22 มิถุนายน 2559
นัดสืบพยานโจทก์
ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ เวลาประมาณ 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 สมบัติและ พรรณมณี พร้อมด้วยทนาย 2 คน นั่งพร้อมกันอยู่แล้ว ต่อมาเวลาประมาณ 9.55 น. ผู้พิพากษาเข้านั่งบัลลังก์พร้อมๆกับอัยการทหารที่เข้าห้องพิพากษามาในเวลาไล่เลี่ยกัน หลังจากนั้นศาลได้ติจำเลย(พรรณมณี) เรื่องไม่มาตามนัดศาลนัดที่แล้ว
พรรณมณีอ้างว่าช่วงนั้นไม่ค่อยว่าง ลืมวันนัดคราวที่แล้วไป ศาลพูดกับพรรณมณีว่าหากมีกรณีไม่มาตามนัดอีก จะถือว่าผิดเงื่อนไขการประกันตัว จากนั้นจึงเริ่มพิจารณาคดี
วันนี้พยานโจทก์คือ จิรายุ สาระกูล เจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุม อัยการเริ่มถามถึงหน้าที่การงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พยานเบิกความว่า ทำงานเป็นทหารสังกัดกองพันบริการ ศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรี ตั้งแต่ปี 2555 หลังจากนั้นช่วงพฤศจิกายน 2556 พยานถูกส่งตัวมาประจำการเป็นพลขับที่ทำเนียบรัฐบาล
ซึ่งในช่วงเวลานั้น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ หลังประกาศกฎอัยการศึกย้ายไปอยู่กรมการแพทย์ทหารบก และถูกย้ายมาประจำการเป็นพลขับที่กองพันทหารม้าที่ 22 ตั้งแต่ธันวาคม 2558 จนถึงปัจจุบัน
พยานเบิกความถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า ขณะวันเกิดเหตุ ได้รับคำสั่งเป็นหัวหน้าชุดรักษาความปลอดภัยกองพันปฏิบัติการจิตวิทยา (พัน ปวจ.) เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอยู่ในความสงบช่วงประกาศกฎอัยการศึกในช่วงเวลาตั้งแต่ช่วง 15.00 น. จนถึง 18.00น.
ในชุดรักษาความปลอดภัยนั้น มีจำนวนทั้งหมด 10 นายรวมพยานด้วย และมีอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติหน้าที่คือหมวกแค็บบร้า เสื้อเกราะ โล่ และรถ 3 คันจากกองทัพ
พยานเบิกความถึงลำดับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุว่า ช่วงแรกที่ปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีเหตุการณ์อะไรขึ้น แต่ตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น. มีกลุ่มผู้ชุมนุมมากกว่า 50 คน เดินมารวมกันที่เกาะกลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังจากนั้นซักพักก็ทยอยไปจุดที่พยานประจำตำแหน่งอยู่ และเริ่มใช้ความรุนแรง ด่าทอและขว้างปาสิ่งของใส่ชุดสารวัตรทหารที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เหตุการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนในที่สุด ชุดสารวัตรทหาร ร่นกำลังมาจุดที่พยานอยู่
พยานและหน่วยชุดรักษาความปลอดภัยจึงเปิดโล่ห์ให้ชุดสารวัตรทหารผ่านเข้าไป หลังจากนั้นชุดปฏิบัติการของพยานรวมถึง พัน ปจว. ก็รับช่วงต่อผู้ชุมนุมจากสารวัตรทหาร โดยพยานเบิกความว่า ชุดรักษาความปลอดภัยใช้เพียงโล่ห์เพื่อป้องกันตัวและ พัน ปจว. เท่านั้น พยานเบิกความต่อไปว่าเหตุการณ์ดำเนินมารุนแรงที่สุดประมาณหลังเวลา 18.00 น. ได้รับคำสั่งจาก ร.อ. เจริญ พลพันธ์ หัวหน้าชุด ว่าเหตุการณ์เริ่มรุนแรงเกินกว่าจะต้านไหวแล้ว พยานและชุดรักษาความปลอดภัยจึงพา พัน ปจว. ออกจากพื้นที่ก่อน
หลังจากนั้นทุกอย่างจึงมาตกอยู่กับหน่วยของพยาน เจ้าหน้าที่ตำรวจในละแวกนั้นจึงเข้ามาจับมือกันล้อมหน่วยของพยานไว้และพาไปที่เกาะกลางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังจากนั้นพยานและหน่วยจึงร่นถอยต่อไปถึงโรงพยาบาลศิริราช ต่อมามีทหารขับรถต้นแบบไม่ทราบหน่วยมารับไปกองทัพภาคที่ 1 เมื่อถึงแล้วจึงตรวจสอบสภาพคนในหน่วย พบว่ามีผู้บาดเจ็บที่บริเวณขา 2-3 นาย โดยพยานอ้างว่าจำชื่อผู้บาดเจ็บไม่ได้ แต่ยืนยันรายชื่อตามคำให้การในชั้นสอบสวน แล้วหลังจากนั้นจึงไปรายงานตัว
พยานเบิกความว่าการกระทำของกลุ่มผู้ชุมุนมทำให้การประชาสัมพันธ์ของ พัน ปจว. เป็นไปอย่างไม่ราบรื่น
และเบิกความต่อไปอีกว่า จำไม่ได้ว่าผู้ชุมุนมคนใด ทำร้ายเจ้าหน้าที่บ้าง ด้วยสถานการณ์ที่คับขันและจำนวนผู้ชุมุนมที่มีจำนวนมาก สุดท้ายพยานเบิกความแก่อัยการทหารว่า ไม่ได้ใช้กำลังแต่อย่างใด
ตอบทนายจำเลยถามค้าน คนที่ 1
ทนายจำเลยถามค้านเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ พยานเบิกความแก่ทนายว่า เริ่มมีการกระจายเสียงของ พัน ปจว. ในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. จนถึง 18.00 น.
เมื่อทนายถามถึงการจับกุมตัวของ ’ชายชุดดำ’ ในวันเกิดเหตุ พยานรับว่าไม่ทราบเรื่องนี้
ทนายถามต่อไปว่าเหตุการณ์รุนแรงขึ้นหลังเคารพธงชาติ (18.00 น.) ใช่หรือไม่ พยานรับว่าไม่ทราบ
หลังจากนั้นทนายถามต่อไปว่า มีทหารหน่วยอื่นมาปฏิบัติหน้าที่อีกไหม พยานตอบว่าไม่ทราบ
หลังเกิดเหตุ พยานให้การว่าปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะนี้ต่ออีกประมาณ 3 วัน
ตอบทนายถามค้าน คนที่ 2
ทนายจำเลยถามค้านพยานโดยหัวข้อคำถามส่วนใหญ่เกี่ยวการเรียกร้องประชาธิปไตยและพยานหลักฐานที่เป็นรูปภาพเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557
ช่วงแรกของการถามค้าน พยานรับว่า ไม่ทราบว่าที่ถูกส่งตัวมาประจำการทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2556 นั้น เพราะอะไร
และเบิกความต่อไปอีกว่า ช่วงนั้น "ไม่ได้ดูโทรทัศน์เลย แต่โทรศัพท์มือถือของพยานสามารถใช้รับข่าวสารได้ และพอได้รับข่าวสารมาบ้างเล็กน้อย"
ต่อมาทนายถามถึงเรื่องการบุกรุกทำเนียบของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. พยานรับว่าทราบถึงเหตุการณ์การบุกรุก แต่ไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง
ทนายจำเลยจึงถามต่อไปว่าการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ โดยอ้างว่าได้ยินเสียงจากกลุ่มผู้ชุมนุมว่า “ทหารออกไป” แต่ไม่ได้ด่าทอตัวเจ้าหน้าที่โดยตรง
จากนั้น ทนายถามเกี่ยวกับการรักษาอาการบาดเจ็บของคนในหน่วย ได้ความว่า พยานไม่ได้พาพลทหารใต้บังคับบัญชาทั้ง 3 นาย ที่บาดเจ็บตรงช่วงขาในวันเกิดเหตุไปพบแพทย์ เนื่องจากไม่มีหลักฐานทางการแพทย์มายืนยัน
ทนายจำเลยถามต่อไปว่า ‘การเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงเวลานั้น’ ผิดหรือไม่ พยานรับว่า ‘ผิด’ โดยอ้างกฎอัยการศึก
ทนายจึงถามต่อไปว่า ‘การเรียกร้องประชาธิปไตย’ ทำได้หรือไม่ พยานรับว่า ‘ทำได้’
โดยต่อมา พยานเบิกความว่าไม่ทราบว่าการเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวประจำปี 2557
พยานเบิกความต่อไปอีกว่า ภาพถ่ายที่เป็นหลักฐานทั้งหมด ไม่พบภาพใดที่ผู้ชุมนุมมีอาวุธอยู่ในมือแม้แต่ภาพเดียว
ในชั้นสอบสวน พยานให้การว่ามีการเทน้ำใส่เครื่องขยายเสียงของ พัน ปจว. แต่ในภาพหลักฐาน ไม่มีภาพใดแสดงถึงการกระทำนั้นแม้แต่ภาพเดียว
ตอบอัยการถามติง
อัยการทหารออกมาถามติงการซักค้านของทนายจำเลย ได้ความว่า พยานยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันเกิดเหตุทั้งหมดมีมากกว่าและรุนแรงกว่าภาพที่เป็นหลักฐาน รวมถึงการทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วย
พยานเบิกความว่า ไม่สามารถยืนยันได้ว่าการบาดเจ็บของพลทหารในหน่วยวันนั้นเกิดจากภาพไหน
สุดท้ายอัยการทหารถามทิ้งท้ายไว้ว่า แผงกั้นเหล็ก สามารถนำมาเป็นอาวุธได้หรือไม่ พยานรับว่าได้ ตามความเห็นของพยาน
หลังจากนั้นศาลอ่านคำให้การของพยานโจทก์ปาก จิรายุ สาระกูล และนัดสืบพยานปากต่อไป กำหนดเป็นวันที่ 27 กันยายน 2559
20 มิถุนายน 2561
นัดสืบพยานโจทก์