ร.ต.อ.วสันต์ แสงโทโพ ได้นำหมายเรียกตัวมามอบให้กับ พรทิพย์ หงษ์ชัย ซึ่งเป็น 1 ใน 7 คนที่ถูกออกหมายเรียกรายงานตัวเพื่อให้มารับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 11ธันวาคม 2559 แต่ผู้ถูกออกหมายเรียกทั้ง 7 ราย ไม่สามารถเดินทางไปรายตัวได้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร จึงได้ขอเลื่อนมารายงานตัวในวันที่ 18 ธันวาคม แทน
ผู้ต้องหา 7 คน จากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เดินทางไปรายงานตัวตามหมายเรียกของตำรวจและรับทราบข้อกล่าวหา โดยมี พ.ต.อ.สุจินต์ นาวาเรือน ผกก.สภ.วังสะพุง เป็นผู้สั่งการแจ้งความเอาผิดใน 2 ข้อหา คือ จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอีกข้อหาคือร่วมกันข่มขืนใจสมาชิก อบต.เขาหลวง ให้กระทำหรือยอมจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้หวาดกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน
แต่ชาวบ้านทั้ง 7 คน ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมทั้งปฏิเสธที่จะเสียค่าปรับ เนื่องจากเห็นว่าพวกตนไม่ได้ไปชุมนุม เพียงแต่ไปติดตามการประชุมสภา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยได้รับหนังสือเชิญจากประธานสภา อบต. ให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
ผู้ต้องหา 7 คน จากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเดินทางมาสำนักงานอัยการจังหวัดเลย เนื่องจากพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนเสร็จแล้ว จึงส่งตัวผู้ต้องหามาพบพนักงานอัยการ ต่อจากนี้ อัยการก็จะพิจารณาสำนวนว่ามีหลักฐานจะสั่งฟ้องหรือไม่อีกครั้งวันที่ 30 มีนาคม 2560
เวลา 10.30 น. ศาลเริ่มการพิจารณาคดี โดยจะเป็นการสืบพยานโจทก์ต่ออีก 3 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลความเรียบร้อยในวันที่เกิดเหตุและพนักงานสอบสวน
พ.ต.ท.ยศพนธ์ เบิกความว่า ดำรงตำแหน่งสารวัตรป้องกันและปราบปรามของ สภ.วังสะพุง มีอำนาจหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญา และรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ เกี่ยวกับคดีนี้ พ.ต.ท.ยศพนธ์ ได้รับแจ้งจากศูนย์สื่อสารว่า มีเหตุชุมนุมที่ อบต.เขาหลวง หลังจากได้รับแจ้ง ก็ได้แจ้งให้ผู้กำกับทราบ และผู้กำกับได้สั่งให้นำกำลังตำรวจไปดูแลความสงบเรียบร้อยที่ อบต.เขาหลวง โดยแต่งกายชุดสีน้ำเงินสำหรับปราบจราจล รวมกำลังเจ้าพนักงานมีประมาณ 30 นาย และเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุเวลา 7 โมงครึ่ง
ในที่เกิดเหตุมีชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดประมาณ 50 นาย กำลังนั่งรวมกลุ่มเรียกร้องเพื่อคัดค้านเรื่องการประชุมขององค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง พ.ต.ท.ยศพนธ์ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยดูแลความสงบเรียบร้อย จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยบางส่วนมาจากทางบ้านนาหนองบง จนรวมได้ประมาณ 200 คน
พ.ต.ท.ยศพนธ์ เบิกความต่อว่า ตนได้พุดคุยกับชาวบ้าน และสอบถามวัตถุประสงค์ที่มา พร้อมบอกว่า หากต้องการความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานตำรวจขอให้แจ้ง โดยกลุ่มผู้ชุมนุมมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำ นอกจากนี้ยังเห็นจำเลยที่ 2-4 เป็นผู้นำการชุมนุมด้วย พฤติกรรมของผู้ชุมนุมอยู่ในสถานที่ที่ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงจัดไว้ให้ บางส่วนอยู่ในเต็นท์ บางส่วนเดินเขาห้องนำ ไม่มีเหตุวุ่นวาย
พ.ต.ท.ยศพนธ์ เบิกความว่า ห้องประชุมจะอยู่บนอาคารหอประชุม มีบันไดทางขึ้น-ลงแค่ทางเดียว จึงได้สั่งให้มีเจ้าหน้าที่ไปรักษาความปลอดภัยอยู่จำนวนหนึ่งก่อนถึงเวลาประชุม และไม่มีชาวบ้านไปนั่งปิดทางขึ้น ต่อมามีกลุ่มผู้ชุมนุมนั่งบริเวณทางขึ้นประมาณ 4-5 คน เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ขึ้นประชุมได้ พอประชุมไม่ได้ สุดท้ายชาวบ้านก็เลิกชุมนุม
ระหว่างเกิดเหตุ พ.ต.ท.ยศพนธ์ ได้สอบถามผู้กำกับแล้วว่า ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะชุมนุมกันที่บริเวณหน้าทางขึ้นห้องประชุม ได้แจ้งล่วงหน้าก่อน 24 ชัั่วโมงตามกฎหมายหรือไม่ ผู้กำกับแจ้งว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้แจ้งให้ทราบ และหลังเกิดเหตุ ผู้กำกับ สภ.วังสะพุงมอบหมายให้ตนไปร้องทุกข์กล่าวโทษกรณีที่จำเลยที่ 1 กับพวก ฐานชุมนุมโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ช่วโมง
พ.ต.ท.ยศพนธ์ ตอบทนายจำเลยว่า การชุมนุมของชาวบ้านในวันเกิดเหตุเป็นไปโดยสงบ มีการปราศรัยเรื่องชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ จึงขอให้เลื่อนการพิจารณาญัตติของอบต.เขาหลวงออกไป
พ.ต.ท.ยศพนธ์ เบิกความว่า นอกเหนือจากเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุที่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้แจ้งการชุมนุมให้ทราบล่วงหน้าก่อน 24 ชั่วโมงตามกฎหมาย ก็ไม่เห็นว่ากลุ่มชาวบ้านกระทำความผิดอื่น
พ.ต.อ.สุจินต์ เบิกความว่า ตนเป็นผู้กำกับ สภ.วังสะพุงมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีอำนาจหน้าที่บริหารงานพนักงานตำรวจในด้านงานสืบสวนและสอบสวน และมีหน้าที่เกี่ยวกับการขออนุญาตให้การจัดการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
เกี่ยวกับคดีนี้ พ.ต.อ.สุจินต์ ได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่า มีการชุมนุมกันของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดที่บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง จึงสั่งการให้สารวัตรปราบปรามและนำกำลังเจ้าพนักงานไปที่เกิดเหตุเพื่อตรวจสอบ โดยตนก็ไปที่เกิดเหตุด้วย
ในวันดังกล่าวมีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณกว่า 100 คน นั่งอยู่ใกล้กับหอประชุมขององค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง บางส่วนยืนขึ้น มีลักษณะการกล่าวปราศรัย แสดงป้ายเพื่อแสดงความคิดเห็น คัดค้านการประชุมในญัตติการขอใช้ที่ดินป่าสงวน พร้อมกับมีการส่งเสียง แต่ตนไม่ได้เข้าไปเจรจากับฝ่ายแกนนำ เท่าที่จำได้ เห็นจำเลยที่ 1 เป็นแกนนำ
ในที่เกิดเหตุนอกจากกลุ่มชาวบ้านแล้วยังเห็นกลุ่มสมาชิก อบต. เขาหลวง สวมชุดข้าราชการเพื่อรอการประชุม โดยตนไม่ได้รับแจ้งมาก่อนว่า กลุ่มชาวบ้านจะมาร่วมชุมนุมในที่เกิดเหตุ ทั้งไม่ได้รับแจ้งการขอผ่อนผันเรื่องการขอระยะเวลาในการแจ้งว่าจะจัดการชุมนุม หลังเกิดเหตุได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.ยศพนธ์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งสารวัตรป้องกันและปราบปรามไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อดำเนินคดี
พ.ต.อ.สุจินต์ ตอบทนายจำเลยว่า ตนทราบเรื่อง อบต.เขาหลวงจะจัดประชุมที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และจะต้องแจ้งให้ชาวบ้านหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบถึงการประชุมด้วย โดยต้องให้โอกาสผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ารับฟังการประชุม ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน อบต. เขาหลวง แจ้งให้ตนทราบว่าจะมีการจัดประชุมที่ อบต. เขาหลวง และได้ขอกำลังเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อดููแลความสงบเรียบร้อยในการประชุม โดยตนได้ขัดส่งกำลังเจ้าพนักงานตำรวจประมาณ 30 กว่านาย เข้าดูแล
ในวันเกิดเหตุ ได้เดินทางมากับผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่จะเข้าไปห้ามปรามการปราศัย เนื่องจากไม่มีลักษณะที่จะเกิดความรุนแรง เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ ตนได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ อบต. และได้สอบถามว่า จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งเจ้าหน้าที่ อบต. บอกว่า ขอดูท่าทีว่าจะประชุมอีกครั้งได้เมื่อใด
พ.ต.อ.สุจินต์ ตอบทนายจำเลยอีกว่า การจัดประชุมของ อบต. เขาหลวง เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายและได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มารับฟังการประชุม พร้อมทั้งได้แจ้งให้ทางตำรวจทราบล่วงหน้าว่าจะมีการจัดประชุมขึ้้นที่ห้องประชุมขององค์การบริหารส่วนตำบล โดยลักษณะกลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในที่เกิดเหตุมีบางส่วนปิดทางขึ้น มีการส่งเสียดัง แต่ไม่มีเหตุการณ์เข้าไปทำร้ายผู้ใด
ศาลถาม พ.ต.อ.สุจินต์ ว่า ในที่เกิดเหตุได้ยินกลุ่มผู้ชุมนุมพูดว่า หากขึ้นห้องประชุมจะไม่รับรองความปลอดภัยหรือไม่ พ.ต.อ.สุจินต์ ตอบว่า ไม่ได้ยิน
ร.ต.อ.วสันต์ เบิกความว่า ตนปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชการที่ สภ.วังสะพุง ตั้งแต่เวลา 8 โมงของวันที่ 16 พฤศจิกายน จนถึง 8 โมง ของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2559 ในระหว่างเข้าเวร ได้รับแจ้งจากโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กล่าวหา อ้างว่า ได้รับมอบอำนาจจากสมาชิก อบต. เขาหลวง ให้มาแจ้งความดำเนินคดีจำเลยที่ 1 กับพวก ในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันทำให้เสื่อมเสียต่อเสรีภาพหรือชื่อเสียง ซึ่งตนได้รับแจ้งความร้องทุกข์ไว้
หลังรับแจ้งความร้องทุกข์จากโจทก์ร่วมที่ 1 แล้ว ได้สอบปากคำโจทก์ร่วมที่ 1 ไว้ด้วย และยังสอบปากคำ แตง ตองหว้าน, วชัรพงษ์ ศรีทองสุข, นิกร ศรีโนนสุข อีกด้วย
ในคดีนี้ ร.ต.อ.วสันต์ ได้จัดทำแผนที่โดยสังเขปเกี่ยวกับที่เกิดเหตุไว้ด้วย ซึ่งพบว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นอาคารมีห้องประชุมอยู่ด้านบน มีทางขึ้นทางเดียว ชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่ง
ต่อมา พ.ต.ท.ยศพนธ์ วันทองสังข์ ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติม เรื่องที่จำเลยทั้งเจ็ดร่วมชุมนุมกันโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อน 24 ชั่วโมง อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 จากนั้น พ.ต.อ.สุจินต์ นาวาเรือน ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.ยศพนธ์ มาร้องทุกข์กล่าวโทษอีกครั้งในข้อหาเดียวกัน
ร.ต.อ.วสันต์ เบิกความว่า ระหว่างสอบสวน ได้ออกหมายเรียกจำเลยทั้ง 7 คนมาสอบปากคำในวันที่ 18 ธันวาคม 2559 และแจ้งข้อหาจำเลยที่ 1 ว่าร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใดและทำให้กลัวทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต เสรีภาพ ชื่อเสียง และทรัพย์สินของผู้อื่น โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปและยังแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ส่วนจำเลยที่ 2-7 ได้แจ้งข้อหา ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใดและทำให้กลัวทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต เสรีภาพ ชื่อเสียง และทรัพย์สินของผู้อื่น โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งจำเลยทั้ง 7 คนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
แต่ทว่า หลังจากทำความเห็นส่งพนักงานอัยการแล้ว พนักงานอัยการได้แจ้งให้ตนแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มว่า ร่วมกันชุมนุมในที่สาธารณะในลักษณะกีดขวางทางเข้าออกและรบกวนการปฏิบัติของที่ทำการหน่วยงานรัฐ เมื่อแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแล้ว จำเลยทั้งเจ็ดก็ยังให้การปฏิเสธ
ร.ต.อ.วสันต์ ตอบทนายจำเลยว่า ในคดีนี้มีผู้กล่าวหาทั้งหมด 16 คน แต่ตนได้สอบปากคำผู้กล่าวหาเพียงบางส่วน หรือเพียงแค่ 6 คนเท่านั้น และในการสอบปากคำผู้เสียหาย ก็ไม่มีการระบุพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยแต่ละคน และไม่มีการชี้ชัดว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดในลักษณะใดอย่างเป็นขั้นตอน แต่เป็นการกล่าวโทษในลักษณะรวมๆ ไม่มีขั้นตอนรายละเอียดที่ชัดเจน
ส่วนประเด็นการแจ้งข้อกล่าวหาว่า จำเลยทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 (ข่มขืนใจผู้อื่นฯ) นั้น ผู้ถูกกล่าวหาระบุว่า หากเดินขึ้นไปประชุมอาจจะเกิดเหตุร้ายขึ้น แต่ก็ไม่ปรากฎว่ากลุ่มชาวบ้านที่นั่งอยู่ทำร้ายผู้ถูกกล่าวหา
2 กุมภาพันธ์ 2561
นัดสืบพยานจำเลย
เวลา 10.30 น. ศาลเริ่มการพิจารณาคดี โดยจะเป็นการสืบพยานจำเลย โดยมีจำเลยทั้ง 7 คนขึ้นเบิกความเป็นพยาน แต่ก่อนจะเริ่มสืบพยาน ศาลเห็นว่า จากการสืบพยานโจทก์ ระบุผู้เกี่ยวข้องในคดีได้แค่จำเลยที่ 1 ถึง 4 จึงเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องสืบจำเลยทุกคน ให้สืบพยานเฉพาะคนที่ถูกพาดพิงถึง ฝ่ายทนายจำเลยไม่คัดค้าน
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง พรทิพย์ หงชัย จำเลยที่หนึ่ง
พรทิพย์ เบิกความต่อศาลว่า พักอาศัยอยู่ที่หมู่ 3 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน มีอาชีพเกษตร ปลูกข้าว ปลูกฝ้าย ปลูกข้าวโพด จนกระทั่งในปี 2549 บริษัททุ่งคำมาประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ มีการระเบิดหินเพื่อสกัดแร่ทองคำ และที่ตั้งของบริษัทอยู่บริเวณภูเขาชื่อภูทับฟ้า มีหมู่บ้านรอบเหมืองรวม 6 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 1, 2, 3, 4, 12, 13
หลังบริษัทเริ่มประกอบกิจการชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้านได้รับผลกระทบได้แก่ ฝุ่น มลภาวะทางเสียง ทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันในชื่อกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เพื่อเฝ้าระวังติดตามผลกระทบจากการทำเหมืองและเคยทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เมื่อชาวบ้านร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ ก็มีหน่วยราชการก็ออกตรวจสภาพสิ่งแวดล้อม และมีประกาศจากสาธารณสุขจังหวัด ให้งดอุปโภค ปริโภคน้ำใต้ดิน ปี 2553 มีประกาศให้งดบริโภคหอยขม จากล่องน้ำห้วยเหล็กเพราะมีสารโลหะหนักปนเปื้อน ในน้ำมีสารปรอด สารหนู แมงกานีส โดยในหอยขมจะพบสารหนูเยอะที่สุด
จากการสุ่มตรวจเลือดชาวบ้านประมาณ 700 คน ก็พบว่า ชาวบ้านประมาณ 100 กว่าคนมีสารโลกหนักทั้งเกินและไม่เกินค่ามาตรฐาน บางรายมีไซยาไนด์ สารหนู แมงกานีส และปรอทอยู่ในร่างกายเกินค่ามาตรฐาน ในปี 2555 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเลยได้ทำหนังสือถึงบริษัททุ่งคำให้หยุดทำเหมืองและดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องการทรุดตัวของสันเขื่อนด้านทิศเหนือของบ่อกักเก็บกากแร่ ซึ่งส่งผลให้น้ำในบ่อเก็บกากแร่ไหลลงสู่บ่อน้ำธรรมาชาติ
วันที่ 6 มีนาคม 2558 กรมควบคุมมลพิษทำหนังสือรายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในและรอบเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ พบว่า ลำห้วยเหล็กบริเวณท้ายน้ำมีการปนเปื้อนของสารหนู แมงกานีส ไซยาไนด์ และคุณภาพบ่อน้ำสังเกตการณ์กับบ่อน้ำธรรมชาติยังมีสารแคดเมียม ตะกั่ว แมงกานีส สารหนู และไซยาไนด์เกิดมาตรฐาน
ในปี 2558 บริษัททุ่งคำ เคยพยายามขอขนกากแร่ดังกล่าวออกมา แต่เนื่องจากใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่เขตป่าสงวนและเขตปฏิรูปที่ดินหมดอายุตั้งแต่ปี 2555 บริษัททุ่งคำจึงพยายามขอให้ อบต.เขาหลวงยื่นญัตติเข้าสู่สภาให้ความเห็นชอบต่ออายุให้บริษัททุ่งคำเข้าทำประโยชน์ ดังนั้น ตนและพวกจึงพยายามคัดค้านไม่ให้สภาให้ความเห็นชอบ เพราะตั้งแต่ชาวบ้านได้รับผลกระทบยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไขเยียวยา
พรทิพย์ เบิกความว่า วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ตนได้รับแจ้งการประชุมผ่านเสียงตามสายของผู้ใหญ่บ้านว่า จะมีการจัดประชุมในญัตติต่ออายุให้บริษัททุ่งคำใช้พื้นที่ป่าสงวนและเขตปฏิรูปที่ดิน และ สมัย ภักดิ์มี ประธานสภาอบต.เขาหลวง ได้ทำหนังสือถึงกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด และตนก็ได้รับหนังสือเชิญดังกล่าวด้วย
วันที่เกิดเหตุคดีนี้ วันที่ 16 พฤศจิกายน จึงเดินทางไปที่ทำการอบต.เขาหลวง เวลา 6 โมงเช้า เมื่อไปถึงเห็นชาวบ้านนั่งกระจัดกระจายทานข้าวบ้าง พูดคุยกันบ้าง ที่หน้าอาคารห้องประชุม อีกทั้งยังมีการใช้โทรโข่งเพื่ออธิบายให้กลุ่มบ้านที่มาฟังทราบถึงความจำเป็นในการรับฟังการประชุม โดยในบริเวณที่เกิดเหตุ มีเจ้าหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย มีเจ้าพนักงานตำรวจชุดปราบจราจล เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
ก่อนถึงเวลาประชุม สมัย ภักดิ์มี ประธานสภาอบต. เขาหลวง เข้ามาพูดคุยกับตนและกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดว่า ใกล้ถึงเวลาประชุมแล้ว ให้ชาวบ้านเตรียมส่งรายชื่อผู้ที่จะเข้าร่วมประชุม ตนจึงแจ้งว่า ชาวบ้านต้องการให้ยุติการประชุม เพราะชาวบ้านเดือดร้อนยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา และสมัยตอบว่า จะขอไปพูดคุยกับสมาชิกอบต. ท่านอื่นก่อน
จากนั้น สมัย ภักดิ์มี มาแจ้งว่าจะเลื่อนการประชุมไปก่อน แต่ตนขอว่า ให้ยกเลิกไปเลยได้หรือไม่ เพราะหากอบต. เอาเรื่องนี้มาเป็นญัตติอีก ชาวบ้านก็ต้องมาประชุมอีก สมัยจึงแจ้งให้ตนกับพวกทำหนังสือมา และกลุ่มชาวบ้านได้ร่างหนังสือถึงประธานสภาเพื่อขอให้ยกเลิกการประชุมและญัตติดังกล่าว และได้นำหนังสือดังกล่าวไปส่งให้กับนายอำเภอ จากนั้นจึงแยกย้ายกลับบ้าน
พรทิพย์ เบิกความว่า กลุ่มชาวบ้านที่มาร่วมรับฟังการประชุมมีการอภิปรายกันเฉพาะผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับ กลุ่มชาวบ้านไม่ได้ปิดกั้นหรือขวางทางขึ้นลง และตนไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
ตอบอัยการโจทก์และทนายโจทก์ร่วมถามค้าน
พรทิพย์ เบิกความว่า ทราบว่า สารหนูและไซยาไนด์อาจจะมีอยู่ในธรรมาชาติอยู่แล้วจากการใช้ยาฆ่าแมลง และการพิจารณาญัตติของอบต.เขาหลวง ไม่ใช่การพิจารณาอนุญาตเป็นเพียงการให้ความเห็นประกอบการอนุญาต
พรทิพย์ ตอบทนายโจทก์ว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการเชิญจำเลยและพวกไปเข้าร่วมการประชุม โดยอบต.เขาหลวงให้ชาวบ้านเข้าร่วมได้ 20 คน และที่เหลือนั่งอยู่ในเต็นท์ที่ทางอบต.จัดให้ แต่ในวันเกิดเหตุไม่มีการต่อแถวขึ้นห้องประชุมอย่างเคย และชาวบ้านก็ไม่ได้อยู่แค่ในเต็นท์ แต่นั่งกระจัดกระจายรอบอาคาร
ในการประชุมก่อนหน้านี้คือวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 ในห้องประชุมเคยมีการขว้างปาขวดน้ำกันในห้องประชุมจริง
ตอบทนายจำเลยถามติง
พรทิพย์ เบิกความว่า ปกติในการเข้ารับฟังการประชุม อบต.เขาหลวงจะจัดเต็นท์ให้นั่ง แต่บางส่วนก็นั่งหน้าบันได นั่งใต้หอประชุม
สืบพยานจำเลยปากที่สอง วิรอน รุจิไชยวัฒน์ จำเลยที่สอง
วิรอน เบิกความว่า อาศัยอยู่ที่หมู่ 3 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน และชาวบ้านที่อยู่ใน ต.เขาหลวง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตกร ในปี 2549 บริษัททุ่งคำมาประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยพื้นที่ทำเหมืองแร่อยู่ห่างจากหมู่บ้านของตนเพียง 500 เมตร และส่งผลกระทบ เช่น เกิดเสียงรบกวนและฝุ่นควันจากการระเบิดหิน น้ำในบริเวณหมู่บ้านไม่สามารถอุปโภคได้ ฝนตกก็ชะล้างเอาสารเคมีปนเปื้อนลงแหล่งน้ำ กลุ่มชาวบ้านได้รับผลกระทบอย่างมากจากการประกอบกิจการของบริษัททุ่งคำ ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป
วิรอนและพวกเคยไปร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาตรวจสอบ ทำให้พบว่า เกิดปัญหาในแหล่งน้ำ มีสารปนเปื้อนโดยการตรวจสอบของสาธารณสุขจังหวัด จากการตรวจสอบสัตว์น้ำก็พบสารเคมีหรือโลหะหนัก เช่น ในหอยขม
วิรอน เบิกความว่า บริษัททุ่งคำประกอบกิจการและส่งผลกระทบต่อชาวบ้านเรื่อยมา จนในปี 2555 ก็หยุดกิจการเนื่องจากสันเขื่อนเก็บกากแร่ซึ่งมีสารไซยาไนด์ทรุด ทำให้อุตสาหกรรมจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ จนมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราวเพื่อให้บริษัทซ่อมแซมให้เรียบร้อย แต่สารพิษไม่ได้ลดน้อยลง ยังคงปนเปื้อนที่หมู่บ้านและบริเวณโดยรอบ แม้ว่าบริษัททุ่งคำจะหยุดประกอบกิจการแล้ว แต่การตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังพบว่า ปัจจุบันยังคงมีสารปนเปื้อนอยู่ในร่องน้ำธรรมชาติ ทำให้ไม่สามารถประกอบเกษตรกรรมได้ ไม่สามารถเก็บผักที่ปลูกในพื้นที่กินได้
เมื่อหนังสืออนุญาตให้ทำเหมืองแร่พร้อมประทานบัตรของบริษัทหมดอายุ ทางอบต.เขาหลวง ได้รับหนังสือจากบริษัททุ่งคำ เพื่อให้เสนอญัตติให้ความเห็นชอบว่า จะอนุญาตให้บริษัทเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตปฏิรูปที่ดินที่เคยได้รับมา
เมื่อพวกตนได้รับแจ้งจากประธานสภาอบต.เขาหลวงให้เข้าร่วมประชุมพื่อรับฟังความคิดเห็น ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและได้รับผลกระทบโดยตรง จึงปล่อยให้มติดังกล่าวผ่านไปไม่ได้ หาก อบต. เห็นชอบในประเด็นนี้ ฝ่ายชาวบ้านจะได้รับผลกระทบโดยที่ไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา
การประชุม อบต. ในวาระดังกล่าว ตนได้รับหนังสือเชิญ โดยทราบจากทางผู้ใหญ่บ้านและรับแจ้งจากอบต.เขาหลวงด้วย และเดินทางไปวันที่มีการประชุมในตอน 6 โมงเช้า จากนั้นก็รับประทานอาหารกับชาวบ้านคนอื่นๆ มีคนนั่งฟังการประชุมกันตามอัธยาศัย มีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยมาสอบถามถึงการเข้าร่วมประชุมอยู่บ้าง แต่ตนแจ้งว่า ใช้สิทธิตามที่มีมาร่วมประชุม
ต่อมาเวลา 9 โมงเช้า สมัย ภักดิ์มี ประธานสภา อบต.เขาหลวงเดินมาสอบถามชาวบ้านเพื่อให้ส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม แต่กลุ่มชาวบ้านชี้แจงว่า ชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้านยังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา ขอให้ยกเลิกการประชุมไปก่อน ทำให้สมัยไปปรึกษากับสมาชิกอบต. คนอื่นๆ และได้คำตอบกลับมาว่าจะเลื่อนการประชุม ซึ่งชาวบ้านบอกกับสมัยว่า ถ้าเลื่อนไปวันนี้เดี๋ยวก็มาประชุมอีก ขอให้ยกเลิกไปเลยได้หรือไม่ เพราะมีคนเดือดร้อนจำนวนมาก จำนวนสมาชิกอบต. แค่ 16 คน จะมาตัดสินชีวิตชาวบ้านไม่น่าจะถูกต้อง
วิรอน เบิกความว่า หลังจากนั้นสมัยแจ้งกับตนว่า การยกเลิกไม่น่าจะทำได้ แต่ขอให้กลุ่มชาวบ้านทำหนังสือมายังอบต. เพื่อไปให้ยังนายอำเภอวังสะพุง แต่สุดท้ายชาวบ้านก็ไปยื่นแก่นายอำเภอด้วยตัวเอง เมื่อยื่นหนังสือแล้วก็แยกย้ายกลับบ้าน
ตอบอัยการและทนายโจทก์ร่วมถามค้าน
วิรอน เบิกความว่า ตนเคยไปร่วมรับฟังการประชุมที่อบต.เขาหลวงเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 และวันที่ 17 สิงหาคม 2559 โดยก่อนไปประชุมได้รับหนังสือแจ้งให้ไปร่วมรับฟังด้วยทุกครั้ง และในวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 เคยมีเหตุการณ์ขว้างปาขวดน้ำในห้องประชุมจริง
สืบพยานจำเลยปากที่สาม มล คุณนา จำเลยที่สาม
มล เบิกความต่อศาลว่า ตนอาศัยอยู่ที่หมู่ 3 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน
ในปี 2549 บริษัททุ่งคำได้เข้ามาประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำใกล้กับหมู่บ้านที่พักอาศัยอยู่ ซึ่งห่างออกไปประมาณ 500 เมตร โดยพื้นที่รอบเหมืองแร่มีชาวบ้านอาศัยอยู่รวม 6 หมู่บ้าน หลังบริษัททุ่งคำเข้ามาประกอบกิจการ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนเพราะมีการระเบิดหิน มีการขนส่งสินแร่ทำให้เกิดฝุ่นละอองแพร่กระจาย น้ำในแหล่งน้ำใช้อุปโภคบริโภคไม่ได้ ทำให้ตนและพวกตั้งกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดขึ้น
ชาวบ้านเคยทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดเคยมาตรวจสอบบริเวณที่ประกอบกิจการและได้ออกประกาศห้ามไม่ให้ประชาชนบริโภคสัตว์น้ำที่ผ่านลำห้วยเหล็ก เพราะสารพิษจะไปปนเปื้อนสะสมในร่างกาย ปัจจุบันบริษัททุ่งคำ ไม่ได้ประกอบกิจการเหมืองแร่แล้ว เพราะปี 2555 สันเขื่อนที่กักเก็บแร่ทรุด และอุตสาหกรรมจังหวัดมีคำสั่งให้หยุดดำเนินกิจการชั่วคราว แต่ชาวบ้านก็ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่
ต่อมาใบอนุญาตในการทำเหมืองหมดอายุ บริษัททุ่งคำได้ขอให้อบต.เขาหลวงให้ความเห็นชอบการต่อหนังสืออนุญาตดังกล่าว ทำให้อบต.เขาหลวงต้องจัดประชุม ทั้งนี้ ทางอบต.เขาหลวงได้ส่งขาวประกาศให้ชาวบ้านทราบ และตนได้ทราบจากเสียงตามสายที่ผู้ใหญ่บ้านประกาศให้ฟัง
มลเล่าว่า ในวันเกิดเหตุ ตนได้เดินทางไปถึงที่ทำการอบต.เขาหลวงเวลา 7 โมงเช้า เมื่อไปถึงก็พบว่ามีกลุ่มชาวบ้านอยู่ก่อนแล้ว จึงไปอยู่ด้านล่างของอาคารหอประชุมและรับประทานอาหารกับกลุ่มชาวบ้าน ทั้งนี้ อบต.เขาหลวงได้จัดเจ้าหน้าที่ตำบล ทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมาคอยรักษาความปลอดภัย
ก่อนการประชุม สมัย ภักดิ์มี เดินมาถามกลุ่มชาวบ้านว่า ใครจะขึ้นไปประชุมในห้องประชุมบ้างให้เอารายชื่อมา แต่กลุ่มชาวบ้านพยายามชี้แจงกับสมัยให้ยกเลิกการประชุม ซึ่งในวันดังกล่าวไม่มีผู้ใดปราศัยว่าหากมีการประชุมจะไม่รับรองความปลอดภัยเลย
ตอบอัยการและทนายโจทก์ร่วมถามค้าน
อัยการไม่ขอถามค้าน แต่ทนายโจทก์ร่วมขอถามค้าน โดยมล ตอบคำถามว่า ตามเอกสารที่ให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเข้าร่วมชี้แจงผลกระทบของการทำเหมืองแร่ในห้องประชุม ในหนังสือไม่ได้เขียนว่า ยินยอมให้ชาวบ้านใช้โทรโข่งปราศรัย และการประชุมคราวก่อน ก็เคยไปร่วมหลายครั้ง สาเหตุที่คัดค้านการประชุมดังกล่าวเพราะได้รับผลกระทบจากบริษัททุ่งคำ โดยต้องการให้บริษัทปิดเหมืองแร่
ทนายจำเลยถามติง
มล ตอบคำถามทนายจำเลยว่า ในการประชุมก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะเกิดเหตุในคดีนี้ ชาวบ้านก็เคยจัดการปราศรัยกัน และโดยปกติชาวบ้านก็เคยส่งตัวแทนทำหนังสือไปยัง อบต.เขาหลวงเพื่อขอใช้พื้นที่ในอบต.เข้าร่วมประชุมและได้รับการอนุญาตจากอบต.เขาหลวงแล้ว
มล เบิกความอีกว่า หากบริษัททุ่งคำ แก้ไขฟื้นฟูปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ กลุ่มชาวบ้านอาจยินยอมให้ประกอบกิจการต่อได้ แต่จนถึงปัจจุบัันยังมีปัญหาการปนเปื้อนของโลหะหนักในดินและแหล่งน้ำอยู่เลย
สืบพยานจำเลยปากที่สี่ ระนอง กองแสน จำเลยที่สี่
ระนอง เบิกความต่อศาลว่า อาศัยอยู่ที่หมู่ 3 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่ที่ 3 ประกอบอาชีพเกษตรกร ในปี 2549 บริษัททุ่งคำได้เข้ามาประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำใกล้กับหมู่บ้านที่พักอาศัยอยู่ ซึ่งห่างจากบ้านประมาณ 500 เมตร โดยการประกอบกิจการของบริษัททุ่งคำเป็นการทำเหมืองแร่ ใช้วิธีระเบิดหินซึ่งทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย ก่อให้เกิดเสียงดัง และมีเสียงเครื่องจักรรบกวนเวลานอน
ตั้งแต่ปี 2555 เหมืองทองคำยุติการประกอบกิจการไป เพราะใบอนุญาตใช้พื้นที่หมดอายุ อีกทั้งเคยมีกรณีที่สันเขื่อนกักเก็บแร่แตก ทำให้อุตสาหกรรมจังหวัดมีคำสั่งให้หยุดดำเนินกิจการชั่วคราว แต่ผลกระทบในตะกอนดินก็ยังไม่หายไป กรมควบคุมมลพิษต้องคอยมาตรวจสอบแหล่งน้ำ
ระนองเบิกความว่า ที่ผ่านมา เคยมีการประชุมเรื่องอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้บริษัททุ่งคำใช้พื้นที่ป่าและเขตปฏิรูปที่ดินมาแล้วหลายครั้ง และกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจะได้รับหนังสือเชิญให้เข้าร่วมรับฟังการประชุมทุกครั้ง และชาวบ้านก็จะไปประชุมทุกครั้ง และก่อนการประชุมในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ก็ได้ทราบข่าวจากเสียงตามสายของผู้ใหญ่บ้าน และให้ตนกับพวกชาวบ้านเข้าร่วมนังฟังการประชุมที่อบต.เขาหลวงได้ ตนจึงเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
เมื่อตนเดินทางไปถึงที่ประชุมตอน 6 โมงเช้า เห็นกลุ่มชาวบ้านประมาณ 50 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำบล ทหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมาคอยรักษาความปลอดภัย จากนั้นตอนเวลาประมาณ 9 โมงเช้า สมัย ภักดิ์มี ประธานสภาอบต. ได้มาสอบถามชาวบ้านเพื่อให้ส่งรายชื่อเข้าห้องประชุม แต่กลุ่มชาวบ้านชี้แจงว่าขอให้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านได้รับมาก่อนได้หรือไม่ สมัยจึงขอตัวไปคุยกับสมาชิกอบต. รายอื่นๆ ก่อน
หลังจากหารือกับสมาชิกอบต. แล้วจำไม่ได้ว่า สมัย ภักดิ์มี มาพูดอะไรต่อ แต่จำได้ว่า ชาวบ้านขอให้ยุติการประชุมไว้ก่อนเพราะไม่มีเรื่องเร่งด่วน โดยในวันเกิดเหตุไม่ได้ยินผู้ใดพูดปราศัยว่า หากใครเข้ามาประชุมจะไม่รับรองความปลอดภัย โดยระนองอยู่ในสถานที่ดังกล่าวจนถึงเวลาสี่โมงเย็นถึงเดินทางกลับ
ตอบอัยการและทนายโจทก์ร่วมถามค้าน
อัยการไม่ขอถามค้าน แต่ทนายโจทก์ร่วมขอถามค้าน โดยถามระนองว่า ที่พยานเบิกความว่า เกิดเขื่อนแตกในพื้นที่เหมือง แต่ตามเอกสารหลักฐานแล้ว เขียนว่าเขื่อนทรุดใช่หรือไม่ ระนองตอบว่า ใช่
ทนายโจทก์ถามต่อว่า หากไม่มีการทำเหมืองแร่ทองคำก็จะไม่มีปัญหาใช่หรือไม่ ระนองตอบว่า ใช่ หากไม่มีการทำเหมืองแร่ทองคำในตำบลเขาหลวงก็จะไม่มีฝุ่นฟุ้งกระจายหรือมีสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ส่วนปัญหาเรื่องเสียงดัง ฝุ่นละอองและเสียงระเบิดหินนั้นไม่ได้ยินตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 แล้ว
ทนายจำเลยถามติง
ระนอง เบิกความต่อศาลว่า ผลกระทบของตะกอนดินและน้ำเป็นพิษเพราะมีสารโลหะหนัก สารหนูยังคงอยู่ในแหล่งน้ำและผิวดินในธรรมชาติ ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไข แม้บริษัททุ่งคำจะไม่ได้ประกอบกิจการแล้วก็ตาม
8 กุมภาพันธ์ 2561
นัดสืบพยานจำเลย
เวลา 10.00 น. ศาลเริ่มการพิจารณาคดี โดยจะเป็นการสืบพยานจำเลย 2 ปากสุดท้าย ซึ่งเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สืบพยานจำเลยปากที่ห้า นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นพ.นิรันดร์ เบิกความต่อศาลว่า ปัจจุบันเป็นคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เคยเป็นอดีต ส.ว. ที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งแต่ปี 2552 จนถึง 2558 ขณะดำรงตำแหน่ง ได้เป็นประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนด้วย โดยมีหน้าที่ตรวจสอบและคุ้มครองการละเมิดสิทธิชุมชนจากภาครัฐและเอกชน เมื่อตรวจสอบแล้วก็มีหน้าเสนอนโยบาย กฎหมาย ต่อรัฐบาลและรัฐสภา รวมถึงมีหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจต่อสังคมและต่อหน่วยงานของรัฐ
ตอนดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสิทธิฯ เคยได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดว่า ในพื้นที่ดังกล่าวมีสารพิษ ประชาชนมีปัญหาสุขภาพ และปัญหาการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ โดยอ้างว่าได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการของบริษัททุ่งคำ นอกจากนี้ ยังมีการร้องเรียนกรณีความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ในขั้นตอนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพขององค์การสัปทานเหมืองแร่ทองคำ และความรุนแรงตอนที่บริษัททุ่งคำขนแร่ทองคำออกจากพื้นที่ทำให้เกิดการเผชิญหน้าและความรุนแรงขึ้น
จาการตรวจสอบพบว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบชัดเจนเรื่องสุขภาพ มีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลที่ห้ามกินน้ำจากแหล่งน้ำ ห้ามกินพืชผักที่ปลูกในพื้นที่ เพราะมีการปนเปื้อนสารพิษ และที่สำคัญคือตรวจพบสารพิษในร่างกายประชาชนไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก อีกปัญหาหนึ่งที่ตรวจสอบพบ คือ เรื่องการใช้พื้นที่ทำมาหากิน เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร แต่ชาวบ้านไม่สามารถเพาะปลูกเพื่อนำพืชผลทางการเกษตรไปบริโภคหรือขายได้ ทำให้กระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน
ส่วนปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงเป็นความผิดพลาดในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและชาวบ้าน ซึ่งรัฐไม่เข้าใจกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งควรเป็นกระบวนการศึกษาวิจัยและการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่าย
สำหรับคดีนี้ บริษัททุ่งคำต้องการขยายพื้นที่ประกอบกิจการไปยังพื้นที่ป่าสงวนและที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน(สปก.) จึงต้องรับฟังความของหน่วยงานราชการทั้งสองฝ่าย แต่กฎหมายเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นระบุว่า เรื่องนี้กระทบต่อสิทธิชุมชนและกระทบต่อหลักการของการให้ใช้พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินที่ทำให้องค์การส่วนท้องถิ่นอย่างอบต. ต้องให้ความคิดเห็นว่า จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติการขยายสัปทาน
ขณะเกิดเหตุ สิทธิของประชาชนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 มาตรา 66 และ 67 ซึ่งระบุชัดเจนถึงเรื่องสิทธิชุมชนในการใช้ประโยชน์และการจัดการทรัพยากร รวมถึงสิทธิในการให้ความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในกระบวนการของการศึกษาวิเคราะห์ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อีกทั้งในมาตรา 87 ระบุว่า หน่วยงานของรัฐต้องยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้ความคิดเห็นต่อนโยบายและการพัฒนาต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่
ตอบอัยการและทนายความโจทก์ร่วมถามค้าน
นพ.นิรันดร์ เบิกความว่า ทราบเรื่องที่อุตสาหกรรมจังหวัดเลยมีคำสั่งให้บริษัททุ่งคำปิดกิจการ ส่วนประเด็นว่า ความเดือดร้อนของชาวบ้านเกิดขึ้นระหว่างที่เหมืองประกอบกิจการหรือหลังจากนั้น รายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ ไม่ได้ระบุไว้ แต่ชาวบ้านแจ้งว่า ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ ชาวบ้านดื่มน้ำไม่ได้ หาอาหารในพื้นที่ไม่ได้ พบสารพิษและเจ็บป่วยมาเป็นเวลา 10 ปี และปัจจุบันมีปัญหาเรื่องบ่อเก็บกักแร่แตกทำให้น้ำเจือปนแร่ที่บริษัทใช้ทำเหมือง ซึ่งผลดังกล่าวมาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ของบริษัททุ่งคำ
หลังปี 2555 ชาวบ้านยังคงได้รับผลกระทบ ซึ่งหน่วยงานรัฐไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ส่วนที่เบิกความว่า บริษัทขออนุญาตขยายพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ในเขตป่าสงวนและที่ดินสปก. นั้น ความจริงแล้วเป็นการต่ออายุใบอนุญาตในพื้นที่เดิมที่เคยขอไป
สำหรับการขอใช้พื้นที่ดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิฯ เห็นว่า ต้องเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเพราะในที่ป่าไม้นั้นมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ต้องระงับความขัดแย้งก่อน ที่สำคัญ คือ ต้องชี้แจงและตรวจสอบการใช้พื้นที่ในเขตสปก. เพราะที่ดินดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตร
นพ.นิรันดร์ ตอบทนายโจกท์ร่วมถามค้านว่า ก่อนบริษัททุ่งคำประกอบกิจการเหมืองแร่ในช่วงปี 2549 ไม่เคยมีปัญหาข้อพิพาทระหว่างบริษัทกับกลุ่มชาวบ้าน พอปิดกิจการในปี 2555 ก็เคยได้รับอนุญาตให้ทำการขนบ้านแร่ออกจากพื้นที่ 1 ครั้ง ในปี 2556
ตอบทนายความจำเลยถามติง
นพ.นิรันดร์ เบิกความว่า เหตุที่ชาวบ้านคัดค้านการขนย้ายแร่เพราะมีความจำเป็นต้องตรวจสอบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางว่า บริษัทจัดอุปกรณ์ขนย้ายได้เหมาะสมหรือไม่ เมื่อได้รับแจ้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะต้องตรวจสอบและแจ้งให้ชาวบ้านทราบว่า การขนย้ายนั้นเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่
สืบพยานจำเลยปากที่หก รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.สมชาย เบิกความต่อศาลว่า ประกอบอาชีพรับราชการตำแหน่งรองศาสตราจารย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาวิชาที่สอนคือกฎหมายรัฐธรรมนูญและนิติปรัชญา
เกี่ยวกับคดีนี้มีงานวิชาการที่ทำร่วมกับอาจารย์ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนในหัวข้อการชุมนุมโดยสงบและเปิดเผยโดยปราศจากอาวุธ พิมพ์เผยแพร่โดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะซึ่งโดยทั่วไปรัฐธรรมนูญและระบบกฎหมายต่างๆ จะให้การรับรองเสรีภาพในเรื่องนี้ไว้ว่า เป็นสิทธิและเป็นที่สิ่งที่มีความจำเป็น
ในคดีของชาวบ้านซึ่งได้รับการเชิญให้ไปร่วมประชุมที่สภาอบต.เขาหลวง เข้าข่ายข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 3 (5) ที่ระบุว่า ให้งดเว้นการบังคับใช้กฎหมายนี้กับการประชุมหรือการชุมนุมซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งเท่ากับว่า การชุมนุมในคดีนี้ไม่เข้าตามลักษณะที่เป็นความผิดตามกฎหมายเพราะเป็นการเรียกประชุมโดยฝ่ายปกครองหรือองค์กรของรัฐ การที่ชาวบ้านเข้าร่วมชุมนุมหรือการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมายชุมนุม
การรับรองสิทธิในการชุมนุมสาธารณะจะต้องเป็นไปอย่างกว้างขว้าง การจำกัดจะเป็นไปเท่าที่เห็นได้ชัดว่าการชุมนุมนั้นกระทบต่อประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ต่อส่วมรวมอย่างชัดเจน ซึ่งในคำวินิจฉัยของฝ่ายตุลาการโดยเฉพาะศาลปกครองมีคำวินิจฉัยไว้หลายกรณี เช่น การชุมนุมของชาวบ้านที่สงขลาเรื่องท่อก๊าซเมื่อปี 2555 ระบุว่า การชุมนุมเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จำเป็นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และศาลให้คำรับรองหากเป็นการชุมนุมที่เป็นไปอย่างสงบโดยปราศจากอาวุธ และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ศาลปกครองได้มีคำวินิจฉัยเรื่องกิจกรรม "เดินมิตรภาพ" ว่า เป็นการเดินชุมนุมโดยสงบที่สามารถทำได้
เสรีภาพในการชุมนุม ตามรัฐธรรมนูญวางหลักการพื้นฐานไว้ว่า การใช้เสรีภาพดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่การจำกัดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกระทบต่อประโยชน์สาธารณะที่เห็นได้ชัดว่ากระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ในแง่ดังกล่าวรัฐธรรมนูญให้การรับรองเสรีภาพเป็นหลักหากเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ
ส่วนประเด็นเรื่องว่า ใครเป็นผู้จัดการชุมนั้น ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ หมายถึง บุคคลที่ทำหน้าที่ชักชวนให้คนเข้าร่วมและเป็นผู้บริหารการชุมนุม ซึ่งบุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ในการแจ้งการชุมนุม แต่ในคดีนี้ ประชาชนมาอยู่ในพื้นที่เดียวกันโดยไม่ได้นัดหมายในลักษณะของการเตรียมการมาก่อน แต่มารวมกันและเกิดการเรียกร้อง ดังนั้น กรณีดังกล่าวจึงไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าเข้าลักษณะตามกฎหมาย กรณีที่เกิดขึ้นตามคำฟ้องคดีนี้ ไม่มีบุคคลใดมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า
ทนายจำเลยถาม รศ.สมชายต่อว่า หากการประชุมในคดีนี้มีข้อเท็จจริงปรากฎว่า อบต.เขาหลวงได้ยื่นหนังสือเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงจำเลยทั้งเจ็ดเข้าร่วม และการที่กลุ่มชาวบ้านให้ตัวแทนชี้แจงผ่านประธานสภาว่า ขอให้เลื่อนการประชุมไปก่อนจะเป็นความผิดหรือไม่ รศ.สมชาย ตอบว่า ไม่ผิด เพราะการประชุมดังกล่าวมีการเชิญโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรียกให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ารับฟังการประชุม จึงเข้าข้อยกเว้น ดังนั้นการรวมตัวของกลุ่มชาวบ้านเพื่อยื่นข้อเสนอดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิด เพราะไม่เข้าองค์ประกอบของกฎหมายว่า เป็นการชุมนุมสาธารณะตั้งแต่ต้น และเมื่อไม่ใช่การชุมนุมสาธารณะ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีบุคคลใดแจ้งการชุมนุมให้แก่เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายทราบ
โจทก์ไม่ขอถามค้าน
เมื่อสิ้นสุดการสืบพยาน ศาลได้ถามทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยว่าจะมีคำแถลงปิดคดีหรือไม่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายตอบว่า มี แต่ขอนำส่งคำแถลงปิดคดีเป็นเอกสาร โดยศาลให้เวลาในการส่งเอกสารคำแถลงปิดคดีเป็นเวลา 30 วัน พร้อมกับนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 19 เมษายน 2561