18 พฤศจิกายน 2563 ที่ประชุมสภามีนัดลงมติร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 7 ร่าง แบ่งเป็น ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล 1 ร่าง พรรคร่วมฝ่ายค้าน 5 ร่าง และร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 1 ร่าง
โดยผลการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มีรายละเอียดดังนี้
- มติเห็นชอบ จำนวน 212 เสียง แบ่งเป็นเสียงจากพรรคฝ่ายค้าน 208 เสียง ฝ่ายรัฐบาล 1 เสียง และเสียงจาก ส.ว. 3 เสียง
- มติไม่เห็นชอบ 138 เสียง แบ่งเป็นเสียงจากพรรครัฐบาล 60 เสียง และเสียงจาก ส.ว. 78 เสียง
- มติงดออกเสียง 369 เสียง แบ่งเป็นเสียงจากพรรครัฐบาล 213 เสียง และเสียงจาก ส.ว. 156 เสียง
จากผลการลงมติดังกล่าว ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนกว่า 100,732 ชื่อ มีผลต้องตกไป เนื่องจากเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสองสภา หรือไม่ถึง 366 เสียง
อีกทั้ง เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. เพียง 3 เสียง ทำให้ไม่ผ่านเงื่อนไขที่ต้องมีคะแนนเสียงจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม
ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาล ได้กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยสมาชิก 200 คน มีที่มา ดังนี้
- 150 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
- 20 คน มาจากการเลือกโดยรัฐสภา
- 20 คน มาจากการเลือกโดยที่ประชุมอธิการบดี โดยแบ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชนหรือรัฐศาสตร์ 10 คน และผู้มีประสบการณ์การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 10 คน
- 10 คน มาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา
โดยวิธีการได้มาซึ่ง สสร. จำนวน 150 คนแรกจะใช้วิธีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยให้ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือก สสร. ได้เพียงหนึ่งเสียง ระบบเลือกตั้งดังกล่าวจะคล้ายกับระบบเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2534 หรือที่นิยมเรียกว่า “รวมเขตเบอร์เดียว” กล่าวคือ บางจังหวัดอาจมี สสร. มากกว่า 1 คน แต่ประชาชนลงคะแนนเลือกได้คนเดียว และผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดตามลำดับจำนวน สสร. ในแต่ละเขต จะได้รับเลือกเป็น สสร. ซึ่งเป็นระบบที่คล้ายกับข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้าน
ส่วน สสร. อีก 50 คน ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน ได้แก่ จำนวน 20 คน มาจากการเลือกโดยรัฐสภา โดยมีข้อแม้ว่า การคัดเลือกต้องใกล้เคียงกับอัตราส่วนของจำนวน ส.ส.และ ส.ว. ซึ่งหมายความว่า จะได้ สสร. ที่เป็นคนจากระบอบ คสช. อย่างน้อยประมาณ 2 ใน 3 ของระบบนี้ ถัดมาอีก 20 คน ให้มาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเป็นคนคัดเลือกจากผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์ หรือมีประสบการด้านการบริหารราชแผ่นดิน เป็นต้น และสุดท้าย 10 คน ให้มาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษา แต่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้คัดเลือกนักเรียน นิสิต นักศึกษา
ส่วนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทย ได้กำหนดให้มี สสร. จำนวน 200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเลือกผู้สมัครได้เพียงคนเดียว และผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดตามจำนวน สสร. ที่จังหวัดพึงมี ให้ถือว่าเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สสร.