2 ธันวาคม 2559
เวลา 5.07 น. จตุภัทร์ ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อผู้ใช้ว่า Pai Jatupat ได้แชร์บทความพระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย โดยได้คัดลอกข้อความบางส่วนในบทความดังกล่าวประกอบโพสต์ด้วย
3 ธันวาคม 2559
เวลา 8.02 น. จตุภัทร์ ใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่บรรยากาศสดที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น มาแจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 112 หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ขณะร่วมกิจกรรมธรรมยาตรา การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากการร้องทุกข์ของ พ.ท.พิทักษ์ ชูศรี หรือ เสธ. พีท รักษาการหัวหน้ากองกิจการพลเรือนมณฑลทหารบกที่ 23 ที่เข้าแจ้งความในวันที่ 2 ธันวาคม 2559 ก่อนจะโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวอีกครั้งในเวลาไล่เลี่ยกันว่า “ตอนนี้ผมกำลังจะโดนจับ ข้อหา112 จากตำรวจขอนแก่น เนื่องจากแชร์ข่าวBBC Thai”
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เวลาประมาณ 14.30 น. ยังไม่ทราบว่ามีการนำตัวจตุภัทร์ไปที่ใด และไม่สามารถติดต่อได้ นอกจากนี้ทนายเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่จะเข้าให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับจตุภัทร์ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพาขึ้นรถกระบะไป โดยระบุว่าจะพาไปพบกับจตุภัทร์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุด้วยว่า รถที่พาทนายไปสมทบกับจตุภัทร์ขับในลักษณะวนไปวนมาก่อนจะไปจอดที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาคสี่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังขอยึดโทรศัพท์ของทนายไว้ด้วย
ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่นำตัวจตุภัทร์มาที่ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาคสี่เพื่อสอบสวน โดยพ.ต.อ.วิเศษ ภักดีวุฒิ หัวหน้าพนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งจตุภัทร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่าจะนำตัวจตุภัทร์ ไปควบคุมตัวไว้ระหว่างสอบสวนที่สภ.น้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่นแทนการควบคุมตัวที่สภ.เมืองขอนแก่น โดยให้เหตุผลว่าคดีนี้เป็นคดีความมั่นคงและแจ้งว่าจะนำตัวผู้ต้องหาไปขออำนาจศาลจังหวัดขอนแก่นในการฝากขังในวันถัดไป
4 ธันวาคม 2559
บีบีซีไทย รายงานว่า อธิพงษ์ ภูผิว ทนายความส่วนตัวของจตุภัทร์เปิดเผยว่า ในเวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจตุภัทร์มาขออำนาจศาลฝากขัง ทีมทนายของจตุภัทร์ยื่นคำร้องขอประกันตัวพร้อมวางเงินสด 400,000 บาท และให้เหตุผลว่าจตุภัทร์ยังเป็นนักศึกษาและใกล้ถึงกำหนดการสอบของมหาวิทยาลัยในวันที่ 8 ธันวาคม 2559 หากไม่ได้สอบจะทำให้เรียนไม่จบตามหลักสูตร นอกจากนี้ จตุภัทรยังเป็นผู้ต้องหาคดีการเมืองมาแล้วถึง 4 คดี แต่ไม่เคยมีพฤติกรรมหลบหนี ศาลจังหวัดขอนแก่นอนุญาตให้ปล่อยตัวจตุภัทร์ในวันเดียวกัน
19 ธันวาคม 2559
พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น ให้เพิกถอนสัญญาประกันตัว โดยให้เหตุผลในคำร้องว่า หลังจากได้รับการประกันตัว จตุภัทร์โพสต์เฟซบุ๊กเยาะเย้ยพนักงานสอบสวนในกรณีเงินประกันตัวจำนวน 400,000 บาท โดยพิมพ์ข้อความว่า "เศรษฐกิจมันแย่แม่งเอาแต่เงินประกัน" ต่อมาศาลนัดเรียกไต่สวนคำร้องถอนประกันในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 เวลา 09.00 น.
22 ธันวาคม 2559
นัดไต่สวนเรื่องเพิกถอนการประกันตัว
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลจังหวัดขอนแก่น ศาลสั่งให้ใต่สวนคำร้องเพิกถอนการประกันตัวจตุภัทร์เป็นการลับโดยให้เหตุผลว่า คดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ทั้งยังเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอาจจะกระทบจิตใจของคนในสังคม
ทนายของจตุภัทรให้เหตุผลในการคัดค้านคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งพนักงานสอบสวนเป็นผู้ยื่นว่า ศาลไม่ได้เน้นย้ำเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว จึงทำให้ผู้ต้องหาไม่ทราบว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร จึงดำเนินชีวิต และแสดงความความคิดเห็นในเฟซบุ๊กตามปกติ เพราะเชื่อว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
หลังการไต่สวนช่วงเช้าศาลนัดฟังคำสั่งในช่วงบ่าย โดยศาลพิเคราะห์ว่า ตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลมีคำสั่งกำชับให้นายประกันผู้ต้องหามาตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ และหลักฐานในคดี หรือก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หลังได้รับการประกันตัว หากพบการกระทำผิดเงื่อนไข ศาลอาจถอนประกันและไม่อนุญาตประกันตัวอีก
นอกจากนี้หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว พบว่าผู้ต้องหายังไม่ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีบนเฟซบุ๊กออกไป ทั้งยังแสดงความคิดเห็น และมีพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงเยาะเย้ย อำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ อีกทั้งผู้ต้องหามีแนวโน้มจะกระทำการลักษณะเดิมต่อไปอีก
ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ อายุ 25 ปี ย่อมรู้ว่าการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวข้างต้น เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาล จึงฟังได้ตามคำสั่งว่า ผู้ต้องหาได้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหาย ภายหลังได้รับประกันตัว ประกอบกับนายประกันของผู้ต้องหา ไม่ได้กำกับดูแลให้ผู้ต้องหาให้ปฎิบัติตามเงื่อนไขของศาล จนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว จึงให้เพิกถอนสัญญาประกันตัวผู้ต้องหา
หลังศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวจตุภัทร์ยื่นขอประกันตัวใหม่ โดยให้เหตุผลระบุว่า จตุภัทร์กำลังศึกษาอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นปีสุดท้าย และกำลังจะมีการสอบในวิชาคอมพิวเตอร์ในวันที่ 16 มกราคม 2560 หากไม่ได้การประกันตัวจะทำให้ศึกษาไม่จบตามหลักสูตร และไม่มีพฤติกรรมหลบหนี หรือเข้าไปยุ่งกับพยานหลักฐานแต่อย่างใด
แต่ศาลสั่งให้ยกคำร้อง จตุภัทร์จึงถูกส่งตัวไปควบคุมที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่จตุภัทร์ถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัว
24 ธันวาคม 2559
มติชนออนไลน์รายงานว่าในเวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรมกินข้าวหลามเฉยๆที่บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้ทางรัฐบาลปล่อยตัวจตุภัทร์ การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบมาสังเกตการณ์แต่ไม่มีการห้ามจัดหรือจับกุมผู้เข้าร่วมแต่อย่างใด
26 ธันวาคม 2559
พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังจตุภัทร์เป็นผลัดที่สาม
27 ธันวาคม 2559
บีบีซีไทยรายงานว่า ศาลอุทธรณ์ภาคสี่จังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งถอนประกันจตุภัทร์โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหามีพฤติกรรมไม่เกรงกลัวต่ออำนาจรัฐและกฎหมาย หากมีการปล่อยตัวผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้
อธิพงษ์ ภูผิว ทนายของจตุภัทรเปิดเผยว่า ศาลให้เหตุผลว่าผู้ต้องหาไม่ได้ลบโพสต์ที่เป็นต้นเหตุของคดีและยังคงโพสต์ข้อความเย้ยหยันอำนาจรัฐ ซึ่งทางทนายมองว่ามีความย้อนแย้งกับคำสั่งไม่ให้ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เพราะการลบโพสต์เป็นการทำลายหลักฐาน อย่างไรก็ตามหากคำวินิจฉัยเป็นเช่นนี้ ทางผู้ต้องหาก็ยินดีที่จะลบโพสต์ต้นเหตุของคดีนี้ออกในการยื่นประกันตัวครั้งหน้า
อธิพงษ์ระบุด้วยว่าจะยื่นประกันตัวจตุภัทรกับศาลจังหวัดขอนแก่นอีกครั้งในที่ 28 ธันวาคม 2559 โดยอาจจะต้องเพิ่มวงเงินประกันและระบุเหตุผลเพิ่มเติมว่าจตุภัทรจะต้องไปสอบวิชาคอมพิวเตอร์ในวันที่ 16 ม.ค.2560 ซึ่งเป็นวิชาสุดท้ายในการศึกษาระดับอุดมศึกษาของผู้ต้องหา
28 ธันวาคม 2559
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทนายของจตุภัทร์ยื่นคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบต่อศาลจังหวัดขอนแก่นหลังพบว่ากระบวนการออกคำสั่งฝากขังจำเลยต่อเป็นผัดที่สามอาจออกโดยที่ผู้ต้องหาไม่ได้รับทราบคำร้องฝากขัง และไม่ได้แถลงไม่คัดค้านตามที่ศาลบันทึก
จากการเปิดเผยของทนาย ในวันที่ 26 ธันวาคม 2559 พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อเป็นผัดที่สาม ซึ่งศาลอนุญาตและให้คำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2559 โดยคำสั่งระบุว่า การพิจารณาการฝากขังผัดที่สามทำโดยระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ซึ่งจตุภัทร์ไม่คัดค้านคำสั่งดังกล่าว
อย่างไรก็ตามวิบูลย์ พ่อของจตุภัทร์ซึ่งเข้าเยี่ยมลูกชายในเรือนจำยืนยันว่า จากการสอบถาม จตุภัทร์ยืนยันว่าศาลไม่ได้แจ้งให้ทราบว่ามีการฝากขัง และไม่ได้อ่านคำร้องขอฝากขังให้ฟัง รวมทั้งไม่ได้แถลงว่าไม่คัดค้านการฝากขังตามที่ศาลบันทึก เนื่องจากจตุภัทร์มีความประสงค์จะคัดค้านการฝากขังในครั้งนี้ กระบวนการฝากขังผัดที่สามจึงอาจเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบ ทนายจึงยื่นคำร้องคัดค้านในวันนี้ โดยคำร้องของทนายระบุว่า ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องนี้ และมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งฝากขังลงวันที่ 27 ธันวาคม 2559 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหามีสิทธิตามกฎหมายในการยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังครั้งที่สาม และหากมีการฝากขังในครั้งถัดไป ขอศาลมีคำสั่งให้อ่านคำร้องฝากขังให้กับผู้ต้องหา ทนายความผู้ต้องหา และสักขีพยานฟังในห้องพิจารณา แทนการประชุมทางจอภาพด้วย
ในเวลาประมาณ 17.30 น. ศาลวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับจตุภัทร์ ที่อยู่ในเรือนจำโดยไม่อนุญาตให้ทนายเข้าร่วมการไต่สวน หลังเสร็จสิ้นกระบวนการเจ้าหน้าที่ศาลนำคำสั่งศาลต่อคำร้องเพิกถอนกระบวนพิจารณามามอบให้ทนายของจตุภัทร์ซึ่งรอฟังอยู่นอกห้องพิจารณา โดยคำสั่งระบุว่า
ผู้ต้องหาแถลงคัดค้านว่า ผู้ร้อง(พนักงานสอบสวน) ไม่มีอำนาจขอฝากขังระหว่างสอบสวน เพราะไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องคุมขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวน เพราะพยานบุคคลที่ผู้ร้องอ้างว่าต้องสอบเพิ่มเติมนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา และที่ผู้ร้องอ้างว่าต้องรอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษจากกองทะเบียนประวัติอาชญากรนั้น ผู้ร้องสามารถตรวจสอบได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องคุมขังผู้ต้องหาไว้ ประกอบกับผู้ต้องหาต้องการที่จะไปสอบวิชาคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในวันที่ 17 และ 18 มกราคม 2559 ผู้ต้องหาต้องการออกไปอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบวิชาดังกล่าว ขอให้ศาลยกคำร้องขอฝากขังของผู้ร้อง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำคัดค้านของผู้ร้อง(จตุภัทร์)ฟังไม่ขึ้น พนักงานสอบสวนมีเหตุจำเป็นที่ต้องสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีกสี่ปากและต้องรอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีความมั่นคงและมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลที่มีการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ จึงมีเหตุจำเป็นที่จะควบคุมผู้ต้องหาต่อไป ในชั้นนี้จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นเวลา 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.59 – 8 ม.ค.60
ในวันเดียวกัน
บีบีซีไทยรายงานว่า เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ศาลทบทวนการถอนประกันจตุภัทร์โดยระบุว่า จตุภัทร์ยังไม่ได้ฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัวของศาลซึ่งประกอบไปด้วย การห้ามผู้ต้องหาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ พยานหลักฐานในคดี หรือก่อความเสียหายใดๆ และการกำหนดให้นายประกันและผู้ต้องหามาศาลตามนัด นอกจากนี้ผู้ต้องหาก็ไม่มีท่าทีจะหลบหนีเนื่องจากมีกำหนดสอบในระดับมหาวิทยาลัยในเดือนมกราคม 2560
29 ธันวาคม 2559
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า หลังศาลอุทธรณ์ภาคสี่มีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านการเพิกถอนประกันของจตุภัทร์ในวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ทนายของจตุภัทร์ยื่นฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาคสี่ต่อศาลฏีกา อย่างไรก็ตามศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในวันเดียวกันโดยให้เหตุผลว่า คำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวยืนตามคำร้องของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด จึงไม่รับฎีกาของผู้ต้องหา แต่ไม่สิทธิของผู้ต้องหาในการขอประกันตัว
ในวันเดียวกันจตุภัทร์ยื่นประกันตัวอีกครั้งโดยระบุเหตุผลเรื่องความจำเป็นที่จะต้องออกมาทำการสอบวิชาคอมพิวเตอร์ แต่ศาลให้ยกคำร้อง นับเป็นครั้งที่สองที่จตุภัทร์ถูกปฏิเสธการประกันตัว
30 ธันวาคม 2559
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทนายของจตุภัทร์ยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา คัดค้านคำสั่งไม่รับฎีกาคำสั่งของศาลจังหวัดขอนแก่น โดยเห็นว่าข้อวินิจฉัยและคำสั่งของศาลจังหวัดขอนแก่นที่มีคำสั่งไม่รับฎีกาคำสั่งของผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2559 คลาดเคลื่อนในปัญหาข้อกฎหมาย ในวันนี้ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งให้ส่งฎีกาของจตุภัทร์ให้ศาลฎีกาพิจารณาโดยเร็ว
6 มกราคม 2560
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลฎีกานัดจตุภัทร์ฟังคำสั่ง กรณีที่จตุภัทร์ฎีกาคำสั่งเพิกถอนการประกันตัวของศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกฎีกาของจตุภัทร์โดยให้เหตุผลว่ากรณีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาคสี่เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจตุภัทร์ คำสั่งของศาลอุทธรณ์จึงถือเป็นที่สุด ให้ยกคำร้อง
หลังอ่านคำสั่งศาลฎีกา ศาลจังหวัดขอนแก่นพิจารณาคำร้องฝากขังผู้ต้องหาต่อเป็นผัดที่สี่ซึ่งตามรายงานของ
มติชนออนไลน์ศาลอนุญาตให้ฝากขังต่อตามคำร้องของพนักงานสอบสวน หลังศาลอนุมัติคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน ทนายของจตุภัทร์ยื่นคำร้องขอประกันตัวซึ่งตามรายงานของ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ครั้งนี้จตุภัทร์เพิ่มเงินประกันจาก 400,000 บาท เป็น 500,000 บาท อย่างไรก็ตามศาลมีคำสั่งในเวลาประมาณ 15.30 น. ไม่อนุญาตให้จตุภัทร์ประกันตัว ในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สามที่จตุภัทร์ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
13 มกราคม 2560
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า วันนี้ทนายของจตุภัทร์ยื่นคำร้องขอประกันตัวอีกครั้ง โดยครั้งนี้จตุภัทร์ยินยอมที่จะตั้งค่าโพสต์ที่เป็นเหตุแห่งคดีให้เป็นส่วนตัวซึ่งจะทำให้ไม่มีบุคคลอื่นเห็นข้อความดังกล่าว แต่ไม่สามารถลบโพสต์ดังกล่าวออกจากเฟซบุ๊กส่วนตัวได้เนื่องจากเป็นหลักฐานในคดี ในครั้งนี้จตุภัทร์ยังยกเหตุผลเรื่องการสอบมาประกอบคำร้องขอประกันตัวด้วยพร้อมวางเงินประกัน 500,000 บาท อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาคสี่เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาแล้ว เพราะผู้ต้องหาอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาลจึงให้ยกคำร้อง ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ห้าที่จตุภัทรยื่นคำร้องขอประกันตัวและเป็นครั้งที่สี่ที่ถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัว
ในวันเดียวกันมีกลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งเดินทางไปเยี่ยมจตุภัทร์ที่ทัณฑสถานโดยมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยสังเกตการณ์ที่หน้าทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นด้วย
16 มกราคม 2560
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ทนายของจตุภัทร์ยื่นคำร้องขอให้นำตัวจตุภัทร์ไปสอบวิชาคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนหน้านี้ในวันที่ 13 มกราคม 2560 ศาลพึ่งมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จตุภัทร์ประกันตัว ทางทนายจึงประสานกับทางราชทัณฑ์ขออนุญาตให้ควบคุมตัวจตุภัทร์ไปสอบที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ทางราชทัณฑ์ไม่สามารถดำเนินการตามคำขอได้หากไม่มีคำสั่งศาล รวมทั้งไม่สะดวกที่จะให้นำบุคคลภายนอกหรืออุปกรณ์เข้ามาจัดสอบภายในเรือนจำ อย่างไรก็ตามศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องโดยระบุว่าเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว
1 กุมภาพันธ์ 2560
Now 26 ออนไลน์ รายงานว่า ศาลจังหวัดขอนแก่นอนุญาตให้ฝากขังจตุภัทร์ต่ออีกสิบวันตั้งแต่วันที่ 2-11 กุมภาพันธ์ 2560 เพราะเห็นว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นและอยู่ระหว่างการเสนอสำนวนการสอบสวนไปยังสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาและมีความเห็นทางคดี ในวันเดียวกันจตุภัทร์ขอประกันตัวโดยวางเงินประกัน 400,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตโดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่เคยไม่ให้ประกัน
อานนท์ นำภา หนึ่งในทีมทนายของจตุภัทร์โพสต์เฟซบุ๊กว่า ระหว่างการไต่สวนเมื่อศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับและสั่งให้คนที่มาให้กำลังใจจตุภัทร์ออกจากห้อง แม่ของจตุภัทร์ลุกขึ้นแถลงว่าขอใช้ชีวิตตนเองแลกความเป็นธรรมให้ลูกก่อนจะวิ่งชนกำแพงห้องพิจารณา ผู้ที่ไปสังเกตการณ์และให้กำลังใจจตุภัทร์ได้พาแม่ของจตุภัทร์ออกมาปฐมพยาบาล หลังจากนั้นศาลก็ดำเนินกระบวนพิจารณาแบบปิดลับจนกระทั่งมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังจตุภัทร์ต่อ
9 กุมภาพันธ์ 2560
อัยการยื่นฟ้องคดี
10 กุมภาพันธ์ 2560
นัดสอบคำให้การ
วันนี้ ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดจตุภัทร์สอบคำให้การหลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีไปเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 โดยตั้งแต่ช่วงเช้ามีประชาชนเดินทางมารอให้กำลังใจจตุภัทร์ประมาณ 100 คน ซึ่งกำลังถูกนำตัวมาศาลด้วยรถของเรือนจำที่บริเวณประตูหน้าของศาลจังหวัดขอนแก่น แต่เจ้าหน้าที่นำตัวจตุภัทร์เข้าทางประตูหลังและนำตัวขึ้นไปที่ห้องพิจารณาทันที ทำให้จตุภัทร์ไม่มีโอกาสพบผู้มาให้กำลังใจ
ในส่วนของการดำเนินกระบวนพิจารณา ศาลสั่งพิจารณาคดีนี้เป็นการลับโดยตลอดเพราะเป็นคดีความมั่นคง จะอนุญาตให้ทนายจำเลย พ่อ แม่ และน้องสาวของจตุภัทร์เข้าฟังการพิจารณาเท่านั้น ต่อมามีรายงานภายหลังกระบวนพิจารณาเสร็จสิ้นว่า จตุภัทร์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักในวันที่ 21 มีนาคม 2560 นอกจากนี้ก็มีรายงานด้วยว่าอัยการแถลงคัดค้านต่อศาลหากจำเลยจะขอประกันตัว
เวลาประมาณ 10.20 น. จตุภัทร์ถูกนำตัวมาควบคุมที่ห้องขังใต้ถุนศาลประมาณ 10 นาทีก่อนจะถูกนำตัวกลับเรือนจำทันที ทำให้ผู้มาให้กำลังใจหลายคนไม่มีโอกาสได้พูดคุยให้กำลังใจ ด้านทนายจำเลยชี้แจงว่าวันนี้จะยังไม่ยื่นประกันตัวเพราะเคยยื่นมาหลายครั้งและศาลปฏิเสธจึงต้องหาเหตุผลให้ศาลเชื่อได้ว่า จำเลยจะไม่หลบหนี ทำให้จตุภัทร์ต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำต่อไป
นอกจากนี้บริเวณด้านนอกศาลยังมีเครือข่ายนักศึกษาสี่ภาคก็ทำกิจกรรมโดยอ่านบทกวีและวางตราชั่งจำลองที่เอียงไปข้างเดียวไปข้างที่มีรองเท้าบู๊ทแขวนไว้
(การแสดงเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าศาลจังหวัดขอนแก่นหลังศาลสอบคำให้การจตุภัทร์โดยสั่งพิจารณาลับไม่ให้บุคคลอื่นนอกจากพ่อแม่และน้องสาวของจตุภัทร์เข้าสังเกตการณ์ 10 กุมภาพันธ์ 2560)
22 กุมภาพันธ์ 2560
มติชนออนไลน์รายงานว่า ในเวลาประมาณ 10.30 น. สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวลักษณ์ และภาวิณีชุมศรี ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและพ่อแม่ของจตุภัทร์ยื่นคำร้องขอประกันตัวจตุภัทร ครั้งนี้ทางทีมทนายและพ่อของจตุภัทร์วางเงินประกัน 700,000 บาทโดยมีสุลักษณ์ ศิวรักษ์และวิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของไผ่ ร่วมกันเป็นนายประกัน นอกจากนี้โคทม อารียา เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระร่วมเซ็นหนังสือรับรองความประพฤติของจตุภัทร์ว่าจะไม่หลบหนีด้วย
ในเวลาประมาณ 11.40 น. ศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่เคยไม่อนุญาตให้ประกันตัว
การยื่นประกันตัวครั้งนี้เป็นการยื่นครั้งที่เจ็ดและเป็นครั้งที่หกที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ภาวิณีทนายของจตุภัทร์ระบุว่านอกจากคดีนี้จตุภัทร์ยังมีคดีที่ต้องต่อสู้อีกสองคดีเป็นทั้งหมดสามคดี การไม่ได้ประกันตัวเป็นอุปสรรคต่อการรวบรวมเอกสารในการต่อสู้คดีทั้งสาม สำหรับแนวทางต่อไปจตุภัทร์มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้มีการประกันตัวของศาลจังหวัดขอนแก่นไปที่ศาลอุทธรณ์ซึ่งทางทีมทนายจะดำเนินการในสองถึงสามวันนี้ หากศาลอุทธรณ์ให้ยืนตามคำสั่งเดิมก็จะไม่สามารถยื่นฎีกาคำสั่งนี้ได้แต่จตุภัทร์ยังมีสิทธิยื่นประกันตัวใหม่
21 มีนาคม 2560
นัดตรวจพยานหลักฐาน
ประชาไทรายงานว่า เวลา 10.00 น. ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ศาลเริ่มกระบวนการตรวจพยานหลักฐานโดยในวันนี้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างเปิดเผย มีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์พิจารณาคดีในวันนี้ประมาณ 30 คน โดยศาลสั่งให้ผู้เข้าฟังการพิจารณาปิดโทรศัพท์ทุกคน และมีสารวัตรทหารรักษาความสงบเรียบร้อยอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วย เนื่องจากที่นั่งในห้องพิจารณาคดีเต็มเพื่อนของจตุภัทร์อีกประมาณสิบคนต้องนั่งรออยู่ด้านนอก
ทนายจำเลยแถลงต่อศาลขอเลื่อนการตรวจพยานหลักฐานออกไปก่อนโดยให้เหตุผลว่าหลังการส่งฟ้องยังไม่มีโอกาสพูดคุยกับลูกความอย่างเต็มที่เพราะจากลูกความถูกคุมขังในเรือนจำและห้องเยี่ยมในเรือนจำมีสภาพแออัด คณะทนายแถลงด้วยว่าเคยร้องขอให้เรือนจำจัดสถานที่ในการคุยกับลูกความที่เป็นส่วนตัวแต่ถูกปฏิเสธ จตุภัทร์แถลงเสริมว่าการพูดคุยในห้องเยี่ยมมีเครื่องดักฟังด้วย
จตุภัทร์แถลงถึงกรณีที่ตนเองถูกละเมิดสิทธิต่อศาลว่าสภาพของเขาเหมือนถูกพิพากษาไปแล้ว ไม่มีอิสรภาพในการออกมาหาพยานหลักฐานเพื่อสู้คดี ฝ่ายอัยการมีเวลา 90 วันในการหาพยาน หลักฐานแต่ตัวเขามีเวลาพบกับทนายเพียงไม่นาน
ศาลตอบจตุภัทร์และทนายจำเลยว่าเนื่องจากจำเลยถูกขังมานานแล้วจึงไม่อนุญาตให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานเพราะไม่ต้องการให้การพิจารณาคดีล่าช้าออกไปอีก คดีนี้จำเลยมีทนายหลายคนจึงสามารถทำหน้าที่หาพยานหลักฐานในการสู้คดีให้ได้ แต่เพื่อให้จำเลยและทนายมีโอกาสปรึกษาแนวทางคดีเพิ่มเติมศาลจะงดการตรวจพยานหลักฐานในช่วงเช้าและเลื่อนไปดำเนินการในเวลา 13.30 น. แทน
ศาลขอให้จตุภัทร์หยุดพูดคำว่า “เสียเปรียบ”ด้วยเพราะคดีนี้ไม่ได้เป็นคดีเดียวที่ศาลไม่ให้ประกันตัวและคำสั่งศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สิ้นสุด วิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของจตุภัทร์ยกมือขึ้นโต้แย้งว่า ขอแสดงความไม่เห็นด้วยที่ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้พูดคำว่าเสียเปรียบ ด้วยเหตุว่าสภาพที่เป็นอยู่ทุกคนก็เห็นอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร สำหรับข้อโต้แย้งเรื่องการถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวศาลรับว่าจะนำไปพิจารณาอีกครั้ง
การตรวจพยานหลักฐานเริ่มอีกครั้งในเวลา 14.30 น.ก่อนเริ่มกระบวนการศาลสั่งให้ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์วางกระเป๋าและโทรศัพท์ไว้นอกห้องพิจารณาทั้งหมด
อัยการแถลงต่อศาลว่าจะนำพยานเข้าเบิกความรวม 17 ได้แก่ พล.ท.พิทักษ์พล ชูศรี ผู้แจ้งความดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ผู้ทำการจับกุม ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต และผู้ชำนาญการด้านภาษา
ทนายจำเลยแถลงว่าจะนำพยานเข้าสืบรวม 15 ปาก เป็นคนรู้จักที่เคยทำกิจกรรมกับจำเลย ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และอินเทอเน็ตรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา โดยทนายจำเลยจะส่งบัญชีพยานจำเลยภายใน 15 วันนับจากวันนี้
สำหรับวันนัดสืบพยาน คู่ความและศาลตกลงกันว่าจะสืบพยานโจทก์ในวันที่ 3,4,15,16,17 สิงหาคม 2560 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 30,31 สิงหาคม และ 5 – 7 กันยายน 2560
หลังคู่ความกำหนดวันนัดสืบพยานจตุภัทร์ยกมือขึ้นถามศาลว่า ในระหว่างรอการสืบพยานซึ่งทิ้งระยะเวลาห้าเดือนเขาจะได้รับสิทธิในการประกันตัวเฉกเช่นจำเลยในคดีอื่นๆหรือไม่ ศาลตอบว่าเหตุที่เร่งรัดให้มีการพิจารณาคดีเร็วที่สุดเพราะเห็นว่าจำเลยถูกคุมขังนานแล้ว ระหว่างการสืบพยานจำเลยจะยังถูกคุมขังเว้นแต่มีเหตุใหม่ใดๆใหม่ก็ให้จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวมาที่ศาล
ในวันนี้ทนายจำเลยยื่นคำร้องประกันตัวจตุภัทร์อีกครั้งโดยวางเงินประกัน 700,000 บาท และให้เหตุผลประกอบว่า จำเลยจะปฏิบัติตนตามข้อกำหนดของศาลโดยเคร่งครัด ดังนี้
1.จำเลยจะไม่แสดงความคิดเห็นบนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก หรือจะไม่แสดงความคิดเห็นทางด้านการเมืองไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ อันเป็นการเย้ยหยันอำนาจรัฐ
2.จำเลยจะไม่ทำกิจกรรมใดๆ อันทำให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีนี้
3.จำเลยจะไม่หลบหนีไปจากอำนาจของศาล โดยจำเลยจะมารายงานตัวต่อศาลทุก 10 วัน และจะมาศาลตามกำหนดนัดที่ศาลสั่งทุกครั้งและหากศาลเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวเพิ่มเติมจำเลยก็พร้อมทำตามทุกประการ
ในเวลาประมาณ 16.00 น. ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจตุภัทร์ โดยให้เหตุผลว่าคดีนี้เป็นคดีความมั่นคง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เคยมีคำสั่งมาแล้วและยังไม่เหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง
3 เมษายน 2560
เดอะอีสานเรคคอร์ดรายงานว่า ทนายของจตุภัทร์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้จตุภัทร์ประกันตัวของศาลจังหวัดขอนแก่นลงวันที่ 21 มีนาคม 2560 ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4
5 เมษายน 2560
เดอะอีสานเรคคอร์ดรายงานว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งยกคำอุทธรณ์ของจตุภัทร์โดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม นับถึงวันนี้จตุภัทร์ถูกคุมขังแล้ว 105 วัน
8 พฤษภาคม 2560
พ่อของจตุภัทร์โพสต์เฟซบุ๊กชื่อนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษาว่าวันนี้มีการยื่นประกันตัวจตุภัทร์ซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
3 สิงหาคม 2560
ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดสืบพยานโจทก์เป็นวันแรก บรรยากาศก่อนที่ศาลจะขึ้นบนบัลลังค์พิจารณาคดีมีผู้มาสังเกตการณ์คดีและญาติของจำเลยจำนวนหนึ่ง รวมประมารณ 10 คน ทุกคนต้องอยู่กับความไม่แน่นอนว่า จะได้เข้ารับฟังการพิจารณาคดีในวันนี้หรือไม่ โดยมีสัญญาณของการพิจารณาคดีลับ เริ่มตั้งแต่เจ้าหน้าที่ศาลนำแผ่นป้ายมาติดล่วงหน้าว่าห้องดังกล่าวจะพิจารณาคดีลับ ประกอบกับเมื่อพยานโจทก์มาถึงก็แจ้งต่อพนักงานอัยการว่า คดีนี้มีผู้สังเกตการณ์มาเข้าร่วมฟังด้วย
จนเมื่อผู้พิพากษาขึ้นนั่งบัลลังก์ ศาลก็สั่งว่าให้การพิจารณาคดีในวันนี้เป็นการพิจารณาคดีลับ โดยให้มีแต่ทนายความพร้อมกับพ่อและแม่ของฝ่ายจำเลยเท่านั้นที่อยู่ภายในห้องได้
พยานปากแรกที่สืบในวันนี้ คือ พ.ท. พิทักษ์พล ชูศรี หรือที่รู้จักกันว่า "เสธ.พีท" ทหารผู้เข้ากล่าวโทษให้ดำเนินคดีนี้ การสืบพยานใช้เวลาตั้งแต่เช้าล่วงไปจนถึงบ่ายสี่โมงกว่าๆ แต่ทนายความจำเลยก็ยังถามค้านไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากพยานปากนี้ไม่สะดวกมาให้การในวันถัดไป ศาลจึงสั่งให้กำหนดวันนัดสืบพยานเพิ่มในวันอื่น ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นวันใด ส่วนวันรุ่งขึ้นจะเป็นการสืบพยานปากต่อไป คือ พนักงานสอบสวน
กระบวนการพิจารณาคดีนี้ค่อนข้างเป็นความลับมาก ศาลให้เหตุผลว่า คดีนี้เป็นคดีความมั่นคงจึงต้องพิจารณาลับ อีกทั้งยังกำชับกับทนายความรวมถึงญาติของจำเลยไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาคดีอีกว่า 'ไม่อนุญาตให้มีการพูดถึงการสืบพยานในวันนี้โดยเด็ดขาด'
4 สิงหาคม 2560
ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดสืบพยานโจทก์ต่อจากเมื่อวาน พยานโจทก์ปากที่สอง คือ 'จาริณี' ถูกเบิกตัวมาเป็นประจักษ์พยาน โดยฝ่ายโจทก์อ้างว่าพยานรู้จักกับไผ่และเป็นนักศึกษารุ่นน้องของไผ่ที่เคยไปค่ายมาด้วยกัน
แต่ทว่า ก่อนเริ่มกระบวนการสืบพยาน แม่ของไผ่ได้ขอเวลาพูดคุยกับไผ่เป็นการส่วนตัว ก่อนที่จะกลับมาเริ่มสืบพยานกันต่อตามปกติ แต่สิ่งที่ไม่ปกติ คือ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบไม่น้อยกว่า 5-6 คน ยืนอยู่บริเวณหน้าห้องพิจารณาคดี กระทั่งเมื่อ 'จาริณี' พยานโจทก์ปากที่สองเดินทางกลับ เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามคุ้มกันพยานและไม่ปล่อยให้ชิดใกล้กับใครอื่น โดยมีอัยการคอยบอกให้พยานแยกตัวออกมาจากกลุ่มผู้สังเกตการณ์คดี ญาติ หรือผู้มาให้กำลังใจไผ่
ผู้ที่มาศาลบางคนเล่าให้ฟังว่า ช่วงพักการสืบพยานในเวลาเที่ยงของเมื่อวาน พบเห็นพยานรายนี้เดินทางออกจากศาลพร้อมกับ 'เสธพีท' หรือ พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี ซึ่งเป็นพยานโจทก์ปากแรก ด้วยรถฟอร์จูนเนอร์ที่มีทหารเป็นพลขับ
เมื่อสิ้นสุดการสืบพยานปากที่สอง ในวันเดียวกันก็เริ่มสืบพยานโจทก์ปากต่อไป ได้แก่ ตัวแทนจากวัฒนธรรมจังหวัด นายกสภาทนายความจังหวัดขอนแก่น และประธานชมรมคนรักในหลวง การสืบพยานทั้งสี่ปากเสร็จสิ้นทั้งหมดในวันเดียว
เรื่องราวในห้องพิจารณาคดียังเป็นไปอย่างเงียบงัน บุคคลภายนอกไม่มีทางรับรู้ได้เลยว่า เกิดอะไรขึ้นบ้างในห้องนั้น เนื่องจากศาลสั่งพิจารณาลับตลอดกระบวนการ แต่จากสีหน้าของครอบครัวและทนายความที่เดินเข้าออกทำให้สัมผัสได้ว่า มีความตึงเครียดเกิดขึ้นอยู่ตลอดภายในห้องนั้น
15 สิงหาคม 2560
ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดสืบพยานโจทก์ต่อเป็นวันที่ 3 บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีวันนี้ผ่อนคลายลงบ้าง ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 10.00 น. และพิจารณาคดีอื่นก่อนหลังจากนั้นจึงนำป้าย 'พิจารณาลับ' มาติดหน้าห้อง และขอให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องยกเว้นคู่ความและพ่อกับแม่ของจตุภัทร์ออกจากห้องพิจารณาคดี
ก่อนเริ่มการพิจารณา ศาลถามจตุภัทร์ว่า ยืนยันจะสู้คดีหรือเปล่า เพราะนัดที่แล้วมีการตกลงกันว่าจตุภัทร์จะขอเวลาไปพิจารณาเรื่องแนวทางคดีอีกครั้ง ทีมทนายของจตุภัทร์จึงให้ตัวจตุภัทร์และครอบครัวปรึกษากับศาลเองก่อนจะออกจากห้องไป ขณะที่ศาลก็ขอให้อัยการออกไปรอนอกห้องก่อน
การพูดคุยระหว่างจตุภัทร์ ครอบครัว และศาล ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง พ่อของจตุภัทร์เล่าว่า ได้พูดคุยเรื่องความเป็นไปได้ของอัตราโทษหากจตุภัทร์ตัดสินใจรับสารภาพ เมื่อพูดคุยกันเสร็จพ่อกับแม่ก็ออกมาจากห้องเพื่อให้จตุภัทร์มีโอกาสทบทวนและตัดสินใจแนวทางคดีด้วยตัวเอง ขณะที่ศาลก็ออกไปปรึกษากับองค์คณะนอกห้องพิจารณาคดี จตุภัทร์อยู่ในห้องพิจารณาคดีคนเดียวจนถึงเวลาประมาณ 11.00 ศาลก็กลับขึ้นบัลลังก์อีกครั้ง และคุยกับจตุภัทร์สองคน
จตุภัทร์ตัดสินใจยอมเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพต่อศาลในที่สุด ศาลสั่งพักการพิจารณาและให้กลับมาฟังคำพิพากษาในช่วงบ่าย
ในช่วงบ่าย เพื่อนของจตุภัทร์และผู้มาให้กำลังใจราว 20 คนเข้ามานั่งรอฟังคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดี จนกระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. ศาลกลับขึ้นบัลลังก์และแจ้งว่า คดีนี้ได้สั่งพิจารณาลับแล้ว และให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องออกนอกห้องพิจารณาคดี
ศาลอ่านคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดีลับ โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมายืนบังที่กระจกประตูไม่ให้มองเข้าไปด้านใน ศาลใช้เวลาประมาณ 10 นาที มีคำพิพากษาจำคุกจตุภัทร์เป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากคำรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือ จำคุก 2 ปี 6 เดือน
10 พฤษภาคม 2562
จตุภัทร ได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น หลังจำคุกมา 2 ปี 5 เดือน 7 วัน ซึ่งตามกำหนดเดิมจะครบระยะโทษในวันที่ 19 มิถุนายน 2562 แต่เนื่องจากในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
โดยมาตรา 6 ของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เขียนว่า ให้นักโทษเด็ดขาดที่เหลือระยะเวลารับโทษไม่ถึงหนึ่งปีได้รับการปล่อยตัว คนตาบอด คนป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย รวมทั้งผู้หญิงที่ได้รับโทษครั้งแรก คนป่วยทางจิต ผู้ป่วยเอดส์ ที่รับโทษมาแล้วครึ่งหนึ่งก็ได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน ซึ่งกรณีของจตุภัทรก็เข้าเงื่อนไขเป็นนักโทษเด็ดขาดที่เหลือโทษน้อยกว่าหนึ่งปี ตามมาตรา 6 (1)
จตุภัทร์จึงได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด 23 วัน