- คดีอื่นๆ, ฐานข้อมูลคดี
อานนท์: ชุมนุมรำลึกนวมทอง
อัปเดตล่าสุด: 16/01/2560
ผู้ต้องหา
อานนท์ นำภา
สถานะคดี
อื่นๆ
คดีเริ่มในปี
2558
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
พ.ต.อ.สมโภช สุวรรณจรัส
อานนท์ นำภา ตัวแทนกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่า กระทำผิด ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากการใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้ขออนุญาต ขณะจัดกิจกรรม “รำลึกนวมทอง ชนกองทัพ” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 ให้ปรับ 200 บาท
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา
เมื่อประกอบอาชีพ ทนายอานนท์เคยว่าความคดีสิทธิให้ชาวบ้านหลายคดี เช่น คดีชาวบ้านชุมนุมค้านโรงถลุงเหล็ก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชาวบ้านค้านท่อแก๊สที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และคดีความจากการชุมนุมอีกหลายคดี
นอกจากนี้ เขายังเป็นทนายความให้กับจำเลยในคดีการเมืองและคดีมาตรา 112 เช่น คดีอากง เอสเอ็มเอส ด้วย
หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อานนท์เป็นหนึ่งในทีมทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และว่าความให้กับจำเลยคดีการเมืองหลังรัฐประหารหลายคดี เช่น คดีฝ่าฝืนประกาศ คสช. และ คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ของสิรภพ
และอานนท์เองตกเป็น 1 ใน 4 ของจำเลยข้อหาชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. หลังจัดกิจกรรม เลือกตั้งที่รัก (ลัก) ที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558
ข้อหา / คำสั่ง
อื่นๆ
พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
อานนท์จัดกิจกรรม “รำลึกนวมทอง ชนกองทัพ” เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 ที่บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ก่อนจะนำผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวไปบริเวณทางเท้าหน้ากองทัพบก และใช้เครื่องขยายเสียงจัดกิจกรรม ซึ่งตลอดเวลาการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบและเรียบร้อย แต่ไม่ได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องขยายเสียง จึงถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 10 ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
พฤติการณ์การจับกุม
ไม่มีข้อมูล
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
ไม่มีข้อมูล
หมายเลขคดีดำ
496/2558
ศาล
ไม่มีข้อมูล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีข้อมูล
แหล่งอ้างอิง
ไม่มีข้อมูล
31 ตุลาคม 2558
เฟซบุ๊กเพจไอลอว์ รายงานว่า
31 ตุลาคม 2558 วันครบรอบ 9 ปี การเสียชีวิตของนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับรถแท็กซี่ที่แขวนคอตัวเองเพื่อต่อต้านรัฐประหารเมื่อปี 2549 ที่บริเวณสะพานลอยหน้าสำนักพิมพ์ไทยรัฐ ถนนวิภาวดี-รังสิต โดยเวลาเช้ามืดของวันนี้ มีบุคคลไม่ทราบกลุ่มนำผ้าดำและป้ายผ้าขนาดใหญ่ ข้อความว่า "นวมทองยังไม่ตาย เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" พร้อมนำหุ่นจำลองนวมทอง ไพรวัลย์ มาผูกกลางสะพานลอยซอยรามคำแหง 53 และมีผู้โปรยใบปลิวอีกด้วย
เวลาประมาณ 09.00 น. ที่สดมภ์นวมทอง ไพรวัลย์ บริเวณสะพานลอยหน้า สำนักพิมพ์ไทยรัฐ แกนนำ นปช. กลุ่ม 24 มิถุนาฯ ประชาธิปไตย และประชาชนทั่วไป มาวางดอกไม้ พวงมาลัย และทำพิธีรำลึกถึงนวมทอง ระหว่างกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจในเครื่องแบบราว 40 นาย และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยสังเกตการณ์อยู่โดยรอบ และตั้งกองอำนวยการร่วม นสพ.ไทยรัฐที่ศาลารอรถประจำทางด้านหน้าสำนักพิมพ์
ภายในศาลามีการระบุขั้นตอนปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตามแผนการเผชิญเหตุ การรักษาความสงบเรียบร้อยกลุ่มผู้ชุมนุม, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 เอาไว้ และกำหนดการที่ระบุจำนวนเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจำนวน 150 นาย จากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ซึ่งในแผนปฏิบัติการได้ระบุถึงการตั้งจุดตรวจอาวุธ การใช้เครื่องขยายเสียง และการห้ามกลุ่มบุคคลจับกลุ่มในลักษณะการชุมนุมที่ด้านหน้าสำนักพิมพ์ไทยรัฐ ทั้งนี้กิจกรรมเสร็จสิ้นลงเวลาประมาณ 10.30 น.
ขณะเดียวกัน ไฮไลต์ของวันนี้คือกิจกรรม "รำลึกนวมทอง ชนกองทัพ" ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว โดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เวลาประมาณ 14.30 น. มีประชาชนทยอยมาร่วมกิจกรรมประมาณ 150-200 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งกองอำนวยการร่วมถวายความปลอดภัยของ สน.ชนะสงคราม ใกล้กับพื้นที่จัดกิจกรรม
จากนั้นประมาณ 16.00 น. ผู้ชุมนุมเตรียมเดินขบวนไปหน้ากองทัพบก โดย พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ ชี้แจงห้ามผู้ชุมนุมสวมหน้ากากขณะเดิน เพราะผิด พ.ร.บ.ชุมนุม มาตรา 16 (2) นอกจากนี้ระหว่างที่ผู้ชุมนุมเดินไป เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจาก สน.ชนะสงคราม สน.นางเลิ้ง รวมถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้อำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้ตลอดทางโดยการเดินเรียงเป็นแนว และประกาศให้ผู้ชุมนุมเดินบนทางเท้าให้เป็นระเบียบ
ต่อมาประมาณ 16.25 น. ผู้ชุมนุมเดินทางถึงกองทัพบก บริเวณฝั่งสนามมวยราชดำเนิน ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 50-100 นาย ผู้ชุมนุมเจรจากับเจ้าหน้าที่เพื่อขอข้ามไปฝั่งกองทัพบก แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตเนื่องจากขัดเงื่อนไขที่เคยแจ้งไปก่อนหน้านี้ หากข้ามฝั่งมาจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่เว้นแม้สื่อมวลชน
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ชุมนุมอยู่บริเวณเกาะกลางถนน หน้ากองทัพบก พร้อมให้เวลาในการจัดกิจกรรมเพียง 30 นาทีเท่านั้น เพราะผู้ชุมนุมฝ่าฝืนเงื่อนไขการชุมนุม หากเกิน 30 นาที จะถือว่ามีความผิด อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นผู้จัดการชุมนุมแจ้งว่า เจ้าหน้าที่อนุญาตให้จัดกิจกรรมล่วงเวลาได้เล็กน้อย กิจกรรมในช่วงนี้เป็นการพูดถึงการปฏิรูปกองทัพ โดยภัควดี วีระภาสพงษ์ และอ่านจดหมายลาตายของนวมทอง ไพรวัลย์ โดยพันธุ์ศักดิ์ ศรีเทพ สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ส่วนผู้ชุมนุมจุดธูป สงบนิ่งให้ลุงนวมทอง 1 นาที และร้องเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา โดยระหว่างนั้นผู้ชุมนุมใช้เครื่องเสียงจัดกิจกรรม ก่อนที่กิจกรรมหน้ากองทัพบกจะเสร็จสิ้นในเวลา 17.00 น.
5 พฤศจิกายน 2558
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลาประมาณ 14.00 น. พ.ต.อ.อรรถวิทย์ สายสืบ รองผู้บัญชาการกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 เชิญตัว อานนท์ นำภา เข้าพบที่สน.นครบาลนางเลิ้ง ในฐานะตัวแทนกลุ่มพลเมืองโต้กลับ จัดชุมนุม "รำลึกนวมทอง ชนกองทัพ" เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 ที่บริเวณหน้ากองทัพบก
ก่อนจัดกิจกรรม อานนท์ นำภา เป็นตัวแทนกลุ่มเข้ายื่นหนังสือแจ้งจัดกิจกรรม ที่ สน.ชนะสงครามและสน.นางเลิ้ง ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งเจ้าหน้าที่อนุญาตให้จัดชุมนุมดังกล่าวได้ แต่กำหนดเงื่อนไขการชุมนุมไว้หลายประการ โดยข้อหนึ่งระบุห้ามมิให้ใช้เครื่องขยายเสียงขณะเคลื่อนขบวน
ภายหลังกิจกรรม พ.ต.อ.สมโภช สุวรรณจรัส ผู้กำกับสน.นางเลิ้ง เป็นผู้กล่าวหา อานนท์ นำภา ในฐานะผู้จัดการชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เรื่องการใช้เครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
เจ้าหน้าที่ระบุถึงรายละเอียดที่กระทำผิดว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 ระหว่าง 16.00-18.00 น. ผู้ชุมนุมมารวมตัวกันที่บริเวณอนุสรณ์สถาน และเคลื่อนตัวมาที่บริเวณหน้าสนามมวยราชดำเนิน ก่อนเคลื่อนย้ายไปบริเวณทางเท้าหน้ากองทัพบก และใช้เครื่องขยายเสียงจัดกิจกรรม โดยมี พ.ต.อ.สมโภช สุวรรณจรัส เป็นผู้ดูแลการชุมนุม ต่อมาได้ยุติการชุมนุม ซึ่งตลอดระยะเวลาการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบและเรียบร้อย แต่ไม่ได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องขยายเสียง
อานนท์ นำภา ยอมรับถึงการกระทำ และยินยอมให้เจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับ พนักงานสอบสวนสน.นางเลิ้งจึงได้ปรับอานนท์ เป็นเงินจำนวน 200 บาท คดีจึงระงับไป
คำพิพากษา
ไม่มีข้อมูล