- คดีสำคัญ
- คดีชุมนุม, คดีอื่นๆ, ฐานข้อมูลคดี
7ดาวดิน: ชูป้ายต้านรัฐประหาร
ผู้ต้องหา
สถานะคดี
คดีเริ่มในปี
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 7 คนในนามกลุ่มดาวดินซึ่งรวมกลุ่มชูป้ายต่อต้านรัฐประหารเมื่อวันที่22 พฤษภาคม 2558 ถูกจับกุม และ ดำเนินคดี ข้อหาขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่3/2558 หลังได้รับการประกันตัว พวกเขาประกาศอารยะขัดขืนไม่ไปรายงานตัวตามหมายเรียกเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา
ต่อมาจตุภัทร์ หรือไผ่ หนึ่งในผู้ต้องหา ถูกจับในคดีมาตรา 112 จึงถูกอายัดตัวต่อเพื่อมาดำเนินคดีนี้ ในขณะที่อีก 6 คน ยังไม่ได้เข้ากระบวนการ
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
ข้อหา / คำสั่ง
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
นักศึกษากลุ่มดาวดิน ทั้ง 7 คนถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 หลังออกมาแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหาร โดยถือป้ายผ้าที่เขียนข้อความว่า “คัดค้านรัฐประหาร” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558
พฤติการณ์การจับกุม
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
หมายเลขคดีดำ
ศาล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
แหล่งอ้างอิง
อัยการทหารแถลงต่อศาลว่าที่ยื่นฟ้องนอกเวลาราชการในวันที่ 19 สิงหาคม 2559 ได้ประสานกับทางตำรวจและศาลทหารขอนแก่นว่าจะนำตัวจำเลยมาฟ้องต่อศาลในเวลา 13.00 น. แต่เนื่องจากมีเหตุขัดข้องในการส่งตัวจำเลยจึงมีเหตุให้ต้องฟ้องต่อศาลหลังเวลาทำการ
เอกสารหลักฐานในคดีที่พยานได้ลงลายมือชื่อ ได้แก่ ทำบันทึกการจับกุม, บัญชีของกลาง และภาพเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ ต่อมา พยานได้นำหลักฐานส่งพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมเพื่อประกอบสำนวนคดี ได้แก่ บันทึกข้อตกลง และแผ่น CD บันทึกภาพเคลื่อนไหวในวันเกิดเหตุ บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจัดทำขึ้นเมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาที่ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 และจำเลยกับพวกได้ไปชู 3 นิ้ว ไม่เอารัฐประหาร เป็นข้อตกลงระหว่างจำเลย กองกำลังฯ และผู้ปกครองนักศึกษา 5 ท่าน ว่านักศึกษาทั้ง 5 จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมี ผบ.มทบ.23 และ ผวจ.ขอนแก่น เข้าร่วมพูดคุย และลงชื่อเป็นพยาน
จากนั้นทนายจำเลยได้ถามค้าน ซึ่ง พ.อ.สุรศักดิ์ ได้ตอบคำถามว่า หลังจำเลยกับพวกได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการชู 3 นิ้ว ต่อหน้าหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 พนักงานสอบสวนได้จัดทำบันทึกประวัติของจำเลย โดยระบุในช่อง อาวุธ/ยานหาพนะ ว่า “ชู 3 นิ้ว” นั้น ไม่ได้หมายความว่า ชู 3 นิ้ว คืออาวุธ แต่หมายถึง การชู 3 นิ้ว เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง ส่วนสัญลักษณ์ดังกล่าวนั้น พยานไม่ทราบว่า หมายถึง เสรีภาพ สันติภาพ ภราดรภาพ หรือไม่ และหากหมายถึง เสรีภาพ สันติภาพ ภราดรภาพ จริง พยานก็ไม่ทราบว่า จำเลยจะสามารถแสดงออกว่าต้องการ 3 สิ่งนั้นได้หรือไม่
พยานทราบว่า จำเลยเป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่รวมตัวกันทำกิจกรรมทางสังคม ในทางการข่าวก็มีปรากฏว่า กลุ่มดาวดินไปทำกิจกรรมช่วยเหลือกลุ่มชาวบ้านในจังหวัดต่างๆ ซึ่งพยานเห็นว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี น่าชื่นชม
การทำข้อตกลงห้ามบุคคลแสดงออกทางการเมืองเป็นการขัดรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้นหรือไม่นั้น พยานขอตอบว่า ขัดต่อกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น
หลังทนายจำเลยถามค้านเสร็จ พยานได้ตอบคำถามที่อัยการทหารถามติงว่า
นัดตรวจพยานหลักฐานคดีภาณุพงษ์
ห้องพิจารณาคดีที่1 ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์เวลา 10.15 นาฬิกา บรรยากาศภายในห้องพิจารณาคดีเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย นอกจากทนายของจำเลย อัยการฝ่ายโจทก์และตัวจำเลยเองแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารจากสารวัตรทหารบกกับเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมุนษยชน เข้านั่งสังเกตการพิจารณาคดีด้วย ไนท์ได้พูดคุยทักทายผู้เข้ามาสงเกตการณ์ด้วยสีหน้าปกติ
ทางด้านโจกท์ ยื่นพยานบุคคล 5 ลำดับพยานเอกสาร 10 ลำดับและพยานวัตถุอีก 1 รวมเป็น 16 ลำดับ พยานบุคคลเป็นชุดจับกุมในวันเกิดเหตุกับนักข่าวที่บันทึกภาพเหตุการณ์ พยานเอกสารเป็นในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ส่วนพยานวัตถุเป็นแผ่นซีดีบันทึกไฟล์ภาพเคลื่อนไหว
ศาลเริ่มถามทนายจำเลยก่อนว่ารับพยานของฝ่ายโจกท์ลำดับใดได้บ้าง ทนายโจทก์จึงแถลงต่อศาลว่าในส่วนพยานเอกสาร ยอมรับเฉพาะในส่วนที่จำเลยลงชื่อเท่านั้น แต่ไม่ยอมรับข้อเท็จจริงในเอกสารเหล่า ส่วนเอกสารอย่างบันทึกการจับกุมไม่ยอมรับ เพราะจำเลยในคดีไม่ลงลายมือชื่อและพนักงานสอบสวนบันทึกพฤติกรรมแห่งคดีไม่ครบถ้วน ส่วนพยานบุคคลทั้งหมดและพยานวัตถุ ทนายฝ่ายโจกท์ไม่รับทั้งหมด
ศาลจึงถามทนายจำเลยว่าตามที่ ยืนพยานบุคคลมาจะใช้ต่อสู้คนประเด็นใด ทนายจำเลยตอบว่าพยานบุคคลที่เป็นนักวิชาการต้องการ เบิกตัวเพื่อบรรยายให้เห็นถึงว่าตัวคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ไม่มีสภาพเป็นกฎหมายและการกระทำของจำเลยเป็นการการทำอยู่ในหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ทั้งกิจกรรมที่จำเลยได้ทำไม่ได้เป็นการชุมนุมทางการเมือง
ศาลจึงถามฝั่งโจทก์ว่ายอมรับพยานฝั่งจำเลยในส่วนใดได้บ้าง อัยการฝั่งโจกท์จึงแถลงว่ายอมรับความถูกต้องของพยานเอกสารบุคคลทั้งหมด ส่วนพยานบุคคลไม่ยอมรับ
22 มีนาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
โจทก์นำพยานปาก พ.ต.อ.พิสิฐ หลวงเทพ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดี
พ.ต.อ.พิสิฐ หลวงเทพ อายุ 49 ปี ปัจจุบันรับราชการตำแหน่งผู้กำกับการสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ขณะเกิดเหตุรับราชการที่ สภ. เมืองขอนแก่น ตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ มีหน้าที่สอบสวนคดีความผิดอาญาทั่วไปในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น
พ.ต.อ.พิสิฐ เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พยานเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดี โดยได้ทำการสอบสวนนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และพวก รวมทั้งสิ้น 7 คน ในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เวลาประมาณ 17.00 น. ขณะพยานเป็นพนักงานสอบสวนที่ สภ. เมืองขอนแก่นมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ คือ พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง และ พ.ต.ท.นรวัฒน์ คำภิโล กับพวก ได้ควบคุมตัวจำเลยกับพวกมาส่ง พร้อมของกลางเป็นป้ายผ้า ป้ายกระดาษ และมีบันทึกจับกุม หลังรับตัวจำเลยกับพวก พยานได้สอบปากคำจำเลยกับพวก จากนั้นได้คุมตัวจำเลยกับพวกไว้ที่ สภ.เมือง ต่อมา เช้าวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 มีคนมาประกันจำเลยกับพวก โดยผู้บังคับบัญชาได้อนุญาตให้ปล่อยตัว
พ.ต.อ.พิสิฐ เบิกความอีกว่า พ.อ.สุรศักดิ์ได้นำเอกสารเกี่ยวกับการกระทำครั้งก่อน ๆ ของจำเลยที่ถูกปรับทัศนคติ มามอบให้เพื่อเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติม พยานยังได้รับภาพเคลื่อนไหวในวันเกิดเหตุซึ่งจัดทำโดย นายราชา ถิ่นทิพย์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส แต่ไม่แน่ใจว่าได้รับจาก พ.อ.สุรศักดิ์ หรือนายราชา จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พยานมีความเห็น สมควรสั่งฟ้อง ในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. โดยร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต
จากนั้น พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบคำถามที่ทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ในแผ่นซีดีที่เป็นวัตถุพยาน กลุ่มจำเลยได้พูดคำว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” คำพูดดังกล่าว สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย พยานในฐานะพนักงานสอบสวน ฟังคำพูดดังกล่าวแล้ว เห็นด้วย
พนักงานสอบสวนตอบคำถามทนายจำเลยโดยรับว่า ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตำแหน่ง ผบ. ทบ. ขณะนั้น ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ การรัฐประหารดังกล่าวเป็นการได้มาซึ่งการปกครองโดยที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย มีการออกคำสั่งให้คณะรัฐมนตรียุติการปฏิบัติหน้าที่ และให้ยุติการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 การกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ฐานเป็นกบฏ ซึ่งการกระทำความผิดฐานเป็นกบฏนั้น เป็นสิ่งที่สมควรคัดค้าน
พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบทนายจำเลยอีกว่า หลังยึดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ได้ตั้งทหารเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ และเป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจหรือไม่ พยานไม่ทราบ แต่หากเป็นดังกล่าวก็ไม่เป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย คนที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวมีสิทธิคัดค้าน แต่ต้องขออนุญาตจาก คสช. ตามที่กฎหมายกำหนด ทนายจำเลยถามว่า การที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า คนที่จะคัดค้าน คสช. ต้องไปขออนุญาต คสช. ก่อนเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างประหลาดหรือไม่ พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบว่า ก็ทำนองนั้น
พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีเบิกความตอบทนายจำเลยรับว่า ในคดีนี้จำเลยกับพวกชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ข้อความ “คัดค้านรัฐประหาร” ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด ส่วนตัวพยานเห็นว่า การชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ถ้าทำเพียงคนเดียวก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าไปคัดค้าน 5 คนถือว่าผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ทนายจำเลยถามอีกว่า การที่บัญญัติว่าการคัดค้านรัฐประหารซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าทำ 5 คน เป็นความผิด เป็นสิ่งที่ประหลาดหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ประหลาด เนื่องจากกฎหมายมีเหตุผลและเจตนารมณ์ในตัวเอง
พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบทนายอีกว่า ไม่ทราบว่า การคัดค้านรัฐประหารเป็นผลเสียต่อ คสช.หรือไม่ แต่จากประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมีการทำรัฐประหารหลายครั้ง และกลับมาเป็นประชาธิปไตยได้เพราะมีนักศึกษาประชาชนหลายภาคส่วนออกมาคัดค้านการรัฐประหาร ซึ่งหากไม่มีการเสียชีวิตของประชาชน พยานก็เห็นว่า การคัดค้านรัฐประหารดังกล่าวจนได้ประชาธิปไตยกลับมาถือว่าเป็นสิ่งที่ดี การที่จำเลยไปชูป้ายคัดค้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ก็ไม่มีผู้เสียชีวิต
ทนายจำเลยถามพยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนว่า ในการสอบสวน พยานมุ่งเน้นเพื่อเอาจำเลยมาลงโทษหรือเพื่อให้ความเป็นธรรมกับจำเลย พ.ต.อ.พิสิษฐ์ตอบว่า เพื่อให้ความเป็นธรรม แต่รับว่า ในการสอบสวน ไม่มีการนำพยานซึ่งเป็นนักวิชาการมาให้ความเห็นทางกฎหมาย ไม่ได้สอบนักวิชาการที่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์การเมือง และไม่ได้นักวิชาการมาให้ความเห็นเรื่องเสรีภาพในการชุมนุม
พยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยอีกว่า ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 การชุมนุมทางการเมืองสามารถทำได้ถ้าได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ได้รับมอบหมาย ซึ่งการสอบสวนว่า การชุมนุมได้รับอนุญาตหรือไม่ถือเป็นประเด็นสำคัญในคดี แต่พยานไม่ได้มีคำสั่งเรียกหัวหน้า คสช. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาสอบสวน พยานไม่มั่นใจว่า กรณีนี้บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. ให้มีอำนาจอนุญาตให้บุคคลชุมนุมได้หรือไม่ คือ พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง หรือไม่ แต่ในชั้นสอบสวน พ.อ.สุรศักดิ์ ก็ไม่ได้นำคำสั่งแต่งตั้งจากหัวหน้า คสช. มาแสดง
พนักงานสอบสวนตอบเกี่ยวกับการสอบปากคำ พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง ผู้กล่าวหาในคดีนี้ว่า พ.อ.สุรศักดิ์ มีสถานะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ คสช. แต่ในชั้นสอบสวน พยานไม่ได้สอบสวนถึงทัศนคติทางการเมืองของ พ.อ.สุรศักดิ์ ทนายจำเลยถามว่า จากคำเบิกความในชั้นศาล พ.อ.สุรศักดิ์มีทัศนคติทางการเมืองตรงข้ามกับจำเลย และถือว่าเป็นพยานปฏิปักษ์หรือไม่ พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบว่า ไม่ใช่ พ.อ.สุรศักดิ์ เป็นข้าราชการ ต้องให้ความเป็นธรรมกับจำเลยอยู่แล้ว พยานยังระบุว่า ในชั้นสอบสวน พ.อ.สุรศักดิ์ ตอบคำถามของพยานทุกคำถาม โดยไม่ได้ใช้สิทธิที่จะขอไม่ตอบคำถาม แต่พยานไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไรในชั้นศาล พ.อ.สุรศักดิ์ จึงขอไม่ตอบทนายจำเลยหลายคำถาม
พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบทนายจำเลยถึงกระบวนการในการสอบสวนต่อไปว่า จำไม่ได้ว่า คนที่เป็นผู้บัญชาการในการจับตัวจำเลยกับพวกในที่เกิดเหตุ คือ ร.อ.อภินันท์ ใช่หรือไม่ แต่ในชั้นสอบสวนทั้ง ร.อ.อภินันท์ และ พ.อ.สุรศักดิ์ ไม่ได้นำคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานตาม ม.44 มาแสดง พยานจำไม่ได้ด้วยว่า ทั้งสองได้อ้างว่า เป็นเจ้าพนักงานตาม ม.44 เนื่องจากมีชั้นยศตั้งแต่ร้อยตรีขึ้นไป ทั้งนี้ ร.อ.อภินันท์ไม่ได้ใช้สิทธิในการไม่ขอตอบคำถามของพยานในชั้นสอบสวนเช่นกัน
พนักงานสอบสวนในคดีตอบคำถามทนายจำเลยอีกว่า ในบันทึกจับกุมไม่ปรากฏว่า จำเลยและพวกมีการต่อสู้ขัดขืนเจ้าพนักงาน แต่ที่บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนระบุว่า จำเลยและพวกมีการขัดขืนไม่ให้เจ้าหน้าที่พาตัวไป พยานไม่ได้โต้แย้งในประเด็นนี้ไว้ อีกทั้งในชั้นสอบสวนนายจตุภัทร์ให้การว่า ในการจับกุมเจ้าหน้าที่ได้ทำร้ายนายภานุพงศ์โดยชกที่ไข่ แต่ในบันทึกจับกุมไม่ได้ระบุไว้ พยานก็ไม่ได้โต้แย้งหรือสอบถาม พ.อ.สุรศักดิ์ในประเด็นนี้ อย่างไรก็ตาม พยานได้ส่งนายภานุพงศ์ไปตรวจที่โรงพยาบาลขอนแก่น มีผลการตรวจเป็นเอกสารส่งให้อัยการด้วยแล้ว
หลังเกิดเหตุจำเลยกับพวกถูกควบคุมตัวมาที่ มทบ.23 เพื่อปรับทัศนคติ แต่จำเลยกับพวกไม่ยอมรับการปรับทัศนคติ จึงถูกดำเนินคดี ทนายจำเลยถาม พ.ต.อ.พิสิฐ ว่า ระหว่างทัศนคติในการคัดค้านรัฐประหารกับสนับสนุนรัฐประหาร ทัศนคติอย่างไหนที่ต้องปรับ พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า ต้องปรับทัศนคติที่สนับสนุนการรัฐประหาร
พยานเบิกความอีกว่า ไม่เคยได้ยินชื่อหรือรู้จักกับกลุ่มดาวดินมาก่อน เพิ่งเคยรู้จักในวันที่เจ้าหน้าที่นำตัวมาส่ง และทราบจากการสอบปากคำและข่าวว่า จำเลยคือ ไผ่ ดาวดิน เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งทราบว่า กลุ่มดาวดินเป็นกลุ่มกลุ่มกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ป้ายของกลางอื่น ๆ นอกจากป้ายคัดค้านรัฐประหารแล้วก็เป็นป้ายรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน เช่น เรื่องเหมือง ม.นอกระบบ เป็นต้น
พยานรับตามที่ทนายจำเลยให้ดูเอกสารว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุ ในมาตรา 4 บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ที่ชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 เคยบัญญัติรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ, สิทธิในการต่อต้านการรัฐประหารโดยสันติวิธี และหน้าที่ของบุคคลในการปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไว้ในมาตรา 63, 69 และ 70 รวมทั้งพันธกรณีระหว่างประเทศ ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้บัญญัติรับรองเสรีภาพในการแสดงความเห็นและสิทธิในการชุมนุมไว้ใน ข้อที่ 19 และ 21
ทนายจำเลยถาม พ.ต.อ.พิสิฐ พนักงานสอบสวนอีกว่า ในชั้นสอบสวนพยานได้นำความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหาร มาประกอบในการสอบสวนหรือไม่ พยานตอบว่า เพิ่งเคยเห็นความเห็นของศาลฎีกาดังกล่าว และไม่ได้นำมาประกอบการสอบสวน
พ.ต.อ.พิสิฐเบิกความเสร็จ โจทก์แถลงหมดพยาน ทนายจำเลยแถลงขอนำนายจตุภัทร์-จำเลย ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานเข้าสืบเป็นพยานจำเลยปากแรกในนัดหน้า ศาลจึงนัดสืบพยานจำเลยปากแรกในวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 โดยให้ออกหมายเบิกตัวจตุภัทร์จากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นมาในวันนัดดังกล่าว
21 มีนาคม 2561
สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง: พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง ผู้จับกุมและผู้กล่าวหา
พ.อ.สุรศักดิ์ เบิกความว่า ปัจจุบันรับราชการอยู่ที่ มณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น ในตำแหน่งหัวหน้ากองกำลังพล มณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น ขณะเกิดเหตุรับราชการในมณฑลทหารบกที่ 23 ในตำแหน่งหัวหน้ากองข่าว มีหน้าที่ในการติดตามเฝ้าระวังข่าวสารที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติและดูแลผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา นอกจากนี้ผู้บังคับบัญชายังได้มีคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ในกองกำลังรักษาความสงบจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีหน้าที่เหมือนกับการข่าวเหมือนเดิมแต่เพิ่มในเรื่องการติดตามเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของมวลชนในเรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
พ.อ.สุรศักดิ์ เบิกความต่อว่าเป็นผู้กล่าวหาและจับกุมจำเลยทั้ง 7 คน มีผู้ถูกกล่าวหาคือ จตุภัทร์ ,อภิวัฒน์ ,พายุ ,ภานุพงศ์ ,สุวิชชา ,ศุภชัยและวสันต์ โดยจำนามสกุลของทั้ง 7 คนนี้ไม่ได้ และได้กล่าวหาทั้ง 7 คนในข้อหาชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนขึ้นไป จากจำเลยทั้งหมดนั้นมีภานุพงศ์อยู่ในศาลและจตุภัทร์ถูกดำเนินคดีอีกคดีหนึ่งไปก่อนหน้านี้แล้วส่วนจำเลยที่เหลืออีก 5 คนได้ทำการหลบหนี ในการจับกุมนั้นได้มีผู้ร่วมจับกุมคือ ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร ผู้บังคับกองร้อยสารวัตรทหาร มณฑลทหารบกที่ 23 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ขอนแก่น เข้าร่วมจับกุมด้วย เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่บริเวณลานอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
พ.อ.สุรศักดิ์เล่าถึงพฤติการณ์ก่อนวันเกิดหตุว่า ได้รับทราบจากแหล่งข่าวและการโพสต์ข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตว่าจะมีการชุมนุมของกลุ่มคนเหล่านี้ขึ้น โดยทราบจากแหล่งข่าวว่าจะมีการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารและเป็นการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษากลุ่มดาวดิน ก่อนเกิดเหตุ 1 วัน คือวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ได้มีนักศึกษาจำนวน 2 คน แจกใบปลิวที่มีข้อความต่อต้านรัฐประหารโดยเจ้าหน้าที่ได้ยึดใบปลิวแล้วปล่อยตัวกลับบ้านไป ในวันเกิดเหตุ ได้มีการจัดกองกำลังร่วมระหว่างทหารกับตำรวจเพื่อเฝ้าระวังว่าจะมีการชุมนุมตามที่โพสต์หรือไม่ เวลาประมาณ 13.00 น. จำเลยกับพวกรวม 7 คน ได้มาที่บริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ชูป้ายที่มีข้อความว่าคัดค้านรัฐประหาร โดยมีป้ายอื่นๆบนกระดาษประมาณ 5 แผ่นซึ่งมีข้อความเชิงคัดค้านรัฐประหารเหมือนกัน นอกจากการชูป้ายแล้วยังมีการใช้คำพูดโจมตีระหว่างการชูป้ายด้วย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปแจ้งเตือนแต่ก็ยังไม่ยอมหยุด ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เข้าไปแจ้งว่าเป็นการชุมนุมผิดกฎหมาย โดยกฎหมายในขณะนั้นคือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อที่ 12 ห้ามมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หลังจากที่แจ้งและขอให้ยุติแล้วแยกย้ายกลับแต่จำเลยทั้ง 7 คน ไม่ยอมหยุด เมื่อไม่ยอมหยุดเจ้าหน้าที่ก็จะขอให้ไปปรับทัศนคติที่สถานีสารวัตรทหาร ค่ายศรีพัชรินทร ในการเชิญตัวไปที่ค่ายศรีพัชรินทรนั้นจำเลยทั้ง 7 คน ได้ทำการต่อสู้ขัดขืน และเมื่อมาที่ค่ายศรีพัชรินทรเพื่อปรับทัศนคติแต่จำเลยทั้ง 7 คน ไม่ยอมปรับทัศนคติ จึงได้ส่งตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายโดยจับกุมและส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวน สภ.ขอนแก่นซึ่งได้บันทึกไว้ตามบันทึกการจับกุม ในส่วนของแผ่นป้ายของกลางเจ้าหน้าที่ได้ยึดไว้เป็นของกลางและบันทึกไว้ในบัญชีของกลาง และพ.อ.สุรศักดิ์ยืนยันว่าในคดีนี้พนักงานสอบสวนได้นำภาพถ่ายการกระทำความผิดมาให้ยืนยันและลงลายมือชื่อซึ่งได้ทำการยืนยันและลงลายมือชื่อไว้ทุกภาพเพื่อเป็นพยานหลักฐานจำนวน 3 แผ่น
พ.อ.สุรศักดิ์เล่าต่อว่า ในวันเกิดเหตุนอกจาก ทหารและตำรวจแล้ว ยังมีผู้สื่อข่าวจาก ไทยพีบีเอส บันทึกภาพเคลื่อนไหวในการชุมนุมดังกล่าวไว้ โดยได้ขอข้อมูลบันทึกภาพเคลื่อนไหวจากนักข่าวเพื่อส่งให้พนักงานสอบสวนด้วย และพ.อ.สุรศักดิ์ได้ยืนยันบันทึกคำให้การที่ได้ให้การกับพนักงานสอบและลงลายมือชื่อไว้ และไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้ง 7 คนมาก่อน
หลังจากอัยการทหารถามเสร็จแล้วได้แถลงต่อศาลว่าจากวันนัดตรวจพยานหลักฐานได้มีการตกลงกันไว้ว่าเนื่องจากเป็นพยานโจทก์ 3 ปากเป็นพยานที่อยู่ในวันจับกุมถือว่าเป็นพยานคู่ (พยานที่อยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน) ต้องมาศาลในเวลาเดียวกัน ซึ่งโจทก์ไม่สามารถนัดหมายพยานให้มาพร้อมกันทั้ง 3 คนได้ จึงขอให้โจทก์สืบพยานโจทก์ทั้ง 3 ปากเสร็จก่อน แล้วจึงให้ทนายจำเลยถามค้าน พยานโจทก์ทั้ง 3 คน ในนัดเดียว ทนายจำเลยไม่คัดค้านที่โจทก์ขอ จึงไม่มีการถามค้านพยานโจทก์ โดยนัดหมายในวันต่อไปคือ วันที่ 24 พฤษภาคม 2561 เวลา 13.00 น. สืบพยานโจทก์ ร.อ.อภินันท์ วันเพ็ชร ผู้บังคับกองร้อยสารวัตรทหาร มณฑลทหารบกที่ 23
15 พฤษภาคม 2561
นัดสืบพยานจำเลยปากแรก จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา คดีชูป้ายต้านรัฐประหาร
ที่ศาลทหารจังหวัดขอนแก่น เวลาประมาณ 9.00 น. จตุภัทร์ เดินทางจากเรือนจำจังหวัดขอนแก่นมาถึงศาลทหารจังหวัดขอนแก่น โดยมีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส มีประชาชนมาให้กำลังใจและมาเยี่ยมจตุภัทร์ประมาณ 30 คน โดยเจ้าหน้าที่ทหารให้เข้าเยี่ยมจตุภัทร์ในห้องขังศาลครั้งละ 5 คน และให้เข้าห้องพิจารณาคดีได้ประมาณ 15 คน เท่านั้น บรรยากาศโดยรอบศาลเป็นไปอย่างผ่อนคลาย มีเจ้าหน้าที่ทหารทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ แต่ไม่มีความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่เท่าครั้งก่อนๆ
ต่อมาประมาณ 9.50 น. ศาลขึ้นบันลังก์ ก่อนเริ่มการสืบพยาน ฝ่ายจำเลยได้แต่งทนายเพิ่ม คือ พริ้ม บุญทรรักษา มารดาของจตุภัทร์ เข้าเป็นทนายความเพิ่มในคดี
จากนั้นเริ่มการสืบพยาน จตุภัทร์ เริ่มสาบานตนโดยสาบานตนต่อ โสเครติส อริสโตเติล เพลโต เช กูวารา และปรีดี พนมยงค์ หลังจากนั้นจตุภัทร์ เริ่มเบิกความ ชื่อ ที่อยู่ เกิดวันที่ 1 สิงหาคม 2561 ปัจจุบันอายุ 26 ย่าง 27 ปี จบการศึกษาจาก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตอนเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ในกลุ่ม “เผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม” หรือ “กลุ่มดาวดิน” เริ่มทำกิจกรรมกับกลุ่มดังกล่าตั้งแต่เป็นนักศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ.2553 กลุ่มดาวดิน ทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียนรู้สังคมในพื้นที่จริง และนำปัญหามาวิเคราะห์และเผยแพร่ปัญหาดังกล่าวสู่สาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรของชาติ และยังได้คัดค้านเรื่องการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วย
จากนั้นทนายจำเลยถามถึงแผ่นป้าย 5 แผ่นป้าย ที่จตุภัทร์ และพวก ชูในวันที่ทำกิจกรรม (22 พฤษภาคม 2558) และถูกตำรวจยึดนั้น มีความหมายว่าอย่างไรบ้าง จตุภัทร์ เบิกความว่า
แผ่นป้ายที่ 1 “ม.นอกระบบ” ต้องการสื่อถึงการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกนอกระบบของรัฐ
ปกติมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยเป็นของรัฐที่รัฐให้เงินสนับสนุน แต่การออกนอกระบบคือเปลี่ยนไปบริหารแบบเอกชน การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นมีผลเสียคือ เป็นการผลักภาระให้นักศึกษาโดยตรง จากเดิมรัฐให้ค่าเทอมครึ่งหนึ่ง แต่พอออกนอกระบบนักศึกษาต้องจ่ายค่าเทอมเองเต็มจำนวน ซึ่งกลุ่มดาวดิน คัดค้าน ม.นอกระบบ มาตั้งแต่ปี 2554 และที่ต้องออกมาคัดค้านในช่วงหลังการรัฐประหารเนื่องจาก ปกติในเรื่องนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบผลักดันกันมากว่า 20 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2542 คณะที่เปิดใหม่หลังจากนั้นจะให้ออกนอกระบบทั้งหมด แต่ถ้ามีการคัดค้านทั้งโดยการชุมนุม อภิปราย หรือทำเป็นหนังสือ ก็จะทำการชะลอเรื่องไว้ ในปี 2554 เคยคัดค้านสำเร็จจนกระทั้งปี 2557 อธิการบดีเป็น สนช. และผลักดันให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบจนสำเร็จ ซึ่งในอดีตเคยสามารถคัดค้านเรื่องนี้ได้ แต่หลังรัฐประหารกลับคัดค้านไม่ได้จนส่งผลต่อการนำมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกนอกระบบสำเร็จ
แผ่นป้ายที่ 2 “เหมืองเถื่อน เมืองเลย” เป็นการต่อต้านการทำเหมือนแร่เมืองเลยที่มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากการรัฐประหาร
จตุภัทร์ เบิกความว่า ขณะเป็นนักศึกษา ได้เข้าไปเผยแพร่กฎหมายสิทธิ โดยการอบรมกับชาวบ้าน ได้ไปลงพื้นที่ศึกษากรณีเหมืองแร่ที่เมืองเลยร่วมกับชาวบ้าน และได้เห็นถึงปัญหาจึงได้ร่วมต่อสู้กับชาวบ้าน แต่ก่อนหน้านั้นรุ่นพี่ได้เคลื่อนไหวร่วมกับชาวบ้านอยู่แล้ว เนื่องจากนายทุนมีอำนาจเหนือรัฐ หมายถึง นายทุนก็ใช้รัฐเป็นเครื่องมือและอำนาจ ส่วนชาวบ้านก็ใช้สิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญในการต่อสู้กับรัฐ ทำให้ปัญหาเรื้อรังเพราะชาวบ้านไม่สามารถทำอะไรได้ และนี่คือความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มีตัวอย่างกรณีที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเมืองเลยถูกล้อมตีกลางดึก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนรัฐประหาร แต่พอหลังรัฐประหารทำให้เรื่องนี้เงียบ โดยมีทหารเข้าไปแทรกแซง
นอกจากนี้หลังรัฐประหาร มีทหารเข้าไปในพื้นที่ ห้ามไม่ให้ชาวบ้านชุมนุมกันเกิน 5 คน แม้แต่ชาวบ้านจะประชุมกันก็ทำไม่ได้ หรือแม้แต่เวลาที่นักศึกษาจะเข้าไปให้ความช่วยแหลือเรื่องกฎหมายยังต้องขออนุญาต ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้ และตั้งแต่หลังรัฐประหารยังทำให้ขั้นตอนของการทำ EIA ลดลง ตัดทอนกระบวนการ และพยายามแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ง่ายต่อนายทุน และยิ่งทุนเหนือรัฐเผด็จการ ยิ่งทำให้ง่ายและมีอำนาจมากขึ้น
แผ่นป้ายที่ 3 “เผด็จการทำเขื่อนได้เถื่อนมาก”
จตุภัทร์ เบิกความว่า เป็นการต่อต้านแผนพัฒนาเรื่องเขื่อน ชื่อ “โขง เลย ชี มูล” ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะมีการผันน้ำจากแม่น้ำโขง ผ่านมาทางจังหวัดเลย ลงแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล นี่คือโครงการขนาดใหญ่ของรัฐก่อนรัฐประหารและกลุ่มดาวดินสามารถคัดค้านได้ และเคยให้ข้อมูลกับชาวบ้าน โดยการถือโทรโข่ง ปราศรัย และชูป้าย แจกใบปลิว พูดคุยให้ข้อมูลกับชาวบ้านได้ แต่พอหลังรัฐประหารไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้
แผ่นป้ายที่ 4 “ที่ดินสู้กันมาตั้งนาน เกิดรัฐประหารไล่รื้ออย่างเดียว”
จตุภัทร์ เบิกความว่า เป็นการพูดถึงปัญหาที่ดินก่อนรัฐประหาร ชาวบ้านต่อสู้เรื่องที่ดินมานานและอยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานและชาวบ้านก็ต่อสู้ได้ แต่พอรัฐประหารชาวบ้านไม่สามารถต่อสู้หรือเคลื่อนไหวอะไรได้ และ คสช.กลับออกคำสั่งไล่รื้ออย่างเดียว เช่น กรณีที่มีข้อพิพาทกับรัฐ บางคนถูกดำเนินคดีอีกด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านเขาก็ต่อสู้จนได้อาศัยอยู่ หรือบางพื้นที่ก็อยู่ในช่วงพัฒนาข้อเสนอและดำเนินการ โดยการการต่อสู้ในปัญหาดังกล่าวของรัฐจะใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ส่วนชาวบ้านจะใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์
แผ่นป้ายที่ 5 คัดค้านรัฐประหาร จตุภัทร์ เบิกความว่า หมายถึงการคัดค้านรัฐประหารที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557 และได้อธิบายเพิ่มว่า เมื่อปี 2556 มีการเคลื่อนไหวเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ซึ่งเป็นการคัดค้านของกลุ่ม กปปส. นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จตุภัทร์ให้ความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับเรื่องนิรโทษกรรม แต่เห็นด้วยว่าชาวบ้าน คนตัวเล็กตัวน้อยควรจะได้รับการนิรโทษกรรม แต่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้กับระดับผู้นำ เช่น คนที่สั่งการสลายการชุมนุม หรือทหารระดับผู้สั่งการเป็นต้น และกลุ่มดาวดินก็ร่วมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ และยังเคยถูกทาบทามให้ไปเป็นแกนนำที่กรุงเทพฯ แต่ไม่ได้ไปเข้าร่วม
ต่อมาในตอนนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยอมถอยโดยการประกาศยุบสภาและประกาศให้มีการเลือกตั้ง แต่กลุ่ม กปปส. กลับไม่ยอมถอยและมีท่าทีทำให้สถานการณ์นำไปสู่เงื่อนไขการทำรัฐประหาร จากนั้นดาวดินก็ถอยออกมาและไม่ร่วมกับแนวทางของ กปปส.อีกเลย เนื่องจาก กปปส.ไม่ยอมเลิกชุมนุมและมีข้อเสนอให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จากนั้นมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้การเลือกตั้งในครั้งนั้นเป็นโมฆะ เนื่องจากมีการขัดขวางการเลือกตั้งจากกลุ่ม กปปส. ซึ่งทางกลุ่มดาวดินไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกลุ่ม กปปส. และไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้ไปยื่นเรื่องที่ศาลปกครองว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ถูกต้องและจะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่รัฐประหาร แต่ศาลปกครองไม่รับเรื่อง ทั้งนี้การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะได้ ต้องเกิดจากภัยพิบัติ ไม่ใช่เกิดจากภัยที่เกิดจากมนุษย์ และกลุ่มดาวดินออกมาพูดต่อสาธารณะเพื่อสื่อถึงกลุ่ม กปปส. ว่าการกระทำของกลุ่ม กปปส.จะทำให้ประเทศล้าหลัง
ก่อนรัฐประหารมีการใช้รถทหารและทหารมีการตรึงกำลัง มีการประกาศกฎอัยการศึก และในช่วงนั้นมีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และกลุ่ม นปช. ส่วนการที่ทหารอ้างว่าการที่มีการชุมนุมปิดสถานที่ราชการ
จึงมีการทำรัฐประหารเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และการที่ทหารอ้างว่าจะเข้ามาเพื่อปราบคอรัปชั่น คิดว่าเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะปกติก็มีฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และนิติบัญญัติคอยถ่วงดุลกันอยู่ และเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้วและทหารต้องอยู่ภายใต้รัฐ ดังนั้นรัฐมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการปัญหา เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองในการจัดการปัญหาดังกล่าว และให้ฝ่ายตุลาการทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ การที่ทหารเข้ามาและบอกว่าเพื่อจัดการกับปัญหา มันไม่ใช่หน้าที่ของทหาร
อีกทั้งการทำรัฐประหารไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีการถ่วงดุล ดังนั้นการทำรัฐประหารก็มีการคอรัปชั่นได้เช่นกัน เช่น เรื่องของไมโครโฟน เรื่องนาฬิกาและเรื่องอุทยานราชภักดิ์ สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครสามารถพูดได้ จึงมองว่าการทำรัฐประหาร คือการประทุษร้ายต่อโครงสร้างทางการเมือง กล่าวคือ เป็นการยกเลิกฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายนิติบัญญัติ
และฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยการทำรัฐประหารนั้นมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ข้อหากบฏ จตุภัทร์ เบิกความต่อว่าเคยร่วมกับกลุ่มเพื่อนดาวดินไปยื่นต่อศาลว่า คสช. เป็นกบฏ ซึ่งกบฎเป็นผลทางกฎหมาย ส่วนผลทางการเมืองนั้น การทำรัฐประหารคือการฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วทหารเข้ามาทำรัฐประหาร แถมยังออกคำสั่งให้คนต้องทำตาม และคิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีความชอบธรรมและขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชาชน เพราะเป็นคำสั่งที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ที่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตามเท่านั้น เหมือนกับตอนนี้ที่ต้องมาอยู่ตรงนี้ก็เพราะการทำตามคำสั่ง
และสิ่งเหล่านี้เป็นการตัดตอนกระบวนการของประชาธิปไตย อีกทั้งเขากลับอ้างตนว่าเป็นผู้สร้างประชาธิปไตย ทั้งที่เป็นผู้ทำลายประชาธิปไตย และเป็นคนที่ทำลายคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ การที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยกลับเป็นคนผิดและถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิดนั้นมันคือยุคที่ผิดเพี้ยน
จตุภัทร์ เบิกความต่อว่า คำสั่งของ คสช. ไม่ใช่กฎหมาย เนื่องจากโดยหลักของกฎหมายเป็นเรื่องหลักการและเหตุผล แต่คำสั่งของ คสช. ไม่มีเหตุผลและไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการห้ามคิดห้ามแสดงออก อีกทั้งก่อนหน้านี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังเคยมีคำพิพากษาปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหาร ในคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรณีปกปิดข้อเท็จจริงในการยื่นบัญชีแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ว่า “หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป”
นอกจากนี้ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี พ.ศ. 2557 ยังเป็นปัญหา เนื่องจากรับรองให้คำสั่งของ คสช.เป็นกฎหมาย เป็นการให้อำนาจทหารทั้งนิติบัญญัติ ตุลาการและบริหาร ซึ่งไม่มีเหตุผล ไม่สามารถตรวจสอบอำนาจได้ และทำให้อำนาจผิดเพี้ยนตามผู้ใช้อำนาจและเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากในในระบอบประชาธิปไตย
ต่อมาในช่วงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางมาที่ จ.ขอนแก่น เพื่อมาทำภารกิจและก่อนหน้านั้นพลเอกประยุทธ์ เคยประกาศว่าคนทั้งประเทศเห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร จตุภัทร์จึงได้ร่วมกับเพื่อนเพื่อทำให้เขาเห็นว่าในประเทศนี้ยังคงมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารอยู่ และเห็นว่าการอยู่เฉยๆ อาจจะถูกเหมารวมว่าเห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว จึงออกมาคัดค้านด้วยการชู 3 นิ้วซึ่งเป็นการยืนเฉยๆ โดยไม่พูดอะไร และมีข้อความบนเสื้อว่า “ไม่-เอา-รัฐ-ประหาร” โดยใส่กัน 5 คน คนละ 1 คำ
จตุภัทร์ เบิกความว่าการชู 3 นิ้วหมายถึง เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี เพราะมีความเชื่อมั่นในวิธีการสันติวิธี แต่การกระทำ และการเคลื่อนไหวครั้งนั้นสร้างความไม่พอใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ทหาร ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่เข้าจับตัวอย่างรวดเร็วและถูกนำตัวมาปรับทัศนคติในมณฑลทหารบกที่ 23 ค่ายศรีพัชรินทรแห่งนี้
จตุภัทร์ เบิกความในช่วงท้ายว่า ไม่ได้คิดว่าการคัดค้านรัฐประหารหรือการสนับสนุนรัฐประหารอันไหนถูกต้องที่สุด เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะคิด สังคมควรมีเหตุผลที่จะฟังกันและกัน แต่คิดว่าการคัดค้านรัฐประหารเป็นการแสดงความคิดเห็นที่เหมาะสมในขณะนั้น และการที่ไม่ยอมรับการปรับทัศนคติและไม่ยอมเซ็นว่าได้ปรับทัศนคติ เพราะถ้าเซ็นเท่ากับว่ายอมรับการปรับทัศนคติ และสนับสนุนว่าการปรับทัศนคติเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว หลังจากนั้นได้ร่วมเคลื่อนไหวกับเพื่อนที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ และมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร ในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่หรือ NDM
จากนั้นทนายความจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า ขณะนี้เป็นเวลา 12.00 น.อคำถามยังเหลืออีกมาก วันนี้ที่สืบพยานไปเป็นเพียงการสืบประเด็นก่อนเกิดเหตุ การสืบพยานประเด็นในวันเกิดเหตุทนายมีคำถามเยอะมาก และเกรงว่าจะใช้เวลาเยอะ จึงขอให้ศาลเลื่อนการสืบพยานไปในนัดหน้า
ศาลอนุญาต โดยนัดหมายสืบพยานจำเลยครั้งต่อไปวันที่ 9 และ 10 กรกฎาคม 2561 โดยจะเป็นการสืบพยานจตุภัทร์ต่อ ในช่วงเช้าวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 และในช่วงบ่ายจะเป็นการสืบพยานผู้เชี่ยวชาญ คือ ชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก และวันที่ 10 จะขอสืบพยานผู้เชี่ยวชาญคือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในเรื่องประวัติศาสตร์การต่อสู้ของนักศึกษา จบการพิจารณาคดี
9 กรกฎาคม 2561
เกี่ยวกับประสบการณ์การทำงาน ชำนาญเบิกความว่าเขามีประสบการณ์สอนทั้งสาขารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ โดยสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และที่อื่นๆ ปัจจุบันเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ของประเทศไทย ให้กับมหาวิทยาลัยโกเตนเบิร์ก ประเทศสวีเดน
ชำนาญเบิกความว่าหลังออกจากราชการเขามาเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนการทำงานในภาคประชาสังคมเขาเคยดำรงตำแหน่งประธานแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก โดยปัจจุบันเขายังเป็นที่ปรึกษาให้องค์กรดังกล่าว
ชำนาญเบิกความถึงหลักทั่วไปของระบอบประชาธิปไตยว่า ประชาธิปไตยคือ ประชาชน+อธิปไตย หมายถึงอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ส่วนหลักการอื่นที่มาขยายเกี่ยวเนื่องคือเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม หรือการแสดงออกด้วยวิธีการอื่น นอกจากนี้ก็มีเรื่องที่ประชาชนมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้นำของตัวเองหรือกำหนดอนาคตตัวเอง
ชำนาญเบิกความต่อว่ากระบวนการนิติบัญญัติในระบอบประชาธิปไตย จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายเพื่อกำหนดสิทธิของตนเอง จำกัดสิทธิเสรีภาพของตนเองบางประการ และจำกัดอำนาจของรัฐไม่ให้มีมากเกินไปโดยผ่านสภานิติบัญญัติหรือรัฐสภา สำหรับสภาจะมีสองแบบคือแบบสองสภามีวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎร และแบบสภาเดี่ยวที่มีแต่สภาผู้แทนราษฎร
10 กรกฎาคม 2561
จันทจิราเบิกความเพิ่มเติมด้วยเธอมีประสบการณ์สอนเกี่ยวกับเสรีภาพทุกชนิดรวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม และเคยเขียนบทความเรื่องเสรีภาพการชุมนุมในที่สาธารณะด้วย
เช่นใช้จำกัดเสรีภาพการชุมนุมกรณีที่ผู้ชุมนุมขัดขวางการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะของคนอื่น หรือจำกัดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ในกรณีที่ประเทศอยู่ในภาวะการสงครามหรือระหว่างเวลาที่มีประกาศสงคราม สถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก
มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการคุ้มครองประชาชนตามหลักผลประโยชน์สาธารณะ
8 กันยายน 2561
นัดสืบพยานจำเลย ปากที่ 4 ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์
ที่ศาลทหารขอนแก่น นัดสืบพยานจำเลย วันนี้มีประชาชนร่วม 30 คนเข้าฟังการพิจารณาคดี 10.00 น. รถจากเรือนจำกลางขอนแก่นมาถึงพร้อมการปรากฎตัวของจตุภัทร์ หรือ ไผ่ ดาวดิน ก่อนศาลจะเริ่มสืบพยานราว 11.30 น. พยานวันนี้คือ ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์
ศ.นิธิเบิกความ โดย ไผ่ เป็นคนถามความเองว่า ประเทศไทยมีรัฐประหารบ่อยมาก ตั้งแต่ปี 2475-ปัจจุบัน ทั้งนี้รัฐประหารครั้งที่มีนัยยะสำคัญ มีอยู่ 2 ครั้งด้วยกันครั้งแรกเมื่อปี 2476 เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นประกาศระงับใช้รัฐธรรมนูญหลายมาตราด้วยกัน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (ปี 2475) นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจที่จะทำเช่นนั้นได้ หลังจากนั้นพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาก็เข้ามายึดอำนาจ เพื่อกอบกู้รัฐธรรมนูญ รัฐประหารครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ว่า รัฐธรรมนูญเป็นการให้อำนาจของทุกฝ่ายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นศาล กองทัพ รัฐบาล หรือตำรวจ และหากมีการระงับหรือฉีกรัฐธรรมนูญ เท่ากับทำให้บ้านเราเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน และเป้าประสงค์ของการทำรัฐประหารครั้งนั้นคือการรื้อฟื้นระบอบภายใต้รัฐธรรมนูญให้คืนกลับมา จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่ากองทัพมีหน้าที่รักษารัฐธรรมนูญ และการรัฐประหารครั้งนั้นไม่มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่อย่างใด นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดี หากมีการฉีกรัฐธรรมนูญก็มีคณะบุคคลนั้นนำกลับมาอีกครั้ง และต่อมากลับไม่มีใครทำตามแบบอย่างนี้
และก่อนเกิดรัฐประหารปี 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ให้หยุดใช้รัฐธรรมนูญทุกมาตรา ยกเว้นเฉพาะหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีการปิดสภา ทำให้ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ ทำให้มีการออกกฎหมายโดยไม่ต้องผ่านสภา
ส่วนรัฐประหารครั้งที่ 2 ที่มีนัยยะสำคัญมากคือเมื่อปี 2557 นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ช่วงเวลานั้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญมา 17 ปี จากรัฐธรรมนูญ 2540 (แม้ช่วงปี 2549 จะมีการรัฐประหารอีกครั้ง แต่รัฐธรรมนูญที่ร่างมาภายหลังจากนั้น ก็แทบไม่แตกต่างจาก รัฐธรรมนูญ 2540)
การรัฐประหารครั้งนี้ทำให้ประเทศขาดโอกาสที่จะก้าวหน้าในวิถีทางประชาธิปไตยอันมั่นคงตลอดไป ผลจากการรัฐประหารทำให้เกิดความทรุดโทรมของเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้นายทุนต่างประเทศไม่กล้าลงทุน เพราะไม่รู้อนาคตที่แน่นอน อีกทั้งโอกาสการเรียนรู้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้หมดไป และรัฐธรรมนูญที่เกิดภายหลังคือของปี 2559 และ 2560 ก็จำกัดอำนาจการควบคุมบริหารประเทศของประชาชนออกไป
การที่รัฐประหารอ้างคอร์รัปชั่นและความแตกแยกของประชาชน เข้าใจว่าการแก้ไขสองสิ่งนี้สามารถแก้ไขได้ตามระบอบประชาธิปไตย กลไกปกติสามารถทำได้ และในบรรดาประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่มีประเทศไหนที่ไม่มีคนโกงหรือไม่มีประเทศไหนที่ประชาชนไม่แตกแยกเลย
สำหรับประเทศไทยเยาวชนหรือคนที่ได้รับการศึกษานั้น มีบทบาททางการเมืองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงแยกอำนาจจากขุนนางได้โดยอาศัยความร่วมมือกับคนหนุ่มที่มีการศึกษา และบทบาทคนหนุ่มสาวมีตลอดมากระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังเป็นคนหนุ่มสาวที่ร่วมมือกับผู้สำเร็จราชการ ปรีดี พนมยงค์ สร้างขบวนการเสรีไทยขึ้นมา เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศไทยในขณะนี้ ขบวนการเสรีไทยที่ทำให้กลุ่มประเทศสัมพันธมิตรที่ชนะสงครามโลกยอมรับประเทศไทยว่ายังเป็นประเทศเอกราชอยู่
ต่อมาบทบาทของคนหนุ่มสาวหรือนักศึกษาในการต่อต้านรัฐประหารในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ก่อนหน้าปี 2514 จอมพลถนอมทำรัฐประหารและ 2 ปีต่อมาคนหนุ่มสาวได้ร่วมกันขับไล่รัฐบาลของจอมพล ถนอมออกไป หลังจากนั้นปี 2535 ในการต่อต้านคณะ รสช.ก็ต้องอาศัยนักศึกษาและคนหนุ่มสาวเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นตั้งแต่ขบวนการเสรีไทย 14 ตุลา พฤษภา 35 คนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาจะไม่ยอมรับที่จะเห็นประเทศเดินถอยหลัง คนหนุ่มสาวยุคสมัยนี้ก็เช่นกัน ก็จะเห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาในรูปแบบต่างๆตลอดมา และการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในยุคนี้ เห็นว่าจะระวังไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น
และกลุ่มนักศึกษาที่ได้เคลื่อนไหวนี้มีความสำนึกว่าตนนั้นมีหน้าที่ต้องทำ โดยเชื่อว่าสังคมที่ดูดาย คือสังคมที่ไปไหนไม่รอด และในรัฐธรรมนูญเองก็มีกำหนดไว้ด้วยว่าให้ประชาชนมีหน้าที่ต่อต้านการทำรัฐประหาร
นิธิเบิกความเพิ่มเติมว่าการเคลื่อนไหวทำนองแบบที่จำเลยทำนี้ มีทุกยุคสมัยทำให้เกิดผลดีของสังคมเสมอมา เช่น ขบวนการเสรีไทยที่ถูกมองว่าเป็นกบฏ แต่ภายหลังการกระทำนั้นกลับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และการกระทำของจำเลยที่คัดค้านรัฐประหารเป็นความผิด แต่ในระยะยาวแล้วอาจจะกลายเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
และการกระทำของจำเลยไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงแต่อย่างใด เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่อยากเห็นประเทศไทยเดินถอยหลัง ในทางประวัติศาสตร์ มีความเห็นว่าคณะรัฐประหารทุกคณะสับสนระหว่างอำนาจของตนเองกับอำนาจของรัฐ การคัดค้านคสช.ของจำเลยกระทบต่อความมั่นคงของ คสช.ไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของชาติ
ถ้าเรายอมรับว่าคสช.คือชาติ จำเลยทำผิดแน่นอน แต่ถ้าคสช.ไม่เป็นชาติก็ไม่น่าจะถูกลงโทษ
ศาลสืบพยานเสร็จทั้งโจทก์และจำเลยแล้ว แต่ยังไม่นัดวันพิพากษา เนื่องจากทนายยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่า คำสั่งที่ 3/2558 ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
4 กุมภาพันธ์ 2562
นัดฟังคำสั่งศาล
ศาลแจ้งให้คู่ความทราบว่า ตามที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 เรื่องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ข้อที่ 1 ให้ยกเลิก คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 (7) ข้อที่ 12 ห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จึงเป็นกรณีบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังให้การกระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ดังนั้นจำเลย จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง และยังเป็นกรณีที่กฎหมายที่ออกใช้ภายหลังกระทำความผิดยกเลิกความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (5) ประกอบ พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2495 มาตรา 45 จึงมีคำสั่งให้งดการพิจารณาคดีและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ