหมุดคณะราษฎร รายงานว่า หมุดคณะราษฎรที่เป็นหมุดที่ทำขึ้นเนื่องจากการอภิวัฒน์สยาม 2475 มีข้อความว่า ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ ได้ถูกรื้อถอนและแทนที่ด้วยหมุดใหม่ที่มีข้อความว่า ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง และ ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน
โดยไม่ปรากฏว่า มีหน่วยงานใดออกมาแสดงความรับผิดชอบในการรื้อถอนหมุดคณะราษฎร จึงก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามว่า ใครเป็นผู้เปลี่ยนหมุดคณะราษฎร
16 เมษายน 2560
ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า พริษฐ์ รัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์ หลานของหลวงเสรี เริงฤทธิ์ หนึ่งในคณะราษฎรที่ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ได้ขอลงบันทึกประจำวันที่ สน.ดุสิต จากกรณีที่หมุดคณะราษฎรหายไปอย่างลึกลับ ต่อมานิสิตและนักศึกษาจากสามมหาวิทยาลัยคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มาขอลงบันทึกประจำวันกรณีหมุดคณะราษฎรหาย
กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. กล่าวถึงกรณี การลงบันทึกประจำวันของพริษฐ์ รัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์และกลุ่มนักศึกษาว่า ส่วนตัวมองว่า ตามกฎหมายผู้ร้องทุกข์จะต้องเป็นผู้เสียหายหรือเจ้าของทรัพย์มรดก ตำรวจถึงจะดำเนินการให้ แต่กรณีหมุดคณะราษฎรนี้ไม่ปรากฏว่า เป็นทรัพย์สินของใคร ตนจึงไม่รู้จะไปดำเนินการอย่างไร
"ผมรู้สึกสังเวชในพฤติกรรมของรอง ผบ.ตร. ท่านหนึ่ง ที่ออกมาถามนิสิตนักศึกษาที่ได้ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต เพื่อให้ช่วยติดตามหมุดของคณะราษฎรที่หายไปว่าเป็นผู้เสียหายหรือไม่ ผมขอตอบคำถามแทนคนไทยเพื่อเป็นวิทยาทานว่า หมุดของคณะราษฎรเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณที่ประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือเป็นสัญลักษณ์ของการอภิวัฒน์สยามเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 จึงถือเป็น ‘โบราณวัตถุ’ ตามมาตรา 1 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 หมุดดังกล่าวจึงถือเป็นสมบัติของชาติ
ภายหลังเข้าพบพนักงานสอบสวน วัฒนาให้สัมภาษณ์ว่าได้ชี้แจงเจตนาในการโพสต์ข้อความต่อพนักงานสอบสวนแล้วและจะกลับไปทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน โดยยืนยันว่า สิ่งที่โพสต์เป็นการแสดงความคิดเห็นเชิงข้อเท็จจริง พร้อมกล่าวว่า จะไม่ออกมาเคลื่อนไหวกรณีหมุดคณะราษฎรอีกแล้ว
นัดสืบพยานโจทก์
เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร พยานโจทก์ปากที่หนึ่ง
เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร เบิกความว่า "หมุดคณะราษฎรไม่จัดอยู่ในโบราณวัตถุ แต่เป็นเอกสารราชการ แต่ไม่มีหน่วยงานรัฐแสดงความเป็นเจ้าของ" อีกทั้งยังกล่าวว่า โบราณวัตถุ สามารถเป็นได้ทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียน ตามการรับรองของกรมศิลปากร วัฒนา จำเลย ถามค้านเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร ด้วยตนเองว่า หลังการโพสต์ข้อความที่เป็นเหตุในคดีดังกล่าว มีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นในบ้านเมืองหรือไม่ เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรกล่าวว่า ไม่ได้มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในบ้านเมือง
ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.) ผู้กล่าวหา พยานโจทก์ปากที่ห้า
ตำรวจ ปอท. ในฐานะพนักงานสอบสวนเบิกความยันยืนตามสำนวนการสอบปากคำจำเลย ที่อัยการรวบรวมยื่นเป็นหลักฐานต่อศาล
วัฒนา เมืองสุข จำเลย พยานจำเลยปากที่หนึ่ง
วัฒนาเบิกความต่อศาลว่า ที่ผ่านมาถูกคุกคามจาก คสช. มาโดยตลอด เนื่องจากมีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ คสช. เรื่อยมา กระทั่งถูกเรียกรายงานตัวครั้งแรกวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ที่กองทัพภาคที่ 1 และหลังจากนั้นก็ถูกเรียกรายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติโดยการนำตัวไปเข้าค่ายทหารอีกหลายครั้ง รวมถึงยังถูกลอบทำร้ายที่สนามฟุตบอล วัฒนาได้เข้าแจ้งความแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายหลังสืบทราบได้ว่า พาหนะของคนร้ายมีเจ้าของเป็นทหารยศสิบเอก
นัดสืบพยานจำเลย
ร.ศ. โภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและนักกฎหมายมหาชน พยานจำเลยปากที่สอง
ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยานจำเลยปากที่สาม
พล.ท.ภราดร เบิกความว่า ในฐานะที่เคยทำงานในตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ขอให้ความเห็นว่า ฐานความคิดในการทำงานที่จะนิยามว่า อะไรที่กระทบต่อความมั่นคง คือต้องดูว่าเข้าข่ายเป็นภัยคุกคามประเทศ หากไม่เป็นภัยคุกคาม ก็ไม่ถือว่าเป็นภัยกับความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้พล.ท.ภราดร ได้ดูหลักฐานการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลย มีความเห็นว่า ข้อความของจำเลยยังไม่ถือเป็นภัยคุกคาม ยังไม่ได้มีการชักชวน หรือปลุกระดม เป็นเพียงความคิดเห็นที่แสดงออกตามเสรีภาพ ซึ่งเป็นความเห็นของผู้โพสต์ ตามหลักรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิและเสรีภาพเอาไว้ เนื้อความของโพสต์ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล หรือความมั่นคง ไม่ได้มี “พลัง” หรือ “แรงจูงใจ” ที่ยุยงให้เกิดความวุ่นวาย
14 ธันวาคม 2561
นัดฟังคำพิพากษา
ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาเวลา 10.00 น. ทนายความของวัฒนาหนึ่งคนเดินทางมาถึงก่อน ส่วนวัฒนาและทนายความอีกหลายคนเดินทางมาถึงเวลา 10.00 น. พอดี เมื่อจำเลยเดินทางมาถึงศาลที่กำลังพิจารณาคดีอื่นอยู่ก็อ่านคำพิพากษาทันที โดยก่อนและหลังอ่านคำพิพากษาศาลถามย้ำหลายครั้งว่า มีนักข่าวอยู่ในห้องหรือไม่ ด้านทนายความก็แจ้งกับผู้สังเกตการณ์ว่า คดีนี้ศาลไม่อนุญาตให้จดบันทึก คำพิพากษา สรุปใจความได้ว่า การโพสต์เรื่องหมุดคณะราษฎรเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญ วัฒนาไม่มีความผิดตามมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่นและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้ยกฟ้อง หลังอ่านคำพิพากษาศาลแจ้งว่า ยังไม่อนุญาตให้คัดถ่ายคำพิพากษาในวันนี้ และไม่อนุญาตให้ทนายความจดคำพิพากษาด้วยมือ
คำพิพากษา
สรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลเห็นว่า พยานโจทก์ที่เป็นนักวิชาการ และทหารฝ่ายกฎหมายจาก คสช. เบิกความกล่าวหาจำเลยว่า นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความอันเป็นเท็จ เพราะกรมศิลปากรบอกแล้วว่า หมุดคณะราษฎรไม่ใช่โบราณวัตถุ จำเลยเป็นบุคคลทางการเมืองมีความน่าเชื่อถือ ประชาชนอาจเชื่อตามที่จำเลยโพสต์แล้วเกิดความตื่นตระหนกว่าโบราณวัตถุหายไป ก่อให้เกิดความขัดแย้ง เกิดความวุ่นวาย จำเลยประนามผู้นำประเทศ ถือว่า กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ศาลเห็นว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของพยานโจทก์เท่านั้น
สำหรับข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา116 ศาลเห็นว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ ไม่มีข้อความที่ชวนให้ประชาชนออกไปก่อความวุ่นวาย หรือชุมนุม หรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จำเลยถูกตั้งข้อหานี้สี่เดือนหลังการตั้งข้อหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ระหว่างนั้นก็ไม่เกิดเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงขึ้น และหากเป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงจริงก็คงจะเห็นได้ชัดและควรจะต้องตั้งข้อหานี้ตั้งแต่แรก ส่วนการที่มีนักกิจกรรมไปยื่นเรื่องเพื่อให้หน่วยงานรัฐตามหาหมุดคณะราษฎร์ ก็ไม่ปรากฎหลักฐานว่า เกี่ยวข้องกับที่จำเลยโพสต์และไม่ใช่การกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงหรือเกิดความวุ่นวาย
สำหรับข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) แม้กรมศิลปากรจะมีความเห็นว่า หมุดคณะราษฎร์ไม่ใช่โบราณวัตถุ ความเห็นนี้ก็ออกมาวันที่ 18 เมษายน 2560 หนึ่งวันหลังจากที่จำเลยโพสต์ข้อความ ยังมีนักกิจกรรมและนักวิชาการอีกหลายคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างในเรื่องความเป็นโบราณวัตถุ และทุกคนก็แสดงความคิดเห็นทางวิชาการแลกเปลี่ยนกันโดยสุจริต ข้อความที่จำเลยกล่าวว่า หมุดคณะราษฎร์เป็นโบราณวัตถุจึงไม่ใช่ข้อความอันเป็นเท็จ
ที่จำเลยวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ปล่อยปละละเลยให้หมุดคณะราษฎร์หายไปโดยไม่ติดตามหาคืน ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการตามปกติ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย และปรากฏว่า มีนักกิจกรรมไปแจ้งความให้ติดตามหาหมุดคณะราษฎร์แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับแจ้งความจริง การแสดงความคิดเห็นส่วนนี้จึงไม่ใช่ข้อความอันเป็นเท็จเช่นเดียวกัน
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โพสต์ของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ได้มีเจตนายุยงปลุกปั่นให้กระทบต่อความมั่นคง จึงไม่มีความผิด พิพากษาให้ยกฟ้อง